นำเสนอสาระน่ารู้ บทความดีๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปี เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างชาญฉลาด และมีสติ พร้อมที่จะแก้ไขและส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีสมวัย และสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ร่าเริงสดใส ทาง Pstip หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสาระความรู้ต่างๆ ในหมวดนี้จะสามารถเป็นแนวทางที่ดี สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนใหม่นำไปปฏิบัติเพื่อลูกน้อยที่คุณรักได้อีกทางหนึ่งค่ะ

Written by on

เช็คด่วนขวดนมลูกหมดอายุหรือยัง

ขวดนมถือได้ว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณแม่หลายๆ บ้านเลือกให้ลูกใช้ แต่เคยรู้กันไหมค่ะว่าขวดนมนั้นก็มีอายุการใช้งาน ขวดนมจะมีอยู่หลายแบบทั้งขวดสีขาวขุ่น ขาวใส หรือขวดแก้ว และในแต่ละแบบนั้นก็มีราคาที่ต่างกันด้วย วันนี้เรามาเช็คกันดีกว่าค่ะว่าขวดนมแต่ละประเภทนั้นมีอายุการใช้งานอย่างไร

1. ขวดนมประเภทพลาสติก PP เช่นขวดพลาสติกขาวขุ่น ทนอุณหภูมิ -20 – 110 ˚C มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน ขึ้นกับการดูแลรักษา และความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ

2. ขวดนมประเภทพลาสติก PES เช่นขวดพลาสติกขาวใส ทนอุณหภูมิ -50 – 180 ˚C มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษา และความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ

3. ขวดนม PPSU เช่น ขวดนมสีชา ทนอุณหภูมิ -50 – 180 ˚C มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 8 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษา และความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ

4. ขวดนมแก้ว สุดคุ้มแต่นิยมน้อยเพราะหนักและกลัวลูกทำหล่นมือแตก มีอายุการใช้งานไม่จำกัด จนกว่าจะแตก หรือมีรอยขูดข่วน

5. จุกนมซิลิโคน ทนความร้อน 120 ˚C มีอายุการใช้งาน 6 เดือน ถ้าดูแลอย่างถูกวิธี แต่อาจต้องเปลี่ยนเร็วขึ้นหากผ่านความร้อนสูงบ่อยเกินไป

6. จุกนมยาง ทนความร้อน 100 ˚C มีอายุการใช้งานปกติ 3 เดือน แต่หากผ่านความร้อนสูงบ่อย อาจต้องเปลี่ยนก่อน

ไม่ว่าจะใช้ขวดนมราคาถูกหรือแพง ควรดูแลรักษาให้ถูกวิธี หากเลือกขวดราคาแพง ควรถนอม ด้วยการล้างขวดนมด้วยแปรงขนนิ่ม ฟองน้ำ หรือแปรงซิลิโคน เพื่อให้การใช้งานได้นานขึ้น

ขอขอบคุณ ที่มา : women.thaiza.com ภาพประกอบจาก mamaexpert.com

Written by on

Written by on

ลูกน้อยพัฒนาการดีเริ่มได้ที่การนอน

เมื่อลูกน้อยหลับทั้งวัน ลูกจะนอนมากไปหรือเปล่านะ กลางคืนลูกหลับยาว ตื่นอีกทีก็สายๆ แล้ว แบบนี้ควรปลุกขึ้นมาดีไหม...

อย่ารบกวนการนอนของลูก ...... เพราะการนอนหลับมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กตั้งแต่วัยขวบปีแรก ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี เมื่อใดที่ไปปลุกลูก รบกวนลูก ทำให้ลูกนอนไม่พอ ลูกก็จะอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด งอแงง่าย ร้องกวนบ่อย แต่เมื่อใดที่ลูกได้นอนหลับสนิทยาวนาน นอนได้เต็มอิ่มตลอดคืน ร่างกายก็จะหลั่ง Growth Hormone ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตออกมาเต็มที่ ทำให้ลูกเติบโตแข็งแรง สุขภาพ ดี น้ำหนักส่วนสูงขึ้นดี ที่สำคัญยังช่วยให้สมองเกิดความตื่นตัว พร้อมที่จะรับรู้ เรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้แม่นยำอีกด้วย

ให้ลูกหลับนานๆ ได้อย่างไร

ตอบสนองลูกให้ถูกต้อง เด็กตั้งแต่วัยทารกมักตื่นบ่อย ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น อาจหิว จนต้องตื่นขึ้นมากินนม ผ้าอ้อมอาจเปียกแฉะทำให้ไม่สบายตัว จนต้องตื่นขึ้นมาร้องงอแงกลางดึก หรืออื่น ๆ ดังนั้น รีบตอบสนองความต้องการของลูกให้ถูกต้อง เช่น ดูว่าลูกหิวหรือไม่ ถ้าหิวก็ให้นม หรือตรวจว่าผ้าอ้อมเปียกแฉะอับชื้นหรือไม่ ถ้าเปียกแฉะควรรีบเปลี่ยนทันที เพื่อให้ลูกแห้งสบาย ช่วยให้ลูกอารมณ์ดี ทำให้หลับได้อย่างยาวนานค่ะ

จัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม คุณแม่ควรสร้างสภาวะแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะกับการนอนของลูก โดยจัดห้องให้ระบายอากาศได้ดี เงียบสงบ นอนสบาย ห่างไกลเสียงรบกวน หรี่ไฟให้สลัว ไม่ให้แสงจ้าแยงตาลูก เลือกชุดนอนที่อบอุ่นใส่ได้พอดี จะได้ไม่ต้องใช้ผ้าห่ม ซึ่งมักหลุดจากตัวเวลานอนเสมอ หรือถ้าจะใช้ผ้าห่มให้เลือกผ้าบาง ๆ ที่เหมาะกับอากาศค่ะ

สร้างบรรยากาศให้น่านอน การจัดบรรยากาศที่น่านอน จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น โดยก่อนนอนให้สัมผัส โอบกอด ลูบหลังลูกอย่างแผ่วเบาเห่กล่อม ร้องเพลงกล่อมเด็ก ตบก้นเบา ๆ หรือพูดคุยด้วย น้ำเสียงที่อ่อนโยน เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลายเกิดความรู้สึกไว้วางใจ ส่งผลให้นอนหลับได้ดี นอกจากนี้คุณแม่อย่าให้ลูกนอนกลางวันมากเกินไป เพราะจะทำให้ไม่รู้สึกง่วงตอนกลางคืนได้ค่ะ

ปล่อยให้ลูกหลับต่อด้วยตัวเอง ไม่ปลุกทุกครั้งที่ลูกขยับตัว เพื่อให้ลูกกินนม และอย่าได้ห่วงว่าลูกจะหิว เพราะถ้าหิวลูกก็จะตื่นขึ้นมาร้องกินนมเองค่ะ ดังนั้นเมื่อลูกขยับตัว คุณแม่เพียงเฝ้าสังเกต และปล่อยให้ลูกหลับต่อด้วยตัวเอง แต่ถ้าลูกตื่นแล้วร้องกลางดึก อาจเป็นเพราะลูกกลัวความมืด ควรเข้าไปปลอบโยนให้ลูกอบอุ่นใจหายหวาดกลัวนะคะ

เลือกเครื่องนอนที่นอนสบาย ลูกต้องการที่นอนที่อบอุ่นปลอดภัย ขนาดเหมาะสม นอนสบาย อย่าใช้ที่นอนเก่าที่มักเสียรูปทรง เพราะกระดูกในช่วงแรกเกิดยังอ่อนอยู่ และพร้อมที่จะโค้งงอได้ ลูกจึงต้องการที่รองรับกระดูกที่มีรูปทรงที่ดี ไม่โค้งบุ๋มลงไป เมื่อนอนไปนาน ๆ อาจมีผลกับโครงสร้างกระดูก ทำให้รูปร่างที่กำลังเติบโตเสียไปได้ เพราะเด็กจะเติบโตได้มากที่สุดขณะนอนหลับค่ะ

จัดท่านอนที่ปลอดภัย เมื่อลูกยังอยู่ในช่วงวัยเบบี๋ คุณแม่ควรจัดท่านอนให้ลูกนอนหงายจะเป็นการปลอดภัยที่สุด เพราะช่วงนี้คอของลูกยังอ่อนอยู่ ถ้าให้ลูกนอนคว่ำเพราะต้องการให้ศีรษะทุยสวย จะทำให้ลูกได้รับอันตรายจากที่นอนปิดทับจมูกจนไม่สามารถหายใจได้ ดังนั้นคุณแม่ต้องคอยระวัง ไม่ให้ลูกนอนคว่ำ ไว้พอลูกโตเข้าสู่วัยเด็กเล็ก ซึ่งคอแข็งดีแล้วก็ค่อยให้ลูกนอนคว่ำเป็นระยะ ๆ โดยมีคุณแม่คอยดูแลอยู่ใกล้ ๆ ด้วยนะคะ

ขอขอบคุณ ที่มา : Mother&Care ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

อาการปกติของเด็กแรกเกิดถึงเจ็ดวัน

เด็กแรกเกิดถึงเจ็ดวันนั้นจะมีอาการแปลกๆ ที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจจะไม่เคยเห็น จนบางครั้งอาจจะตกใจว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือเปล่า วันนี้เราเลยมาไขข้อข้องใจกันค่ะ

ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์หรือเรียกอีกอย่างว่าปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เป็นพัฒนาการสำคัญของทารกแรกเกิดที่จะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าโดยอัตโนมัติ ปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงเดือนแรกของทารก และหลังจากนั้นก็จะค่อยๆ หายไป ปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบได้เองมีดังนี้

  • หากคุณอุ้มลูกในท่ายืน และปล่อยให้เท้าสัมผัสพื้นเล็กน้อย ลูกจะชักขาขึ้นละม้ายคล้ายการเดินบนอากาศ
  • เมื่อถูกอุ้มอย่างรุนแรง เสียงดัง หรือแสงจ้าบาดตา ลูกจะสะดุ้งตกใจพร้อมกับแอ่นหลังขึ้นมา ศีรษะห้อยไปด้านหลัง แขนขากางกว้างออก และกลับมาอยู่ในท่าห่อตัวอย่างรวดเร็ว
  • ทารกมักร้องไห้จ้าเพราะตกใจเสียงร้องไห้ของตนเอง ลูกจะสงบได้ด้วยการวางมืออุ่นๆ ไว้ที่ร่างกายลูก หรืออุ้มพาดบ่าไว้
  • หากแตะฝ่ามือหรือฝ่าเท้าลูก ลูกจะจับนิ้วของคุณไว้แน่น และสามารถดึงตัวเองขึ้นจากที่นอนได้
  • หากแตะหลังมือหรือหลังเท้าด้านนอก นิ้วมือและนิ้วเท้าของลูกจะกางออก เรียกว่า Babinski Reflex
  • เมื่อแตะที่มุมปากลูก ปากก็จะเผยอตามและหันมาหานิ้วมือที่แตะ ทำท่าทางพร้อมจะดูดนม
  • เมื่อแตะสันจมูกหรือเปิดไฟใส่หน้า ลูกจะหลับตาปี๋
  • จิ้มที่ฝ่าเท้าเบาๆ เข่าและเท้าจะงอ
  • เมื่ออุ้มเอาส่วนอกจุ่มน้ำ ลูกจะทำท่าว่ายน้ำ
  • ดึงลูกขณะที่นอนอยู่ให้ขึ้นมาสู่ท่านั่ง ลูกจะพยายามตั้งหัวให้ตรง ตาเบิกกว้าง ไหล่ตึง เรียกว่าปฏิกิริยาตุ๊กตาจีน
  • ผิวทารกแรกเกิด
  • ทารกแรกเกิดจะมีเลือดของแม่และไขมันเคลือบอยู่ตามผิวที่เรียกว่า เวอร์นิกซ์ (Vernix) ทำหน้าที่ช่วยหล่อลื่นให้ทารกไหลลื่นออกมาจากช่องคลอดได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้เห็นลูกในครั้งแรกก็จะพบว่าลูกมีผิวหนังเหี่ยวย่นจากการคุดคู้อยู่ในครรภ์มารดา และมีเมือกเลือดต่างๆ ที่ติดอยู่ตามตัว หลังจากคลอดเสร็จพยาบาลจะเป็นผู้ทำความสะอาดให้
  • เมื่อไขมันเริ่มหลุดไปก็มักทำให้ผิวชั้นนอกของทารกแห้งและลอก แต่เพียงแค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้นผิวหนังเก่าก็จะค่อยๆ หลุดหายไป และกลายเป็นผิวหนังที่แสนสดใสอมชมพูขึ้นมาแทน ในช่วงนี้คุณแม่อย่าแกะ เกา ขัดผิวของลูกเป็นอันขาด เพราะอาจจะทำให้ผิวลูกถลอก เป็นแผล และติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้นด้วย ทารกแรกเกิดหลายคนก็มักมีปานต่างๆ แต้มตามผิวมาด้วย
  • ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Nevus) ทารกแรกเกิดอาจเห็นเป็นสีค่อนข้างแดง ต่อมาภายในเวลาไม่กี่เดือนจะมีสีน้ำตาลดำเข้มขึ้น ปานดำส่วนใหญ่จะมีขนาดโตกว่าไฝธรรมดา ผิวอาจเรียบนูน หรือขรุขระเล็กน้อย และอาจมีขนปนอยู่ด้วย ปานชนิดนี้มักไม่มีอันตราย นอกจากความสวยงาม แต่ถ้ามีขนาดใหญ่อาจมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้
  • ปานมองโกเลียน (Mongolian spot) จะมีลักษณะเป็นปื้นสีเทาหรือสีน้ำเงินอ่อนขนาดใหญ่ ขนาดตั้งแต่ 0.5 ? 11 ซม. มักจะพบบริเวณก้น หลัง อาจพบที่ไหล่หรือศีรษะได้บ้าง ปานชนิดนี้ไม่มีอันตรายใดๆ และมักจะจางหายไปได้เองใน 1 ขวบปีแรก
  • ปานแดงสตรอเบอร์รี่ (Strawberry Nevus) มักพบบริเวณใบหน้าและลำคอ ลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนนูนสีแดงเข้ม พบในช่วง 1-4 สัปดาห์หลังคลอด ระยะแรกจะขยายเร็วจนถึงอายุประมาณ 1 ขวบ จากนั้นสีจะม่วงคล้ำขึ้น โดย 85% จะหายไปได้เองภายในอายุประมาณ 7 ขวบ
  • ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ (Capillary Hemangioma) ลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือปื้นสีแดงขนาดใหญ่ที่บริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ซึ่งอาจพบความผิดปกติของตาร่วมด้วย เช่น ถ้าพบปานชนิดนี้บริเวณเปลือกตาหรือขมับ อาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเบียดตาหรือเกิดต้อหินทำให้ตาบอดได้ การรักษาปานชนิดนี้มักใช้แสงเลเซอร์ (Vascular laser) ซึ่งผลของการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของปานแดง
  • ปานโอตะ (Nevus of Ota) อาจพบในทารกแรกเกิด หรือบางรายพบในตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลักษณะจะคล้ายปานมองโกเลียนที่มีสีเทาหรือน้ำเงิน แต่มักพบบริเวณโหนกแก้ม หรือขมับ ปานลักษณะนี้จะไม่จางหายไปเหมือนปานมองโกเลียน และจะไม่กลายเป็นมะเร็ง จึงไม่มีอันตรายใดๆ นอกจากไม่สวยงามเท่านั้น เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถใช้เลเซอร์รักษาได้

รูปร่างทารกแรกเกิด

  • โดยเฉลี่ยแล้วเด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักประมาณ 3.3 กก. สูง 50.5 ซม. ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักประมาณ 3.2 กก. สูง 49.9 ซม.
  • ร่างกายของทารกในช่วงแรกคลอดนี้จะดูแล้วไม่น่ารัก เพราะว่าศีรษะจะโตมากกว่าลำตัว อีกทั้งมีใบหน้าอูม คอสั้น แขนขาก็สั้นไม่เข้าที่ เมื่อจับศีรษะก็จะพบว่าค่อนข้างนุ่ม เนื่องจากกะโหลกยังประสานไม่สนิทเท่าไรนักโดยเฉพาะกระหม่อมหน้า ส่วนมือเท้าจะค่อนข้างเย็นเพราะระบบหมุนเวียนเลือดยังทำงานไม่ประสานกันเท่าไหร่
  • ส่วนอวัยวะเพศชายจะมีไข่อยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้ว แต่ทารกบางคนก็มีไข่เพียงข้างเดียว ซึ่งอีกข้างจะตามมาในภายหลังในเวลาไม่นานนัก ปลายองคชาติจะปิดแต่สามารถปัสสาวะได้และจะเปิดภายหลังเช่นกัน ส่วนอวัยวะเพศหญิงจะมีสีคล้ำเล็กน้อย
  • ส่วนอวัยวะเพศเด็กหญิงบางคนมีมูกคล้ายตกขาวหรือเลือดออกมาจากช่องคลอด เพราะเกิดจากฮอร์โมนของแม่ที่ผ่านมาทางสายรก และจะหายไปในเวลา 1-2 สัปดาห์

การมองเห็น การมองเห็นเป็นพัฒนาการที่ทารกเพิ่งได้เรียนรู้เมื่อออกมาจากครรภ์มารดา ดังนั้นคุณแม่จะเห็นว่าลูกจะหน้านิ่วคิ้วขมวดและเพ่งไปยังจุดที่เขาสนใจในระยะประมาณ 8-12 นิ้ว ทั้งนี้ ทารกจะสามรถมองเห็นได้อย่างเลือนลางและมองในลักษณะเลื่อนลอยบ้างในบางครั้ง ที่สำคัญดวงตาของทารกจะมีความไวต่อแสงมาก ดังนั้นอย่าพาลูกเดินไปในห้องที่มีแสงจ้า หรือออกกลางแดดแบบฉับพลัน เพราะเขาจะหลับตาปี่เพื่อปกป้องดวงตาของตัวเองทันที

ทารกจะชอบมองสิ่งที่เป็นเหลี่ยมมุมมากกว่าสิ่งของที่เป็นทรงกลม และชอบลวดลายที่มีสีสันตัดกันมากกว่าสีพื้นเรียบๆ อีกสิ่งหนึ่งที่ทารกชอบมอง คือ ใบหน้าของคน เพราะมีลักษณะสีหน้าที่แสดงอารมณ์ และมีจุดโฟกัสที่ดวงตา ลูกจะเรียนรู้ได้ว่าเขาควรจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร อย่างเช่น คุณแม่ยิ้มให้ ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะยิ้มตาม

พัฒนาการเด็ก

การได้ยิน ทารกจะมีพัฒนาการด้านการได้ยินขึ้นทันทีตั้งแต่ออกจากท้องแม่ โดยทารกจะมีปฏิกิริยาเมื่อมีเสียงแปลกๆ เข้ามากระทบ อย่างเช่น สะดุ้งตกใจ กะพริบตาถี่ๆ หรือกลับกันถ้าเป็นเสียงเห่กล่อม ลูกจะนอนง่ายขึ้น ร้องไห้โยเยน้อยลง อย่างไรก็ตามทารกชอบได้ยินเสียงที่ทอดยาวประมาณ 10 วินาที และไม่ชอบเสียงสั้นๆ แบบหยุดๆ หายๆ ราว 1 ? 2 วินาที และชอบเสียงสูงมากกว่าเสียงต่ำ อีกทั้งสามารถแยกแยะเสียงของคุณแม่จากเสียงอื่นๆ ได้แล้วด้วย

การสัมผัส ทารกแรกเกิดมีความไวต่อประสาทสัมผัสทางกาย โดยเฉพาะอ้อมกอดและการสัมผัสของแม่ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ทารกรับรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ มากขึ้น นอกจากนั้นทารกยังรับรู้ได้อีกว่าคุณแม่กำลังอยู่ในอารมณ์ใด แต่หากทารกน้อยยังต้องอยู่ในตู้อบ ทางการแพทย์ก็แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลูบเนื้อตัวลูกผ่านถุงมือ เพราะว่าลูกจะรู้สึกถึงการสัมผัสได้เช่นกัน

การได้กลิ่น ประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่นเป็นพัฒนาการสำคัญ ที่จะช่วยให้ทารกน้อยปรับตัวกับโลกภายนอก หลังจากอุดอู้ในครรภ์คุณแม่มานาน ทารกแรกเกิดจะสามารถแยกความแตกต่างของกลิ่นสองกลิ่นได้ และสามารถแสดงออกว่าไม่ชอบกลิ่นเหม็นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งหากไม่ชอบก็จะหันหัวหนี สะดุ้ง และดิ้นรนจนร้องไห้ออกมาในที่สุด ส่วนกลิ่นที่ชอบที่สุดจะเป็นกลิ่นของแม่ เพราะรู้สึกปลอดภัยและรับรู้ถึงความอบอุ่น ดังนั้นเมื่อลูกร้องไห้โยเยและคุณแม่เข้ามาอุ้ม ลูกก็จะรู้สึกอุ่นใจและสงบลงได้

ขาโก่ง คุณพ่อคุณแม่บางคนกังวลว่าทารกแรกเกิดที่คลอดออกมาแล้วขาโก่งจะผิดปกติหรือไม่ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมชาติที่ขาของลูกน้อยจะโก่งเล็กน้อยโดยเฉพาะขาด้านล่าง แต่ไม่ต้องกังวลเพราะขาของลูกจะค่อยๆ เหยียดตรงขึ้นเรื่อยๆ สามารถยืดยาวตรงได้ในภายหลัง

การกิน นมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด ซึ่งนมแม่หลังคลอดจะมีลักษณะเป็นน้ำนมเหลืองที่เรียกว่า โคลอสตรัม (Colostrum) ที่ถือเป็นหัวอาหารชั้นยอดของทารก ซึ่งน้ำนมเหลืองจะให้ทั้งพลังงาน โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ พร้อมทั้งภูมิคุ้มกันธรรมชาติแก่ทารกด้วย ที่สำคัญคุณแม่ควรให้ลูกดูดนมข้างละประมาณ 15 นาที เพื่อกระตุ้นน้ำนมด้วย

ช่วงแรกลูกจะร้องกินนมไม่ค่อยเป็นเวลา เป็นหน้าที่ของคุณแม่ที่จะต้องค่อยๆ จัดตารางเวลาให้ลูกกินนมในช่วงกลางวัน เพราะนอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้พักผ่อน ลูกก็จะมีระบบการย่อยที่ดีและท้องไม่อืด

การขับถ่าย หากลูกกินนมแม่จะถ่ายอุจจาระบ่อย บางคนถ่ายทุกครั้งหลังดูดนม ซึ่งในทารกแรกเกิดจะมีอุจจาระที่ดำๆ เขียวๆ ที่เรียกว่า "ขี้เทา" มีลักษณะนุ่มเหนียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ของทารกจากเมื่อตอนที่ยังอยู่ในท้องแม่ และจะถูกขับออกมาตามกระบวนการขับถ่าย และต่อไปอุจจาระของลูกก็จะกลายเป็นสีเหลืองเอง ทั้งนี้ หากสังเกตว่าลูกยังไม่อุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว ให้รีบปรึกษาแพทย์เพราะลูกอาจจะเกิดลำไส้อุดตันได้

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร momypedia ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

รับมืออาการคันเหงือกของลูกน้อย

ลูกน้อยในวัย 5-6 เดือนมักจะมีฟันซี่แรกขึ้นแล้ว จึงทำให้ลูกน้อยมีอาการคันเหงือก ชอบกัดนู่นกัดนี่ อีกทั้งยังงอแงบ่อย น้ำลายก็เยอะแถมยังชอบดูดนิ้วอีก คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจกับลูกน้อยในช่วงนี้เป็นพิเศษนะคะ

  • ช่วยเอาใจใส่ดูแล กอดหนู ให้กำลังใจหนู เพื่อให้หนูเกิดความรู้สึกมั่นใจว่ามีพ่อกับแม่อยู่เคียงข้างเสมอ แม้ช่วงแรกหนูจะหงุดหงิดงอแง หรือโยเยไปบ้าง (ก็มันเจ็บเหงือกน้อยอยู่ยังไงล่ะจ๊ะ) แต่หนูก็จะรับมือและผ่านภาวะนี้ไปได้เอง
  • ถ้าหนูเผลอไปกัดหัวนมแม่ด้วยความมันเขี้ยว อยากให้แม่เข้าใจและไม่โกรธหนู ทางที่ดีแม่ควรผลักออกและหาอย่างอื่นให้หนูกัดแทน เพื่อที่หนูจะได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เป็นที่พึงประสงค์
  • หาของเล่นแบบยางกัดเนื้อนิ่ม ให้หนูกัดแทะเล่น ช่วยคลายความมันเขี้ยว
  • ใช้ผ้าขนหนูเนื้อนุ่มชุบน้ำเย็น ค่อย ๆ เช็ด นวดเบา ๆ ไปตามปุ่มเหงือกของหนูช่วยให้หนูสบายเหงือกขึ้นเยอะเลย
  • ช่วงนี้น้ำลายของหนูจะมากกว่าปกติ และอาจไหลย้อยออกมานอกปาก หนูอยากให้แม่ใช้ผ้าสะอาดหรือสำลีชุบน้ำช่วยเช็ดทำความสะอาดรอบ ๆ ปากให้หนู
  • ให้อาหารนิ่ม ๆ เย็น ๆ กับหนู เช่น ขนมปังแท่ง กล้วยหอม ไอศกรีม

อย่าทำแบบนี้นะ

  • อย่าให้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดกับหนู เพราะจะทำให้เหงือกหนูชา ก็แค่ช่วยให้หายคันเหงือกชั่วคราว แต่ไม่คุ้มเลยถ้าเกิดหนูเป็นหวัดขึ้นมาแทน
  • ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้ปวด เพราะโดยธรรมชาติแล้วหนูสามารถรับมือกับอาการฟันขึ้นนี้ได้ ยกเว้นว่าเหงือกของหนูมีอาการบวมแดงมากพ่อกับแม่ลองปรึกษาทันตแพทย์เด็กสักนิดก็ดีจ้ะ
  • อย่าเช็ดเหงือกหนูด้วยแอลกอฮอล์ เพราะเชื่อว่าจะช่วยคลายอาการระคายเคืองได้ ซึ่งไม่จริงเลย แต่กลับจะมีผลเสียมากกว่าถ้าหนูกลืนเข้าไป
  • อย่าให้อาหารที่มีลักษณะแข็ง เช่น ผัก-ผลไม้หั่นเป็นแท่ง แล้วให้หนูถือกัดเล่น เพราะถ้าหนูใช้เหงือกกัดจนขาด เจ้าผักผลไม้นั้นอาจหลุดไปติดที่หลอดลมของหนูได้

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

เทคนิคเด็ดพัฒนาสมองลูกแรกเกิด

สมองของลูกสามารถพัฒนาได้ตั้งแต่แรกเกิดนะคะ หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญก็จะช่วยให้สมองของลูกพัฒนาได้ดีขึ้น โดยพัฒนาผ่านกิจกรรมที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การได้ยิน การมองเห็น การลิ้มรส การได้กลิ่นและการเคลื่อนไหว

Sensory คือระบบประสาทความรู้สึกของมนุษย์ ที่พัฒนาได้จากการรับรู้สิ่งเร้าภายนอก เช่น การหยิบจับสิ่งของที่มีพื้นผิวต่างกัน หรือการดมกลิ่นต่างๆ ฯลฯ พฤติกรรมของเด็กๆ เหล่านี้จะทำให้สมองมีความคิดความจำ เซลล์ประสาทและใยประสาทจะเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง จึงพัฒนาสมองได้รวดเร็วขึ้น

สิ่งที่สำคัญและควรได้รับการพัฒนามากในอันดับต้นๆ ของเด็ก คงหนีไม่พ้นอวัยวะหลักอย่างสมองแน่ๆ เนื่องจากสมองเปรียบเหมือนเครื่องประมวลความคิด มีการเรียนรู้และสะสมความรู้ที่เติบโตพร้อมร่างกาย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะได้มีกระบวนการคิดแก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ และสติปัญญาเพื่ออยู่รอดในสังคม

การพัฒนาสมองไม่จำเป็นจะต้องเริ่มเมื่อ ถึงวัยเรียนเสมอไป พ่อแม่ควรเริ่มตั้งแต่วัยเบบี้ต่อเนื่องขึ้นไปด้วยวิธีการอันแสนแยบยล โดยมีกุญแจสำคัญ 2 ดอก คือ 1. พัฒนาลูกด้วยความสนุก และ 2. พัฒนาให้ถูกประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การได้ยิน การมองเห็น การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัสเคลื่อนไหว

  1. การได้ยิน เสียงที่สามารถพัฒนาศักยภาพการได้ยินของลูกเป็นเสียงดนตรีที่มีท่วงทำนองไพเราะ บรรเลงอย่างมีจังหวะจะโคน ของเล่นที่มีเสียงชวนสนใจ หรือแม้แต่เสียงสูงๆ ต่ำๆของพ่อและแม่ ก็ชวนให้เขาหันมาฟังได้
  2. การมองเห็น เด็กในวัยแรกเกิดจะสะดุดตากับสิ่งของที่มีสีสันตัดกันมากๆ อย่างเช่น โมบายสีขาว-ดำ เหลือง-แดง เขียว-ฟ้า เป็นต้น เราควรผูกโมบายไว้ให้เด็กดูเล่นเพราะมีประโยชน์ในการฝึกกล้ามเนื้อตา จากที่เคยมองเห็นในระยะ 2 ฟุต ก็จะมองเห็นในระยะไกลขึ้นตามลำดับ
  3. การลิ้มรส รสแรกที่ได้รับคือนมแม่ ส่วนการลิ้มรสอีกแบบที่ลูกอยากสัมผัสเองได้แก่การชอบเอาของเข้าปาก ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือหรือของเล่น เพราะอยากจะสำรวจของต่างๆ ด้วยปากอย่างมีความสุข
  4. การได้กลิ่น กลิ่นที่เด็กคุ้นเคยและไว้ใจคือกลิ่นแม่พ่อ และกลิ่นที่บ้าน คนในบ้านจึงไม่ควรใส่น้ำหอมหรือเปลี่ยนแป้งบ่อยๆ เพราะนอกจากยากต่อการที่ลูกจะจำแล้ว ยังทำให้ลูกขาดความไว้ใจอีกด้วย
  5. การสัมผัสและเคลื่อนไหว แม้จะยังเล็กแต่เด็กก็สามารถรู้ได้ว่าเขากำลังนอนอยู่บนที่นอนหรือว่าอ้อมอกแม่ เนื่องจากการสัมผัสก่อให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในสถานะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น คลานบนเบาะกับคลานบนพื้นไม้ เด็กจะเรียนรู้และปรับตัวด้วยวิธีคลานที่แตกต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่ควรจัดหาสิ่งของที่มีทำจากวัสดุหลากหลายมาให้ลูกเรียนรู้ เช่น เลือกของเล่นที่ทำจากไม้ ผ้า หรือพลาสติกบ้าง อย่าเลือกชนิดใดชนิดหนึ่งให้เพียงอย่างเดียว

การพัฒนาสมองของลูกนั้นจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่แรกเกิดก็จริงอยู่นะคะ แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับลูกให้มาก ควรค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของลูกน้อยด้วยค่ะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร Momypedia ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

เตรียมพื้นที่สำหรับลูกน้อยวัยคลานกันเถอะ

หลัง 6 เดือนแรกผ่าน ช่วงเวลาแห่งความเหนื่อยของพ่อแม่ก็กำลังเริ่มต้นเมื่อเจ้าตัวเล็กเริ่มคืบคลานได้ คุณก็เริ่มนั่งไม่ติดที่ และต้องทึ่งกับพลังมหาศาลของมือน้อยๆและข้อเข่าอวบๆ ที่เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว คลานไปได้ทุกที่ทั่วบ้าน

การจัดพื้นที่ปลอดภัยในบ้านเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดแก่ลูกน้อยวัยตะลุยคลานเป็นสิ่งที่คุณทำได้ มาดูกันว่าคุณทำอะไรได้บ้างเพื่อความปลอดภัยของลูก

จัดได้เลย พื้นที่สีแดง ภายในบ้านมีจุดอันตรายสำหรับเด็กที่เราสามารถป้องกันไว้ก่อนได้ ได้แก่ ทางขึ้นลงบันได้ ป้องกันโดยติดที่กั้นหน้าบันได, ปลั๊กไฟและเต้าเสียบ ป้องกันโดยหาตัวปิด,ประตู หน้าต่าง หรือตู้ที่ลูกสามารถเอื้อมถึงเปิดเองได้ควรหาที่ล็อคประตูมาใช้เหลี่ยมมุมและขอบโต๊ะที่พอดีกับความสูงของลูกควรหายางกันกระแทกมาครอบ, ผ้าปูโต๊ะที่ชายยาวอยู่ในระยะลูกเอื้อมหรือคว้าดึงได้ ควรเก็บชายให้เรียบร้อย

ของใหญ่ต้องมั่นคง เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่ล้มคว่ำได้หากมีการเหนี่ยว (เมื่อลูกถึงวัยเกาะยืนหรือหัดเดิน) เช่น ชั้นหนังสือ โต๊ะเครื่องแป้ง ชั้นวางโทรทัศน์ ควรทำการยึดติดกับผนังห้องหรือย้ายไปบริเวณที่ไกลจากพื้นที่เล่นของลูกส่วนสายไฟหรือสายเครื่องใช้ไฟฟ้าควรม้วนเก็บให้พ้นสายตาเบบี๋หรือหาตลับใส่สายไฟมาใช้ หรือจะหาท่อร้อยสายไฟมารวบเก็บสายไฟเข้าไว้ด้วยกัน ป้องกันนักคลานตัวน้อยเอามาพันนิ้วพันคอเล่นเฟอร์นิเจอร์อื่นที่แตกหักหรือล้มง่าย อยู่ในจุดที่ล่อตาล่อใจนักคลานและเป็นอันตรายควรย้ายที่

นี่ละอาณาจักรของลูก จัดมุมหรือพื้นที่เล็กๆ ให้เป็นของลูกโดยเฉพาะ จะปูพื้นยางหรือใช้ของเล่นของลูกบอกเขตก็แล้วแต่คุณจะจัดสรรค่ะ แม้จะห้ามเบบี๋คลานไปทั่วบ้านไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็มีส่วนที่ลูกเรียนรู้ได้ว่าตรงไหนที่ปลอดภัยกับเขาที่สุด (ซึ่งสำหรับลูกน้อย คงเป็นที่ที่ได้ยินเสียงห้ามน้อยที่สุด) และจะเล่นจะทำอะไรก็ได้ตรงนี้

หูตาไวตลอดเวลา แม้จะจัดพื้นที่ให้ปลอดภัยเพียงใด แต่ก็ไม่มีอะไรดีเกินไปกว่าการให้ลูกอยู่ในสายตาตลอดเวลา แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียวสักชั่วครู่ ก็ควรอุ้มเขาลงเตียง หรือพาไปนั่งบริเวณพื้นที่เล่นเสียก่อน และให้ลูกอยู่ห่างจากสัตว์เลี้ยงด้วย

สอนลูกเสมอว่าอะไรควรเล่นหรือไม่ควรเล่น มีข้อจำกัดอะไร อย่างไรบ้าง เช่น "นี่ของของแม่ ทาแล้วร้อนเล่นไม่ได้นะจ๊ะ อันนี้ของลูก เล่นได้จ้ะ" ที่สำคัญควรใช้คำเตือนบ้าง เช่น "อุ๊ย" "ร้อน" หรือ "อันตราย"เพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้รู้จักการป้องกันตนเองไว้บ้าง

ขอขอบคุณ ที่มา : Real Parenting ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

เรื่องของเด็กแรกเกิด ที่คุณยังไม่รู้

คุณแม่หลายๆ ท่านที่คลอดน้องใหม่ๆ คงเคยมีเรื่องที่สงสัยและสับสนเกี่ยวกับเรื่องราวบางอย่างของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่พบเห็น แต่วันนี้เรามาคลายข้อข้องใจกันดีกว่าค่ะ

  • เสียงร้องเหมือนกันหมด เคยได้ยินมาว่าเสียงร้องของเด็กจะมีความแตกต่างกัน และบ่งบอกความต้องการของลูกได้ แต่ถ้าลูกร้องทีไรก็เสียงเดียวกันหมด นั่นเป็นเรื่องปกติที่ช่วงแรกๆ คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกแบบนั้น แต่อย่าได้กังวลไป เพราเวลาจะช่วยทำให้สามารถแยกแยะเสียงได้เอง ลองตอบสนองลูกขั้นพื้นฐานไปเรื่อยๆ สักพักก็รู้ใจกันเอง
  • ลูกไม่น่ารักเหมือนในหนังสือเลย นั่นเป็นเพียงมายาคติเท่านั้นเอง เพราะแท้ที่จริงแล้วเด็กแรกเกิดสัดส่วนจะดูแปลกตากว่าที่คุณเคยเห็น เพราะกว่าจะออกมาได้เด็กต้องเดินทางผ่านกระดูกเชิงกราน กระดูกตรงกะโหลกศีรษะที่ยังปิดไม่สนิท จะเปลี่ยนรูปชั่วคราวเพื่อสะดวกต่อการคลอดและไม่เป็นอันตรายต่อสมองน้อยๆ ด้วย อีกทั้งของเหลวในร่างกายยังทำให้ลูกตาดูบวมๆ จมูกบี้ๆ อีกต่างหาก แต่อย่าตกใจไป เพราะลูกน้อยจะค่อยๆ เต่งตึง ดูน่ารักน่าชังได้ในอีก 1-2 สัปดาห์
  • ตัวแค่นี้ถีบเก่งจัง ช่วงแรกเกิดเด็กจะมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวแขนขามากกว่าตอนอยู่ในท้องแม่ แต่ก็ยังบังคับกล้ามเนื้อแขนขาไม่เอาไหนเลย จึงยกสะเปะสะปะไปเรื่อย เหมือนกับกระตุกหรือสะดุ้งตลอด แต่อาการนี้จะลดลงภายใน 2-3 สัปดาห์ แล้วจะค่อยๆ หายไปภายใน 3 เดือน
  • ลูกอัณฑะใหญ่เกินตัว ทั้งนี้ เพราะฮอร์โมนจากแม่ ซึ่งอยู่ในร่างกายและเนื้อเยื่อของเด็กยังถูกขับออกมาไม่หมด จึงทำให้เด็กผู้ชายมีอัณฑะที่ดูใหญ่ ส่วนเด็กผู้หญิงก็มีอวัยวะเพศดูบวมๆ ในช่วง 2-3 วันแรก ถ้าไม่เจ็บหรือมีอาการอักเสบก็สบายใจหายห่วงได้
  • ทำไมหิวบ่อยจัง ช่วงแรกเกิดเป็นช่วงที่ต้องคอยให้นมลูกตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเด็กที่กินนมแม่จะหิวบ่อย เพราะนมแม่ย่อยและดูดซึมง่ายกว่านมผง ยิ่งช่วง 6 เดือนแรกจะเป็นช่วงที่ทำน้ำหนักของลูกขึ้นมาประมาณสองเท่าของตอนแรกเกิด แต่คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วง ทำใจให้สบายได้เลย เพราะเห็นลูกกินได้น่าจะดีใจมากกว่า
  • มือเท้าเย็น ส่วนใหญ่เวลารู้สึกว่าลูกมือเท้าเย็น มักจะหาผ้าห่มมาห่มเพิ่ม แต่ความจริงเด็กแรกเกิดมีโอกาสที่มือเท้าจะเย็นกว่าอวัยวะส่วนอื่นได้ เพราะระบบหมุนเวียนเลือดกำลังพัฒนา จึงต้องส่งกำลังเลือดไปเลี้ยงอวัยวะหลักๆ อวัยวะที่อยู่ไกลอย่างมือและเท้าจึงได้รับช้า ทั้งนี้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ระบบหมุนเวียนต่างๆ ในร่างกายจึงจะเข้าที่ ฉะนั้น ถ้าสังเกตดูว่าผิวของลูกออกสีชมพู และอุณหภูมิห้องไม่เย็นมาก ก็ยังไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าให้ลูก แค่ให้ลูกออกกำลังกาย ยกแข้งยกขาก็พอ จะช่วยทำให้ระบบไหลเวียนสมบูรณ์เร็วขึ้น
  • มีเลือดปนมากับผ้าอ้อม ฮอร์โมนจากแม่บางครั้งเป็นเหตุให้มีเลือดออกมาจากช่องคลอดของเด็กผู้หญิงแรกเกิดได้ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่เลือดแต่เป็นสีของปัสสาวะที่ดูเข้ม จึงไม่ต้องกังวลถ้าคุณเห็นรอยเปื้อนเลือดเล็กน้อยติดอยู่กับผ้าอ้อมในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด
  • ผายลมบ่อย เด็กที่กินนมแม่ อึลูกจะมีสีเหลืองทองและนิ่ม ไม่เป็นก้อนๆ ถ้าเลี้ยงด้วยนมขวดจะมีสีเข้มหรือคล้ำกว่า บางคนถ่ายทุกวันหรือมากกว่าหนึ่งครั้งต่อวัน บางคนสองสามวันถ่ายที แต่ถ้าไม่เป็นก้อนแข็งก็ไม่มีอะไรน่าห่วง อีกทั้งเด็กบางคนก็ผายลมเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะหลังกินนมแม่ ถ้าไม่ปวดท้อง ไม่งอแง ไม่บวม ก็ถือว่าสบายดี ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะท้องเสีย
  • จามตลอดเวลา ธรรมชาติของเด็กแรกเกิดอาจจะจามบ่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าป่วยหรือเป็นหวัด แต่เป็นเพราะเด็กกำลังทำให้ทางเดินหายใจของตัวเองโล่งสบาย และหลังจากให้นมลูกแล้ว อาจเห็นว่าลูกจาม เพราะระหว่างดูดนม แกต้องกลั้นหายใจเป็นจังหวะ ฉะนั้น ถ้าจามโดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ น้ำมูก งอแง แสดงว่าลูกน้อยสบายดี ไม่ต้องกังวล
  • ผิวหนังลอก เมื่อเด็กคลอดออกมา ไขมันที่เคลือบผิวหนังตอนอยู่ในท้องจะหลุดออก ทำให้ผิวหนังชั้นนอกแห้งและเริ่มลอก แต่อีก 1-2 สัปดาห์ ผิวหนังเก่าจะหลุดออก พร้อมกับมีผิวหนังใหม่ที่ใส เต่งตึงมาแทนที่ ทั้งนี้ ต้องระวัง อย่าแกะ ดึง หรือขัดเด็ดขาด ควรปล่อยให้ผิวหนังหลุดลอกออกมาเอง
  • บางทีเหมือนหยุดหายใจ เพราะว่ากล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจของเด็กยังไม่แข็งแรงเต็มที่ การกระเพื่อมของทรวงอกจึงมีน้อย แต่พอผ่านไปประมาณ 6 สัปดาห์ คุณแม่จะสังเกตเห็นการหายใจของลูกชัดขึ้น แต่หากรู้สึกว่าลูกหยุดหายใจเกิน 20 วินาที นั่นเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบพาไปพบหมอด่วน

คราวนี้ก็คงหายข้องใจกันแล้วกับอาการต่างๆ ของเด็กแรกเกิด...ลองนำไปศึกษากันให้ละเอียดดูนะคะ เพื่อความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่เอง...

ขอขอบคุณ ที่มา : Woman Story ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on