โฆษณาหลอกเด็ก..เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

โฆษณาหลอกเด็ก..เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้โฆษณารุกคืบ เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเรามากขึ้น พร้อมกับที่ต้องตกเป็น จำเลย ของการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเสมอว่า มีอิทธิพลในด้านลบกับเด็กๆ คุณสมศักดิ์ กัณหา หัวหน้าโครงการเด็กไทยรู้ทันแห่งสถาบันศิลปะวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา) ได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบของโฆษณาที่มีต่อเด็กๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเทคนิคที่ใช้กันบ่อยๆ ก็คือ ให้ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล หลอกให้รัก หลอกให้หลง มีของแถม ดูแล้วทันสมัยคุณสมศักดิ์ เล่าให้ฟังถึงผลกระทบของโฆษณาที่เห็นได้ชัดเจน อย่างเช่นในเรื่องขนมที่เด็กบริโภคกันในปริมาณมากขึ้น ซึ่งต่างจากในอดีตที่เด็กกินขนมแค่ 10% เท่านั้น และขนมที่กินก็ไม่ใช่อย่างทุกวันนี้ ฉะนั้นสารอาหารที่ไปเลี้ยงร่างกายก็จะพอเพียง แต่ปัจจุบันนี้พบว่าปริมาณขนมที่เด็กบริโภคนับได้เป็น 25% ของอาหารที่กินเข้าไปทั้งหมด ฉะนั้นสารอาหารที่มีประโยชน์ที่จะไปเลี้ยงสมองหรือร่างกายจึงลดลง 

นี่คือประเด็นที่ 1 ที่เห็นง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือเรื่องสุขภาพ เราจะเห็นเด็กอ้วนและฟันผุกันเยอะขึ้น ส่วนประเด็นที่ 2 ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะยังไม่เห็นก็คือ เป็นการบังคับหรือปลูกฝังวิธีการบริโภค เช่น ต้องซื้อของยี่ห้อนี้เพราะว่าอยากได้ของแถม ไม่อยากกินแต่อยากได้ของแถมก็ต้องซื้อ แล้วพอเด็กใช้เงินแบบนี้บ่อยๆ เข้าก็ทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ชาญฉลาดอย่างไรก็ตาม มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยแสดงความเป็นห่วงว่า การควบคุมสื่อมากๆ จะทำให้เด็กไทยไม่รู้จักคิด ซึ่งคุณสมศักดิ์แสดงทัศนะเรื่องนี้ว่าจริงๆ แล้วการที่เด็กจะคิดได้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีทักษะ เป็นสิ่งที่จะต้องค่อยๆ ฝึกฝน บ่มเพาะ แล้ววัยของเด็กก็เป็นช่วงที่จะต้องฝึกฝน เด็กถูกรุมเร้าด้วยโฆษณาที่หลอกหรือเกินจริง โดยไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดเลยคงไม่ดี ต้องฟูมฟักเด็กก่อน แต่ถ้าเล่นมอมเมากันตั้งแต่แรกก็คงแย่เหมือนกัน เขาก็อาจจะบอกได้ว่า ถ้าทำอย่างนี้มันก็ไม่ต้องขายของกันพอดีสิ แต่ประเทศอื่นเขาก็ยังมีวิธีการโฆษณาที่สร้างสรรค์กว่านี้ ไม่ใช่หลอกขายของ

กฎหมายสื่อเด็กสำหรับเด็ก : สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณา คุณสมศักดิ์กล่าวว่า ในต่างประเทศมีกฎหมายควบคุมโฆษณาอย่างชัดเจน โฆษณาหลายประเภทอย่างเช่นที่ใช้พรีเซ็นเตอร์คนดังที่เด็กรักมาถือสินค้าโฆษณาหรือเชิญชวนเด็กๆ หรือโฆษณาที่เน้นของแถมมากกว่าตัวสินค้าล้วนถูกห้ามอย่างเด็ดขาด โฆษณาพวกที่ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล หลอกให้รัก หลอกให้หลง มีของแถม ถ้าใช้มาตรฐานของต่างประเทศมาวัดคงไม่ผ่าน โดยเฉพาะมาตรฐานเรื่องความถี่ รายการเด็กหนึ่งรายการไม่สามารถโฆษณาสินค้าชิ้นหนึ่งซ้ำได้เกิน 4 ครั้ง แต่บ้านเราทำไมไม่มีใครเข้ามาดูแลเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นรัฐบาลเองก็น่าจะเข้ามาตรวจสอบ รัฐบาลอาจจะบอกว่าสินค้าพวกนี้ในแง่ของตัวสินค้าไม่มีปัญหา ไม่มีอันตราย แต่ WHO (World Health Organization) บอกว่าเมื่อบริโภคในระยะยาวจะทำลายสุขภาพ แต่ถ้าบริโภคต่อหน่วยยังไม่เห็นผลสิทธิเด็กข้อหนึ่งก็คือเด็กจะต้องได้รับสิทธิในการรับข่าวสารที่เป็นประโยชน์และป้องกันจากข่าวสารที่ไม่เป็นประโยชน์ ต้องมีการเลือกข่าวสาร แต่สำหรับประเทศไทยกฎหมายที่ใช้ควบคุมโฆษณาเด็กกับผู้ใหญ่ยังเป็นฉบับเดียวกันอยู่เลย ซึ่งคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมาพิจารณาว่าเด็กต้องได้รับการคุ้มครองไหม? ถึงเวลาหรือยังที่จะถามว่าจะใช้กฎหมายฉบับเดียวกันหรือคนละฉบับ?อย่างไรก็ตาม เมื่อยังไม่มีใครตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ บทบาทสำคัญที่สุดตอนนี้ก็คงอยู่ที่พ่อแม่ ที่จะช่วยควบคุมและเลือกสรรสื่อที่เหมาะสมให้ลูกด้วยตัวเอง...เสียงจากคนทำงานโฆษณาคุณปารเมศวร์ รัชไชยบุญ นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนทางฝั่งฟากผู้ทำงานโฆษณา กล่าวยอมรับว่าโฆษณาหลอกเด็กนั้นมีจริง แต่โฆษณาต้องผ่านทางหลักเกณฑ์ของการตรวจพิจารณาด้วย ในขั้นตอนของการตรวจก็มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน ถ้าเป็นเรื่องของขนมของขบเคี้ยว ขบวนการก็เริ่มที่ อย.(องค์การอาหารและยา) จากนั้นเอกชนก็จะร่วมกับทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ทั้งก่อนและหลังผลิต แล้วในด้านของการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ Consummer Protection สคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ก็ดูแลอีกครั้งหนึ่งว่ามีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า

คุณปารเมศวร์กล่าวเพิ่มเติมว่า โจทย์และหน้าที่อันแรกของโฆษณาก็คือ การตอบเป้าหมายทางการตลาด โดยไม่ละเลยถึงจรรยาวิชาชีพ ซึ่งทางสมาคมได้ย้ำเตือนกับผู้ประกอบการอยู่ตลอด โฆษณาที่ดีสร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัวก็มีอยู่ อย่างเช่นโฆษณาที่สนับสนุนสถาบันครอบครัว โฆษณารณรงค์เชิญชวนหรือเตือนให้แปรงฟัน หรือเตือนให้ดูแลสังคม ซึ่งเป็นคนละแนวกับโฆษณาขายสินค้าคุณปารเมศวร์ ย้ำว่าการป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือ การปลูกฝังเรื่องของค่านิยมและเรื่องของการรับผิดชอบ โดยเริ่มตั้งแต่พ่อแม่ไปเลย
สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เคยบอกว่ามีพ่อแม่ออกมาเรียกร้องว่า ลูกชายคนเดียวกินแต่น้ำอัดลมแล้วก็ขนมหวานจนฟันผุไปทั้งปาก คำถามคือใครผิดล่ะครับอันนี้? ..... เป็นหน่วยสังคมที่อยู่ใกล้กับเด็กที่สุดไม่ใช่เหรอครับ

ผมไม่ได้พูดว่าขนมเป็นของดี แต่เราทุกคนถ้าบอกว่าไม่เคยกินขนมเนี่ย ... ผมก็ว่าโกหก กินขนมแต่ก็เห็นออกมาเป็นคนดีกันได้ทั้งนั้นใช่ไหมครับ ผมว่ามันอยู่ที่การรู้จักประมาณว่ายังไงคือความพอดี หน่วยสังคมก็ต้องรับผิดชอบกันด้วย ผมก็เป็นพ่อและผมก็เคยกินขนม แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่าความพอดีอยู่ตรงไหน ผมเห็นด้วยกับทาง อย. ในการที่จะทำเรื่องเด็กไทยไม่กินหวาน คือให้รู้กันว่าภัยพวกนี้มันเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะพูดว่าโฆษณามีอิทธิพลมากขนาดนั้น ถ้าทางด้านของ สสส. มีเงินอยู่ ทำไมไม่ทำแคมเปญรณรงค์สร้างจิตสำนึกกับพ่อแม่ผู้ปกครองให้หันกลับมาดูแลลูก เพราะถ้าบอกว่ายุ่งมากปล่อยลูกให้อยู่หน้าจอแล้วให้ทีวีเลี้ยงลูก ผมคงต้องบอกว่าความรับผิดชอบส่วนหนึ่งก็ต้องเป็นของพ่อแม่ในเรื่องของการเรียกร้องให้ออกกฎหมายควบคุมสื่อโฆษณาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ คุณปารเมศวร์แสดงความเห็นว่า ในเรื่องของจรรยาวิชาชีพการทำงานในวงการโฆษณา สมาคมโฆษณาไม่สามารถรับผิดชอบอะไรได้ทั้งหมด มีโฆษณาบางตัวที่ผู้ประกอบการทำเองหรือทำร่วมกับบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ ทำกับบริษัทโฆษณาเล็กๆ โดยเป็นบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นกับสมาคมโฆษณา สมาคมพยายามเคร่งครัดมากขึ้น มีการประชุมกันตลอดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มันมีอีกมากนักที่ทำกันเองโดยที่ไม่แน่ใจว่าไม่รู้หรือตั้งใจที่จะทำให้ผิด บิดเบือน ผมพยายามพูดกับสมาชิกของสมาคมตลอดว่าเราก็เคยเป็นเด็กมาก่อน แล้ววันนี้เราก็เป็นพ่อเป็นแม่กันแล้ว เรามีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการด้วย

คุณปารเมศวร์เสนอแนะ สสส. ให้ทำแคมเปญรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้พ่อแม่ เพื่อให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น ดูแลลูกมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยได้มากอีกทางหนึ่ง
อย่างที่ผมบอกว่าถ้าคุณปล่อยให้ลูกดูทีวีแล้วกินขนมกับน้ำอัดลมจนฟันผุคุณก็เป็นพ่อแม่ที่ไม่ได้รับผิดชอบเท่าไหร่นัก เพราะนี่คือการรักลูกที่ไม่ถูกทาง ดังนั้นก็อย่าโทษคนอื่นเลย ฟังแล้วคุณพ่อคุณแม่คิดอย่างไรกันบ้างคะ

ข้อมูล จาก นิตยสารดวงใจพ่อแม่

airban-300x250
0
Shares