ถึงอยู่ในท้องเจ้าตัวน้อยก็ได้ยินเสียงนะ

ถึงอยู่ในท้องเจ้าตัวน้อยก็ได้ยินเสียงนะ

ถึงแม้เจ้าตัวน้อยจะยังอยู่ในท้อง แต่เขาก็สามารถได้ยินเสียงของคุณแม่แล้วนะคะ และสามารถที่จะแยกเสียงของคุณแม่ออกจากเสียงของคนอื่นได้ด้วย นั่นแสดงว่าพัฒนาการการได้ยินของลูกน้อยนั้นเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ค่ะ

เริ่มต้นการได้ยิน

4 Month: สมองเริ่มได้รับรู้ ตาเริ่มมองเห็น เริ่มรู้ว่ามีแสง ลิ้นเริ่มมีปุ่มสัมผัส และเริ่มจะได้ยินเสียงต่าง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงหัวใจของแม่ หรือเสียงร้องของกระเพาะอาหาร รวมทั้งเสียงจากภายนอกครรภ์

5 Month: นอกจากได้ยินเสียงแล้ว ลูกในท้องก็มีการตอบสนองต่อเสียงอีกด้วย ไม่ว่าจะต่อเสียงพูดคุยของแม่ หรือเสียงดังที่เกิดขึ้นกะทันหัน ก็จะทำให้เด็กมีการตอบสนองด้วยอาการกระตุก การขยับตัว แม่ก็จะรู้สึกได้ว่า ลูกมีการเตะท้อง

6-7 Month: เด็กสามารถจดจำเสียงที่มาจากภายนอกได้ เช่น เสียงเพลงที่คุณแม่เปิดให้ลูกฟัง หรือเสียงพูดคุยของคุณพ่อคุณแม่ พอลูกคลอดออกมาแล้ว ได้ยินเพลงที่เขาเคยฟังบ่อย ๆ หรือได้ยินเสียงพ่อแม่ที่คุ้นเคยก็จะรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยค่ะ

8-9 Month: มีพัฒนาการทางการได้ยินมากขึ้น ลูกในครรภ์มีความเข้าใจในภาษามากขึ้น หากที่บ้านมีการพูดคุยหลายภาษา ลูกในครรภ์ก็จะเริ่มคุ้นเคยกับลักษณะเสียงของภาษาที่แตกต่างกัน
สารพัดวิธีกระตุ้นการได้ยิน

พูดคุยกับลูก เสียงพูดของพ่อแม่เป็นเสียงที่ลูกได้ยินชัดเจนที่สุด เพราะนอกจากลูกจะได้ยินเสียงคุณแม่จากการฟังแล้ว ยังรู้สึกถึงการส่งผ่านทางร่างกายของแม่ด้วย อีกทั้งคุณพ่อก็สามารถมาร่วมพูดคุยกับคุณแม่และลูกได้ด้วยค่ะ เพราะเสียงทุ้ม ๆ ของคุณพ่อก็จะส่งผ่านไปสู่ลูกได้ดีกว่าเสียงความถี่สูง หากคุณพ่อคุณแม่ได้พูดคุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เมื่อคลอดแล้ว ลูกก็จะสามารถจดจำเสียงได้ทันที

ฟังเพลง เพลงที่จะเปิดให้ลูกฟังนั้น ควรเป็นเพลงที่จังหวะไม่หนัก เป็นเพลงเบา ๆ อาจเป็นเพลงบรรเลง หรือเพลงที่มีเสียงร้องก็ได้ โดยเป็นการเปิดเพลงฟังทางลำโพงที่ทั้งแม่ และลูกได้ยินพร้อมกัน ที่สำคัญควรเป็นเพลงที่คุณแม่ชอบด้วย

สวดมนต์ด้วยกัน คุณแม่บางท่านที่ชอบสวดมนต์ ก็อาจจะเปลี่ยนจากการสวดในใจมาเป็นเปล่งเสียงออกมาให้ลูกได้ยินด้วย การที่ลูกได้ยินเสียงคุณแม่ในเวลาที่เงียบสงบจะทำให้ลูกฟังเสียงอย่างสงบไปด้วย รู้สึกมีความสุข และส่งผลดีต่อการทำงานของสมองเจ้าตัวเล็กตามไปด้วยค่ะ

อ่านนิทาน คุณแม่อาจจะอ่านนิทานให้ลูกฟังก็ได้ เพื่อช่วยเรื่องพัฒนาการด้านภาษา เมื่อเขาคลอดออกมาก็จะคุ้นเคย และเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการด้านภาษาต่อไป

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คุณพ่อหรือคุณแม่ควรทำจิตใจ และใช้เสียงที่สดใสเวลาคุยกับลูกด้วยนะคะ หากตั้งชื่อลูกแล้วก็ใช้ชื่อเรียกลูกเลยค่ะ โดยพูดช้า ๆ ชัด ๆ และทักลูกด้วยความรักเสมอ สำหรับตัวคุณพ่อเองควรเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ด้วย เช่น บอกลูกว่า "เดี๋ยวพ่อเปิดเพลงให้ฟังนะจ๊ะ" หากคุณพ่อไม่มีเวลาคุยกับลูกบ่อยเท่าคุณแม่ คุณแม่ก็อาจคุยเรื่องดี ๆ ของคุณพ่อให้ลูกฟังด้วยก็ได้ค่ะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMoM ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares