Written by on

ฟันร้าวฟันแตกอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

แม้ว่าฟันจะขึ้นชื่อว่าเป็นกระดูกที่แข็งแรงทนทาน แต่คนเราก็มักจะมีปัญหาในการปวดฟันอยู่เสมอๆ และถ้าเมื่อไรที่เรากัดฟันแล้วรู้สึกปวดฟันอย่างมาก แต่พออ้าปากขึ้นอาการปวดกลับหายไปทันที นี่เป็นข้อบ่งชี้ว่าคุณอาจจะมีฟันร้าวหรือฟันแตกได้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ฟันร้าว ฟันแตก เกิดจากพฤติกรรมการรับประทาน และพฤติกรรมการใช้ฟันผิดประเภท เช่น ชอบเคี้ยวของแข็งๆ เช่น น้ำแข็ง ถั่ว ลูกอม กัดวัสดุแข็งๆ แทนมีด ใช้เปิดฝาเบียร์ ใช้คาบวัสดุหนักๆ แทนการถือด้วยมือ หรือเป็นคนชอบกัดฟัน บดฟัน หรือนอนกัดฟัน รวมไปถึงเกิดอุบัติเหตุ ถูกชน ถูกกระแทกที่บริเวณปาก

ในขณะเดียวกันเป็นเรื่องยากมากที่จะมองเห็นรอยแตกร้าวที่ฟันอย่างชัดเจนเพราะรอยแตกจะเป็นเพียงเส้นเล็กๆ ขนาดเส้นผม แม้แต่การเอกซเรย์ก็ยังไม่ทำให้เห็นรอยร้าวได้ง่ายนัก คนไข้จึงมักจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าอาการเจ็บมาจากฟันบน ฟันล่าง หรือฟันซี่ไหนกันแน่ แต่อาจจะบอกได้คร่าวๆ ว่าอยู่ตรงช่วงไหน ฉะนั้นคนไข้อาจจะต้องใช้วิธีการสังเกตดูตอนมีตัวกระตุ้น เช่น เวลารับประทานอาหารร้อนๆ ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ เวลารับประทานของหวาน ของเปรี้ยว หรืออาหารเหนียวๆ ซึ่งจะทำให้จับความรู้สึกได้ว่าอาการปวดอยู่ตรงบริเวณใดในขณะที่เคี้ยว ส่วนทันตแพทย์อาจจะตรวจด้วยการเคาะฟัน หรือให้กัดเครื่องมือที่แข็งๆ เช่น Tooth Slooth ซึ่งจะทำให้ฟันซี่ที่ร้าวหรือแตกมีอาการปวดอย่างชัดเจน

เมื่อฟันร้าวเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขีดเล็กๆ ไปจนถึงขีดยาวถึงโพรงประสาทฟัน การรักษาจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อาจเป็นไปได้ตั้งแต่การอุดฟันไปจนถึงการรักษารากฟัน หรือถ้าเป็นมากอาจจะต้องถอนฟันซี่นั้นออก ด้วยเหตุนี้การตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้ทันตแพทย์พบอาการที่ผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งการรักษาก็จะทำได้ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อย

ฉะนั้น ถ้ามีอาการปวดฟันต่อเนื่องจนต้องพยายามเคี้ยวอาหารอยู่ข้างเดียวก็อย่ารีรอ รีบไปพบทันตแพทย์โดยด่วน เพราะว่าคุณอาจจะมีฟันร้าว หรือฟันแตกได้

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารเรื่องผู้หญิง ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

 

Written by on