รวบรวมเรื่องราว บทความเกี่ยวกับวันสำคัญของไทยตลอดทั้งปีว่ามีวันอะไรบ้าง ตรงกับวันไหน ความสำคัญและจะได้ทราบว่าวันสำคัญเหล่านั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ริเริ่มหรือระบุให้วันนั้นๆ เป็นวันสำคัญอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งที่เราชาวไทยสมควรที่จะทำหรือปฏิบัติในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งบทความที่เรานำมาเสนอนี้เหมาะสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจหาความรู้เพิ่มเติม หรือจะนำไปใช้ในบทเรียนก็ได้

Written by on

วันเด็กแห่งชาติ (เสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม)

คำขวัญวันเด็ก 2558  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ คำขวัญวันเด็ก 2558 คือ

ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต

เมื่อผ่านพ้นเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงปีใหม่ ก็ถึงคิวของวันมหัศจรรย์ของเด็ก ๆ นั่นคือ "วันเด็กแห่งชาติ" ที่ถูกกำหนดให้ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี และวันเด็ก 2558 ตรงกับวันที่ 10 มกราคม วันนี้เพ็ชรสังข์ จึงไม่พลาดที่จะนำเรื่องราวประวัติวันเด็กแห่งชาติ พร้อม คำขวัญวันเด็ก 2558 และคำขวัญวันเด็กปีต่าง ๆ มาฝาก

จากคำกล่าวที่ว่า อนาคตของประเทศชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิตของเด็กในประเทศนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้ การพิทักษ์รักษาคุ้มครองทางด้านกฎหมาย ตลอดจนให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ เพราะถือว่า เด็กคือมนุษย์ที่ยังอ่อนอยู่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้ความหมาย ของคำว่า "เด็ก" ไว้ดังนี้เด็ก หมายถึง คนที่มีอายุยังน้อย ยังเล็ก

เด็กชาย คือ คำนำเรียกเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์
เด็กหญิง คือ คำนำเรียกเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์

ความเป็นมาของวันเด็กสากล เมื่อปีพุทธศักราช 2498 ได้เกิดปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติทำให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ ของตนมากขึ้น การขานรับในการนี้จากประเทศต่าง ๆ เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเอง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศต่างก็จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของประเทศตนขึ้นมา โดยกำหนดกันว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ

การจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติในแต่ละประเทศขณะนั้นมีรูปแบบที่คล้าย คลึงกันเป็นส่วนใหญ่ โดยยึดหลักการให้ความสำคัญแก่เด็กเป็นวัตถุประสงค์หลักโดยเปิดสถานที่ราชการ ที่สำคัญเช่น พิพิธภัณฑ์ รัฐสภา เป็นต้น ให้เด็ก ๆ ได้เข้าชมและศึกษา บางแห่งจัดการแสดงมหรสพ มีการแจกอาหาร แข่งขันเกม แจกของขวัญ ฯลฯ ต่อมางานนี้ได้รับความสำคัญทั่วโลกจึงได้จัดกันแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน

การจัดงานวันเด็กในประเทศไทย ปีพุทธศักราช 2498 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้นตามความเห็น คล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วย สิทธิของเด็กขึ้นมา

ประเทศไทยได้รับข้อเสนอของนาย วี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชน เห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่

ขณะนั้นสภาวัฒนธรรมแห่งชาติยังมิได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติจึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ในที่สุดที่ประชุมได้เห็นชอบ นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม พ.ศ.2498 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ ส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดงานั้น ได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการ

ดังนั้นในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 ประเทศไทยจึงมีงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นเป็นต้นมาทางราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น วันเด็กแห่งชาติสำหรับประเทศไทย และจัดติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ.2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้นมีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม ด้วยเหตุผลว่า ในเดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทยเราเป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการมาร่วมงาน ประการต่อไปก็คือ วันจันทร์เป็นวันปฎิบัติงานของผู้ปกครองจึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงาน ได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด จึงเห็นว่าควรจะเปลี่ยนไปเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมเสียทุกสิ่ง ทุกอย่างได้สะดวกสบายขึ้น และมีความเหมาะสมมากกว่า

จากข้อเสนอดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติ เสนอมา ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี พ.ศ.2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว

งานวันเด็กแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2508 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาได้ 38 ปีแล้ว (งดจัดในปี พ.ศ.2507 หนึ่งปี)

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ

  •  เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ
  • เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  • เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตน และอยู่ในระเบียบวินัยอันดี
  • เพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ขององค์การสหประชาชาติ

ข้อ 1. เด็กและเยาวชนพึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือกีดกัน ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในเรื่อง เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคมทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ ไม่ว่าจะของเด็กหรือของครอบครัวก็ตาม

ข้อ 2. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษอันจะช่วยให้เด็กสามารถ พัฒนาทั้งทางกาย ทางสมอง และจิตใจเพื่อให้ร่วมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติชน

ข้อ 3. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้มีชื่อ และมีสัญชาติ แต่กำเนิด

ข้อ 4. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความมั่นคงทางสังคม และเติบโตอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งแม่และเด็กควรได้รับการดูแลและคุ้มครองเป็นพิเศษ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์ และภายหลังเมื่อคลอดแล้วโดยได้รับสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย ได้รับอาหาร ได้รับการดูแลทางแพทย์ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ ให้ได้รับการเล่นรื่นเริงเพลิดเพลินด้วย

ข้อ 5. เด็กและเยาวชนที่พิการทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพิเศษ หมายถึงการดูแลรักษาและการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาวะของเด็กโดยเฉพาะ

ข้อ 6. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความรัก และความเข้าใจอันจะช่วยพัฒนาบุคลิกของตน โดยเติบโตอยู่ในความรับผิดชอบของบิดา มารดาของเด็กเอง และในทุกกรณีเด็กจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น ปลอดภัย และไม่พลัดพรากจากพ่อแม่ในกรณีที่เด็กไม่มีครอบครัว หรือมาจากครอบครัวที่ยากจน และมีลูกมากก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากรัฐหรือองค์การต่าง ๆ

ข้อ 7. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาซึ่งครูควรจะจัดให้เปล่าอย่างน้อย ในชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมโดยทั่ว ๆ ไป และให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกผู้ยังประโยชน์ต่อสังคมคนหนึ่ง การศึกษานี้คลุมไปถึงการแนะแนวทางชีวิต ซึ่งมีบิดามารดาเป็นผู้รับผิดชอบก่อนบุคคลอื่น ๆ เด็กจะต้องมีโอกาสได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน จากการเล่นและรื่นเริงพร้อมกันไปด้วย

ข้อ 8. เด็กและเยาวชนจะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการคุ้มครองและสงเคราะห์ในทุกกรณี

ข้อ 9. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากความโหดร้ายทารุณ และการถูกข่มเหง รังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้า ไม่ว่าในรูปใดจะต้องไม่มีการรับเด็กเข้าทำงานก่อนวัยอันสมควร ไม่มีการกระทำใด ๆ อันจะมีชักจูงหรืออนุญาตเด็กให้จำต้องรับจ้างทำงาน ซึ่งอาจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของเด็ก หรือเป็นเหตุให้การพัฒนาทางกายทางสมองและทางจิตใจของเด็กต้องเสื่อมลง

ข้อ 10. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำที่แสดงถึงการกีดกัน แบ่งแยกไม่ว่าทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือรูปใด ๆ เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมา " ในภาวะแห่งจิตที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ และมีการหย่อนหนักหย่อนเบามิตรภาพระหว่างชนชาติต่าง ๆ สันติภาพ และภาพสากล และด้วยการสำนึกเต็มที่ว่าพละกำลังและความสารถพิเศษในตัวเขา ควรจะอุทิศเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"

คำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2499 - 2560

ในปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นคุณค่าความสำคัญ ของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคิด สำหรับเด็ก นายกรัฐมนตรี ในสมัยต่อๆมา จึงได้ถือปฏิบัติสืบต่อมาดังต่อไปนี้

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2499 "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม" โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2502 "ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า"โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2503 "ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด"โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2504 "ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย"โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2505 "ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด"โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2506 "ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียร"โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2507 -- งดจัดงานวันเด็ก --

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2508 "เด็กจะเจริญต้องรักเรียนและเพียรทำดี"โดย จอมพลถนอม กิตติขจร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2509 "เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะบากบั่น และสมานสามัคคี"โดย จอมพลถนอม กิตติขจร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2510 "อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรง เรียนดี และ มีความประพฤติเรียบร้อย"โดย จอมพลถนอม กิตติขจร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2511 "ความเจริญและความมั่นคงของไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาด และรักชาติยิ่ง"โดย จอมพลถนอม กิตติขจร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2512 "รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ"โดย จอมพลถนอม กิตติขจร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2513 "เด็กประพฤติดีและศึกษาดีทำให้มีอนาคตแจ่มใส"โดย จอมพลถนอม กิตติขจร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2514 "ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ"โดย จอมพลถนอม กิตติขจร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2515 "เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ"โดย จอมพลถนอม กิตติขจร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2516 "เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ"โดย จอมพลถนอม กิตติขจร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2517 "สามัคคี คือ พลัง"โดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2518 "เด็กคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความดี"โดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2519 "เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี"โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2520 "รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็น คุณสมบัติของเยาวชนไทย"โดย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2521 "เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง"โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2522 "เด็กไทยคือหัวใจของชาติ"โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2523 "อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย"โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2524 "เด็กไทยมีวินัย ใจซื่อสัตย์ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม"โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2525 "ขยัน ศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย"โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2526 "รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัย และคุณธรรม"โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2527 "รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดี มีความคิด สุจริต ใจมั่น หมั่นศึกษา"โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2528 "สามัคคี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม"โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2529 "นิยมไทย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม"โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2530 "นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม"โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2531 "นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม"โดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2532 "รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม"โดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2533 "รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม"โดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2534 "รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา"โดย นายอานันท์ ปันยารชุน

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2535 "สามัคคี มี วินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม"โดย นายอานันท์ ปันยารชุน

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2536 "ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม"โดย นายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2537 "ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม"โดย นายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2538 "สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม"โดย นายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2539 "มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด"โดย นายบรรหาร ศิลปะอาชา

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2540 "รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด"โดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ.2541 "ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย"โดย นายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ.2542 "ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย"โดย นายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2543 "มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย"โดย นายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2544 "มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย"โดย นายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2545 "เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคต ที่สดใส"โดย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2546 "เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี"โดย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2547 "รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดี ๆ อนาคตดีแน่นอน"โดย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2548 "เด็กรุ่นใหม่ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด"โดย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2549 "อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด"โดย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2550 "มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข"โดย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2551 "สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม"โดย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2552 "ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี" โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2553 "คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม" โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2554 "รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ" โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2555 "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี" โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2556 "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน" โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2557 "ตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง" โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2558"ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต" โดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2559"เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต" โดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2560"เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง" โดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2561"รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี" โดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขอขอบคุณ ที่มา : spicy ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

วันขึ้นปีใหม่ (1 มกราคม)

ความหมาย วันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า ปี หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน และ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ

ประวัติความเป็นมา ในสมัยโบราณนั้น แต่ละชาติต่างก็ไม่มีวันขึ้นปีใหม่ที่ตรงกัน เช่นในประเทศเยอรมัน ชาวเยอรมันในสมัยโบราณจะมีวันขึ้นปีใหม่ในปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเวลาที่กำลังมีอากาศหนาวเย็น ประชาชนที่แยกย้ายออกไปหากินในที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ในช่วงฤดูร้อน หลังจากเก็บเกี่ยวพืชผล และ นำขึ้นยุ้งฉางเสร็จแล้ว ก็จะมาร่วมฉลองขึ้นปีใหม่ในระยะนี้ ต่อมาเมื่อชาวโรมันได้เข้ามารุกราน จึงได้เลื่อนการฉลองปีใหม่มาเป็น วันที่ 1 มกราคม ชาติโบราณ เช่น ไอยคุปค์ เฟนิเชียนและอิหร่าน เริ่มปีใหม่ราว วันที่ 21 กันยายน รวมถึงชาวโรมันก็เริ่มปีใหม่วันนี้เช่นเดียวกัน

ครั้งมาถึงสมัยของซีซาร์ที่ใช้ปฏิทินแบบยูเลียน จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม แต่

? พวกยิวจะขึ้นปีใหม่ อย่างเป็นทางการประมาณวันที่ 6 กันยายน ถึงวันที่ 5 ตุลาคม และ ทางศาสนาเริ่มวันที่ 21 มีนาคม
? ชาวคริสเตียนในยุคกลางจะเริ่มปีใหม่ในวันที่ 25 มีนาคม
? คนอังกฤษ เชื้อสายแองโกลซักซอนได้เริ่มปีใหม่วันที่ 25 ธันวาคม
ภายหลังเมื่อพระเจ้าวิลเลี่ยม ( William the Conqueror ) ได้เป็นราชาธิราชแห่งเกาะอังกฤษ จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ต่อมาเมื่อถึงยุคกลางชาวอังกฤษก็เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็น วันที่ 25 มีนาคม เช่นเดียวกับชาวคริสเตียนอื่น ๆ แต่ต่อมาเมื่อมีการใช้ปฏิทินแบบกรีกอเรียน ชาวคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิกก็กลับมาขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคมกันอีก

ประวัติความเป็นมาของไทย ประเพณีปีใหม่ของไทยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติ เป็นวันขึ้นปีใหม่ สำหรับพระราชพิธีปีใหม่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จ เข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทพระราชทาน ฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินมา ที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรละครหลวงแล้วเสด็จ ฯ กลับ

สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯให้ใช้พุทธศักราช แทนรัตนโกสินทรศก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๕ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เถลิงศก สงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์ สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่าพระราชพิธีตรุษสงกรานต์

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๘ คณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ใน พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาอานันทมหิดล ได้ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็น วันขึ้นปีใหม่ เพราะวันที่ ๑ มกราคม ใกล้เคียงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี และเป็นการสอดคล้อง ตามจารีตประเพณีโบราณของไทยต้องตามคติแห่งพระบวร พุทธศาสนาและตรงกับนานาประเทศ โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 หน้า 31 เป็นต้นไป

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์โปรดให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวัน ขึ้นปีใหม่ไปใช้ในพระราชพิธีสงกรานต์ ซึ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่ตาม โบราณราชประเพณีซึ่งเป็นเทศกาล สงกรานต์ในวันที่ ๑๓ - ๑๔ - ๑๕ เมษายน

สำหรับ พิธีของราชการและประชาชนสำหรับงานของทาง ราชการและประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ก็จะมีตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม จนถึง วันที่ ๑ มกราคมเช่น เคยยึดถือมาเดิม คือในวันสิ้นปี หรือวันที่ ๓๑ ธันวาคม ทางราชการหรือ ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ จัดให้มีการรื่นเริง และมหรสพ มีพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พรปีใหม่ แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่ แก่พุทธศาสนิกชนและบุคคลสำคัญของบ้านเมือง เช่น ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธาน ศาลฎีกากล่าวคำ ปราศรัย พอถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. วัดวาอารามต่างๆ จะจัด พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้อง กลอง ระฆัง เพื่อแสดง ความยินดีต้อนรับรุ่งอรุณแห่งชีวิตของประชาชนในปีใหม่ โดยทั่วกัน ตอนเช้าวันที่ ๑ มกราคมก็ จะมีการทำบุญตักบาตร สุดแท้แต่การจัด บางปีมีการจัดร่วมกัน บางปีบางท้องที่ก็ไป ทำบุญตักบาตรกันที่วัด หรือที่ใดๆ บางท่านบางครอบครัว ก็มีการทำบุญตักบาตร หรือการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน ที่สำนักงานของตน

การทำบุญเมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับไฟและธงชาติตามสถานที่สำคัญๆ ครั้นถึงวันที่ 31 ธันวาคม ก็จะมีการทำบุญเลี้ยงพระไปวัดเพื่อประกอบกิจกุศลต่าง ๆ เช่น ฟังพระธรรมเทศนา ถือศีลปฏิบัติธรรมแต่บางคนก็แค่ทำบุญตักบาตร ตอนกลางคืนบางแห่งอาจจัดเทศกาลกินเลี้ยงที่ครื้นเครงสนุกสนาน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เช้าวันที่ 1 มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตร ไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ผู้ที่เคารพนับถือ มีการมอบของขวัญและบัตรอวยพรให้แก่กัน สำหรับในต่างจังหวัด จะมีการทำบุญเลี้ยงพระที่วัดอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติที่ล่วงลับ กลางคืนมีการละเล่นพื้นบ้านหรือจัดมหรสพมาฉลอง

ขอขอบคุณ ที่มา : spicy ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on