วันหยุดเขื่อนโลก(14 มีนาคม)

วันหยุดเขื่อนโลก(14 มีนาคม)

วันหยุดเขื่อนโลก(International Day of Action against Dams) ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี กำเนิดวันหยุดเขื่อนโลกนั้นเริ่มขึ้นด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของภาคพลเมืองที่จะต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับโลก ในการต่อต้านหายนะจากเขื่อน

ในเดือนกันยายนปี พ.ศ.2538 การประชุมประจำปีของ ขบวนการคัดค้านเขื่อนแห่งบราซิล(MAB) จึงได้มีการเสนอให้มีการประชุมนานาชาติของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนขึ้น หลังจากนั้นในแต่ละภูมิภาคก็ได้ประชุมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนจากแต่ละประเทศในภูมิภาคขึ้น สำหรับในเอเซียการประชุมได้จัดขึ้นที่เขื่อนนาร์มาดา ประเทศอินเดีย เมื่อ ปี พ.ศ.2539 โดยมีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมด้วย

ในที่สุดในระหว่างวันที่ 11-14 มีนาคม พ.ศ.2540 องค์กรเครือข่ายขนาดใหญ่ในแต่ละภูมิภาค ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการประชุมนานาชาติของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนครั้งที่ 1 ขึ้น ณ เมืองคิวริทิบา ประเทศบราซิล

โดยมีผู้แทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและนักสิ่งแวดล้อมจาก 20 ประเทศ รวมทั้งตัวแทนองค์กรสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย ขณะที่ผู้แทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและนักสิ่งแวดล้อมอีกหลายประเทศเช่น จีน และมาเลเซีย เป็นต้น ไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ได้ เนื่องจากเกิดปัญหาความขัดแย้งในการสร้างเขื่อนระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

การประชุมที่เกิดขึ้นทั้ง 4 วัน นอกจากได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้เรื่องเขื่อนกันแล้ว ที่ประชุมยังได้ตกลงให้มีคำประกาศคิวริทิบาเพื่อ"ยืนหยัดการมีสิทธิความเป็นมนุษย์และวิถีชีวิตของ ประชาชนผู้ได้รับ ผลกระทบจากเขื่อน"และกำหนดให้วันที่ 14 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันหยุดเขื่อนโลก โดยมีคำขวัญที่จะใช้ร่วมกันว่า "น้ำเพื่อชีวิตไม่ใช่เพื่อความตาย"

การต่อต้านเขื่อนของพลเมืองไทย สำหรับประเทศไทย การต่อต้านเขื่อนได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างเขื่อนภูมิพล เขื่อนขนาดใหญ่แห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2504 ชาวบ้านที่ถูกบังคับให้อพยพได้ต่อสู้อย่างเงียบ ๆ ด้วยการสร้างพระร่วงองค์ที่สองขึ้นมา

ในยุคเผด็จการชาวบ้าน ห้วยหลวง และมาบประชันได้ต่อสู้คัดค้านเขื่อนอย่างเข้มแข็ง แม้ว่าชาวบ้านต้องถูกสังหาร ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบประชาชนและนักสิ่งแวดล้อมก็สามารถหยุดเขื่อนน้ำโจนได้สำเร็จ หลังจากต่อสู้มานานกว่า 10 ปี และเมื่อถึงยุคประชาธิปไตย ประชาชนก็สามารถหยุดเขื่อนแก่งกรุงและเขื่อนเหวนรกได้ ขณะที่อีกหลายเขื่อนเช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนคลองนางน้อย เขื่อนบาโหย เขื่อนรับร่อ เขื่อนแม่ละเมา เขื่อนน้ำปาย 1-3 เขื่อนแม่ลามาหลวง ฯลฯ ทางการไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ที่ต่อต้านเขื่อนอย่างเข้มแข็ง

ในปี พ.ศ.2537 ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนได้เริ่มสร้างเครือข่ายของประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบจากเขื่อนทั้งที่สร้างไปแล้ว และที่ยังไม่ได้สร้าง และได้พัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาคนจนในปัจจุบัน

ผลของการเกิดสมัชชาคนจนได้ทำให้การต่อสู้ของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนมีพลังมากขึ้น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและทุกข์ทรมานมาเกือบ 20 ปี อย่างเขื่อนสิรินธร ได้มีโอกาสเรียกร้องค่าชดเชยที่ทางการไม่ยอมจ่าย เมื่อตอนสร้างเขื่อน เขื่อนอีกหลายแห่งได้รับค่าชดเชย เขื่อนสายบุรีได้ถูกยกเลิกตามข้อเรียกร้อง และได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนที่ยังไม่ได้สร้าง ซึ่งกว่าจะบรรลุข้อตกลงนี้ ชาวบ้านต้องชุมนุมหน้าทำเนียบเป็นเวลานานถึง 3 เดือน

ขอขอบคุณ ที่มา : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares