สมุนไพร ตะบูนขาว

สมุนไพร ตะบูนขาว

สมุนไพร ตะบูนขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylocarpus granatum Koenig จัดอยู่ในวงศ์ MELIACEAE เช่นเดียวกับตะบูนดำ สะเดา กระท้อน กัดลิ้น และลองกอง

สมุนไพร ต้นตะบูนขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กระบูน กระบูนขาว ตะบูน ตะบูนขาว (ภาคกลาง, ภาคใต้), หยี่เหร่ (ภาคใต้), ตะบันขาว เป็นต้นโดยสามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลในเขตร้อนชื้น ตั้งแต่แอฟริกา เอเชีย ไปจนถึงออสเตรเลีย

ลักษณะของตะบูนขาว

ต้นกระบูนขาว จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ได้เร็ว ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้าง มีรูปร่างไม่แน่นอน เพราะลำต้นมักคดงอ ส่วนที่โคนต้นมีลักษณะเป็นพูพอน เปลือกต้นมีสีเทา หรือสีเทาอมขาว หรือเป็นสีน้ำตาลแดง เปลือกแตกล่อนเป็นแผ่นบางๆ คล้ายกับเปลือกต้นตะแบก เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย มักขึ้นปะปนอยู่กับพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลายชนิด เช่น หัวสุมดอกขาว ไม้พังกา ถั่วดำตาตุ่มทะเล และไม่โกงกางใบเล็ก

ใบตะบูนขาว มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่เรียงสลับกัน มีใบย่อยเรียงตรงข้ามอยู่ 2 คู่ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 4.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ปลายใบมน ส่วนโคนใบเรียวสอบ แผ่นใบมีลักษณะหนาและเปราะ ส่วนขอบใบโค้งลงและเป็นคลื่นเล็กน้อย ส่วนเส้นแขนงของใบมีอยู่ข้างละ 6-9 เส้น ก้านใบสั้นมีสีน้ำตาล ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร

ดอกตะบูนขาว ดอกมีสีขาวอมเหลือง ส่งกลิ่นหอมในช่วงบ่ายถึงค่ำ ดอกออกรวมเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามซอกใบ กลีบเลี้ยงเป็นรูปสามเหลี่ยมสั้นมี 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน

ผลตะบูนขาว ผลแห้งแตก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลแข็งมีสีน้ำตาล ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15-20 เซนติเมตร หนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม ส่วนก้านผลยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โดยตะบูนขาวและตะบูนดำจะมีร่องตามยาวของผล 4 แนว หรือแบ่งเป็น 4 พูเท่าๆ กัน แต่ละผลมีเมล็ดประมาณ 4-17 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปเหลี่ยมโค้งนูนปลายแบบประสานเข้าเป็นรูปทรงกลม หนึ่งด้านกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร จะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

สรรพคุณของตะบูนขาว

  1. ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือก,เมล็ด)
  2. ช่วยแก้อหิวาต์ (เปลือก,ผล) แก้อหิวาตกโรค (ผล)
  3. เปลือกและเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการไอ (เปลือก,เมล็ด)
  4. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือก,เมล็ด)
  5. ใช้เป็นยาแก้บิด (เปลือก,เมล็ด)
  6. เปลือกและเมล็ดใช้ต้มเพื่อใช้ชะล้างแผล (เปลือก,เมล็ด)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares