5 เรื่องสำคัญที่แม่ลูกอ่อนต้องระวัง

5 เรื่องสำคัญที่แม่ลูกอ่อนต้องระวัง

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ป้ายแดงทั้งหลายที่จะต้องเลี้ยงลูกอ่อนตามลำพังนั้นมักจะมีเรื่องให้กังวลใจอยู่ไม่น้อย จนบางครั้งทำอะไรไม่ถูกหรือดูเก้ๆกังๆ ไปหมด เรามาดูกันซิว่าเรื่องกังวลเหล่านั้นมีอะไรบ้างและจะรับมือกับเรื่องเหล่านั้นอย่างไร

1. ตัดเล็บเลือดออก

วิธีรับมือ : ประมาณ 2 อาทิตย์แรก ลูกจะเริ่มมีเล็บยาวขึ้น ก่อนตัดควรใช้โลชั่น หรือนำมือและเท้าไปแช่น้ำเพื่อให้เล็บนิ่มและตัดได้ง่าย การตัดควรเว้นจากเนื้อเล็บสีขาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ใช้กรรไกรสำหรับตัดเล็บทารกโดยเฉพาะ และใช้แอลกอฮอล์เช็ดก่อนทุกครั้ง

2. สิ่งสกปรกเข้าหู

วิธีรับมือ : คุณหมอไม่แนะนำให้แคะหูให้ลูกค่ะ เพราะอาจจะไปคันสิ่งสกปรกเข้าไปข้างใน ซึ่งโดยธรรมชาติสิ่งสกปรกจะออกมาเป็นไขแล้วหลุดลอกออกมาเอง ถ้ายิ่งคันเข้าไปก็ยิ่งจะไปสะสมจนแข็งต้องพาไปพบแพทย์เพื่อดูดออก แต่ถ้ามีเลือดออกควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าแคะไปโดนอะไร ขั้นร้ายแรงที่สุดคือแก้วหูทะลุ จะมีการอักเสบของหูชั้นกลาง มีน้ำหนองอยู่ในหูที่ส่งผลต่อการได้ยิน และการพูดที่อาจไม่ชัดเจน

3. ลูกสำลักนม น้ำ ข้าว หรือสิ่งแปลกปลอม

วิธีรับมือ : เช็กเรื่องการไหลของน้ำนม ถ้าไหลเร็วและมากเกินไป เวลาลูกดูดให้ใช้นิ้วคีบที่หัวนมเอาไว้ และระวังไม่ให้เต้านมไปปิดปากหรือจมูกของลูกด้วยค่ะ ส่วนการป้อนน้ำจากขวดก็ควรตรวจเรื่องความร้อนและการไหลของน้ำ อย่าปล่อยให้น้ำไหลเร็ว เพราะเด็กอาจกลืนไม่ทันแล้วเกิดอาการสำลักน้ำได้

ข้าวและสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป โดยมากจะพบในกรณีของว่าง เช่น ถั่ว หรือขนมที่เป็นเม็ด ที่เด็กยังเคี้ยวไม่ได้ ทำให้ติดคอหรือเกิดอาการสำลักได้ ควรให้ลูกนอนตะแคงใช้ผ้าอ้อมพันนิ้วหรือลูกสูบยางดูดออกมา ถ้าสำลักขั้นร้ายแรง น้ำหรือนมเข้าปอดแล้วเกิดอาการปอดบวม อาการคือตัวเขียว เหมือนจะหยุดหายใจ ควรรีบเอาลูกสูบยางดูดแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลค่ะ

4. น้ำเข้าหูและจมูก ขณะอาบน้ำ

วิธีรับมือ : ให้จับลูกนอนตะแคงไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ต้องเขย่าตัว หรือจับหัวคว่ำหรือหงายนะคะ ให้ใช้คอตตอนบัดเช็ดหรือใช้ลูกสูบยางดูดน้ำออกมาจากหูและจมูก โดยธรรมชาติแล้วน้ำจะถูกกำจัดออกไปเอง ยกเว้นในช่วงที่ลูกเป็นหวัดแล้วมีน้ำเข้าหู มีโอกาสที่แก้วหูชั้นกลางอักเสบได้ หรือถ้าเด็กมีแก้วหูทะลุอยู่ และมีน้ำเข้า ก็จะไปเพิ่มการติดเชื้อในหูของเขาได้ค่ะ

5. น้ำร้อนเกินไป

วิธีรับมือ : น้ำร้อนที่จะใช้กับลูกควรมีการตรวจสอบก่อนเสมอ อย่าให้ร้อนจนเกินไป เพราะอาจจะลวกตัวหรือปากของลูกได้ค่ะ

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อลูกโดนน้ำร้อนลวกตัว ควรรีบพาลูกขึ้นจากน้ำทันที ใช้ผ้าเช็ดตัวให้แห้งใช้ผ้าอ้อมสะอาดพันหลวม ๆ ไว้ ไม่ต้องใช้น้ำเย็น ขี้ผึ้ง น้ำปลา ยาสีฟันหรือว่าว่านหางจระเข้ทา เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้ง่าย ทุกเรื่องมีทางแก้ไขเสมอค่ะ พ่อแม่มือใหม่พลั้งเผลอกันได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือสติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วให้รีบแก้ไขทันที ลูกน้อยจะปลอดภัยและสบายตัวขึ้นค่ะ

อย่าอุ้มลูกแบบเขย่าตัว เพราะการควบคุมกล้ามเนื้อคอของลูกยังไม่แข็งแรง ควรอุ้มแบบประคองที่ต้นคอ ไม่ควรโยกหรือให้ลูกนอนในเปล ซึ่งคล้ายการเขย่าตัว เพราะอาจเกิดอันตราย ทำให้เส้นเลือดในส่วนของสมอง ระหว่างตัวเปลือกสมองกับกะโหลกศีรษะที่เรียกว่า Dura มีภาวะเลือดออกทางสมอง มีอาการซึม อาเจียน ภาวการณ์รับรู้สติลดลง ชัก และหมดสติในที่สุด

ท่านอนที่ดีที่สุด คือท่านนอนหงาย ส่วนการนอนตะแคงทางด้านขวาหลังจากดูดนมหรือกินข้าว จะช่วยให้อาหารไหลลงกระเพาะด้านซ้ายได้เร็วขึ้น หากให้ลูกนอนคว่ำอาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค SIDS หรือการนอนแล้วเสียชีวิตโดยไม่รู้สาเหตุได้

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร รักลูก ภาพจาก : khanpak

airban-300x250
0
Shares