Written by on

ตราประจำจังหวัดสุโขทัย

รูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประทับบนพระแท่นมนังคศิลา

คำขวัญประจำจังหวัดสุโขทัย

มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนางามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข

ประวัติจังหวัด จังหวัด สุโขทัย เป็นที่ตั้งอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อ ๗๐๐ ปีที่แล้ว คำว่า "สุโขทัย" มาจากสองคำ คือ "สุข+อุทัย" หมายความว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข" รอยอดีตแห่งความรุ่งเรือง เห็นได้จากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ

ประวัติสุโขทัยเริ่ม พ.ศ. ๑๘๐๐ เมื่อพระยาศรีนาวนัมถมพระบิดาพ่อขุนผาเมืองได้ปกครองเมืองสุโขทัยเรื่อยมาจน สิ้นพระชนม์ ขอมสมาดโขลญลำพงข้าหลวงจากราชอาณาจักรขอมได้เข้ายึดครองเมือง ขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองจ้าวเมืองราดได้ยึดเมืองคืน และสร้างเมืองสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี มีขุนบางกลางหาวพระนามใหม่ว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองสุโขทัย อาณาจักรแห่งแรกของประเทศไทย

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้แผ่อาณาจักรออกไปกว้างขวางคลุมเขตประเทศไทยเกือบหมด บ้านเมืองเจริญทุกด้าน ไม่ว่าด้านประวัติศาตร์ ยุทธศาสตร์ กฏหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี เฉพาะอย่างยิ่งทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ อักษรไทยที่ทรงประดิษฐ์นี้ได้จารึกไว้ในแผ่นศิลามากมาย ศิลาจารึกเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญให้รู้เรื่องเมืองสุโขทัยมากขึ้น

ในศิลาจารึกบอกถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนราม คำแหงมหาราชว่ามีอาณาเขตกว้างมาก ทิศเหนือจรดเมืองแพร่ น่านและหลวงพระบาง ทิศใต้จรดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจรดเมืองเวียงจันทร์ และทิศตะวันตกจรดเมืองหงสวดี การปกครองบ้านเมืองเป็นระบบ "พ่อปกครองลูก" ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีมีสิทธิเสรีภาพดั่งคำจารึกว่า "ไพร่ฟ้าหน้าใสในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า"

สมัยนั้นชาวสุโขทัย ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก อาศัยน้ำที่มีอยู่บริบูรณ์ทำนา ทำสวน ทำไร่ มีการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งเรียกว่า "ทำนบพระร่วง" ซึ่งนักโบราณคดีได้ศึกษาพบถึง ๗ แห่ง สุโขทัยเป็นศูนย์กลางค้าและการผลิตเครื่องถ้วยชามที่เรียกว่า "สังคโลก" ส่งขายยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนิเซีย และบอร์เนียว นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์การค้าสินค้าจากจีน เช่น ถ้วยชามและผ้าไหม เพื่อขายในประเทศและส่งต่อต่างประเทศด้วย หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของสุโขทัย ได้แก่ สมบัติทางวัฒนธรรมที่ได้รับการบูรณะขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและ มรดกโลกในปัจจุบัน

ใน พ.ศ. ๑๘๙๐ กรุงศรีอยุธยา มีอำนาจมากขึ้นและเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจแทนสุโขทัย แต่สุโขทัยก็ยังมีพระมหากษัตริย์ปกครองกันติดต่อมาอีก ๒ พระองค์ จึงสิ้นพระราชวงศ์สุโขทัยและได้รวมเข้ากับราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่เมืองพม่าครั้งที่ ๒ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้ตั้งเมือง สุโขทัยขึ้นที่บ้านธานี(ท่าหนี) ริมแม่น้ำยมซึ่งก็คือจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕ ได้ยุบอำเภอธานี ตั้งใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสุโขทัยธานีขึ้นกับจังหวัดสวรรคโลก จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ยกอำเภอสุโขทัยธานีขึ้นเป็น จังหวัดสุโขทัยตั้งแต่นั้นมา

สุโขทัยในปัจจุบัน ตัวเมืองในปัจจุบันนี้มิใช่กรุงสุโขทัยอันเป็นราชธานีเดิมแต่เป็นเมือง สุโขทัย ล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรีทรงย้ายผู้คนทั้งหมดจากสุโขทัย ตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำยมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ โดยห่างจากตัวเมืองสุโขทัยที่เคยเป็นราชธานี ๑๒ กิโลเมตร พระราชดำริในครั้งนั้นมีอยู่ว่า เมืองสุโขทัยเป็นเมืองใหม่ไม่มีผู้คนพอจะต่อสู้รักษาให้พ้นจากการรุกรานจาก พม่าข้าศึกได้ เมืองสุโขทัยเคยถูกยุบเป็นอำเภอมีชื่อว่า "อำเภอธานี" ขึ้นอยู่กับอำเภอสวรรคโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๘๒ ทางการจึงได้ยกฐานะเป็นจังหวัดดังปรากฏอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย สิ่งสำคัญที่จะต้องระลึก ก็คือมหาราชพระองค์แรกของไทยได้ถือกำเนิดขึ้น ณ สุโขทัยแห่งนี้พระองค์ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขกับได้ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล และเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดในช่วงเวลานั้น จากร่องรอยและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ชีให้เห็นว่าศิลปวัฒนธรรมของความเป็นไทยได้เริ่มต้น ณ แห่งนี้ วิทยาการความรู้ความสามารถ และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีภาษาและหนังสือของตนเองได้บ่งบอกถึงอารยธรรมอันสูง ส่งของคนไทยได้เริ่มขึ้นและวิวัฒนาการ

เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานไทยได้สืบทอดต่อกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้สุโขทัยจึงเป็นดินแดนแห่งความทรงจำ เป็นดินแดนแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติที่จะลืมเลือนเสียมิได้เป็นอัน ขาด สุโขทัยเป็นดินแดนแห่งความทรงจำถึงอดีตกาลแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยในความ สำคัญที่

- เป็นราชธานีแห่งแรกของไทยและมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด

- เป็นดินแดนของมหาราชองค์แรกของไทย

- กษัตริย์พระองค์แรกทรงผนวชในบวรพุทธศาสนา

- เป็นจุดกำเนิดลายสือไทย และวรรณคดีเล่มแรกของไทย "ไตรภูมิพระร่วง"

- เป็นแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมชิ้นแรก "ชามสังคโลก"

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์

รูปมณฑปประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ มีลวดลายกนกประกอบ

คำขวัญประจำจังหวัดอุตรดิตถ์

เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก

ประวัติจังหวัด อุตรดิตถ์ มีความหมายว่า เมืองท่าแห่งทิศเหนือและก่อนจะมาเป็นเมืองท่าสำคัญแต่เดิมอุตรดิตถ์เคยเป็นเมืองใน ปกครองของเมืองพิชัยอันเป็นเมืองเก่าแก่

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยโบราณก่อน พ.ศ. 1000 ยังไม่มีตัวอักษรใช้กัน แต่อุตรดิตถ์มีคนอาศัยอยู่แล้วเพราะหลักฐานจากการ ค้นพบภาพเขียนสีโบราณบนหน้าผาเขาตาพรหม หลังที่ว่า การอำเภอทองแสนขันและกลองมโหระทึกทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง อุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2470 ทำให้ เราทราบว่าอุตรดิตถ์เป็นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ก่อน พ.ศ. 1000 แล้ว เพราะโบราณวัตถุที่ค้นพบดังกล่าวเป็นโลหะ ที่มีใช้กันอยู่ในยุคสัมฤทธิ์หรือยุคโลหะตอนต้นอันเป็นยุคก่อน ประวัติศาสตร์นั่นเอง

สมัยสุโขทัย ในสมัยสุโขทัยท้องที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มี การตั้งเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองฝางหรือเมืองสวางคบุรีเป็นเมืองที่มี ชื่อปรากฏในศิลาจารึกของกรุงสุโขทัย เมื่อคราวที่พระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้ทรงสร้างพระมหาธาตุที่นคร ชุม ตอนท้ายของศิลาจารึกได้กล่าวถึง เมืองฝางซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย และยังเป็นเมืองต่อมาจนถึง สมัยอยุธยา ปัจจุบันเมืองฝางอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จากการพบตัวเมืองและสถูปมีลักษณะเดียวกับเมืองโบราณสมัยสุโขทัย นอกจากนี้ในกฎหมาย ลักษณะลักพา ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่ง กรุงศรีอยุธยามีชื่อเมืองทุ่งยั้งอยู่ในทำเนียบ ด้วย ปัจจุบัน อยู่ในท้องที่อำเภอลับแล เมืองโบราณอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองตาชูชก มีแม่น้ำ น่านเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีคำบรรยายลักษณะเมืองในศิลา จารึกสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอตรอน

สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 ปรากฏ เมืองขึ้นถึง 16 เมือง ในจำนวนนี้ มีเมืองพิชัย ซึ่งอยู่ในท้องที่อุตรดิตถ์ ในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย สมัยสมเด็จ พระนเรศวรมหาราชเมื่อทรงยกทัพขึ้น ไปขับไล่ทหารพม่าทางหัว เมืองเหนือ พระยาสวรรคโลกและพระยาพิชัย แข็งเมืองไม่ยอมเกณฑ์กำลังไปช่วย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงจับตัวเจ้า เมืองทั้งสองประหารชีวิต และกวาด ต้อนผู้คนพลเมืองมายังเมืองพิษณุโลกจนสิ้น

สมัยกรุงธนบุรี เมื่อปีพ.ศ. 2315 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โปสุพลา แม่ทัพพม่า เมื่อเดินทัพผ่านเข้ามาใกล้ชายแดนไทยก็แบ่งกองทัพ เข้ามาตีเอาเมืองลับแล และยกทัพเลยเข้ามาตีเมือง พิชัย ขณะนั้นไพร่พลเมืองพิชัยยังมีน้อย พระยาพิชัยจึงรักษา เมืองไว้ และขอกำลังเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วย เจ้าพระยา สุรสีห์ก็รีบเกณฑ์กองทัพขึ้นไปยังเมืองพิชัยตีค่ายพม่า พระยาพิชัยยกออก มาตีกระหนาบอีกด้าน กองทัพพม่า ต้านทานไม่ไหวก็แตกหนีไปต่อมา พ.ศ. 2316 โปสุพลาแม่ทัพพม่ายกทัพตีเมือง พิชัยอีก แต่ฝ่ายไทยรู้ตัวก่อน เจ้าพระยาสุรสีห์กับพระยาพิชัย ชวนกันยกกองทัพซุ่มสกัดทัพพม่า เมื่อกองทัพพม่ายกมาถึง เจ้าพระยาสุรสีห์กับพระยาพิชัยออก ระดมตีได้รบกันเป็นสามารถ ฝ่ายไทยได้ที่ชัยภูมิ ได้เปรียบพม่าตีทัพโปสุพลาแตกกลับ ไป การรบครั้งนี้เมื่อเข้าประจัญบาน พระยาพิชัยถือดาบ สองมือเข้าไล่ฟันพม่าจนดาบหัก เลื่องลือชื่อ เสียงถึงเรียกชื่อกันว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" แต่นั่นมา

สมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 เมืองพิชัย ได้กลายเป็นหัวเมือง สำคัญ ได้เมืองขึ้นแผ่ขยายเขตแดนออกไปถึงเมืองเวียงจันทร์ จดแม่น้ำโขง ต้องตรวจตรารักษาการเมืองแพร่และเมืองน่าน ตลอดจนเมืองหลวงพระบางอันเป็นเมืองหน้าด่าน ขณะเดียวกัน กับตำบลบางโพท่าอิฐซึ่งอยู่ติดแม่น้ำน่าน อันเป็นแม่น้ำสำคัญ สายเดียวที่ใช้ติดต่อค้าขายขึ้นมาได้สะดวกถึงเมืองเหนือด้วย เหนือขึ้นไปสายน้ำตื้นเขินมากมายไปด้วยเกาะแก่ง จึงเป็นที่ รวมสินค้าจากเมืองหลวงพระบาง เมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดจนแคว้นสิบสองปันนาก็นำสินค้าพื้นเมืองเดินบกลงมา จำหน่ายแล้วส่งต่อล่องใต้ไปจนถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ที่ตำบลบางโพท่าอิฐคงจะเจริญต่อไป ในภายหน้า ด้วยเป็นทำเลการค้า อย่างดีริมแม่น้ำน่าน ราษฎร ก็อพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้นทุกปี จึงโปรดให้ตั้งเป็นเมือง อุตรดิตถ์ อันหมายถึง เมืองท่าแห่งทิศเหนือ และโปรดให้ อุตรดิตถ์เป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอม- เกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ย้าย ศาลากลางเมืองพิชัยไปตั้งบังคับบัญชาที่เมืองอุตรดิตถ์ เวลานั้นอุตรดิตถ์ได้กลายเป็น ชุมชนขนาดใหญ่กว่าเมือง พิชัยเสียอีก ปี พ.ศ. 2458 จึงโปรดให้เปลี่ยน นามเมืองพิชัยเป็นเมืองอุตรดิตถ์เป็นต้นมา จนปัจจุบัน อาศัยมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดชัยภูมิ

เป็นรูปธงสามชาย

คำขวัญประจำจังหวัดชัยภูมิ

ทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย ดอกไม้งามลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวารวดี

ประวัติจังหวัด สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองชัยภูมิ ปรากฏในทำเนียบแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่าเป็นเมืองขึ้นกับ เมืองนครราชสีมาแต่ต่อมาผู้คนได้อพยพออกไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่อื่น และ พ.ศ.2360 "นายแล"ข้าราชการสำนักเจ้า อนุวงศ์เมืองเวียงจันทร์ได้อพยพครอบครัวและบริวารเดินทางข้ามลำน้ำโขง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น (หนองอีจาน) ซึ่งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2362 เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้าย ชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวส่งไปบรรณาการ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น "ขุนภักดีชุมพล" ในปี พ.ศ. 2365 นายแลได้ย้ายชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากันหนองหลอด เขตอำเภอเมืองชัยภูมิ ปัจจุบัน และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอม ขึ้นต่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์อีกต่อไปจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวง เป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น "พระยาภักดีชุมพล" เจ้าเมืองคนแรกต่อมาเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ได้ก่อการกบฏ ยกทัพเข้ามาหมายจะตีกรุงเทพฯ โดย หลอกหัวเมืองต่าง ๆ ที่เดินทัพมาว่าจะมาช่วยกรุงเทพฯ รบกับอังกฤษ จนกระทั่งเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้ เมื่อปี พ.ศ. 2369 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งต่อมา เมื่อความแตกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ได้ กวาดต้อนชาวเมืองนครราชสีมา เพื่อนำไปยังเมืองเวียงจันทร์ เมื่อไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์ หญิงชายชาวเมืองที่ถูกจับโดยการนำของ คุณหญิงโม ภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้ พระยาภักดีชุมพลเจ้าเมืองชัยภูมิพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์จนแตกพ่ายไปฝ่ายกองทัพลาวส่วนหนึ่งล่า ถอยจาก เมืองนครราชสีมาเข้ายึดเมืองชัยภูมิไว้ และเกลี้ยกล่อมให้พระยาภักดีชุมพล (แล) เข้าร่วมเป็นกบฏด้วย แต่พระยาภักดีชุม พลไม่ยอมเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์เกิดความแค้น จึงจับตัวพระยาภักดีชุมพลมาประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ริม หนองปลาเฒ่า ซึ่งต่อมาชาวชัยภูมิได้ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านมีความซื่อสัตย์และเสียสละ ต่อแผ่นดิน จึงได้พร้อมใจกันสร้าง ศาลขึ้น ณ บริเวณนั้น ปัจจุบันทางราชการได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยชื่อว่า "ศาลาพระยาภักดีชุมพล (แล)" มีรูป หล่อของท่านอยู่ภายใน เป็นที่เคารพกราบไว้และถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัด ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลาง จังหวัดชัยภูมิประมาณ 3 กิโลเมตร

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

รูปบึงใหญ่ติณชาติ และเมฆพายัพฝน คือสัญลักษณ์ ของความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ในแถบนี้ทิวเขาตรง

สุดขอบฟ้า คือแนวกั้นเขตแดนของจังหวัดใกล้เคียง น้ำในบึงเป็นสีดำ เพื่อให้ตรงกับชื่อของจังหวัด

คำขวัญประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวาผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี

ประวัติจังหวัด ตามบันทึก ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ในปี พ.ศ. 2336 บ้านแก่งสำโรงได้รับการสถาปนาเป็น เมืองกาฬสินธุ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังจากเจ้าโสมพะมิตรเข้าเฝ้าฯ ถวายสวามิภักดิ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งขึ้นเป็น "พระยาไชยสุนทร" เจ้าเมืองท่านแรกโดยให้รั้งเมืองสืบไป

เมื่อ พ.ศ. 2437 เมื่อพระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) เป็นเจ้าเมือง มีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบให้เจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร มาเป็นรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล มีมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ให้ยุบเป็นอำเภอ คือ เมืองกาฬสินธุ์ เป็นอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นเป็นมณฑล ยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด และมีอำนาจปกครองอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด โดยให้พระภิรมย์บุรีรักษ์เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมาเกิดข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ การเงินฝืดเคือง จำเป็นต้องยุบจังหวัดต่าง ๆ ลงเพื่อให้สมดุลกับรายได้ของประเทศ จังหวัดกาฬสินธุ์จึงถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอรรถเปศลสรวดี เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม (แทนพระยามหาสารคามคณาภิบาลซึ่งออกรับบำนาญ) ครั้นเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จึงได้ยกเลิกมณฑล

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2490 ได้ยกฐานะเป็น "จังหวัดกาฬสินธุ์" จนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดนครพนม

รูปพระธาตุพนม

คำขวัญประจำจังหวัดนครพนม

พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง

ประวัติจังหวัด จังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในดินแดนที่ราบสูง อดีตเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์อันรุ่งเรือง แรกทีเดียวตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้าย ของลำน้ำโขง (ฝั่งลาว) บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับอำเภอพระธาตุพนมในปัจจุบัน ตามอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร) ของพระธรรมราชานุวัตรอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ได้เรียบเรียงไว้ตอนหนึ่งว่า สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรณ์ มีพุทธทำนายว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วเมืองศรีโคตรบูรณ์จักย้ายไปตั้ง ที่ "ป่าไม้รวก" มีนามว่า "เมืองมรุกขนคร" ซึ่งสันนิษฐานกันว่าหมายถึง เมืองที่อยู่ในดงไม้รวก ตามสภาพภูมิประเทศที่สร้างบ้านแปงเมืองนั้นเองประมาณ พ.ศ.500 สมัยพญาสุมิตรธรรม ผู้ครองเมืองมรุกขนคร เป็นกษัตริย์ผู้มีจิตศัรทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อพระลานอูบมุง ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแพงล้อมรอบมีงานฉลองสมโภชอย่างมโหฬาร ซึ่งพระอุรังคธาตุได้แสดงปาฎิหารย์อัศจรรย์ยิ่ง ทำให้พญาสุมิตรธรรมบังเกิดความปิติโสมนัสมาก นอกจากถวายทรัพย์สินมีค่ามากมายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังมอบหมายให้หมู่บ้านทั้ง 7 แห่งในเขตแดนนั้น เป็นผู้ดูแลรักษาองค์พระธาตุ หลังจากพญาสุมิตรธรรม มีผู้ครองนครต่อมาอีก 2 พระองค์ ก็เกิดเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ จนกลายเป็นเมืองร้าง กระทั่งถึง พ.ศ.1800 เจ้าศรีโคตรบูรณ์ได้สร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ใต้เมืองท่าแขกบนฝั่งซ้ายแม่ น้ำโขง ใน พ.ศ. 2057 สมัยพระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศราชธานีศรีโคตรบูรณ์ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ กลายเป็น เมืองศรีโคตรบรูณ์ ตรงตามชื่ออาณาจักรเดิม ในสมัยนี้ยังมีการบูรณปฎิสังขรณ์พระธาตุพนมเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2280 พระธรรมราชาเจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์องค์สุดท้าย ได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา (ฝั่งไทย) เยื้องเมืองเก่าไปทางเหนือแล้วขนานนามเมืองใหม่ว่า เมืองนคร จากนั้นมีการโยกย้ายชุมชนเมืองอีกหลายครั้ง พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มีการย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางเหนือ 52 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2333 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร โดยพระองค์ทรงพระราชทานนามใหม่ขึ้นว่า นครพนม ชื่อนครพนมนั้น มีข้อสันนิษฐานประการหนึ่งว่า เมืองนครเคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงได้ใช้ชื่อว่า นคร ส่วนคำว่า พนม ก็มาจากพระธาตุพนม ปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เดิมเมืองมรุกขนครตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในบริเวณที่มีภูเขาสลับซับ ซ้อน จึงนำคำว่า พนม ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ นครพนม จึงหมายความถึง เมืองแห่งภูเขา นั้นเอง

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดขอนแก่น

เป็นรูปเจดีย์เก่าครอบต้นมะขาม

คำขวัญประจำจังหวัดขอนแก่น

พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูน ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยวเที่ยวขอนแก่นนครใหญ่ ไดโนเสาร์สิรินธรเน่ สุดเท่เหรียญทองมวยโอลิมปิก

ประวัติจังหวัด ประวัติการสร้างเมืองขอนแก่น เริ่มขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในราว พ.ศ.2340 เพียเมืองแพน เชื้อสายเจ้าเมืองร้อยเอ็ดและสุวรรณภูมิ ได้พาผู้คนอพยพออกจากบ้านชีโหล่น (ในเขตอำเภออาจ สามารถ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน) มาตั้งบ้านที่บ้านดอนกระยอมเวลานั้นอยู่ในแขวงเมืองชนบถ(ชนบท) ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอ บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และได้แจ้งความประสงค์ไปยังเจ้าพระยานครราชสีมา ขอเป็นเจ้าเมือง เมื่อเป็นเจ้าเมืองแล้ว ก็ขอขึ้น กับเมืองนครราชสีมาจะรับอาสาทำราชการผูกส่วยตามประเพณี เจ้าพระยานครราชสีมาจึงกราบทูลพระกรุณา ไปยัง กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งเพียเมืองแพน เป็น "พระนครศรีบริรักษ์" ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองโดยยกบ้านบึงบอน (บริเวณบึงแก่นนคร ทางด้านทิศตะวันตกที่ตั้งเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น)

ต่อมาในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ในราว พ.ศ. 2352 เนื่องจากที่ตั้งเมืองขอนแก่นอยู่ใกล้ชิดกับเมืองชนบถ (ชนบท) ซึ่งขึ้นกับเมืองนครราชสีมา และมีการปักปันเขตเมืองกัน จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งที่ที่บ้านดอนพันชาติ หรือดงพันชาติ (ในท้องที่ บ้านโนนเมือง หมู่ที่ 15 ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบัน) ด้วยเหตุผลการปักปันเขตเมืองขอนแก่น กับเมืองกาฬสินธุ์

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2398 ย้ายเมืองขอนแก่นไปตั้งที่บ้านโนนทอง ฟากบึงบอนทางทิศตะวันออก (บริเวณบ้านโนน ทัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบัน) จนถึง พ.ศ. 2410 ย้ายเมืองอีกครั้งไปตั้งที่บ้านดอนบม บริเวณฝั่งตะวันออก (บริเวณบ้านดอนบม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบัน) ด้วยเหตุผลทางด้านการคมนาคมสะดวกเนื่อง จากต้องใช้แม่น้ำในการคมนาคมติดต่อ ซึ่งห่างจากจุดที่ตั้งปัจจุบันราว ๆ 8 กิโลเมตร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าให้ พระเจ้าน้องนางเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ขึ้นไปเป็นข้าหลวงต่าง พระองค์ เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหัวเมืองลาวใหม่ โดยเปลี่ยนบริเวณหัว เมือง ลาวฝ่ายเหนือเป็นหัวเมืองลาวพวน เมืองขอนแก่นไปขึ้นกับเมืองลาวพวน ตอนเสด็จผ่านเมืองขอนแก่น ได้ไปประทับแรมที่บ้านทุ่ม 1 คืน เพราะเส้นทางคมนาคมหรือทางม้า โค เกวียน แต่ก่อนจากนครราชสีมา ต้องผ่านมาเมืองชนบท ผ่านบ้านทุ่มไปยังหนองคาย ทรงเห็นว่าบ้านทุ่มทำเลดี มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น ใกล้เส้นทางไปมาในสมัยนั้น จึงโปรดให้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านดอนบมไปตั้งที่บ้านทุ่ม (บริเวณบ้านทุ่ม ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบัน) ซึ่งห่างจากที่ตั้งปัจจุบัน 13 กม. และเปลี่ยนนามตำแหน่งเจ้าเมือง เป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในแผ่นดินกรณีพิพากไทยกับฝรั่งเศส เป็นเหตุให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านสังกัดกระทรวงมหาดไทย จังหวัดขอนแก่นได้โอนไปขึ้นกับ มณฑลอุดร ต่อมาปี พ.ศ. 2442 เนื่องจากบ้านทุ่มในฤดูแล้งกันดารน้ำ ไม่เหมาะแก่การตั้งเมืองใหญ่ จึงโปรดย้ายเมืองจากบ้านทุ่ม กลับไปตั้งที่บ้านเมืองเก่า บริเวณบึงบอนด้านตอนเหนือ (บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบัน) ต่อมาปี พ.ศ. 2447 ได้เปลี่ยนนามตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นเป็น ข้าหลวงประจำบริเวณลำชี ตลอดจนปี พ.ศ. 2450 โปรดเกล้าฯให้ย้ายศาลากลางมาตั้งที่บ้านพระลับ (บริเวณที่เป็นที่ทำการเทศบาลนครขอนแก่น ปัจจุบัน) และโปรดให้เปลี่ยนนามตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณลำชี มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตามเดิม

ต่อมาปี พ.ศ.2459 โปรดเกล้าให้เปลี่ยนคำว่าเมือง มาเป็น จังหวัดและให้เรียนเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2476 เมื่อการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ทางราชการได้ประกาศให้เปลี่ยนนามตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดอีกครั้ง ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย และในตอนหลังปี พ.ศ. 2495 ทางราชการ ให้เปลี่ยนนามตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอีกครั้ง และยังคงใช้ตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน

จนกระทั่ง พ.ศ. 2507 สมัย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ย้ายศาลากลางจังหวัดมาสร้างใหม่สง่างามที่บริเวณสนามบินเก่า ห่างจากจุดที่ตั้งเดิม ประมาณ 2 กิโลเมตร เรียกว่า "ศูนย์ราชการ"เป็นไปตามดำริของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้เริ่มต้นไว้ก่อนนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า เมืองขอนแก่นนับจากมีใบบอกให้ตั้งเมือง เมื่อ พ.ศ. 2340 จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลา 200 ปี ได้มีการย้ายเมืองมาแล้วหลายครั้ง จนกระทั่ง ณ ที่ตั้งปัจจุบัน เมืองขอนแก่นได้มีความเจริญรุดหน้ามาโดยลำดับ และมีความเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพีย เป็นตำแหน่งขุนนาง ทางขนบธรรมเนียมประเพณี ระบอบการปกครองของภาคอีสาน สมัยเก่า ซึ่งเทียบเท่าชั้นเสนาบดี หรือกรมเมือง ถ้าเป็นเมืองที่มีกษัตริย์ใช้ชื่อ พญา หรือ พระยา นำหน้า แต่ถ้าเป็นหัวเมืองใช้คำว่า เพีย นำหน้า (เพีย มาจาก พญา -พีระ-เพียร ไม่ใช่ เพี้ย ซึ่งเป็นภาษท้องถิ่น)

ชีโหล่น สันนิษฐานว่า แปลมาจากชีล้น หมายถึงน้ำชีล้นนั่นเอง เป็นเมืองภูเวียง ขึ้นกับเมืองขอนแก่น เหนือ เรียกตามกระแสน้ำไหล ต้นน้ำเรียกว่าเหนือ ปลายน้ำเรียกว่าใต้ ที่บึงบอนเวลาฝนตก น้ำไหลจากทางบ้านเมืองเก่า ลงไปทางบึงทุ่งสร้าง จึงเรียกทางคุ้งเมืองเก่าว่า เหนือ

ศาลากลาง เดิมอาศัยบ้านเจ้าของเมืองเรียกว่า โฮงเจ้าเมือง (โฮงโรง หรือ จวน) ว่าจะปลูกสร้างเป็นบ้าน 3 หลังติดกัน และใหญ่โตกว่าบ้านราษฎรธรรมดามาก หลังกลางปลูกเป็นห้องโถงโล่งตลอด ใช้สำหรับปรึกษาราชการต่างๆ ได้

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดนครราชสีมา

รูปอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหน้าประตูชุมพล

คำขวัญประจำจังหวัดนครราชสีมา

เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน

ประวัติจังหวัด นครราชสีมา เป็นเมืองโบราณในราชอาณาจักรไทยเมืองหนึ่ง เป็นเมืองใหญ่ สมัยก่อนมีฐานะเป็นเมืองเจ้าพระยามหานคร เทียบเท่า เมืองนครศรีธรรมราช ในภาคใต้

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีชุมชนโบราณซึ่งเป็นร่องรอยของมนุษย์ก่อน ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ต่อเนื่องมาถึงยุคโลหะ กระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ ก็มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองเสมา ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เป็นเมืองใหญ่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของ รัฐศรีจนาศะต่อมามีการสร้างเมืองโคราฆปุระอยู่ใกล้กัน และในสมัยขอมพระนคร มี เมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญในบริเวณนี้

ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเห็นว่าเป็นหัวเมืองใหญ่และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านของอยุธยา ติดกับชายแดนลาว (ลาบูแบร์ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนรายงานว่า เมืองนครราชสีมา เป็นเมืองชายแดนของอยุธยา ติดพรมแดนลาว เข้าใจว่าเลยลำสะแทด (ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล)เหนือเมืองพิมายเป็นเขตแดนลาว เพราะมีบันทึกไว้ในนิราศหนองคาย สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภาษาที่เปลี่ยนไปด้วย)จึงโปรดให้ย้ายเมืองเสมา มาสร้างเมืองใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยมีนายช่างชาวฝรั่งเศส เป็นคนออกแบบ ขนาดกว้าง 1,000 เมตร ความยาว 1,700 เมตร มีกำแพงเมืองขนาดใหญ่ มีป้อมค่ายหอรบ และพระราชทานนามว่า เมืองนครราชสีมา

อย่างไรก็ตามมีผู้เสนอว่า นครราชสีมา นั้นเป็นคำไทยเป็นคำใหม่ แยกเป็นคำได้คือ นคร+ราช+สีมา แปลได้ตรงตัวว่า เมืองใหญ่ (นคร) อันเป็นขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักร(ราช+สีมา) ส่วนคำว่าโคราช (สำเนียงถิ่น: โค-หราด , ไทยกลาง: โค-ราด) นั้น น่าจะเพี้ยนมาจาก 'ครราช (อ่านตามสำเนียงว่า คอน-หราด ซึ่งเป็นคำเรียกนครราชสีมา แบบย่อๆของชาวบ้าน) มากกว่าที่จะเพี้ยนมาจาก โคราฆปุระ

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on