สมุนไพร เถาประสงค์

สมุนไพร เถาประสงค์

สมุนไพรเถาประสงค์ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หยั่งสมุทรน้อย (เชียงใหม่), ตำยานฮากหอม (นครสวรรค์), จุกโรหินี นวยนั่ง นอยนั่ง (ชุมพร), เครือเขาขน (คนเมือง), เครือประสงค์, เครือไทสง, เถาไพสง เป็นต้น

สมุนไพร เถาประสงค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Streptocaulon juventas (Lour.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ PERIPLOCACEAE, ASCLEPIADACEAE

ลักษณะของเถาประสงค์

ต้นเถาประสงค์ จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพันเกาะต้นไม้อื่น ลำต้นมีขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 1-7 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ตามลำต้นมีขนละเอียดสีแดงขึ้นปกคลุม ส่วนกิ่งก้านและปลายยอดมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มีน้ำยางมากเป็นสีขาวข้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบขึ้นกระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง และอาจพบในป่าดิบแล้งได้บ้าง ส่วนในต่างประเทศพบได้ในประเทศจีน อินเดีย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ใบเถาประสงค์ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลีบ ปลายใบแหลมหรือมนและเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนละเอียดขึ้นหนาแน่นทั้งสองด้าน แผ่นใบด้านบนมีขนค่อนข้างสากกระจายทั่วไป ส่วนด้านล่างมีขนสีเหลืองนวลนุ่มและหนาแน่น เส้นใบมี 14-25 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.7-1.2 เซตติเมตร มีขนค่อนข้างสากยาวและหนาแน่น

ดอกเถาประสงค์ ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.6-7 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากประมาณ 18-55 ดอก ดอกมีขนาดเล็กสีม่วง ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีขนค่อนข้างสากขึ้นหนาแน่น ใบประดับอย่างละ 2 อัน รองรับดอกและช่อดอก ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายแหลม โคนตัด ขอบเรียบ ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนยาวหนาแน่น ส่วนกลีบดอกเป็นสีม่วง มักมีขอบกลีบสีเขียวแกมเหลือง รยางค์เป็นรูปมงกุฎ 5 อัน หลอดกลีบเป็นรูปจานยาวแบน ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลมหรือค่อนข้างกลม รูปสามเหลี่ยม ขอบเรียบ เกลี้ยง ขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ด้านนอกเป็นสีเขียว ส่วนด้านในเป็นสีแดง มักหลุดร่วงง่ายพร้อมกับเกสรเพศผู้และเพศเมีย เกสรเพศผู้ อับเรณูมีขนาด 0.5 มิลลิเมตร มีเดือยเล็กๆ ยื่นออกมา คล้ายเป็นเส้นยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร สีขาวอมเหลืองอ่อน ส่วนเกสรเพศเมีย รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร มีออวุลประมาณ 70-100 ออวุล เกลี้ยง มีเยื่อบางๆ เชื่อมเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้ และกลีบดอกให้ติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยง หลอดกลีบเป็นรูปจานแบน ขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม รูปไข่ยาว 1 มิลลิเมตร สีเขียว ขอบหยักมนหรือหยักเป็นซี่ฟันห่างๆ มีขนยาวและสั้น กระจายอยู่หนาแน่นปะปนกัน มีต่อม 5 อัน เรียงอยู่ระหว่างรอยต่อของกลีบเลี้ยงกับกลีบดอก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปคล้ายทรงกระบอก ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่า ขอบเรียบ เกลี้ยง เป็นสีขาวอมเหลืองอ่อน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม

ผลเถาประสงค์ ออกผลเป็นฝักคู่ ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมขอบขนาน ขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-13 เซนติเมตร สีเขียวลายแดง มีขนเหลือบนวลทั้งสั้นและยาวผสมกัน เมื่อแห้งจะแตกออกตามรอยประสาน แต่ละฝักจะมีเมล็ดจำนวนมากประมาณ 30-90 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือค่อนข้างเบี้ยว มีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร โคนมน หรืออาจพบโคนเบี้ยว ส่วนปลายตัด มีขนปุยละเอียดยาวแบบเส้นไหมสีขาว ยาวประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมิถุนายน

สรรพคุณของเถาประสงค์

  1. ชาวเขาเผ่าอีก้อและกะเหรี่ยงจะใช้ทั้งต้นนำต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (ทั้งต้น) หรือจะใช้รากตากแห้งดองกับเหล้าหรือบดให้เป็นผงทำเป็นยาลูกกลอนกินเป็นบำรุงกำลัง บำรุงเลือด ทำให้ร่างกายแข็งแรง (ราก)
  2. ตำรับยาบำรุงร่างกาย จะใช้รากเถาประสงค์และรากตำยาน อย่างละ 1 กำมือเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำท่วมยา (ห้ามเคี่ยว) ใช้ดื่มกินได้ตลอดวันเป็นยาบำรุงร่างกาย นอกจากนี้หมอยาอีกหลายท่านยังใช้รากเถาประสงค์เป็นยารักษาคนผอมเหลือง ซีดเซียวไม่มีกำลัง โดยการนำรากมาต้มหรือดองกินอีกด้วย (ราก)
  3. ตำรายาไทยจะรากที่มีรสสุขุมเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้ (ทั้งต้น)
  4. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ต้นหรือรากเถาประสงค์ ผสมกับต้นโมกหลวง เถาย่านาง และรากส้มลม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืดอย่างแรง (ต้น,ราก)
  5. หมอยาที่เมืองเลยจะใช้รากเป็นยาแก้ปวดท้อง โรคกระเพาะ ปอดไม่ดี รวมทั้งฝีในปอด (ราก)
  6. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)
  7. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาขับน้ำคาวปลาและโลหิตเสียของสตรี (ทั้งต้น)
  8. ตาบุญ สุขบัว หมอยาเมืองเลย และพ่อประกาศ ใจทัศน์ จะใช้รากเถาประสงค์แทนการใช้รากตำยานหรือนำมาใช้ร่วมกันในตำรับยาบำรุงสมรรถภาพของเพศชาย เพื่อรักษาโรคไม่สู้เมีย เพราะทั้งคู่เป็นพืชในตระกูลเดียวกัน รากมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ตำยานฮากหอม" (ราก)
  9. มีงานวิจัยที่ระบุว่าสารสกัดจากรากเถาประสงค์มีสรรพคุณในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด (ราก)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา และ ฟรินน์.คอม

airban-300x250
0
Shares