นำเสนอสาระน่ารู้ บทความดีๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปี เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างชาญฉลาด และมีสติ พร้อมที่จะแก้ไขและส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีสมวัย และสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ร่าเริงสดใส ทาง Pstip หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสาระความรู้ต่างๆ ในหมวดนี้จะสามารถเป็นแนวทางที่ดี สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนใหม่นำไปปฏิบัติเพื่อลูกน้อยที่คุณรักได้อีกทางหนึ่งค่ะ

Written by on

ระวัง! โรคลำไส้อักเสบรุนแรงในลูกน้อย

โรคลำไส้อักเสบเป็นอีกโรคหนึ่งที่เกิดได้บ่อยกับเด็กทารก เพราะในเด็กทารกนั้นจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดภาวะการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตและดูแลลูกน้อยเป็นอย่างดี วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับโรคนี้กันดีกว่าค่ะ

เด็กแบบไหนอยู่ในภาวะเสี่ยง

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมีภาวะลำไส้อักเสบ จนถึงเนื้อเยื่อเน่าตาย มีหลายประการ ปัจจัยหลักคือ การที่ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย หากมีการขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณลำไส้ เช่น การมีคะแนนการคลอดตั้งแต่แรกคลอดต่ำ หรือมีภาวะขาดออกซิเจนตั้งแต่แรกคลอด และมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคไปกับนมหรือภาชนะที่ไม่สะอาด หรือมีการให้น้ำนมผสมที่มีความเข้มข้นที่สูง และเพิ่มปริมาณน้ำนมเร็วเกินไปโดยเฉพาะนมผสมที่ไม่ใช่นมแม่ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้

สังเกตอาการลำไส้เน่า

อาการของทารกที่มีภาวะนี้ ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใน 2 สัปดาห์แรก หรืออาจมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากสังเกตพบอาการล่าช้า โดยเริ่มแรกอาจมีเพียงท้องอืด กินนมได้น้อยลง หรือมีน้ำนมเหลือค้างในกระเพาะอาหาร อาเจียนหรือแหวะนมบ่อยๆ ลักษณะอุจจาระเป็นสิ่งสำคัญ หากมีการถ่ายเหลวเป็นมูกหรือมีมูกเลือดปน เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าน่าจะมีสิ่งผิดปกติในลำไส้ของลูกน้อย

นอกจากนี้ยังมีอาการแสดงที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ซึม ไม่ยอมดูดนม ร้องกวน หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายไม่ใช่เฉพาะการมีไข้ แต่อาจจะมีภาวะตัวเย็นร่วมด้วย การสังเกตอาการของคุณแม่มือใหม่ที่มีทารกคลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวน้อย

ส่วนใหญ่ขณะลูกน้อยอยู่ในโรงพยาบาล ทีมกุมารแพทย์และพยาบาลทารกแรกเกิด จะคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว และก่อนกลับบ้านกุมารแพทย์และพยาบาลจะแนะนำวิธีการดูแลโดยทั่วไป และสังเกตอาการแบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละระบบ ซึ่งอาจต้องนำลูกน้อยมาพบแพทย์ก่อนเวลานัด

คุณแม่อาจสังเกตดูว่า ลูกน้อยกินนมได้ดีเท่าเดิม ไม่มีอาการแหวะนมบ่อย ๆ ท้องไม่อืดอย่างต่อเนื่อง หรือไม่มีลมในกระเพาะปริมาณมาก และเมื่อลูกน้อยกินนมอิ่มก็จะพักหลับได้ประมาณ 3–4 ชั่วโมง แล้วจึงตื่นมาเพื่อกินนมมื้อต่อไป มีการตอบสนองกับคุณพ่อคุณแม่ ด้วยการยิ้ม จ้อง และสบตา ลักษณะของอุจจาระ หากกินนมแม่ในปริมาณมากพอหรือเป็นส่วนใหญ่ อุจจาระจะมีสีเหลืองทอง นิ่ม ไม่มีลักษณะเป็นน้ำ ไม่มีมูกหรือเลือดปน อาจถ่ายได้วันละ 4–6 ครั้ง ถือเป็นภาวะปกติ

ส่วนการวัดอุณหภูมิร่างกายของลูกน้อย หากคุณแม่มีเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิ ในภาวะปกติจะพบว่าไม่มีไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส หรือไม่มีภาวะตัวเย็นที่วัดอุณหภูมิได้ต่ำกว่า 36.5 องศาเซลเซียส แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติหรือไม่ ควรจะนำทารกมาพบกุมารแพทย์ก่อนเวลานัด

แต่อย่างไรก็ตาม ในทารกแรกเกิดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวน้อยอาจมีภาวการณ์กินนมที่ไม่ดีเท่าปกติ เนื่องจากการเจริญของระบบการทำงานของลำไส้ในการดูดซึมน้ำนมยังไม่ สมบูรณ์เท่าเด็กครบกำหนด เรียกว่าภาวะ Feeding Intolerance อาจทำให้เข้าใจผิด ว่าเป็นภาวะลำไส้อักเสบได้ ซึ่งแพทย์และพยาบาล จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ทารกอยู่ในหอผู้ป่วย แล ให้การวินิจฉัยแยกโรคหรือภาวะนี้ออกไป ซึ่งมักจะดีขึ้นได้เองเมื่อลูกน้อยมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ระบบลำไส้ก็จะทำงานได้ดีขึ้นตามลำดับ แต่การเฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีลักษณะคล้ายการติดเชื้อลำไส้อักเสบดังข้างต้น ทีมผู้ดูแล ก็จะเริ่มให้การดูแลรักษายาปฏิชีวนะและสารน้ำเข้าหลอดเลือดทันที

วิธีการป้องกันและดูแลรักษา

การป้องกันที่ดีที่สุด คือให้ลูกกินน้ำนมแม่ เพราะจะมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในลำไส้ได้อย่างดี จากการศึกษาหลายแห่งได้ผลตรงกันว่า อุบัติการณ์ของภาวะ NEC นี้ จะลดลงในกลุ่มทารกที่ได้รับน้ำนมแม่ เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมผสมอย่างเดียว

นอกจากนี้ในแม่ก่อนคลอดทารกก่อนกำหนด สูติแพทย์จะมีการให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อให้ปอดของทารกเจริญมากขึ้น จากการศึกษาพบว่า จะทำให้ลำไส้มีการเจริญที่ดีขึ้นไปด้วย ทำให้ลดอุบัติการณ์ภาวะนี้ได้ ในด้านการใช้ยาเพื่อป้องกัน มีการวิจัยใช้ยาปฏิชีวนะให้กินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังไม่ได้ใช้เป็นมาตรฐานทุกราย

ในการเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เวลาชงนมให้ลูก สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะช่วงที่น้ำนมแม่เริ่มไม่พอและต้องใช้นมผสม เชื้อโรคสามารถเข้าไปในน้ำนมได้หลายทาง โดยเฉพาะการล้างมือของคนชงนมเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด ขวดนมและจุกนมภายหลังจากต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 15 นาที หรือนึ่งฆ่าเชื้อโรคตามเวลาที่กำหนด ควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาครอบ เพื่อป้องกันแมลงและสัตว์นำเชื้อโรคอื่นๆ ที่เราไม่ทันระวังมาสัมผัสได้

และหากคุณแม่สงสัยว่าลูกมีภาวะนี้ควรพามาพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะตรวจเอกซเรย์ช่องท้อง เจาะเลือดตรวจดูการติดเชื้อ และตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจพื้นฐานเบื้องต้น หากแพทย์คิดว่าเข้าได้กับการติดเชื้อลำไส้อักเสบรุนแรง ก็จะให้นอนโรงพยาบาล และงดนม ในช่วงระยะเวลา 3–5 วัน หากอาการไม่รุนแรง โดยให้สารน้ำทางหลอดเลือดทดแทนพลังงานที่จะได้รับตามอายุของทารก และเริ่มให้ยาปฏิชีวนะทางสายน้ำเกลือนั้น โดยทั่วไปหากได้รับการสังเกตที่รวดเร็ว และมาพบแพทย์จะทำให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ทารกจะมีการตอบสนองต่อการรักษาได้อย่างดี

โดยภาพรวมเมื่อติดตามดูทารกที่มีภาวะ NEC เมื่อได้รับการรักษาอย่างครบถ้วน ส่วนใหญ่จะพบว่าการเจริญเติบโตและการ พัฒนาการอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม การป้องกัน NEC ที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันการคลอดก่อนกำหนดหรือทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย ควรให้นมแม่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เน้นเรื่องความสะอาด และดูแลอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมนมอย่างถูกสุขลักษณะทุกครั้ง พร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการต่าง ๆ ของลูกน้อย หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย อาจโทรปรึกษาไปที่ศูนย์รับให้คำปรึกษาของโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน เพื่อให้การวินิจฉัยได้แต่เนิ่น ๆ จะลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และให้ผลการดูแลรักษาที่ดีทำให้ทารกมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดได้

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : rakluke

Written by on

Written by on

ภูมิแพ้ทางเดินหายใจโรคที่เด็กยุคใหม่ต้องเผชิญ

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เด็กในยุคสมัยนี้ต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เพราะในสมัยนี้มลภาวะและสารพิษต่างๆ มากมายที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ จึงทำให้เด็กๆ ป่วยเป็นภูมิแพ้ได้ง่าย วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องค่ะ

ต้นตอก่ออาการแพ้

โรคภูมิแพ้เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยใหญ่ ๆ ก็คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมครับ เรามาดูกันว่าทั้ง 2 ปัจจัยนี้ มีผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้อย่างไร

ปัจจัยทางพันธุกรรม ลูกน้อยได้รับการถ่ายทอดโรคภูมิแพ้จากพ่อแม่ แม้ว่าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้เพียงคนเดียว ลูกก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น ยิ่งพ่อและแม่เป็นโรคหอบหืด ลูกน้อยก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม มี 2 ตัวแปรหลักที่เป็นตัวก่อโรค ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจและแยกแยะให้ถูกต้องดังนี้

สารก่อภูมิแพ้ คือสารจำพวกโปรตีนที่ไปกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของลูกน้อย ทำให้เกิดการแพ้ สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้มักรวมอยู่กับฝุ่นในบ้าน โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่เกิดจากไรฝุ่น แน่นอนว่าถ้าบ้านของคุณแม่สกปรกหรือมีไรฝุ่นมาก อุจจาระของไรฝุ่น เหล่านี้จะกลายเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้ลูกเกิดอาการแพ้ได้

นอกจากนั้นก็มีขนสัตว์และสะเก็ดของผิวหนังโดยเฉพาะจากแมวกับสุนัข อุจจาระและซากของแมลงสาบ สปอร์ของเชื้อรารวมถึงละอองเกสรหญ้า ที่อาจพบได้จากสิ่งแวดล้อมภายนอกบ้าน โปรตีนจากอาหาร เช่น นมวัว เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี สารก่อภูมิแพ้สำคัญที่จะทำให้ลูกน้อยของคุณแม่เกิดอาการแพ้ และพบเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ มักจะเป็นไรฝุ่น ขนและสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแมว ซึ่งแฝงตัวอยู่ในบ้านที่คุณ และลูกน้อยอาศัยอยู่นั่นเอง

สารกระตุ้นภูมิแพ้ คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ แต่แท้จริงแล้ว สารนี้เป็นเพียงตัวกระตุ้นให้คนที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว มีอาการกำเริบเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เป็นภูมิแพ้อย่างที่เข้าใจกัน เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ หรือแม้แต่การติดเชื้อหวัด หรือเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น

รู้จักโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ

โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็กแต่ละคนจะมีความรุนแรงไม่เท่ากัน เด็กบางคนอาจจะแค่จาม น้ำมูกไหล มีเสมหะ แต่บางคนอาจรุนแรงถึงขั้นหลอดลมในปอดเกิดการหดตัวหรือเป็นหอบหืดได้ ซึ่งโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ แบ่งออกได้ดังนี้

ภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบน หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ คนทั่วไปเรียกว่าโรคแพ้อากาศนั่นเอง จริง ๆ แล้วเกิดจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่มีกับฝุ่นในอากาศ โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยและในห้องนอน

เด็กจะมีอาการจามคันจมูกมีน้ำมูกใสอาจมีอาการคัดจมูก คันตา หายใจติดขัด และมีเสียงครืดคราดได้มักจะเป็นแบบนี้ในช่วงเช้า ๆ และตอนนอน บางครั้งอาจเป็นมากถึงกับทำให้มีปัญหาในการนอนหลับได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเด็กสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้สำคัญ ที่เกิดจากไรฝุ่นซึ่งอยู่ในที่นอนโดยตรง เด็กที่เป็นภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบน อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ อาการนอนกรนเสียงดังได้ง่ายกว่า เด็กที่ไม่เป็นโรคนี้

ภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนล่าง หรือโรคหอบหืด ซึ่งโรคนี้เด็กจะไม่มีเสมหะ แต่จะมีอาการไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจเข้าออกลำบาก และรู้สึกเหนื่อยง่าย หากเป็นมากขึ้น จะได้ยินเสียงวี้ดเหมือนนกหวีดเวลาหายใจออก และต้องใช้ยาสูดพ่นเข้าปอดเพื่อช่วยขยายหลอดลม

วิธีป้องกันและลดการเกิดอาการภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจไม่จำเป็นต้องพึ่งยาปฏิชีวนะเสมอไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ เพียงคุณพ่อคุณแม่ทำตามวิธีข้างล่าง ก็จะช่วยลดการเกิดอาการแพ้ได้ในระดับหนึ่ง

หลีกเลี่ยงไรฝุ่น ด้วยการทำความสะอาดบริเวณบ้านและห้องนอนอย่างสม่ำเสมอ ผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้าห่ม และผ้าม่าน ควรซักทำความสะอาดอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และถ้าสามารถซักในน้ำร้อนอุณหภูมิ 55-60 องศาเซลเซียสได้ จะเป็นการฆ่าและกำจัดตัวไรฝุ่นอย่างได้ผลดี รวมถึงการใช้ผ้าคลุมกันไรฝุ่นที่ได้มาตรฐานกับเครื่องนอนทุกชิ้น และที่สำคัญไม่ควรมีตุ๊กตาในห้องนอน เพราะถือเป็นแหล่งสะสมไรฝุ่นที่ดี

หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ในบ้าน เช่น แมว สุนัข นก กระต่าย ควรเลี้ยงไว้ข้างนอกโดยแบ่งโซนให้ชัดเจน แต่หากจำเป็นต้องเลี้ยงในบ้าน ควรอาบน้ำสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อเป็นการลดสารก่อภูมิแพ้จากขนและผิวหนังของสัตว์เลี้ยงนั้น ๆ หรืออาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีระบบ HEPA (High Efficiency Particulate Air) Filter ช่วยอีกทางหนึ่งได้

หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย ควันธูป รวมถึงน้ำหอมฉุน เพราะสิ่งเหล่านี้ จะเข้าไปในทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ รวมถึงกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้โดยตรง ส่งผลให้อาการแพ้กำเริบตามมาได้

นมแม่ดีที่สุด คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้รับนมแม่มากที่สุด อย่างน้อยในช่วง 6 เดือนแรก แทนนมผสมหรือนมวัว และควรหลีกเลี่ยงอาหารเสริมในช่วง 4-6 เดือนแรก เช่น ซีเรียล ไข่ ควรให้หลังจากลูกน้อยอายุ 6 เดือนไปแล้วจะดีกว่า

ออกกำลังกายเป็นประจำ จะเป็นกีฬาอะไรก็ได้ แต่ไม่ควรออกกำลังหักโหมจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้อาการหอบหืดกำเริบได้ ในเด็กที่เป็นโรคหอบหืดบางรายในเด็กที่มีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้โดยการพ่นยาขยายหลอดลมประมาณ 15-30 นาที ก่อนการออกกำลังกาย ก็จะช่วยป้องกันอาการไอ และหอบที่เกิดจากการออกกำลังกายได้

Check list

• โอกาสเสี่ยงการเกิดโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
• คุณพ่อหรือคุณแม่ หรือทั้งสองคนเป็นภูมิแพ้
• มีพี่น้องสายเลือดเดียวกันเป็นภูมิแพ้
• พ่อกับแม่เป็นโรคเดียวกัน เช่น โรคหอบหืด
• มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ
• ลูกเป็นภูมิแพ้ผื่นผิวหนัง ช่วง 2-3 เดือนแรกคลอด
• ทดสอบภูมิแพ้แล้วพบว่า เป็นภูมิแพ้ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
• เวลาอยู่ในที่ที่มีไรฝุ่นหรือที่สกปรกแล้วมีอาการคันจมูก จาม น้ำมูกไหล
• เป็นหวัดแล้วเกิดอาการหอบบ่อยๆ หายใจติดขัด

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : realparents

Written by on

Written by on

เมื่อลูกน้อยคัดจมูก...แม่ทำไงดี

เมื่อมีอาการคัดจมูก ทำให้รู้สึกอึดอัด ถ้าเป็นผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ อาจจะสั่งน้ำมูกออกหรือกินยาลดน้ำมูกเพื่อบรรเทาอาการ แต่เมื่อลูกน้อยของเรามีอาการคัดจมูก การที่จะให้เด็กเล็กกินยามากเกินความจำเป็น อาจเป็นอันตรายต่อตับไตของลูกน้อยได้ รุ่นปู่ย่าตายายมักจะใช้วัตถุดิบจากก้นครัวมาช่วยบรรเทาอาการป่วยเบื้องต้นต่างๆ

เช่น เมื่อลูกน้อยมีอาการคัดจมูก แค่นำหอมแดงวางไว้ตรงหัวนอนของลูกน้อย เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นที่มีหอมแดงทุบใส่ลงไปด้วย

และเมื่อลูกคัดจมูก แล้วพบว่ามีน้ำมูกอยู่ในรูจมูก ก็ให้ใช้สำลีพันปลายไม้จิ้มฟันที่ไม่ใช้ด้านปลายแหลม ก้อนสำลีที่พันให้มีขนาดพอเหมาะไม่ใหญ่เกินไปเพราะจะไปทำลายเยื่อบุจมูก หรือใช้คัตตอนบัต จากนั้นบีบสำลีให้แนบไม้มากทีสุดแล้วจุ่มน้ำเกลือ (น้ำเกลือสำหรับล้างแผล หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป) จากนนั้นใช้เช็ดขี้มูกลูกออกมาค่ะ

อาการเบื้องต้นบางอย่างเราสามารถหาวิธีดูแลลูกน้อยได้ ตามวิธีแผนโบราณของปู่ย่าตายาย โดยไม่ต้องพึ่งยามากเกินไป เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยนะคะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : prachachat

Written by on

Written by on

เมื่อไหร่ดี ถึงจะบอกลาขวดนม

ลูกน้อยติดขวดนม ไปไหนมาไหนก็ต้องพกขวดนมไปด้วย เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่มักจะกังวล แต่ไม่ต้องตกใจไปค่ะทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ ถ้าคุณแม่มีความพยายามฝึกลูกอย่างเต็มที่ไม่นานลูกก็จะเลิกขวดนมได้ค่ะ วันนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าช่วงเวลาไหนนะที่เหมาะในการเลิกขวดนมของเจ้าตัวน้อยค่ะ

เลิกนมขวดช้าไป

แพทย์มักแนะให้เลิกดูดนมขวดตั้งแต่อายุประมาณ 6 เดือน และฝึกให้ทานนมจากแก้วหรือจากหลอดแทน เพราะช่วงนี้เด็กเริ่มนั่งได้ สามารถใช้มือจับแก้วได้ เพราะถ้าหากฝึกให้ลูกเลิกนมขวดช้ากว่านี้จะยาก เพราะเขาจะดื้อ ไม่ยอมฟังเหตุผลค่ะ ขณะเดียวกัน ควรหยุดให้นมตอนกลางคืนตั้งแต่อายุ 6 เดือน

การเตรียมพร้อมในการเลิกนมขวด ต้องเตรียมตั้งแต่เริ่มให้นม โดยตอนให้นมขวดไม่ควรเติมของรสหวานลงทุกชนิดไปในขวดนม ควรให้ลูกดูดนมเป็นเวลา แยกเวลากินเวลานอนออกจากกัน ไม่ควรให้นมลูกก่อนเข้านอน เพราะการการดูดนมหลับคาขวด จะทำให้มีโอกาสเกิดฟันผุมาก

เมื่อหนูติดนมขวดมีผลอย่างไร

1. ฟันผุ ฟันสบกันไม่ดี โดยส่วนใหญ่แล้วแม่มักให้ลูกดูดนมก่อนนอน จนลูกหลับคาขวดนม เด็กจะติด บางคนถ้าไม่ได้ดูดนม ก็จะนอนไม่หลับเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นบ่อยๆ เด็กก็มีโอกาสเกิดฟันผุจากคราบน้ำนมที่ค้างปากทั้งคืน และยิ่งเป็นขนมชนิดหวาน ก็ย่อมมีผลมากขึ้นด้วยค่ะ และนอกจากนี้ ถ้าคุณแม่ปล่อยให้น้องดูดนมขวดเป็นเวลานาน จนเด็กโต จุกนมที่ดูดนั้นมีผลต่อการเรียงของฟัน ทำให้การสบฟันไม่ดี ฟันยื่น และเสียโอกาสในการเรียนรู้ฝึกฝน พัฒนา ปากและฟัน ตามขั้นตอนด้วยค่ะ

2. โรคอ้วน ในวัย 1 ขวบขึ้น เป็นวัยที่ทานข้าวเป็นสารอาหารหลัก ส่วนนมนั้นเป็นอาหารเสริม แต่ในเด็กที่ทานนมขวด มักไม่ค่อยทานข้าว เพราะติดรสหวานจากนมขวด ทำให้ไม่สนใจที่จะทานข้าว เมื่อทานนมมากๆ ก็จะได้แต่น้ำตาล ขาดสารอาหารจากข้าวตามวัยที่เด็กควรจะได้รับ จึงทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้

3. ไม่ยอมทานข้าว เด็กที่ติดขวดนมมักปฏิเสธการทานข้าว ทานน้อย และถ้าปล่อยไว้จนโต เด็กก็จะดื้อจนปรับเปลี่ยนได้ยากมากขึ้น จนติดการดูดนมจนเป็นกิจวัตร แม้ไม่หิวก็ดูด เด็กจึงไม่รู้สึกอยากทานข้าว

4. ขาดทักษะที่สำคัญ ยังทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะการพูด การเคี้ยวและการใช้มือในการทำกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย

เมื่อหนูเลิกนมขวด

1. ฟันไม่ผุ ฟันสวย เพราะเด็กที่เลิกทานนมขวด หันมาทานนมจากแก้วหรือจากหลอด ทำให้เลิกนมมื้อดึกได้เร็วขึ้น ไม่ต้องดูดนมจนหลับคาปาก โอกาสเกิดฟันผุก็น้อยลง ทำให้ฟันสวยและไม่เสียรูปทรง

2. ไม่ปัสสาวะรดที่นอน การเลิกนมขวดมาทานนมจากแก้ว ไม่ต้องทานนมตอนกลางคืนเหมือนแต่ก่อน ก็จะปัสสาวะได้น้อยลง จึงช่วยฝึกการขับถ่ายให้ลูกด้วย

3. ทานข้าวได้เยอะ เพราะเด็กไม่ติดขวดนม ก็จะลดการดูดนม ทำให้ทานข้าวได้มากขึ้น เพราะไม่อิ่มนม

4. แม่เหนื่อยน้อยลง เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการล้างขวด สามารถพกพาแก้วหรือดื่มจากกล่องได้ทุกที่ทุกเวลา

5. ได้ฝึกทักษะ เด็กจะได้ฝึกทักษาการใช้มือและพัฒนาการปากและฟัน ตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น และเด็กก็จะไม่รู้สึกอายเมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนในชั้นด้วย ทำให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ดีด้วย

จากการศึกษาการใช้ขวดนมในเด็กอายุ 1 - 4 เดือน ระหว่างปี 2546 - 2549 จำนวน 1,038 ราย พบว่า เด็กอายุ 1 ปีขึ้น ไม่สามารถที่จะเลิกขวดนมได้ ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน ร้อยละ 85 ยังดูดนมมื้อดึก เด็กอายุ 2 - 3 ปีร้อยละ 70 ยังดูดนมจากขวด และร้อยละ 50 ยังดูดนมมื้อดึก

ขอบคุณ ที่มา : M&C แม่และเด็ก ภาพจาก : kinaroi

Written by on

Written by on

ตัก..ตัก...ตัก เสริมพัฒนาการ

ลูกน้อยวัยซน….ชอบเล่นสนุกสนาน ซึ่งการเล่นนี่เอง ถึงจะเป็นเรื่องเล่นๆ ก็ถือเป็นการเรียนรู้และเสริมพัฒนาการของลูกได้นะคะ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ลูกเล่นของเล่นแพงๆ แค่มีคุณพ่อคุณแม่กับอุปกรณ์ที่หาได้จากในบ้านเราเอง ลูกน้อยก็สามารถสนุกเพลิดเพลินและพัฒนาการก้าวหน้าได้แล้วค่ะ สำหรับลูกน้อยวัย 6 เดือนที่นั่งได้แล้ว นี่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เล่นสนุก ประหยัด และฝึกพัฒนาการของลูกน้อยด้วยค่ะ

กิจกรรมที่ว่า แค่คุณแม่มีทัพพีตักข้าว พายไม้ผสมสลัด หรือช้อนกินข้าว กะละมังใบเล็กๆ และพาสต้าดิบรูปทรงต่างๆ หรือวัสดุอื่นสำหรับให้ลูกใช้ช้อนตักได้ ที่สำคัญคืออย่าเลือกวัสดุที่ชิ้นเล็กเกินไป เพราะลูกอาจจะเผลอหยิบเข้าปากติดคอสำลักได้ง่าย วิธีเล่นก็ง่ายๆ แค่ชวนลูกน้อยนั่งหน้ากะละมัง นำพาสต้า หรือวัสดุที่เตรียมไว้ใส่ลงในกะละมัง แล้วคุณแม่ก็ใช้ช้อนตักพาสต้าขึ้นมา เทกลับลงไปใหม่ หรือตักใส่มือลูกก็ได้ เพลิดเพลินกับการตัก ได้ฝึกการใช้มือ ซึ่งจะส่งผลดีกับกล้ามเนื้อมือของลูก และถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ช้อนตักอาหารไปด้วยในตัวค่ะ

พัฒนาการของลูกน้อย เริ่มที่คุณแม่ใส่ใจ ทุกช่วงอายุของลูกน้อย ส่งเสริมลูกน้อยในทุกๆ ด้าน แล้วลูกน้อยของคุณแม่จะเป็นเด็กเก่ง ฉลาด มีพัฒนาการที่สมวัยค่ะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : child.haijai.com

Written by on

Written by on

นอนมาก ทานน้อย ปล่อยไว้ไม่ดีแน่

ทารกในช่วงแรกคลอดนั้นส่วนใหญ่แล้ว จะชอบนอนมากกว่าตื่น ซึ่งบางครั้งอาจจะนอนนานหลายชั่วโมง เป็นเหตุให้คุณแม่ส่วนใหญ่เกิดความกังวลขึ้นได้ ว่าหากลูกนอนนานเกินไปนั้นจะส่งผลให้ลูกผิดปกติหรือเปล่า วันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกัน นั่นก็คือปัญหาการนอนมาก ทานน้อยของทารกค่ะ

เรียนรู้การนอน ของทารก

โดยปกติทั่วไปแล้วทารกแรกเกิดการนอนเฉลี่ยในแต่ละวันจะอยู่ราวๆ 20 - 22 ชั่วโมง จะตื่นประมาณ 3 ครั้งต่อคืน และในการนอนหลับแต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ทารกมักจะตื่นนอนเสมอเมื่อหิวนม แม้กระทั่งในเวลากลางดึก ทารกจะตื่นมาทานนมเกือบทุก ๆ 4 ชั่วโมง กระทั่งเขามีอายุ 2 - 3 ขวบ จึงจะสามารถควบคุมการนอนยาวติดต่อกันได้

ทานนมเท่าไหร่ดี

โดยทั่วไปทารกส่วนใหญ่มักจะตื่นขึ้นมาดูดนมประมาณ 8 มื้อต่อวัน ถ้าลูกน้อยทานนมจากเต้า ก็ให้กะว่าให้ลูกทานจนอิ่ม โดยสังเกตว่าเมื่ออิ่ม ทารกจะคลายปากออกจากคลายเต้าเอง หรือถ้าเค้าหลับปุ๋ย ก็แสดงว่าอิ่มแล้วค่ะ

สังเกตการนอน การทานของลูก

ถ้าสังเกตว่าทารกมีพฤติกรรมการทานหรือการนอนที่ผิดปกติ เช่น นอนมากเกินไป คือครบ 4 - 5 ชั่วโมงไม่ยอมลุกขึ้นมาทานนม หรือทานนมน้อยกว่าปกติ จากที่เคยทานได้เยอะ และเป็นเด็กที่ไม่เคยร้อง หรือร้องน้อย ๆ คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งนอนใจ ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดความปกติขึ้นได้ เพื่อช่วยป้องกันภาวะปัญญาอ่อนที่อาจเกิดขึ้น

ความผิดปกติที่พบและเป็นสาเหตุทำให้ทารกมีอาการดังกล่าว เกิดขึ้นได้จากภาวะฮอร์โมนธัยรอยด์ในเลือดต่ำ ตัวเหลือง หรือเกิดการติดเชื้อ ภาวะตัวเย็นพบในฤดูหนาวหรืออยู่ในห้องที่มีอากาศเย็น หรือนอนในห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ภาวะอุณหภูมิในร่างกายสูง พบในฤดูร้อน เป็นต้น

ทารกที่นอนมาก ทานน้อย เงียบเกินไป แสดงให้เห็นถึงความปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข เรื่องพัฒนาการอาจจะล่าช้ากว่าปกติ สมองหรือระบบประสาทอาจจะมีความผิดปกติ

เรียนรู้การนอนของทารกวัย 1 ขวบ คุณแม่ที่เอาลูกเข้านอนด้วยการวางลูกนอนกับเบาะ ทั้ง ๆ ที่ลูกยังตื่นอยู่นั้น เมื่อตื่นขึ้นมากลางดึก ลูกน้อยจะเรียนรู้ที่จะกล่อมตัวเองให้หลับได้เอง โดยไม่รบกวนพ่อแม่

ในขณะทารกอีกกลุ่มหนึ่ง ที่พ่อแม่เห่กล่อมให้หลับคาอ้อมอก ก่อนที่จะนำลูกไปนอนบนเบาะ เมื่อตื่นขึ้นมากลางดึก จะไม่รู้วิธีที่จะช่วยให้ตัวเองหลับต่อ เพราะไม่มีคนช่วยกล่อม ทารกน้อยเหล่านี้จะส่งเสียงร้องกวนพ่อแม่ ให้มาช่วยกล่อม ดังนั้น ถ้าพ่อแม่คนไหนต้องการฝึกให้ลูกหลับ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องตื่น ก็ต้องฝึกลูกนอนหลับเองนะคะ

ขอบคุณ ที่มา : M&C แม่และเด็ก ภาพจาก : brainscanthai

Written by on

Written by on

กายพร้อม..สมองพร้อม

ลูกน้อยคือ ทุกสิ่งของพ่อแม่ โดยเฉพาะคุณแม่จะทุ่มเทเวลาเกือบทั้งหมดให้กับลูกน้อย ดูแลทั้งเรื่องอาหารการกิน เรื่องความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้า ผิวพรรณลูกน้อย เรื่องสำคัญคือเรื่องอาหารการกินเพราะถ้าลูกได้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ครบตามหลักโภชนาการ จะส่งผลให้สมองของลูกน้อยพัฒนาไปได้อย่างดีด้วย

การเตรียม “ความพร้อมทางร่างกาย” เป็นการสร้างภูมิต้านทาน ทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และเป็นตัวเสริมสร้าง “ความพร้อมทางสมอง” ด้วย ร่างกายสมบูรณ์พร้อมช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเรียนรู้มากขึ้น ทุกพัฒนาการของลูกน้อย ล้วนมีสมองเป็นแกนหลักในการควบคุมทั้งหมด ซึ่งสมองของลูกจะประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทสมองมากกว่า 100 ล้านล้านเซลล์ ที่ทำงานเป็นวงจรไม่หยุดนิ่ง โดยส่งส่วนยื่นของเซลล์ที่เรียกว่า เดรนไดรท์ ออกไปหาเซลล์อื่นเพื่อเกาะกันเป็นวงจร เช่น เซลล์ประสาทสมองยื่นกิ่งก้านออกไปสัมผัสกับเซลล์กล้ามเนื้อ เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว หรือไปสัมผัสกับเซลล์ประสาทตาเพื่อรับภาพเป็นต้น ดังนั้น หากลูกมีปัญหาทางระบบประสาท จะสังเกตได้ว่าพัฒนาการของลูกผิดปกติ เช่น อาจล่าช้า ไม่ทันเพื่อนหรือลูกคนอื่น

ลูกน้อยที่รักของเรา จึงควรจะได้รับการดูแลใส่ใจทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่เยาว์วัย เพราะเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพต่อไปได้อย่างเต็มที่และปกติสมบูรณ์ทุกด้าน ทั้งทางร่างกายและสมอง โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกสมองของลูกจะตื่นตัวกระฉับกระเฉงและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อให้รับกับการพัฒนาอย่างเต็มที่ในทุกด้านค่ะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom Vol.18 No.210 April 2013 ภาพประกอบจาก 108healthy.com

Written by on