ประวัติจังหวัด นครศรีธรรมราช

ตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช

รูปพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช มีตรา 12 นักษัตรล้อมรอบ

Nakhon Si Thammarat

คำขวัญประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช

เราชาวนคร อยู่เมืองพระมั่นอยู่ในสัจจะศีลธรรม กอรปกรรมดี มีมานะพากเพียร ไม่เบียดเบียนทำอันตรายผู้ใด

ประวัติจังหวัด นครศรีธรรมราช เมื่อเสีย กรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ตำแหน่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่างอยู่ หลวงสิทธนายเวรมหาดเล็ก(หนู) ซึ่งออกไปรับราชการตำแหน่งปลัดเมืองเป็นผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นทราบว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ไม่มีเจ้านายปกครองประเทศ หลวงสิทธิจึงตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอิสระอยู่ก๊ก หนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2312 พระเจ้ากรุงธนบุรียาตรากองทัพไปปราบจับตัวเจ้านคร(หนู)ได้ และมีพระราชดำริว่าเจ้านครมิได้มีใจกบฏคิดร้ายต่อประเทศ แต่ตั้งตัวขึ้นเนื่องจากบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงโปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และให้เจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช

ต่อมาเจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริว่า เจ้านคร(หนู)ได้เข้ามารับราชการมีความจงรักภักดี และได้ถวายธิดาทำราชการมีราชบุตร(คือพระพงษ์นรินทรและพระอินทร์อภัย) เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขันธสีมา(หนู) เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ จุลศักราช 1138(พ.ศ. 2319) ปีวอกอัฐศก

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มีพระราชดำริว่า พระเจ้านครศรีธรรมราชมีความชราทุพพลภาพ ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ จึงโปรดให้ออกจากตำแหน่ง กลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และโปรดให้เจ้าอุปราช (พัฒน์)บุตรเขยเจ้านคร ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน 8 แรม 11 ค่ำ จุลศักราช 1146 (พ.ศ. 2327) ปีมะโรงศก แต่โปรดให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีแต่เดิมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็น ราชธานี เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นเมืองที่เคยมีกษัตริย์ปกครอง และมีฐานะเป็นประเทศราช 8 ปี

มีเกร็ดย่อยคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) มีความชราภาพ จึงทรงยกขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และทรงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์(น้อย) บุตรเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช(น้อย)คนใหม่

แต่มีเรื่องปรากฏหลักฐานในสมัยนั้นว่า เจ้าพระยานคร (น้อย) นี้ที่จริงเป็นราชบุตรลับของพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากเมื่อครั้งเจ้านคร(หนู)ทำราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และถวายธิดาทำราชการฝ่ายในแก่พระเจ้ากรุงธนบุรี และมีน้องสาว(ปราง)มาอยู่ด้วยในวังคนหนึ่ง ความปรากฏตามพงศาวดารว่า เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลกให้ไปขอ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ ว่าเจ้าพระยาพิชัยราชาบังอาจจะเป็นคู่เขยของพระองค์ ให้เอาไปประหารเสีย ต่อมาวงศ์ญาติเจ้านครจึงนำธิดา(ปราง)คนนี้ถวายพระเจ้ากรุงธนบุรีเสีย ต่อมาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เมื่อครั้งยังเป็นอุปราชเมืองนครอยู่ ภริยาซึ่งเป็นบุตรเจ้านคร(หนู)เสียชีวิต เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ทำความชอบได้เข้าเฝ้าครั้งหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าภริยาเสียชีวิตก็สงสารจึงจะพระราชทานธิดาเจ้า นคร(หนู)ให้ใหม่ และให้นำตัวธิดาคนเล็กเจ้านคร(หนู)ไปพระราชทาน แต่นางในกระซิบว่า ดูเหมือนว่านางจะขาดระดูอยู่ แต่พระเจ้ากรุงธนตรัสว่า "ได้ออกปากให้เขาแล้ว ก็พาไปเถอะ" เมื่อท้าวนางพาธิดาเจ้านครไปส่งนั้น เจ้าอุปราช (พัฒน์) ก็ทราบความลับนั้น มีความยำเกรงพระบารมีก็ต้องรับไว้เป็นท่านผู้หญิงกิตติมศักดิ์อยู่ตลอดอายุ และนางนั้นก็มีบุตรกับเจ้าพระยานคร(พัฒน์) เพียงคนเดียว คือ เจ้าพระยานคร (ปริก)

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

airban-300x250
0
Shares