ปลาหางนกยูง

ปลาหางนกยูง

ชื่อสามัญ ปลาหางนกยูง Guppy

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาหางนกยูง Poecilia reticulata Peters 1859

ลักษณะทั่วไปของปลาหางนกยูง

ปลาหางนกยูง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศเวเนซูเอลล่า หมู่เกาะคาริเบียนของประเทศบาร์บาโดส และในแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ตามธรรมชาติอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด และน้ำกร่อยที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งจนถึงน้ำไหลเรื่อย ๆ ปลาตัวผู้มีขนาด 3-5 เซนติเมตร ตัวเมียมีขนาด 5-7 เซนติเมตร ปลาหางนกยูงที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม (fancy guppy) ซึ่งเป็นปลาที่ได้รับการคัดพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์มาจากพันธุ์พื้นเมือง (wild guppy) เนื่องจากปลาหางนกยูง มีมากมายหลายสีแตกต่างไปตามสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย ทำให้นักเพาะเลี้ยงสามารถทดลองผสมข้ามพันธุ์ และคัดพันธุ์ จนได้ปลาที่มี สีสันสวยงามมากมายหลายสายพันธุ์ จนเป็นที่นิยมกันทั่วโลก และเป็นปลาที่มีมูลค่าการจำหน่ายสูงที่สุดเมื่อเปรียบ เทียบ กับปลาชนิดอื่น ๆ ทั้งนี้นอกจากมีสีสันสวยงามสะดุดตาแล้ว ยังเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทนต่อการเปลี่ยนแปลง ของสภาพแวดล้อม และสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ง่ายอีกด้วย ปลาหางนกยูงมีลักษณะลำตัวยาวเรียว ส่วนหัวจะแหลม ปากมีขนาดเล็ก ครีบหลัง และครีบหาง ยาวแผ่กว้าง ลักษณะเด่นที่ใช้คัดสายพันธุ์ คือ ลักษณะสีลวดลายบนลำตัว และลักษณะสีลวดลายของครีบหาง ปลาหางนกยูงเพศผู้มีแพนหางใหญ่ และสีเข้มจัดกว่าตัวเมีย ปลาตัวเมียหางเล็ก สีซีด และท้องอูมอยู่ตลอดเวลา ปลาหางนกยูงออกลูกเป็นตัว ครั้งหนึ่งจำนวนไม่มากนัก แต่มีระยะการออกลูกที่สม่ำเสมอ กินอาหารได้แทบทุกชนิด ตั้งแต่ ไรแดง ลูกน้ำ ปลาป่น และ อาหารปลาสำเร็จรูป

การเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง

ปลาหางนกยูงจัดว่าเป็นปลาที่สังเกตเพศได้ง่ายมาก ลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้และเพศเมีย คือ ปลาเพศผู้มีลวดลาย สีสันเด่นชัด และสดสวยกว่า โดยทั่วไปหางมีขนาดใหญ่กว่าส่วนของลำตัว ครีบยื่นยาวกว่า และปลาเพศเมียมีอวัยวะเพศ (gonopodium)ยื่นยาวออกจนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนและโดยธรรมชาติ ปลาตัวผู้ว่ายไล่รัดปลาตัวเมียอยู่ตลอดเวลา การผสมพันธุ์ของปลาชนิดนี้ ปลาเพศผู้ใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศเมีย เพื่อปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ในรังไข่ของปลาตัวเมีย และน้ำเชื้อนี้อยู่ติดค้างในรังไข่ของปลาตัวเมียได้นานถึง 6-7 เดือน เมื่อปลาตัวเมียออกลูกไปแล้วคอกหนึ่ง ภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน ปลาตัวเมียก็สามารถให้ลูกได้อีกโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้มาผสมพันธุ์เหมือนครั้งแรก โดยปกติปลาชนิดนี้ให้ลูกปลาทุก ๆ หนึ่งเดือน ปลาหางนกยูงเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว วิธีการเพาะพันธุ์ค่อนข้างง่ายเพียงปล่อยปลาให้ตัวผู้ และตัวเมียอยู่ด้วยกันไม่ช้าปลาก็ให้ลูกได้ สังเกตเมื่อแม่ปลาใกล้ออกลูก คือ แม่ปลาท้องอูมเป่งมาก และที่ท้องมีปานดำ ปรากฏให้เห็น และช่วงนี้ปลาว่ายช้าลง ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่กินลูกตัวเอง ดังนั้นหลังจากที่ปลาออกลูกแล้วควรรีบแยกพ่อ และแม่ปลาออก และหลังจากที่แม่ปลาออกลูกเสร็จแล้วควรแยกแม่ปลาไว้ต่างหากเพื่อเป็นการพักฟื้น เนื่องจากปลาตัวเมียอ่อนเพลีย หากรวมกับปลาตัวอื่นอาจถูกรังแกจนถึงตายได้ หลังจากที่ทำการพักจนแม่ปลาแข็งแรงสมบูรณ์ดีแล้วจึงค่อยย้ายไปเลี้ยงรวมกับปลาตัวอื่นได้

ในการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง นอกเหนือจากวิธีการเพาะพันธุ์แล้ว วิธีการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ และการอนุบาลลูกปลา นับว่าเป็นปัจจัยที่ล้วนแต่มีความสำคัญเท่าเทียมกันดังต่อไปนี้

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูง เนื่องจากปลาหางนกยูงเจริญถึงวัยเจริญพันธุ์ เมื่อปลามีอายุเพียง 3 เดือน เท่านั้น เมื่อลูกปลาพอที่แยกเพศได้ (อายุประมาณ 1-1.5 เดือน) ควรเลี้ยงแยกเพศไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาผสมพันธุ์กันเอง

น้ำที่ใช้เลี้ยง ควรเป็นน้ำสะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรดเป็นด่าง 6.5-7.5 มีปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม ความกระด้างของน้ำ 75-100 มิลลิกรัมต่อลิตร ความเป็นด่าง 100 ถึง 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และอุณหภูมิน้ำ 25-29 องศาเซลเซียส ควรมีน้ำไหลหมุนเวียนตลอดเวลา

อาหารที่ใช้เลี้ยง ปลาหางนกยูงสามารถกินอาหารได้ทั้งพืช และสัตว์ (omnivorous) ในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จึงสามารถให้อาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ลูกน้ำ ไรแดง (moina) ไรสีน้ำตาล (artemia) หรือหนอนแดง (chironomus) หรืออาจเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปที่มีปริมาณโปรตีนไม่ต่ำกว่า 40% ก่อนให้อาหารสดทุกครั้งควรฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหาร โดยการแช่อาหารในด่างทับทิมเข้มข้น 500-1,000 ส่วนในล้านส่วน (0.5-1.0 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) เป็นเวลาประมาณ 10-20 วินาที ปริมาณอาหารสดควรให้วันละ 10 % ของน้ำหนักตัวหรือให้กินแต่พออิ่ม ส่วนอาหารแห้ง ควรให้วันละ 2-4% ของน้ำหนักตัวปลา โดยให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้า และเย็น ส่วนการถ่ายเทน้ำควรทำทุกวัน โดยดูดน้ำในตู้ออกวันละประมาณ 1ใน4 ของปริมาณน้ำในตู้ แล้วเติมน้ำให้เท่าระดับเดิม

การคัดพ่อแม่พันธุ์

ในการคัดเลือกปลาเพศผู้ และเพศเมียเพื่อทำการผสมพันธุ์ ควรเลือกปลาที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป ลำตัวมีขนาดใหญ่ หนาสมส่วน ไม่คดงอ โคนหางใหญ่แข็งแรง ครีบสมบูรณ์ ครีบหางใหญ่ พริ้วหนา แข็งแรงสมบูรณ์ไม่ฉีกขาด รูปร่างได้สัดส่วน แข็งแรง ว่ายน้ำปราดเปรียว มีสี และลวดลายสวยงาม เพศผู้มีลักษณะต่างจากเพศเมียตรงที่อวัยวะในการสืบพันธุ์ เรียกว่า gonopodium ซึ่งดัดแปลงมาจากครีบก้น ในปลาพ่อแม่พันธุ์ควรมีลักษณะสีและลวดลายที่เหมือนกัน หรือคล้ายกันมากที่สุด เพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีลักษณะไม่แปรปรวนมาก ในการผสมพันธุ์หากจำเป็นต้องเก็บลูกปลาที่เพาะได้ไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในครั้งต่อไป ควรหาพ่อแม่ปลาจากแหล่งอื่นมาผสมบ้าง เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากการผสมเลือดชิด (inbreeding) ซึ่งเป็นสาเหตุให้ลูกปลาในรุ่นต่อ ๆ ไปมีความอ่อนแอ และอัตรารอดต่ำ เนื่องจากลักษณะด้อย (recessive) ที่ปรากฏในยีน ลักษณะเด่นที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆคือ ลักษณะสีและลวดลายบนลำตัว ลวดลายบนครีบหาง และรูปแบบของครีบหาง ซึ่งในการเรียกสายพันธุ์ต่าง ๆ ถูกตั้งชื่อตามลักษณะดังกล่าว

การเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง

  1. เตรียมบ่อซีเมนต์ขนาด 1-4 ตารางเมตร ระดับน้ำลึก 30-50 เซนติเมตร ใส่พุ่มเชือกฟาง ตะกร้าหรือฝาชีเพื่อให้ลูกปลาใช้เป็นที่หลบซ่อน
  2. นำพ่อแม่ปลาสายพันธุ์เดียวกัน ปล่อยรวมกันในอัตรา 120 ถึง180 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ในสัดส่วนเพศผู้:เพศเมีย เท่ากับ 1:3 หรือ 1:4 ระหว่างการเพาะพันธุ์ให้ไรแดงเป็นอาหารในตอนเช้า และให้อาหารสำเร็จรูปในตอนเย็น ปลาเพศเมียที่ได้รับการผสมแล้วจะเห็นเป็นจุดสีดำบริเวณท้อง
  3. หลังจากแม่ปลาได้รับการผสมพันธุ์ประมาณ 26-28 วัน ลูกปลาวัยอ่อนเกิดขึ้น และหลบซ่อนอยู่ตามวัสดุที่ใส่ไว้ในบ่อ ให้รวบรวมลูกปลาออกทุกวัน สะสมไว้ในบ่ออนุบาลประมาณ 4-5 วันต่อบ่อ เพื่อให้ลูกปลามีขนาดใกล้เคียงกัน โดยปล่อยลูกปลาในอัตราความหนาแน่น 140-300 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ในระยะแรกให้ไรแดงเป็นอาหาร ในตอนเช้า และเย็นทุกวันเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงให้อาหารสำเร็จรูป จนกระทั่งลูกปลามีอายุประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่เริ่มแยกเพศได้ โดยปลาเพศเมีย สังเกตจุดสีดำบริเวณรูเปิดช่องท้อง ส่วนปลาเพศผู้ เมื่อมองจากด้านบนมีรูปร่างเรียวยาวกว่าเพศเมีย
  4. คัดขนาดและแยกเพศปลา นำไปแยกเลี้ยงในบ่ออัตราปล่อย 200 - 300 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ให้กินไรแดงเป็นอาหารในตอนเช้าส่วนตอนกลางวันและตอนเย็นให้กินอาหารสำเร็จรูป ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 3-4 เดือน ก็จะสามารถจำหน่ายได้ ควรคัดเลือกปลาที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อนำเตรียมไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป

ปัญหาที่พบในการเลี้ยงปลาหางนกยูง สายพันธุ์ที่ได้มีคุณภาพต่ำลงเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากพ่อแม่เป็นปลาที่มาจากคอกเดียวกัน ปลาเพศเมียได้รับการผสมมาแล้ว ทำให้มีน้ำเชื้อของปลาเพศผู้คอกเดียวกันผสมกันอยู่ วิธีแก้ปัญหา คือ พยายามแยกเพศผู้เพศเมียให้ได้เร็วที่สุด สายพันธุ์ที่ดีควรเก็บคัดไว้เพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป และควรหาสายพันธุ์จากที่อื่นมาผสมเพื่อไม่ให้เกิดการผสมสายเลือดที่ชิดเกินไป

โรคที่มาจากแหล่งอื่น ๆ เมื่อได้ปลามาจากที่อื่น ๆ ไม่ควรปล่อยรวมกับปลาที่เลี้ยงไว้ควรพักให้จนกระทั่งแน่ใจว่าไม่มีโรคติดต่อแล้ว

โรคทางเดินอาหาร พยายามหลีกเลี่ยงการใช้อาหารธรรมชาติโดยเฉพาะไรแดงที่รวบรวมมาจากแหล่งน้ำอื่น นอกจากแช่ด่างทับทิมเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคแล้ว ควรเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารให้เป็นอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถเติมสารอาหารที่จำเป็นผสมในอาหารได้

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares