ภูมิแพ้ทางเดินหายใจโรคที่เด็กยุคใหม่ต้องเผชิญ

ภูมิแพ้ทางเดินหายใจโรคที่เด็กยุคใหม่ต้องเผชิญ

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เด็กในยุคสมัยนี้ต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เพราะในสมัยนี้มลภาวะและสารพิษต่างๆ มากมายที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ จึงทำให้เด็กๆ ป่วยเป็นภูมิแพ้ได้ง่าย วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องค่ะ

ต้นตอก่ออาการแพ้

โรคภูมิแพ้เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยใหญ่ ๆ ก็คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมครับ เรามาดูกันว่าทั้ง 2 ปัจจัยนี้ มีผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้อย่างไร

ปัจจัยทางพันธุกรรม ลูกน้อยได้รับการถ่ายทอดโรคภูมิแพ้จากพ่อแม่ แม้ว่าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้เพียงคนเดียว ลูกก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น ยิ่งพ่อและแม่เป็นโรคหอบหืด ลูกน้อยก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม มี 2 ตัวแปรหลักที่เป็นตัวก่อโรค ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจและแยกแยะให้ถูกต้องดังนี้

สารก่อภูมิแพ้ คือสารจำพวกโปรตีนที่ไปกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของลูกน้อย ทำให้เกิดการแพ้ สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้มักรวมอยู่กับฝุ่นในบ้าน โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่เกิดจากไรฝุ่น แน่นอนว่าถ้าบ้านของคุณแม่สกปรกหรือมีไรฝุ่นมาก อุจจาระของไรฝุ่น เหล่านี้จะกลายเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้ลูกเกิดอาการแพ้ได้

นอกจากนั้นก็มีขนสัตว์และสะเก็ดของผิวหนังโดยเฉพาะจากแมวกับสุนัข อุจจาระและซากของแมลงสาบ สปอร์ของเชื้อรารวมถึงละอองเกสรหญ้า ที่อาจพบได้จากสิ่งแวดล้อมภายนอกบ้าน โปรตีนจากอาหาร เช่น นมวัว เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี สารก่อภูมิแพ้สำคัญที่จะทำให้ลูกน้อยของคุณแม่เกิดอาการแพ้ และพบเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ มักจะเป็นไรฝุ่น ขนและสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแมว ซึ่งแฝงตัวอยู่ในบ้านที่คุณ และลูกน้อยอาศัยอยู่นั่นเอง

สารกระตุ้นภูมิแพ้ คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ แต่แท้จริงแล้ว สารนี้เป็นเพียงตัวกระตุ้นให้คนที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว มีอาการกำเริบเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เป็นภูมิแพ้อย่างที่เข้าใจกัน เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ หรือแม้แต่การติดเชื้อหวัด หรือเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น

รู้จักโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ

โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็กแต่ละคนจะมีความรุนแรงไม่เท่ากัน เด็กบางคนอาจจะแค่จาม น้ำมูกไหล มีเสมหะ แต่บางคนอาจรุนแรงถึงขั้นหลอดลมในปอดเกิดการหดตัวหรือเป็นหอบหืดได้ ซึ่งโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ แบ่งออกได้ดังนี้

ภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบน หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ คนทั่วไปเรียกว่าโรคแพ้อากาศนั่นเอง จริง ๆ แล้วเกิดจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่มีกับฝุ่นในอากาศ โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยและในห้องนอน

เด็กจะมีอาการจามคันจมูกมีน้ำมูกใสอาจมีอาการคัดจมูก คันตา หายใจติดขัด และมีเสียงครืดคราดได้มักจะเป็นแบบนี้ในช่วงเช้า ๆ และตอนนอน บางครั้งอาจเป็นมากถึงกับทำให้มีปัญหาในการนอนหลับได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเด็กสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้สำคัญ ที่เกิดจากไรฝุ่นซึ่งอยู่ในที่นอนโดยตรง เด็กที่เป็นภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบน อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ อาการนอนกรนเสียงดังได้ง่ายกว่า เด็กที่ไม่เป็นโรคนี้

ภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนล่าง หรือโรคหอบหืด ซึ่งโรคนี้เด็กจะไม่มีเสมหะ แต่จะมีอาการไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจเข้าออกลำบาก และรู้สึกเหนื่อยง่าย หากเป็นมากขึ้น จะได้ยินเสียงวี้ดเหมือนนกหวีดเวลาหายใจออก และต้องใช้ยาสูดพ่นเข้าปอดเพื่อช่วยขยายหลอดลม

วิธีป้องกันและลดการเกิดอาการภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจไม่จำเป็นต้องพึ่งยาปฏิชีวนะเสมอไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ เพียงคุณพ่อคุณแม่ทำตามวิธีข้างล่าง ก็จะช่วยลดการเกิดอาการแพ้ได้ในระดับหนึ่ง

หลีกเลี่ยงไรฝุ่น ด้วยการทำความสะอาดบริเวณบ้านและห้องนอนอย่างสม่ำเสมอ ผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้าห่ม และผ้าม่าน ควรซักทำความสะอาดอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และถ้าสามารถซักในน้ำร้อนอุณหภูมิ 55-60 องศาเซลเซียสได้ จะเป็นการฆ่าและกำจัดตัวไรฝุ่นอย่างได้ผลดี รวมถึงการใช้ผ้าคลุมกันไรฝุ่นที่ได้มาตรฐานกับเครื่องนอนทุกชิ้น และที่สำคัญไม่ควรมีตุ๊กตาในห้องนอน เพราะถือเป็นแหล่งสะสมไรฝุ่นที่ดี

หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ในบ้าน เช่น แมว สุนัข นก กระต่าย ควรเลี้ยงไว้ข้างนอกโดยแบ่งโซนให้ชัดเจน แต่หากจำเป็นต้องเลี้ยงในบ้าน ควรอาบน้ำสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อเป็นการลดสารก่อภูมิแพ้จากขนและผิวหนังของสัตว์เลี้ยงนั้น ๆ หรืออาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีระบบ HEPA (High Efficiency Particulate Air) Filter ช่วยอีกทางหนึ่งได้

หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย ควันธูป รวมถึงน้ำหอมฉุน เพราะสิ่งเหล่านี้ จะเข้าไปในทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ รวมถึงกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้โดยตรง ส่งผลให้อาการแพ้กำเริบตามมาได้

นมแม่ดีที่สุด คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้รับนมแม่มากที่สุด อย่างน้อยในช่วง 6 เดือนแรก แทนนมผสมหรือนมวัว และควรหลีกเลี่ยงอาหารเสริมในช่วง 4-6 เดือนแรก เช่น ซีเรียล ไข่ ควรให้หลังจากลูกน้อยอายุ 6 เดือนไปแล้วจะดีกว่า

ออกกำลังกายเป็นประจำ จะเป็นกีฬาอะไรก็ได้ แต่ไม่ควรออกกำลังหักโหมจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้อาการหอบหืดกำเริบได้ ในเด็กที่เป็นโรคหอบหืดบางรายในเด็กที่มีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้โดยการพ่นยาขยายหลอดลมประมาณ 15-30 นาที ก่อนการออกกำลังกาย ก็จะช่วยป้องกันอาการไอ และหอบที่เกิดจากการออกกำลังกายได้

Check list

• โอกาสเสี่ยงการเกิดโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
• คุณพ่อหรือคุณแม่ หรือทั้งสองคนเป็นภูมิแพ้
• มีพี่น้องสายเลือดเดียวกันเป็นภูมิแพ้
• พ่อกับแม่เป็นโรคเดียวกัน เช่น โรคหอบหืด
• มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ
• ลูกเป็นภูมิแพ้ผื่นผิวหนัง ช่วง 2-3 เดือนแรกคลอด
• ทดสอบภูมิแพ้แล้วพบว่า เป็นภูมิแพ้ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
• เวลาอยู่ในที่ที่มีไรฝุ่นหรือที่สกปรกแล้วมีอาการคันจมูก จาม น้ำมูกไหล
• เป็นหวัดแล้วเกิดอาการหอบบ่อยๆ หายใจติดขัด

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : realparents

airban-300x250
0
Shares