สมุนไพร อังกาบ

สมุนไพร อังกาบ

สมุนไพร อังกาบ ภาษาอังกฤษ Philippine violet, Bluebell barleria, Crested Philippine violet
สมุนไพร อังกาบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria cristata L. จัดอยู่ในวงศ์ ACANTHACEAE เช่นเดียวกับต้อยติ่ง และอังกาบหนู

สมุนไพรไทยอังกาบ ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกเช่น ก้านชั่ง คันชั่ง ลืมเฒ่าใหญ่ ทองระอา ทองระย้า อังกาบกานพลู อังกาบเมือง เป็นต้น โดยต้นอังกาบนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและจีน สำหรับในประเทศไทยนั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา ป่าละเมา หรือป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง รวมไปถึงป่าก่อ

ต้นอังกาบ กับต้นต้อยติ่ง ลักษณะโดยรวมแล้วจะดูคล้ายกันมาก จนทำให้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นต้นต้อยติ่ง เนื่องจากลักษณะของผลนั้นมีรูปทรงที่เหมือนกันมาก แต่ผลของต้อยติ่งเมื่อถูกน้ำแล้วจะแตกออก แต่ผลของอังกาบจะไม่แตกเมื่อถูกน้ำ แต่จะแตกหรืออ้าได้เองตามธรรมชาติ

ลักษณะของอังกาย

ต้นอังกาบ จัดเป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็ก มีลำต้นเป็นข้อ มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร กิ่งก้านและลำจะมีขนสีเหลืองอ่อนโดยเฉพาะตามข้อ ไม่มีหนามเหมือนต้นอังกาบหนู เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการชักชำกิ่ง และการใช้เมล็ด

ใบอังกาบ ลักษณะของใบคล้ายรูปหอก ปลายใบเรียวแหลมหรือยาว โคนใบเรียวสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มกระจายอยู่ทั้งสองด้าน โดยเฉพาะตามเส้นใบ ใบมีความยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ก้านใบสั้น มีความได้ยาวประมาณ 0.3-2 เซนติเมตร ใบตามกิ่งจะสั้นและมีขนาดเล็กกว่าตามลำต้น

ดอกอังกาบ ออกดอกเป็นช่อคล้ายช่อเชิงลดสั้นๆ หรือเป็นกระจุกค่อนข้างแน่นที่ปลายยอด หรือบริเวณใกล้ปลายยอด ลักษณะของดอกอังกาบเป็นรูปทรงกลม หรือรูปแตร ดอกมีสีม่วง ส่วนที่โคนช่อดอกจะมีใบประดับรูปขอบขนานยาวหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ขอบใบเว้า มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมกัน มีขนาดไม่เท่ากัน คู่นอกจะมีขนาดใหญ่กว่า ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ขอบจักเป็นติ่งหนาม ปลายแหลมยาว ส่วนกลีบคู่ในลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร มีปลายแหลมยาว กลีบดอกคล้ายคล้ายรูปปากเปิด หลอดกลีบยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ดอกอังกาบมีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีม่วง สีชมพู หรือสีขาว กลีบบนมี 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เรียงซ้อนเหลื่อมกันอยู่ ส่วนกลีบล่างจะแผ่กว้างกว่ากลีบบนเล็กน้อย แต่มีความยาวเท่ากับกลีบบน มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ติดอยู่ที่โคนกลีบดอก ยาว 2 อัน และสั้น 2 อัน เกสรอันยาวจะยื่นเลยปากหลอดกลีบมาเล็กน้อย ก้านเกสรจะมีขนหนาแน่นที่โคน ส่วนอับเรณูจะยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร โดยเกสรตัวผู้จะเป็นหมัน 1 อัน รังไข่เป็นรูปขอบขนานแกมรูปกรวย เกลี้ยง มีอยู่ 2 ช่อง แต่ละช่องจะมีออวุลอยู่ 2 เม็ด ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะมีลักษณะเรียวยาว มีความยาวได้ประมาณ 4 เซนติเมตร ยอดเกสรเรียบ โดยอังกาบมักออกดอกช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม

ผลอังกาบ หรือ ฝักอังกาบ ลักษณะเป็นฝักรูปยาวรี ปลายและโคนฝักแหลม ส่วนปลายฝักจะกว้างกว่าส่วนโคนฝัก ในฝักอังกาบ มีเมล็ด 4 เมล็ด เมล็ดแบนกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มิลลิเมตร มีขนแบนราบ

สมุนไพรต้นอังกาบ โดยทั่วไปแล้วจะแยกออกเป็น 3 สี 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดดอกสีม่วง ชนิดดอกสีขาว และชนิดดอกสีเหลือง โดยดอกสีม่วงนั้นจะมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีนและอินเดีย ส่วนชนิดดอกสีขาวและเหลืองนั้นสามารถพบได้ทั่วไปตามป่าราบหรือที่รกร้างว่างเปล่าในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่เห็นแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นจะมีแต่ชนิดสีม่วง

สรรพคุณอังกาบ

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยเจริญธาตุไฟ (ราก,ดอก ของต้นอังกาบดอกสีขาว)
  2. อังกาบ สรรพคุณช่วยฟอกโลหิตในร่างกาย (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
  3. ราก สรรพคุณช่วยแก้ลม (ราก,ดอก ของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
  4. สมุนไพรอังกาบ สรรพคุณของดอกช่วยขับเสมหะ (ดอกของต้นอังกาบสีม่วง)
  5. รากอังกาบ สรรพคุณใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
  6. รากมีรสหวาน ใช้เป็นยาแก้ระดูขัด ฟอกโลหิตระดูของสตรี แก้ประจำเดือนคั่งค้างเป็นลิ่มเป็นก้อน (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
  7. ช่วยแก้อาการเจ็บปวดเมื่อยบั้นเอว (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
  8. สรรพคุณของอังกาบ ช่วยแก้อาการบวม (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
  9. สรรพคุณใบอังกาบ ช่วยแก้อาการปวดฝี (ใบของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
  10. ใบช่วยถอนพิษร้อนอักเสบ (ใบของต้นอังกาบดอกสีม่วง)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ มหาวิทยาลัยมหิดล , วิกิพีเดีย ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares