ตำนานตะเกียบญี่ปุ่น

ตำนานตะเกียบญี่ปุ่น

พูดถึงตะเกียบหลายคนคงนึกถึงวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของประเทศแถบเอเชีย ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่ประเทศที่ใช้มันในการทานอาหาร ที่นึกออกก็มีจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และบ้านเราก็ยังหยิบยืมตะเกียบมาใช้ตามชนิดของอาหารด้วย วันนี้เราจะมาพูดถึงตะเกียบญี่ปุ่นกันค่ะ ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร มีอะไรน่าสนใจมากกว่าใช้คีบอาหารบ้าง

ที่จริงแล้วญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมมาจากแผ่นดินใหญ่อย่างประเทศจีน โดยตะเกียบเริ่มมีตั้งแต่สมัยยาโยอิ ผู้ใช้ตะเกียบก็คือ องค์จักรพรรดิ ส่วนพวกชาวบ้านใช้มือในการรับประทานอาหารเท่านั้น เรียกว่ายุคแรกที่ตะเกียบเข้ามาจักรพรรดิมีสิทธิ์ใช้แต่เพียงผู้เดียวค่ะ ต่อมาในสมัยอาสุกะ เมื่อเจ้าชายโชโทคุ ไทชิ ไปเป็นทูตที่ประเทศจีน ท่านได้นำวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบของข้าราชการจีนกลับมาด้วย ซึ่งทำให้การใช้ตะเกียบเริ่มแผ่ขยายไปถึงชนชั้นล่าง

ในสมัยนารา คนทั่วไปเริ่มทำตะเกียบใช้เองและเริ่มใช้จนเป็นเรื่องปกติในยุคคามะคุระ อีกทั้งญี่ปุ่นได้เรียนรู้และเริ่มออกแบบรูปร่างของตะเกียบให้เข้ากับอาหารของตนด้วย ในสมัยเอโดะมีการเคลือบเงา สร้างความหลากหลายให้กับตะเกียบมากขึ้น และต่อมาในปีโชวะที่ 10 เกิดการใช้ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง หรือเรียกว่า วาริบาชิ ที่เราเห็นตามร้านอาหารญี่ปุ่นนั่นเองค่ะ

ในปีโชวะที่ 30 อุตสาหกรรมการผลิตตะเกียบได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง มีการพัฒนาทั้งลวดลาย ขนาด และสีสัน การทำตะเกียบในขั้นตอนแรกๆ มาจากจังหวัดฟุคุอิ และส่งต่อไปทั่วญี่ปุ่น ที่เกียวโตก็นำตะเกียบจากจังหวัดฟุคุอิมาสร้างลวดลายจนเกียวโตมีชื่อเสียงในเรื่องลวดลายอันสวยงามของตะเกียบไปโดยปริยายค่ะ

ในเรื่องความเชื่อในเรื่องของตะเกียบในญี่ปุ่นนั้น ในยุคแรก เวลาที่ผู้คนต้องการประกอบพิธีกรรมบูชา ขอบคุณเทพเจ้าในโอกาสต่างๆ อาหารที่ใช้ถวายนั้นไม่สามารถแตะต้องถูกมือของมนุษย์ได้ ผู้คนจึงใช้ตะเกียบคีบอาหารแทนการใช้มือ สังเกตที่ตะเกียบญี่ปุ่นนั้นจะมีปลายตัดเฉียงอยู่หนึ่งด้านและด้านเท่ากันอีกด้าน เค้าเชื่อกันว่าปลายที่เฉียงเป็นของเทพเจ้า อีกข้างหนึ่งเป็นของคนทั่วไป

และในงานศพ คนญี่ปุ่นเค้าใช้ตะเกียบที่ทำจากไม้ไผ่ คีบเถ้ากระดูกไปเก็บไว้ในโกศ เพราะเชื่อว่าตะเกียบจะเป็นตัวแทนของสะพาน ที่ช่วยเชื่อมต่อให้วิญญาณที่จากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าได้อย่างสบาย เพราะเหตุนี้คำว่าตะเกียบในภาษาญี่ปุ่น จึงออกเสียงว่า ฮาชิ ซึ่งแปลได้ทั้งตะเกียบและสะพานค่ะ ต่างกันตรงที่ตัวคันจิและการออกเสียงต่างกันแค่เสียงต่ำและสูงเท่านั้นเอง

มาพูดถึงประเภทของตะเกียบกันบ้าง ในญี่ปุ่นมีด้วยกัน 3 ชนิดค่ะ ได้แก่ ตะเกียบสำหรับเทศกาล เรียกว่า อิวาอิบาชิ ตะเกียบใช้แล้วทิ้ง เรียกว่า วาริบาชิ และสุดท้าย ตะเกียบทำอาหาร เรียกว่า เรียวริบาริ ในเมื่อตะเกียบเอาไว้ใช้บนโต๊ะอาหารแล้ว มันก็ต้องมีมารยาทพื้นฐานในการใช้ตะเกียบของคนญี่ปุ่นค่ะ รู้เอาไว้จะได้ไม่ซุ่มซ่ามให้อายเค้า

ข้อห้ามในการใช้ตะเกียบก็อย่างเช่น ห้ามปักตะเกียบไว้บนข้าวเพราะถ้าปักถือว่าเป็นข้าวของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ห้ามเขี่ยหาอาหารเพื่อเลือกทานแต่ของชอบ อย่าแกว่งตะเกียบไปมาแบบลังเลในการเลือกอาหาร อย่าเคาะหรือขูดตะเกียบกับภาชนะให้เกิดเสียง ห้ามคีบถ้วยอาหารด้วยตะเกียบให้เคลื่อนย้าย ห้ามส่งอาหารต่อกันด้วยตะเกียบ นี่แค่คร่าวๆ ที่ควรรู้ยังมีอีกหลายข้อสำหรับมารยาทในการใช้ตะเกียบค่ะ

ปัจจุบันตะเกียบญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงไปจากทำจากไม้ไผ่ ก็มีการทำด้วยสแตนเลส พลาสติก มากมายหลายสีสัน หลากดีไซน์ มีขายตั้งแต่ราคาถูกมากไปจนถึงแพงเวอร์ แล้วยังมีเคสและที่วางสำหรับเก็บตะเกียบแบบน่ารักๆ วางจำหน่ายเต็มไปหมด

ส่วนเด็กๆ ที่ใช้ตะเกียบยังไม่คล่อง ญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ใส่ใจทุกรายละเอียดก็มีสินค้าตะเกียบที่ออกแบบมาช่วยฝึกการใช้ตะเกียบไปในตัวอีกด้วย ประเทศนี้เค้าน่ารักดีจริงๆ ค่ะ ใส่ใจทุกขั้นตอน แม้กระทั่งเรื่องการกินของเด็กๆ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร Spicy ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares