นำเสนอสาระน่ารู้ บทความดีๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปี เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างชาญฉลาด และมีสติ พร้อมที่จะแก้ไขและส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีสมวัย และสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ร่าเริงสดใส ทาง Pstip หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสาระความรู้ต่างๆ ในหมวดนี้จะสามารถเป็นแนวทางที่ดี สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนใหม่นำไปปฏิบัติเพื่อลูกน้อยที่คุณรักได้อีกทางหนึ่งค่ะ

Written by on

มารู้จักและดูแลอาการภูมิแพ้กันเถอะ

เด็กในขวบปีแรกนั้นมักจะต้องประสบพบเจอกับโรคภูมิแพ้อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแพ้อากาศ แพ้ผื่นผิวสัมผัส แพ้สารเคมี และที่พบบ่อยที่สุดก็คือการแพ้อาหาร เรามาดูข้อมูลเพื่อเพิ่มความรู้ในเรื่องนี้กันดีกว่าค่ะ

ภูมิแพ้ เป็นอย่างไร คือภาวะที่ร่างกายไวต่อสารบางอย่าง จะเกิดอาการเมื่อมีการสัมผัสหรือรับสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง ควันต่างๆ และรวมไปถึงอาหาร ก็เป็นสาเหตุที่สามารถตัวกระตุ้นอาการของลูก ทั้งนี้คุณแม่สามารถสังเกตอาการได้จากลักษณะทางกายภาพต่อไปนี้

ผิวหนัง มีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า แก้ม แขน ขา ตั้งข้อสังเกตกับอาการไปด้วยว่า นอกจากมีผื่นแล้ว ยังมีอาการคันร่วมด้วยหรือไม่ (เอาหน้าถูไถไปมากับที่นอน มีอาการหงุดหงิดเหมือนไม่สบายตัว) ถ้าแพ้รุนแรง ผื่นจะมีลักษณะนูนแดง คล้ายผื่นลมพิษ ต้องระวัง และสังเกตอย่างใกล้ชิด

ระบบทางเดินอาหาร ลูกแสดงอาการหงุดหงิด เพราะรู้สึกไม่สบายท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายหลายครั้ง ตั้งแต่ถ่ายเล็กน้อยจนถึงอาการถ่ายเรื้อรัง แพ้มาก็อาจถ่ายเหลวบ่อยครั้งต่อวัน ถ่ายเป็นเลือดปนออกมาด้วย ลักษณะแบบนี้ต้องพบคุณหมอทันที

ระบบทางเดินหายใจ หายใจไม่สะดวก เสียงดังครืดคราด มักเป็นเรื้อรังไม่หาย อาจพบอาการโรคหืดร่วมด้วย แต่ก็พบได้ไม่บ่อย

ป้องกันไว้ก่อน เพราะอาหารคือสาเหตุหลัก ดังนั้น คุณแม่ที่กำลังกังวลกับเรื่องเมนูอร่อย อยากให้ลูกอิ่มอร่อยแบบครบ 5 หมู่ ไม่ควรมองผ่าน และควรระมัดระวังกับเรื่องอาหารการกินของลูกในช่วงเริ่มมื้ออาหารเสริมด้วยค่ะ

  • การแพ้โปรตีนนมวัว คุณแม่ลดความเสี่ยงนี้ได้ ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เป็นวิธีที่คุ้มค่าและดีที่สุดค่ะ
  • การเริ่มให้อาหารเสริมต้องเริ่มครั้งละน้อย ๆ และสังเกตอาการ ถ้าลูกไม่มีอาการแพ้ จึงเพิ่มอาหารชนิดอื่น ๆ ก็จะช่วยป้องกัน ลดโอกาสเสี่ยง เรื่องอาการแพ้จากอาหารที่กินเข้าไป
  • หลักการเดียวใช้ได้หมด คือ เลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการ เช่น แพ้โปรตีนนมวัว ก็ควรเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว
  • ลดความเสี่ยงด้วยการปรุงอาหารให้ลูกกินเอง หากต้องเลือกซื้ออาหารผลิตภัณฑ์แปรรูป ควรมั่นใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ระบุข้อมูลทางโภชนาการชัดเจน
  • ถ้าสงสัยหรือรู้ว่า ลูกมีอาการแพ้ ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อวินิจฉัยและขอคำแนะนำที่เหมาะสม

เมื่อแพ้แล้วทำอย่างไร คุณแม่ควรดูแลตามอาการนั้น ๆ เช่น

  • เมื่อมีผื่น มีอาการคัน ใช้ผ้าสะอาด ชุบน้ำ เช็ดบริเวณที่มีอาการ และเลี่ยงการอยู่ในที่ ๆ มีอากาศร้อน เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่มีกระตุ้นให้เกิดอาการคัน
  • ถ้าลูกหายในติดขัด เพราะมีน้ำมูกมาก ใช้น้ำเกลือล้างหรือเช็ดบริเวณจมูกเพื่อให้ลูกหายใจได้สะดวกขึ้น
  • ถ้าอาเจียน ถ่ายบ่อย ก็ควรหยุดอาหารชนิดนั้น ๆ ไว้ก่อน ระวังภาวะขาดน้ำ ควรให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่บ่อยๆ
    ทำไมลูกแพ้อาหาร

การแพ้อาหารเกิดได้จากพันธุกรรม เช่น พ่อ แม่ หรือมีลูกคนก่อนในครอบครัวมีประวัติ ก็อาจทำให้ลูกมีโอกาสเกิดการแพ้ได้มากกว่าปกติ อีกสาเหตุคือ เกิดจากอาหาร เป็นตัวกระตุ้นก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น โปรตีนนมวัว ไข่ขาว ฯลฯ และเมื่อลูกน้อยโตขึ้น อาการแพ้จะค่อย ๆ หายไป ด้วยเพราะระบบการย่อยอาหาร เซลล์เยื่อบุลำไส้ ทำงานได้สมบูรณ์ การยับยั้งสารอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ ทำให้เกิดปัญหาน้อยลง

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร Mother&Care  ภาพจาก : rakluke

Written by on

Written by on

วิธีง่ายๆ รับมือเชื้อราของลูก

สมัยนี้ คุณแม่ส่วนใหญ่ มักใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้กับลูกน้อย เพื่อความสะดวก ในการเปลี่ยน หรือการดูแล ใช้แล้วทิ้ง ไม่ต้องเสียเวลาซัก เพราะคุณแม่ยุคใหม่ ต้องบริหารเวลาให้เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมในแต่ละวัน ที่คุณแม่ต้องดูแลรับผิดชอบ

แต่ผลเสียของการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป คือหากคุณแม่ใส่ให้ลูกทั้งวันทั้งคืน จนเกิดผื่นแดงที่ซอกขา ความอับชื้น ทำให้เกิดเชื้อรา เนื่องจากการใส่ผ้าอ้อมที่อับชื้นอยู่เป็นเวลานาน อาจเป็นผื่นแพ้ผ้าอ้อมจากการระคายเคืองกับอุจจาระ หรือปัสสาวะ ซึ่งทำให้เชื้อราเข้ามาแทรกซ้อนได้ง่าย

วิธีป้องกัน คือต้องทำให้บริเวณที่นุ่งผ้าอ้อมไม่อับชื้น โดยอาจงดใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก่อน ให้ผ้าอ้อมผ้าแทน เพราะจะเปลี่ยนได้ทันทีที่เปียก ล้างทำความสะอาดทุกครั้งที่ลูกน้อยถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ และซับให้แห้ง โดยอาจใช้ครีมหรือขี้ผึ้งสำหรับผื่นผ้าอ้อมทาเคลือบไว้ทุกครั้งหลังทำความสะอาด และเปลี่ยนผ้าอ้อม เมื่อผื่นหายแล้ว ถ้าจะนุ่งผ้าอ้อมสำเร็จรูปอีก ก็ต้องหมั่นเปิดดูบ่อยๆ ว่ามีปัสสาวะหรืออุจจาระออกมาหรือยัง เปียกผิวลูกหรือไม่ ถ้าเปียกต้องรีบเปลี่ยนผ้าอ้อมทันที

ความสะอาดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อป้องกันเชื้อโรค เชื้อราต่างๆ ยิ่งเป็นสุขภาพผิวอันบอบบางของเด็กทารกหรือเด็กอ่อนด้วยแล้ว ต้องดูแลใส่ใจกันเป็นพิเศษ ความเปียก อับชื้น ก็เป็นตัวปัญหาทำให้เกิดเชื้อราตามมา คุณแม่ต้องดูแลคอยสังเกตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ลูกน้อยต้องเจ็บปวด จนอาจร้องไห้งอแง อีกด้วย

ขอบคุณ ที่มาและภาพ : นิตยสาร ModernMom 

Written by on

Written by on

แม่จ๋า....นู๋คันเหงือก

ช่วงวัยใกล้มีฟันขึ้น ลูกน้อยมักจะมีอาการคันเหงือก คุณแม่อย่างเราเมื่อสังเกตเห็นลูกมีอาการแสดงว่าเริ่มคันเหงือกแล้ว เครียดสิคะ จะทำยังไงดีจะหาวิธีการช่วยลดอาการคันเหงือกของลูกน้อยได้อย่างไรดี ลองมาดูกันค่ะ

- ถ้าลูกมีอาการมันเขี้ยว คันเหงือก ลองหาแครอทหรือแตงกวาหั่นเป็นแท่งเล็กๆ แช่เย็น ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นหรือหายางกัดมาให้ลูกกัดเล่นสามารถลดอาการคันเหงือกของลูกได้

- เพื่อลดอาการอักเสบขณะฟันขึ้น คุณแม่ต้องทำความสะอาดเหงือกให้ลูกน้อยหลังมื้ออาหาร

- ถ้าเหงือกลูกน้อยไม่บวมหรือเจ็บจนแตะไม่ได้ให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาดแล้วลองใช้นิ้วเข้าไปนวดเหงือกของลูกเบาๆอาจช่วยให้ดีขึ้น

- ช่วงนี้น้ำลายของลูกจะมากกว่าปกติและอาจไหลย้อยออกมานอกปาก ดังนั้นควรหมั่นใช้ผ้าสะอาดหรือสำลีชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดรอบๆ ปากให้ลูก

- อาการเจ็บที่เหงือก ทำให้ลูกโยเยมากกว่าปกติคุณแม่ควรให้เวลากับการเอาใจใส่ลูกมากเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้ลูกอุ่นใจและสามารถรับมือการเจ็บไข้ได้ดีขึ้น

- ถ้าสังเกตเห็นว่าเหงือกลูกบวมแดงมากมีไข้สูงหรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่น ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์

อย่าลืมใส่ใจลูกทุกช่วงวัย สังเกตพัฒนาการต่างๆ ของลูกน้อย เพื่อคุณแม่จะได้หาวิธีดูแลลูกได้ถูกต้อง สมวัย แล้วลูกรักจะมีพัฒนาการสมวัย ไม่ร้องงอแงให้คุณแม่ต้องวิตกกังวลโดยหาสาเหตุไม่เจอ ลูกน้อยอารมณ์ดี คุณแม่สบายใจค่ะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : maerakluke

Written by on

Written by on

นมแม่ช่วยป้องกันโรคหอบหืดได้

นมแม่นั้นมีประโยชน์ต่อลูกน้อยมากที่สุด เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่จะฉลาดกว่า สูงกว่า สุขภาพดีกว่า และเครียดน้อยกว่าเด็กที่กินนมขวด

นมแม่ยังสามารถช่วยบรรเทาโรคหอบหืด ภูมิแพ้ได้ อาการหายใจฟืดฟาด แพ้ฝุ่นเกสรดอกไม้ หรือโรคผื่นแดงตามผิวหนังและลำคอ จะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ คุณแม่ที่มีเวลา หรือไม่ต้องทำงานนอกบ้านควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อลูกน้อยจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

อุ้มท้องลูกมาจนคลอด ใช้เวลาอยู่กับลูก เลี้ยงลูกด้วยนมคุณแม่เอง อีกสักพัก ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ลูกรักห่างไกลโรคหอบหืดได้ค่ะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร รักลูก ภาพจาก : healthandtrend

Written by on

Written by on

ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก บางครั้งก็ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย

ผลิตภัณฑ์ สำหรับเด็กซึ่งผู้ผลิตตั้งใจที่จะทำเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันเด็กทารกเกิดการแพ้ แต่ถึงกระนั้นแล้ว เด็กบางคนก็ไม่วายที่จะยังแพ้อีกไม่ว่าจะเป็นสบู่สำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเด็ก ครีมบำรุงผิวเด็ก ซึ่งอาการที่แสดงว่าแพ้ก็คือการเกิดมีผดผื่นแดงขึ้น

ดังนั้นคุณแม่เองก็ต้องคอยสังเกตว่าลูกแพ้ผลิตภัณฑ์ชนิดใดและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เฉพาะที่จำเป็นจริง เช่นสบู่อาบน้ำทำความสะอาดบริเวณก้นขาหนีบ ซอกคอ ส่วนแชมพู ยังไม่จำเป็นเพราะสามารถใช้น้ำเปล่าล้างผมให้อย่างเดียวก็น่าจะเพียงพอ

ในกรณีที่ลูกผิวแห้งมีความจำเป็นต้องดูแลในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดย

1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีน้ำหอมเป็นส่วนผสม เพราะลูกอาจแพ้น้ำหอมได้

2. สบู่หรือครีมอาบน้ำ ควรมีความเป็นกรดอ่อนๆ(pH ประมาณ 5) ไม่ควรใช้สบู่เป็นด่าง เพราะจะทำลายความเป็นกรดของผิวหนังตามธรรมชาติให้หมดไป ผิวแห้งจะแพ้ หรือติดเชื้อได้ง่าย

3. ครีมหรือโลชั่นทาผิวหนัง มีมากมายหลายยี่ห้อ ถ้าผิวลูกไม่แห้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้

เพราะฉะนั้นเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ตัวไหนแล้วลูกไม่เกิดอาการแพ้ ก็ไม่ควรเปลี่ยนตามคำแนะนำจากผู้อื่น เพราะอาจจะเสี่ยงตัวการแพ้ของลูกน้อยของเราได้

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : greenshopcafe

Written by on

Written by on

เตรียมรับมือโรคไวรัสโรต้าในเด็กเล็ก

คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูกเล็กๆ เมื่อฤดูหนาวมาเยือนทีไรเป็นต้องให้ความใส่ใจกับสุขภาพของลูกน้อยเป็นพิเศษ เพราะในช่วงอากาศแบบนี้ทำให้เชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ เจริญเติบโตได้ดี วันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคไวรัสโรต้ากันค่ะ

โรคไวรัสโรต้า คือ โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้จะระบาดหนักตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีจะมีโอกาสติดเชื้อได้สูง โดยอาจมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงนอกจากนี้ ยังมีอาการไข้สูง อาเจียน และถ่ายเป็นน้ำ จนอาจเกิดภาวะขาดน้ำ

ดังนั้นเมื่อถึงช่วงฤดูหนาวมาเยือนคุณแม่ก็ต้องระวังเรื่องอาหารการกินของลูกน้อยเป็นพิเศษ เพื่อสุขภาพของลูกน้อยให้มากยิ่งขึ้น ลูกน้อยจะได้ไม่ต้องเจอกับโรคร้ายนี้

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร รักลูก ภาพจาก : thaihealth

Written by on

Written by on

ระบบขับถ่ายของลูกน้อย เรื่องจำเป็นต้องรู้

การดูแลลูกน้อยให้เติบโตมาเป็นเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่จะต้องให้ความสนใจก็คือเรื่องอาหารการกิน เพราะการเลือกอาหารที่ดีและมีประโยชน์นั้น จะเอื้อต่อระบบย่อยและขับถ่ายของลูกน้อยด้วยนะคะ เพราะหากคุณแม่ละเลยในเรื่องอาหารจะส่งผลให้ลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายได้ เช่น ท้องผูก หรือท้องเสียได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มีผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยได้ค่ะ

0-6 เดือน ยังควบคุมการขับถ่ายไม่ได้

โดยส่วนใหญ่แล้วลูกน้อยวัยนี้จะยังควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ การขับถ่ายจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ เมื่อไรที่กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ตอนปลายเต็ม กล้ามเนื้อหูรูดจะเปิดออกทันที ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ลูกขับถ่ายบ่อยมากในช่วงเดือนแรก ๆ คือปัสสาวะประมาณวันละ 10 ครั้งต่อวัน และถ่ายอุจจาระประมาณ 8-10 ครั้งต่อวัน และค่อย ๆ ลดจำนวนลงเมื่อระบบขับถ่ายพัฒนาขึ้น

อาหารสำหรับเด็กวัยนี้คือนมแม่ เพราะนอกจากจะมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกายอย่างครบถ้วนแล้ว น้ำนมแม่ยังส่งผลดีต่อระบบขับถ่ายของลูกน้อยด้วยหลายประการทีเดียว นับตั้งแต่หัวน้ำนม ซึ่งจะช่วยในการขับขี้เทา (อุจจาระที่มีลักษณะเหนียวสีเขียวเข้มเกือบดำ) ออกจากร่างกายลูกภายใน 2-3 วันแรกหลังคลอด และหากลูกได้รับนมแม่อย่างเดียวอย่างเพียงพอ อุจจาระก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนสีมาเป็นสีเหลืองนิ่ม ๆ ภายในสัปดาห์แรก

คุณแม่อาจเข้าใจผิดคิดว่าลูกท้องเสีย เพราะลักษณะอึจะนิ่ม ๆ ค่อนไปทางเหลว อันนี้ไม่ต้องตกใจ เพราะว่าในน้ำนมแม่ มีส่วนประกอบที่ทำให้ระบบขับถ่ายของลูกไม่ต้องทำงานมากนัก เช่น มีเวย์โปรตีนที่ย่อยง่าย มีน้ำตาลแลกโตส และโอลิโกแซคคาไรด์ ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดี ทั้งยังมีฮอร์โมนพรอสตาแกลนดินที่ช่วยให้ลำไส้เคลื่อนตัวเร็ว

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ระบบขับถ่ายของลูกทำงานได้ดี เพียงคุณแม่สังเกตว่า ถ้าลูกถ่ายเหลว บางครั้งเป็นฟองนิ่มหรือมีเมือก แต่ไม่มีกลิ่นเหม็น ลูกร่าเริงแจ่มใสดี และน้ำหนักไม่ลดก็ถือเป็นปกติ

พอลูกประมาณ 3 เดือนไปแล้ว ระบบการย่อยและลำไส้ของลูกค่อย ๆ ทำงานดีขึ้น สามารถดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ จากน้ำนมแม่ได้ดี อีกทั้งกระเพาะก็ใหญ่ขึ้นด้วย จึงทำให้ลูกถ่ายอุจจาระน้อยลง เหลือประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน

สำหรับหนูน้อยที่ได้รับนมผสม เนื่องจากคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ลูกน้อยก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการท้องผูกท้องเสียได้ง่ายกว่า ซึ่งคุณแม่ต้องพิถีพิถันในการชงนม โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและสัดส่วนนมกับน้ำที่เหมาะสมด้วย ทั้งนี้เพราะในนมผสมมีอันตราโปรตีนและน้ำตาลมาก ทำให้ย่อยได้ยากกว่านมแม่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากคุณแม่ชงนมข้นไป หรือให้ลูกกินน้ำน้อยไป ลูกก็สามารถท้องผูกได้ง่าย ๆ ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับเจ้าตัวน้อย หากต้องเบ่งหน้าดำหน้าแดง และร้องไห้โยเยกันทุกครั้งและกลายเป็นความฝังใจได้เช่นกัน

ด้วยสภาพร่างกายของเด็กโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหูรูด ที่มีไว้เพื่อบังคับการขับถ่ายยังพัฒนาอยู่ จึงทำให้ทารกแรกเกิด-5 เดือน ยังมีระบบขับถ่ายไม่ดีนัก และยังไม่สามารถขับถ่ายได้เป็นเวลาและสม่ำเสมอ

6-12 เดือน พร้อมย่อยอาหารแล้ว

ระบบขับถ่ายและระบบการย่อยอาหารของลูกเริ่มดีขึ้น และบางคนเริ่มขับถ่ายอุจจาระเป็นเวลาและสม่ำเสมอบ้างแล้ว ที่สำคัญเขาพร้อมที่จะรับอาหารเสริมได้แล้ว แต่นมยังเป็นอาหารหลักสำหรับลูกน้อยในขวบปีแรกอยู่ค่ะ

การให้อาหารเสริมแก่ลูกน้อยในช่วงวัยนี้ จะช่วยพัฒนาระบบย่อยและดูดซึมอาหารตลอดจนมีกากใยอาหาร ซึ่งจะช่วยในระบบขับถ่ายของลูกให้ดีได้ โดยเริ่มจากอาหารเสริมที่มีลักษณะเหลวแต่ข้นกว่าน้ำนิดหน่อย เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยกับอาหารแล้วค่อยเพิ่มความข้นขึ้นทีละน้อย เช่น ข้าวตุ๋น ฟักทองบด กล้วยน้ำว้าบดละเอียด และผลไม้ครูด ตับบด ปลาบด ข้าวสวยบดหยาบ เมื่อฟันของลูกเริ่มขึ้นนั่น หมายถึงเขาพร้อมที่จะเคี้ยวอาหารที่หยาบขึ้น คุณแม่อาจจะหาพวกขนมปังกรอบ ผักผลไม้อย่าง แตงกวา แอปเปิ้ล ชมพู่ ให้ลูกถือกัดแทะร่วมด้วยได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการคันเหงือกแล้ว ผักผลไม้ยังมีกากใยช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นไปด้วยดีอีกด้วยค่ะ อ้อ...ที่สำคัญคือ น้ำผลไม้คั้นสด ๆ เช่น น้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล ซึ่งอุดมด้วยวิตามินและจุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบขับถ่ายของลูก

หลักง่าย ๆ ในการให้อาหารเสริมแก่ลูก คือ ให้น้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มเมื่อลูกคุ้นเคย แต่ถ้าสังเกตว่าลูกไม่ชอบก็อย่าไปบังคับให้เว้นระยะไปสัก 1-2 สัปดาห์ แล้วค่อยลองใหม่

นอกจากปัจจัยเรื่องอาหารที่เอื้อต่อระบบการย่อย และขับถ่ายของลูกน้อยแล้ว การออกกำลังกาย ขยับแข้งขยับขาให้ลูกน้อย หรือแม้กระทั่งการนวดสัมผัส ก็สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยเสริมให้การย่อยและระบบขับถ่ายของลูกดีขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

Note

หากเลยช่วง 2-3 วันไปแล้ว ลูกยังไม่ถ่ายขี้เทาเสียที ควรรีบปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจมีสาเหตุมาจากลำไส้อุดตันได้ค่ะ หรือหากว่าเวลาผ่านไป 4-5 วันแล้ว ลูกยังถ่ายเป็นขี้เทาอยู่ เป็นสัญญาณว่าลูกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ คุณแม่ควรหมั่นให้ลูกดูดกระตุ้นน้ำนม อย่างถูกวิธี และตัวคุณแม่เองก็ควรกินอาหารที่ช่วยเสริมให้น้ำนมมาเร็วขึ้น เช่น แกงเลียงใส่หัวปลี ไก่ผัดขิง ต้มจืด หรือใบกะเพราด้วย

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : theasianparent

Written by on