แอร์โฮสแตส คนแรกของโลก

แอร์โฮสแตส คนแรกของโลก

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1920-1930 ซึ่งในยุคนั้นการเดินทางโดยเครื่องบินยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะคนยังคิดว่าการเดินทางโดยเครื่องบินนั้นอันตรายเกินไป และเพื่อที่จะทำให้ผู้คนหายกลัวและหันมาใช้บริการเครื่องบินมากขึ้น ทางสายการบินจึงต้องพยายามจูงใจให้คนเชื่อว่า การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นไม่อันตรายอย่างที่คิดและผู้ที่ได้มาลบภาพความน่ากลัวของการโดยสารเครื่องบินออกไปก็คือ "เอลเลน เชิร์ช"

เอลเลน เชิร์ช มีอาชีพเดิมเป็นนางพยาบาลอยู่ในรัฐไอโอวา เธอชื่นชอบการบินมากถึงขั้นฝึกขับเครื่องบิน และไปสมัครงานกับ สตีฟ สติมป์สัน ในตำแหน่งนักบินของสายการบินโบอิ้งแอร์ทรานสปอร์ต (บีเอที) แถมยังแนะสายการบินด้วยว่าน่าจะหาพยาบาลมาประจำบนเครื่อง เพื่อช่วยให้ผู้โดยสารอุ่นใจหายกลัวเครื่องบิน

สุดท้าย สติมป์สันรับเชิร์ชเป็นพนักงาน แต่ไม่ได้ให้ทำหน้าที่ตำแหน่งนักบิน เขาจ้างให้เธอรับงานในตำแหน่งที่เธอเสนอขึ้นมาเอง

ปี 1930 สายการบินโบอิ้งแอร์ทรานสปอร์ต (ก่อนจะพัฒนามาเป็นสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์สอย่างในปัจจุบัน) ว่าจ้างพยาบาลแปดคนมาเป็นพนักงานประจำเครื่องบิน และในวันที่ 15 พฤษภาคม 1930 เอลเลน เชิร์ช ได้กลายเป็นพนักงานประจำบนเครื่องบินซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกของโลก โดยเธอรับผิดชอบในเส้นทางการบินระหว่างโอ๊คแลนด์และชิคาโก

การนำพยาบาลมาประจำบนเครื่องบินนั้นก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนในอีกสามปีต่อมา บรรดาสายการบินส่วนใหญ่ของโลก ก็พร้อมใจกันว่าจ้างพยาบาลให้มาคอยประจำอยู่บนเครื่องบิน

คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นพนักงานหญิงประจำเครื่องบินในยุค 1930 นั้น เป็นเรื่องที่เข้มงวดมาก ผู้ที่จะทำอาชีพนี้ได้ต้องเป็นพยาบาลที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ต้องเป็นโสด ต้องมีอายุน้อยกว่า 25 ปี น้ำหนักไม่เกิน 52 กิโลกรัม และสูงไม่เกิน 160 เซนติเมตร

ส่วนหน้าที่รับผิดชอบนั้นก็หนักหนาไม่เบา พวกเธอต้องคอยดูแลความต้องการของผู้โดยสาร และยังต้องขนสัมภาระขึ้นเครื่อง มีความสามารถในการซ่อมเก้าอี้ เติมเชื้อเพลิงให้เครื่องบิน หรือแม้แต่ช่วยนักบินนำเครื่องบินเข้าไปเก็บในโรงจอดเครื่องบิน

อย่างไรก็ตาม แม้เชิร์ชจะเป็นผู้ที่บุกเบิกอาชีพนางฟ้าปีกอ่อนให้กับผู้หญิงทั่วโลก ตัวเธอเองกลับทำงานเป็นพนักงานประจำเครื่องบินได้เพียง 18 เดือนเท่านั้นเนื่องจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เชิร์ชหันไปศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา และกลับไปทำงานด้านพยาบาลอีกครั้ง

ปี 1942 เชิร์ชเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สอง ในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยพยาบาลของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งหลังจากเสร็จสงครามแล้ว เธอก็ได้รับเหรียญกล้าหาญมาเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติให้กับเธอ จากนั้นเธอจึงกลับไปเป็นพยาบาลต่อในมลรัฐอินดีแอนา

สุดท้ายในปี 1965ชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันของเชิร์ชปิดฉากลง หลังเธอประสบอุบัติเหตุตกจากหลังม้า ชาวเมืองเครสโก มลรัฐไอโอวา บ้านเกิดของเชิร์ชพร้อมใจกันตั้งชื่อสนามบินของเมืองว่า "เอลเลน เชิร์ช ฟิลด์" เพื่อเป็นเกียรติให้กับนางฟ้าประจำเครื่องบินคนแรกของโลก

ขอขอบคุณ ที่มา : manager.co.th ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares