ลูกในท้องไม่โตทำไงดี

ลูกในท้องไม่โตทำไงดี

คุณแม่ท้องทุกคนต้องคอยดูแลใส่ใจลูกในท้องอย่างสม่ำเสมอนะคะ เพราะเมื่อเกิดความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยคุณแม่ก็จะรับรู้และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีค่ะ

รู้ทันพัฒนาการลูก

คุณแม่สามารถทราบว่าลูกน้อยในท้องมีพัฒนาการตามอายุครรภ์หรือไม่ โดยสังเกตอาการต่างๆ ดังนี้

ฮอร์โมนแห่งการตั้งครรภ์ ช่วงการตั้งครรภ์ 3-4 เดือนแรก เมื่อลูกในท้องมีพัฒนาการมากขึ้น จะมีการสร้างฮอร์โมนแห่งการตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่จะแสดงอาการของฮอร์โมนเหล่านั้นออกมา เช่น เจ็บเต้านม ปัสสาวะบ่อย อารมณ์เปลี่ยนแปลง หงุดหงิดมากขึ้น และมีอาการแพ้ท้อง

นับจังหวะลูกดิ้น คุณแม่ท้องแรกจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นตอน18 สัปดาห์ ถ้าเป็นท้องหลังจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นตอน 16 สัปดาห์ แต่คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นจนนับจังหวะได้ชัดเจนตอนอายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์หรือไตรมาสที่ 2 ไปแล้วค่ะ

  • เทคนิคในการนับง่ายๆ คือใน 12 ชั่วโมง ลูกควรจะดิ้นเกิน 10 ครั้ง เช่น 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม ถ้าลูกดิ้นเกิน 10 ครั้ง ก็แสดงว่าปกติค่ะ ถ้าวันไหนที่รอดูมาทั้งวันแล้วรู้สึกว่าลูกไม่ค่อยดิ้นเลย อาจเป็นเพราะลูกกำลังหลับอยู่ คุณแม่ลองดื่มน้ำหวาน แล้วรอประมาณ 1 ชั่วโมง พอลูกตื่น เขาจะดิ้นจนคุณแม่รู้สึกได้ ซึ่งถ้าลองทำวิธีเหล่านี้แล้ว ลูกยังดิ้นน้อยอยู่จะต้องมาพบแพทย์ค่ะ

น้ำหนักบอกพัฒนาการ น้ำหนักของคุณแม่จะเป็นสิ่งที่บอกว่าลูกได้รับสารอาหารและออกซิเจนเพียงพอหรือไม่ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ประมาณ 12-15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์

ดูจากยอดมดลูก เมื่อมีการตั้งครรภ์มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสามารถดูพัฒนาการของลูกน้อยได้จากการขยายตัวของมดลูก โดยเมื่อตั้งครรภ์ในช่วง 12 สัปดาห์แรก ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่า โดยแบ่งส่วนที่ต่ำกว่าสะดือเป็น 3 ส่วน

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่าประมาณ 1 ใน 3 และจะเริ่มสูงประมาณ 2 ใน 3 เหนือกระดูกหัวเหน่า เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และจะอยู่ตรงสะดือพอดีเมื่ออายุครรภ์ 24 สัปดาห์

พออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 1 ใน 4 เหนือสะดือ จากนั้นจะสูง 2 ใน 4 เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ สูงประมาณ 3 ใน 4 เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ และจะอยู่สูงสุดคือ 4 ใน 4 หลังจาก 37 สัปดาห์

หากเป็นท้องแรกเมื่อศีรษะเด็กเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ช่วงนั้นท้องก็จะเริ่มลดลง ซึ่งวิธีสังเกตยอดมดลูกนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินเวลาที่คุณแม่มาตรวจอัลตราซาวนด์ค่ะ

5 วิธีปฏิบัติตัว เมื่อลูกน้อยพัฒนาการไม่ปกติ
1.พบแพทย์ คุณหมอจะประเมินว่าสาเหตุที่ลูกในท้องไม่พัฒนาตามอายุครรภ์ ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลัก คือ

  • คุณแม่มีความผิดปกติ เช่น มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน เกิดความผิดปกติที่เส้นเลือดทำให้อาหารส่งไปถึงลูกได้น้อยลง หรือคุณแม่ที่น้ำหนักขึ้นไม่ค่อยตามเกณฑ์ น้ำหนักน้อยหรือมีประวัติได้รับยาหรือสารอันตราย เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้า ใช้สารเสพติด เป็นต้น
  • รกสายและสะดือผิดปกติ เช่น มีปัญหารกลอกตัวก่อนกำหนด เส้นเลือดบริเวณใต้รกฉีกขาด รกเสื่อมสภาพ
  • เกิดจากความผิดปกติของลูก เช่น มีความผิดปกติของโครโมโซม มีการติดเชื้อไวรัส หรือมีความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเมื่อทราบสาเหตุแล้วคุณหมอจะแก้ไขที่สาเหตุ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนโภชนาการและพฤติกรรมของคุณแม่

2. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และควรเพิ่มพลังงานจากอาหารวันละ 300 กิโลแคลลอรี เมื่อไปฝากครรภ์ทางโรงพยาบาลจะมีทีมโภชนาการคอยดูแล ซึ่งนักโภชนาการจะวิเคราะห์ว่าคุณแม่กินอาหารไปเท่าไหร่ และเพียงพอหรือไม่

3. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8-10 ชั่วโมง นอนกลางวันประมาณ ½ -1 ชั่วโมง

4. ทำตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การนับลูกดิ้นใน 12 ชั่วโมง ควรจะเกิน 10 ครั้ง

5. ไปพบตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อการป้องกันแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ควรสังเกตอาการและดูแลครรภ์อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาการของลูกน้อยที่ปกตินะคะ

ก้านแก้ว เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.ธิศรา วีรสมัย สูติแพทย์ โรงบาลพญาไท1

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares