Written by on

ตราประจำจังหวัดศรีสะเกษ

รูปปรางค์กู่มีดอกลำดวน 6 กลีบอยู่เบื้องล่าง

คำขวัญประจำจังหวัดศรีสะเกษ

หลวงพ่อโตคู่บ้าน ถิ่นฐานปราสาทขอม ข้าว หอม กระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี

ประวัติจังหวัด จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งใน 77 จังหวัดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 8,840 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 1.45 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาถิ่นอีสาน ภาษาเขมร (เขมรสูง) และภาษากวย (กูย, โกย, ส่วย)

จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อ พ.ศ. 2302 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์โปรดให้ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนขึ้นเป็นเมือง นครลำดวน ต่อมาเมืองนครลำดวนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำจึงโปรดเกล้าฯ ให้เทครัวไปจัดตั้งเมืองใหม่ที่ริมหนองแตระห่างจากเมืองเดิมไปทางใต้ เมืองใหม่เรียก "เมืองขุขันธ์" หรือ "เมืองคูขัณฑ์" ซึ่งได้แก่อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้แยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงออกจากเมืองขุขันธ์ แล้วตั้งเป็นเมืองใหม่เรียก เมืองศรีสะเกษ

ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2455 จึงโปรดให้รวมบ้านเมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกศ และเมืองเดชอุดม เข้าเป็นเมืองเดียวกันเรียก "เมืองขุขันธ์"

ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2459 มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด ลงวันที่ 19 พฤษภาคม ปีนั้นเอง[3] เมืองขุขันธ์จึงเรียกใหม่เป็น "จังหวัดขุขันธ์" ตามนั้น

ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอ บางแห่ง พุทธศักราช 2481[4] มาตรา 3 ให้เปลี่ยนชื่อ "จังหวัดขุขันธ์" เป็น จังหวัดศรีสะเกษ (เดิมในพระราชกฤษฎีกาสะกดว่า "ศีร์ษะเกษ") นับแต่นั้น ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดสกลนคร

รูปพระธาตุเชิงชุม หน้าหนองหานหลวงและดอนสวรรค์

คำขวัญประจำจังหวัดสกลนคร

ธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมืองงามลือเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้งสวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม

ประวัติจังหวัด สกลนคร เป็นแอ่งธรรมะ มีปูชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง เช่น พระธาตุเชิงชุม พระธาตุดูม พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุศรีมงคล พระธาตุภูเพ็ก และมีพระเกจิอาจารย์ดังที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, พระอาจารย์วัน อุตตโม และหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น

จังหวัดสกลนครตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์บริเวณแนวทิวเขาภูพาน อำเภอวาริชภูมิ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนโบราณในพื้นที่จังหวัดสกลนครอยู่ร่วมสมัยเดียวกับอารยธรรมบ้านเชียงใน จังหวัดอุดรธานี จากการสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในพื้นที่แอ่งสกลนคร บริเวณลุ่มแม่น้ำสงครามครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอบ้านดุง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวาริชภูมิ อำเภอพังโคน อำเภอวานรนิวาส อำเภอพรรณานิคม และรอบ ๆ หนองหาร อำเภอเมืองสกลนคร พบแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์จำนวน 83 แห่ง ชุมชนโบราณของแอ่งสกลนครนี้มีอายุประมาณ 600 ปีก่อนพุทธกาลจนถึงพุทธศตวรรษที่ 8 (ระหว่าง 3,000-1,800 ปีมาแล้ว) จากหลักฐานการค้นพบต่าง ๆ ของที่นี่พบว่า ชุมชนโบราณในแอ่งสกลนครได้มีการรวมตัวกันเป็นสังคมขนาดใหญ่และอาจจะพัฒนา เป็นสังคมเมืองในสมัยต่อมา

สกลนครเดิมชื่อ เมืองหนองหารหลวง แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โดยขุนขอมราชบุตรเจ้าเมืองอินทปัฐนคร ซึ่งได้อพยพครอบครัวและบ่าวไพร่มาจากเมืองเขมร มาสร้างเมืองใหม่ที่ริมหนองหารหลวง บริเวณท่านางอาบ ปัจจุบันเรียกว่าท่าศาลา อำเภอโคกศรีสุพรรณ มีเจ้าปกครองเรื่อยมาจนสิ้นสมัยพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ เมื่อเกิดฝนแล้งทำให้ราษฎรอพยพไปเมืองเขมร เมืองหนองหารหลวงจึงร้างอยู่ระยะหนึ่ง ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสกลนครอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "เชียงใหม่หนองหาร" หรือเมืองสระหลวงหลังจากนั้นเมืองสกลนคร คงอยู่ใต้การปกครองกันไปมา ระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับอาณาจักรสุโขทัย และไม่ค่อยมีบทบาททางประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นนัก จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้คนกระจัดกระจายเป็นชุมชนเล็กๆทำมาหากินตามริมหนองหาร จ่ายส่วย อากรให้เจ้าแขวงประเทศราชศรีโคตรบอง เพื่อถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองให้แก่ราชธานีกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น

จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยครอบครัวมาตั้งบ้านเมืองดูแลรักษาองค์พระธาตุเชิงชุม จนมีผู้คนมากขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็น เมืองสกลทวาปี โดยแต่งตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2369 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าเมืองสกลทวาปีไม่ได้เตรียมกำลังป้องกันเมือง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพมาตรวจราชการเห็นว่าเจ้าเมืองกรมการไม่เอาใจใส่ต่อบ้านเมือง ปล่อยให้ข้าศึก (ทัพเจ้าอนุวงศ์) ล่วงล้ำได้โดยง่าย จึงสั่งให้นำตัวพระธานีไปประหารชีวิตที่หนองทรายขาว พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนในเมืองสกลทวาปีไปอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีบ้าง เมืองประจันตคามบ้าง ให้คงเหลือรักษาองค์พระธาตุเชิงชุมแต่เพียงพวกเพี้ยศรีคอนชุม ตำบลธาตุเชิงชุม บ้านหนองเหียน บ้านจานเพ็ญ บ้านอ่อมแก้ว บ้านธาตุเจงเวง บ้านพราน บ้านนาคี บ้านวังยาง และบ้านพรรณา รวม 10 ตำบล เพื่อให้เป็นข้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุมเท่านั้น

ในสมัยต่อ ๆ มาได้มีราชวงศ์คำแห่งเมืองมหาชัยกองแก้วทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอสร้างบ้าน แปงเมืองขึ้นใหม่ที่เมืองสกลทวาปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์คำเป็นพระยาประเทศธานี (คำ) ในตำแหน่งเจ้าเมืองสกลทวาปี และทรงเปลี่ยนนามเมืองใหม่เป็น เมืองสกลนคร ตั้งแต่บัดนั้นมา จนถึง พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองเมืองสกลนคร จึงเปลี่ยนเป็นรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคมณฑลเทศาภิบาล โดยส่วนกลางส่งพระยาสุริยเดช (กาจ) มาเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครคนแรก

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดหนองบัวลำภู

รูปพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับยืนหน้าศาล เบื้องหลังเป็นหนองบัวลำภู

คำขวัญประจำจังหวัดหนองบัวลำภู

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำแผ่นดินธรรมหลวงปู่ขาว เด่นสกาวถ้ำเอราวัณ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน

ประวัติจังหวัด จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นชุมชนเมืองเล็ก ๆ กระจายกันอยู่ทั่วไปมีหลักฐานที่ค้นพบปรากฏให้เห็นเด่นชัด ได้แก่ แหล่งโบราณคดีโนนพร้าว บ้านกุดคอเมย ต.กุดดู่ และบ้านกุดกวางสร้อย ต. บ้านถิ่น อ.โนนสัง ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ ภาชนะดินเผาทั้งแบบผิวเรียบและแบบตกแต่งผิวด้วยการเขียนสีและลวดลายต่าง ๆ แวดินเผา หินบดเผาเครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริด อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว

ยุคประวัติศาสตร์ มนุษย์เริ่มมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ค้นพบโบราณวัตถุสมัยทวาราวดี เช่น ใบเสมาหินทรายวัดพระธาตุเมืองพิณ อ.นากลาง และใบเสมาหินทรายวัดป่าโนนคำวิเวก อ.สุวรรคูหาจนถึงสุโขทัยเมื่อสิ้นสมัยวัฒนธรรมขอมก็ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรม ไทยลาว (ล้านช้าง) เข้ามาแทนที่ประมาณ ปี พ.ศ. 2106 พระไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) ได้นำผู้คนอพยพมาอยู่อาศัยได้สร้างพระพุทธรูปและศิลาจารึกไว้ที่วัดถ้ำ สุวรรณคูหา อ.สุวรรณคูหา และได้มาสร้างพระพุทธรูป วิหาร และขุดบ่อน้ำในบริเวณวัดในหรือวัดศรีคูณเมืองและยกฐานะขึ้นเป็นเมือง "จำปานครกาบแก้วบัวบาน" ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกว่า "เมืองหนองบัวลุ่มภู"

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2117 ในระหว่างที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 ให้แก่พม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขณะนั้นพระชนมายุได้ 19 พรรษา ครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ได้ตามเสด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดา นำกองทัพพักแรมที่บริเวณริมหนองบัวแห่งนี้ สมเด็จพระนเรศวรได้ประชวรเป็นไข้ทรพิษจึงยกทัพกลับ

สมัยพระวอ พระตาครองเมือง พ.ศ. 2292 พระยาวรราชภักดีและพระตาดวงสา ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บ้านหินโงม นครเวียงจันทร์ได้อพยพหนีข้ามลำน้ำโขง พาขุนศึกลูกพี่ลูกน้องและไพร่พลสมัครพรรคพวกที่อยู่ในความปกครองของตน มาตั้งหลักปักฐานสร้างเมือง "จำปานครกาบแก้วบัวบาน" ขึ้นใหม่ประมาณปี พ.ศ. 2302 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ.2321 พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพขึ้นมาช่วยพระตา-พระวอราช ภักดี ขับไล่กองทัพพระเจ้าสิริบุตสารออกไปจากอาณาเขตของไทย แล้วยกกองทัพติดตามเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์จนได้ชัยชนะ และนำพระแก้วมรกต และพระพุทธรูปปางต่างๆนำกลับมาถวายพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี

สมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2369 - 2406 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงษ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฎยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมาทางกรุงเทพฯ จึงส่งกองทัพไทยมาปราบ เจ้าอนุวงษ์ ได้ถอยทัพกลับมาตั้งรับอยู่ที่หนองบัวลำภู ฝ่ายไทยติดตามขับไล่ตามจับเจ้าอนุวงษ์ได้ที่เวียงจันทน์ แล้วนำตัวกลับไปพิจารณาโทษที่กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2433 สมัยรัชกาลที่ 4 ได้จัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองทางลุ่มน้ำโขงใหม่ โดยให้ข้าหลวงเมืองหนองคายบังคับบัญชา เมืองหนองบัวลุ่มภูขึ้นกับเมืองหนองคาย ต่อมาในช่วงหนองบัวลุ่มภูขึ้นสังกัดอยู่กับหัวเมืองลาวพวน พระประทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายได้แต่งตั้งพระวิชดยดมกมุทเขต มาครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า "เมืองกมุทชาสัย"

พ.ศ.2449 ได้โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเมืองกมุทธาสัยเป็น "เมืองหนองบัวลำภู" ขึ้นอยู่บริเวณหมากแข้ง

พ.ศ.2450 ได้โปรดเกล้าฯให้กระทรวงมหาดไทยรวมเมืองต่างๆในบริเวณหมากแข้งตั้งเป็งเมือง จัตวา เรียกว่าเมืองอุดรธานี ส่วนเมืองในสังกัดบริเวณให้มีฐานะเป็นอำเภอ เมืองหนองบัวลำภูจึงกลายเป็น "อำเภอหนองบัวลำภู" ขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี โดยมีพระวิจารณ์กมุทกิจเป็นนายอำเภอคนแรก

เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระจายอำนาจมายังส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง การให้บริการของรัฐการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การส่งเสริมให้ท้องถิ่นเจริญยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา จึงได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดหนองบัวลำภูตามร่างเสนอของนาย เฉลิมพล สนิทวงศ์ชัยและคณะ แล้วประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2536 โดยกระกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 110 ตอนที่ 125 ลงวันที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2536 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดสุรินทร์

รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่หน้าปราสาทหินศีขรภูมิ (เดิมเรียกว่าปราสาทหินบ้านระแงง)

คำขวัญประจำจังหวัดสุรินทร์

สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ปะคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม

ประวัติจังหวัด จังหวัดสุรินทร์ได้รับการสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ว่า พื้นที่อันเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์มีชุมชนอาศัยอยู่เมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว พบหลักฐานการอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะตอนปลาย ซึ่งมีการใช้เครื่องมือเหล็กแล้ว ซึ่งยังปรากฏให้เห็นชุมชนโบราณกว่า 59 แห่ง จากสภาพภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกับพื้นที่ที่เคยเป็นอาณาจักรขอมโบราณ ทำให้ชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ได้รับวัฒนธรรมขอมมาโดยตลอดตั้งแต่ในช่วงพุทธ ศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง ไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัดที่แสดงถึงการอยู่อาศัยของชุมชนในสมัยต่อมา จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2260 จึงปรากฏร่องรอยขึ้นอีกครั้งหนึ่งในพงศาวดารอีสาน ชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า ส่วยหรือกูย ซึ่งอาศัยอยู่แถบเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของไทย และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งาน พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวา โดยได้แยกย้ายกันไปตั้งชุมชนที่เมืองลีง(อ.จอมพระ) บ้านโคกลำดวน (อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ) บ้านอัจจะปะนึ่ง (อ.สังขะ) และบ้านกุดปะไท (อ.ศีขรภูมิ) ในปี พ.ศ.2303 หัวหน้าชาวกูยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ได้ช่วยขุนนาง จากราชสำนักคล้องช้างเผือกแตกโรง มาจากกรุงศรีอยุธยากลับไปได้ ต่อมาได้ส่งส่วยของป่าและรับราชการกับราชสำนัก จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และยกบ้านที่ปกครองขึ้นเป็นเมืองต่อมาในปี พ.ศ. 2306 หลวงสุรินทร์ภักดีหรือเชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมือง พิมายกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2 ชั้น มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัยต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดี ได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านคูประทายเป็นเมืองประทายสมันต์และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทร์ภักดีเป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง ในปี พ.ศ. 2329 พระบาท

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ตาม สร้อยบรรดาศักดิ์เจ้าเมือง เมืองสุรินทร์มีเจ้าเมืองปกครองสืบเชื้อสายกันมารวม 11 คน จนถึงปี พ.ศ.2451 ได้มีการปรับปรุง ระบบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นแบบเทศาภิบาลส่วนกลางจึงได้แต่งตั้งพระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์) มาดำรงตำแหน่ง เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนแรก ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดคนปัจจุบันคือ นายนิรันดร์กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด คนที่ 52

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on


ตราประจำจังหวัดอำนาจเจริญ

รูปพระมงคลมิ่งเมือง พระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัด

คำขวัญประจำจังหวัดอำนาจเจริญ

พระมงคลมิ่งเมือง แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ งามล้ำถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เทพนิมิตพระเหลาเกาะแก่งเขาแสนสวย เลอค่าด้วยผ้าไหม ราษฎร์เลื่อมใสใฝ่ธรรม

ประวัติจังหวัด เมื่อ พุทธศักราช 2337 เจ้าพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 ได้มีใบบอกลงไปกราบทูลพระกรุณา พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขอพระราชทานตั้งบ้านโคกก่ง กงพะเนียง(ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในการปกครองของอำเภอชานุมาน) เป็นเมืองเขมราฐธานี พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งบ้านโคกก่งกงพะเนียง เป็นเมืองเขมราฐธานี ตามที่พระพรหมวรราชสิริยวงศา กราบทูล และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้อุปฮาดก่ำ บุตรชายคนโตของพระวอ จากเมือง อุบลราชธานี มาเป็นเจ้าเมืองเขมราฐ(ที่ตั้งอยู่เมืองบริเวณบ้านคำแห้ว เมืองเก่า อำเภอชานุมาน) ได้รับสถาปนา เป็นพระเทพวงศา(ก่ำ)

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2369 เกิดศึกระหว่างกรุงเทพฯ กับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้ยกทัพมายึดเมืองเขมราฐ ขอให้พระเทพวงศา (ก่ำ)เข้าเป็นพวกด้วย แต่พระเทพวงศาไม่ยอมจึงถูกประหารชีวิตพระเทพวงศา (ก่ำ) มีบุตรชาย 3 คน คือ พระเทพวงศา (บุญเฮ้า) คนที่ 3 ท้าวแดง มียศเป็นพระกำจนตุรงค์ ได้เป็นเจ้าเมืองวารินชำราบ พระเทพวงศา (บุญจันทร์) มีบุตรชาย 2 คน คือ ท้าวบุญสิงห์ และท้าวบุญชัย ต่อมา ท้าวบุญสิงห์ ได้เป็นเจ้าเมืองเขมราฐ มียศเป็นพระเทพวงศา (บุญสิงห์) มีบุตรชาย 2 คน คือ ท้าวเสือ และท้าวพ่วย ซึ่งได้รับยศเป็น ท้าวจันทบุรมหรือจันทบรม ต่อมาในปีพุทธศักราช 2401 ได้กราบบังคมทูลยกฐานะบ้านค้อใหญ่ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอลืออำนาจ) ขึ้นเป็นเมืองอำนาจเจริญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านค้อใหญ่ ขึ้นเป็นเมือง ให้ชื่อว่า "เมืองอำนาจเจริญ" เมื่อ พุทธศักราช 2410 และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวจันทบรม (เสือ) เป็นเจ้าเมือง มียศเป็นพระอมรอำนาจ(ต้นสกุลอมรสิน) ดังปรากฏตราสารตั้งเจ้าเมืองอำนาจเจริญ

เมืองอำนาจเจริญ จึงได้รับการสถาปนาเป็นเมือง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยขึ้นการบังคับบัญชาของเจ้าเมืองเขมราฐธานี โดยมีท้าวจันทบุรม (เสือ) มีพระอมรอำนาจ ซึ่งเป็นบุตรชายของพระเทพวงศา (ท้าวบุญสิงห์) เจ้าเมืองเขมราฐธานี ซึ่งเป็นหลานเจ้าพระวอ เจ้าเมืองอุบลราชธานี เป็นเจ้าเมืองอำนาจเจริญคนแรก นับว่าเมืองอำนาจเจริญ เป็นเชื้อสายของเจ้าพระวอพระตาโดยตรงถ

ต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง โดยการปฏิรูปการปกครอง ให้เข้าสู่ระบบการบริหารราชการแผ่นดินแบบยุโรปตามแบบสากล เป็นเทศาภิบาล เมื่อ พุทธศักราช 2429 ถึงพุทธศักราช 2454 โดยยกเลิกการปกครองแบบเดิมที่ให้มีเจ้าเมือง พระอุปราช ราชวงศ์ และราชบุตร ที่เรียกว่า อาญาสี่

นับแต่ปี พุทธศักราช 2429 ถึงพุทธศักราช 2454 ได้ยกเลิกการปกครองแบบเก่า คือ ยกเลิกตำแหน่งอาญาสี่สืบสกุล ในการเป็นเจ้าเมืองนั้นเสีย จัดให้ข้าราชการจากราชสำนัก ในกรุงเทพฯมาปกครอง เปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้ปกครอง จากเจ้าเมือง มาเป็นผู้ว่าการเมืองแทนและปรับปรุงการปกครองหัวเมืองมณฑลอีสาน จึงยุบเมืองเล็กเมืองน้อยรวมเป็นเมืองใหญ่ ยุบเมืองเป็นอำเภอ เช่น เมืองเขมราฐธานี เมืองยศ(ยโสธร) เมืองฟ้าหยาด(มหาชนะชัย) เมืองลุมพุก(คำเขื่อนแก้ว) เมืองขุหลุ(ตระการพืชผล) เมืองอำนาจเจริญ ไปขึ้นการปกครองกับจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อำเภออำนาจเจริญจึงได้แต่งตั้งนายอำเภอปกครอง

นายอำเภอคนแรก คือ รองอำมาตย์โทหลวงเอนกอำนาจ (เป้ย สุวรรณกูฏ) พุทธศักราช 2454 - 2459 ต่อมาประมาณ พุทธศักราช 2459 ย้ายจากที่เดิม (บ้านค้อ บ้านอำนาจ อำเภอลืออำนาจในปัจจุบัน) มาตั้ง ณ ตำบลบุ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองในปัจจุบัน ตามคำแนะนำของพระยาสุนทรพิพิธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขามณฑลอีสาน ได้เดินทางมาตรวจราชการโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ มีความเห็นว่าหากย้ายอำเภอมาตั้งใหม่ที่บ้านบุ่ง ซึ่งเป็นชุมชนและชุมทางสี่แยก ระหว่างเมืองอุบล-มุกดาหาร และเมืองเขมราฐ-เมืองยศ (ยโสธร) โดยคาดว่าจะมีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต โดยชื่อว่า อำเภอบุ่ง (เสนอแนะย้ายพร้อมกับอำเภอเดชอุดม ย้ายจากเมืองขุขันธ์ (ศรีสะเกษ) มาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี) โดยยุบเมืองอำนาจเจริญเป็นตำบล ชื่อว่าตำบลอำนาจ ซึ่งชาวบ้านชอบเรียกว่า เมืองอำนาจน้อย อยู่ในเขตท้องที่อำเภอลืออำนาจในปัจจุบัน ต่อมาในปี พุทธศักราช 2482 จึงเปลี่ยนชื่อจากอำเภอบุ่ง เป็นอำเภออำนาจเจริญ ขึ้นการปกครองกับจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ พุทธศักราช 2536 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2536 ตรงกับวันพุธ แรม 3 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา ยกฐานะอำเภออำนาจเจริญ เป็นจังหวัดอำนาจเจริญ โดยให้แยกอำเภออำนาจเจริญ อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน อำเภอเสนางคนิคม และกิ่งอำเภอลืออำนาจ (ปัจจุบันอำเภอลืออำนาจ) รวม 6 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ โดยแยกออกจากการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี รวมกันขึ้น เป็นจังหวัดอำนาจเจริญ (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 4-5-6 เล่ม 110 ตอนที่ 125 ลงวันที่ 2 กันยายน 2536)

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดหนองคาย

รูปกอไผ่ริมหนองน้ำ

คำขวัญประจำจังหวัดหนองคาย

วีรกรรมปราบฮ่อ หลวงพ่อพระใส สะพานไทย-ลาว

ประวัติจังหวัด หนองคาย กับศึกฮ่อ ครั้งที่ ๑ และ๒ ในรัชกาลที่ ๕ ชื่อเมืองหนองค่ายถูกเรียกเพี้ยนเป็นเมืองหนองคายแทน เจ้าเมืองคือ พระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวเคน) สืบต่อจากพระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวสุวอ) ในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ต่อมาเกิดศึกฮ่อที่ชายแดนติดต่อ กับญวน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ ขณะนั้นพระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวเคน) ลงไปราชการที่เมืองอุบลราชธานี ต้อนรับพระยา มหา อำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ซึ่งไปตั้งกองสักเลกและเร่งรัดเงินส่วยที่หัวเมืองพอดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) เกณฑ์ทัพไปปราบฮ่อทันที พอไปถึงหนองคาย ทราบว่ากรมการ เมืองหนองคายและโพนพิสัยกลัวฮ่อจนหลบหนีไปไม่ยอมสู้รบ ปล่อยให้ฮ่อบุกเข้ามาจนถึงเวียงจันทน์ จึงสั่งให้หาตัวกรมการ เมืองที่หลบหนีศึกฮ่อในครั้งนั้นทั้งเมืองหนองคายและโพนพิสัยมาประหารชีวิต เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ฝ่ายกองทหาร ฮ่อฮึกเหิมบุกเวียงจันทน์จุดไฟเผาลอกเอาทองจากองค์พระธาตุหลวงได้ แล้วยังบุกข้ามโขงจะตีเมืองหนองคาย แต่ถูกกองทัพ เมืองหนองคายตีกลับอยู่ที่บริเวณตำบลมีชัยปัจจุบัน ซึ่งได้เรียกบริเวณไทยรบชนะฮ่อในครั้งนั้นว่า "ตำบลมีชัย" เป็นอนุ สรณ์ แล้วขึ้นไปตีศึกฮ่อจนถอยร่นไปทางทุ่งเชียงคำ (ทุ่งไหหิน) เหตุการณ์ก็สงบลงจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๒๘ จึงเกิดศึกฮ่อครั้งที่ ๒ คราวนี้มีพวกไทดำ พวน ลาว ข่า เข้าสมทบกับโจรฮ่อฉวยโอกาสปล้นทรัพย์สิน เสบียงอาหาร และเผาเรือนราษฎร โดยบุกยึด มาตั้งแต่ทุ่งเชียงขวางจนเข้าเวียงจันทน์

การปราบศึกฮ่อครั้งที่ ๒ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ทัพฝ่ายเหนือและทัพฝ่ายใต้ ยกเข้าตีขนาบฮ่อทั้งทางหลวงที่หลวง พระบางและเวียงจันทน์ โดยทัพฝ่ายใต้ให้พันเอกพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (ยศในขณะนั้น) คุมทัพมา ทางนครราชสีมา เข้าเมืองหนองคายแล้วทวนแม่น้ำโขงเข้าทางแม่น้ำงึมโดยเรือ

คำหยาด บุกค่ายฮ่อ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม จนมีชัยชนะ จากนั้นคุมเชลยฮ่อมาขังไว้ที่ระหว่างวัดศรีสุมังค์และวัดลำดวน จึงเรียก "ถนนฮ่ฮ" มาถึงทุกวันนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ" เพื่อบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตในสงครามปราบฮ่อ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ไว้ที่เมืองหนองคายด้วย

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดอุดรธานี

รูปท้าวเวสสุวัณหรือท้าวกุเวร เทพเจ้าประจำทิศเหนือ

คำขวัญประจำจังหวัดอุดรธานี

น้ำตกจากสันภูพาน อุทยานแห่งธรรมะ อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่ขิดแดนเนรมิตหนองประจักษ์ เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์

ประวัติจังหวัด จากหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่า บริเวณพื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 5,000-7,000 ปี จากหลักฐานการค้นพบที่บ้านเชียงอำเภอหนองหานและภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่อำเภอ บ้านผือ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการศึกษา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีระหว่างประเทศว่าชุมชนที่เป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติ ศาสตร์ที่จังหวัดอุดรธานี มีอารยธรรมความเจริญในระดับสูง และอาจถ่ายทอดความเจริญนี้ไปสู่ประเทศจีนก็อาจเป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปั้นดินเผาสีลายเส้นที่บ้านเชียงนั้นสันนิษฐานว่า อาจเป็นเครื่องปั้นดินเผาสีลายเส้นที่เก่าที่สุดของโลก

หลังจากยุคความเจริญที่บ้านเชียงแล้ว พื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานี ก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สืบต่อมาอีกจนกระทั่งสมัยประวัติศาสตร์ของ ประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พ.ศ. 1200-1600) สมัยลพบุรี (พ.ศ. 1200-1800 และสมัยสุโขทัย(พ.ศ. 1800 - 2000) จากหลักฐานที่พบคือใบเสมาสมัยทวาราวดีลพบุรี และภาพเขียนปูนบนผนังโบสถ์ที่ปรักหักพังบริเวณเทือกเขาภูพานใกล้วัดพระ พุทธบาทบัวบกอำเภอบ้านผือ แต่ทั้งนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานชื่อ จังหวัดอุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีพื้นที่ที่จังหวัด อุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์ เมื่อราวปีจอ พ.ศ. 2117 พระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ทรงเกณฑ์ทัพไทยให้ไปช่วยตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปช่วยรบ แต่เมื่อกองทัพไทยมาถึงเมืองหนองบัวลำภูซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียง จันทน์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประชวรด้วยไข้ทรพิษจึงยกทัพกลับไม่ต้องรบพุ่ง กับเวียงจันทน์และที่เมืองหนองบัวลำภูนี่เองสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีนั้น จังหวัดอุดรธานีได้เกี่ยวข้องกับการศึกสงครามกล่าวคือในระหว่าง พ.ศ. 2369 - 2371 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ยกทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีผู้นำคือ คุณหญิงโม (ท้าวสุรนรี) กองทัพเจ้าอนุวงศ์ได้ถอยทัพมาตั้งรับที่เมืองหนองบัวลำภู และได้ต่อสู้กับกองทัพไทยและชาวเมืองหนองบัวลำภูจนทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไป กระทั่งในปลายสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประมาณ พ.ศ. 2411 ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในมณฑลลาวพวน เนื่องมาจากพวกฮ่อซึ่งกองทัพไทยได้ยกขึ้นไปปราบปรามจนสงบได้ชั่วคราว

ในปี พ.ศ. 2428 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกฮ่อได้รวมตัวก่อการร้าย กำเริบเสิบสานขึ้นอีกในมณฑลลาวพวนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและมีท่าทีจะรุนแรง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ และเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือไปทำการปราบปรามพวกฮ่อ ในเวลานั้นเมืองอุดรธานียังไม่ปรากฏชื่อเพียงแต่ปรากฏชื่อบ้านหมากแข้งหรือ บ้านเดื่อหมากแข้ง สังกัดเมืองหนองคายขึ้นการปกครองกับมณฑลลาวพวน และกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ได้เดินทัพผ่านบ้านหมากแข้ง ไปทำการปราบปรามพวกฮ่อจนสงบ

ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้วไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศลต้องการลาว เขมร ญวน เป็นอาณานิคม เรียกว่า "กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)" ด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาประเทศไว้ จึงทรงสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส และตามสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ มีเงื่อนไขห้ามประเทศสยามตั้งกองทหารและป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตร ของฝั่งแม่น้ำโขง

ดังนั้น หน่วยทหารไทยที่ตั้งประจำอยู่ที่เมืองหนองคาย อันเป็นเมืองศูนย์กลางของหัวเมือง หรือมณฑลลาวพวน ซึ่งมีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการ จำต้องอพยพเคลื่อนย้ายลึกเข้ามาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อ

บ้านเดื่อหมากแข้ง (ซึ่งเป็นที่ตั้งจังหวัดอุดรธานีปัจจุบัน) ห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงกว่า 50 กิโลเมตร เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะมีแหล่งน้ำดี เช่น หนองนาเกลือ (หนองประจักษ์ ปัจจุบัน) และหนองน้ำอีกหลายแห่ง รวมทั้งห้วยหมากแข้ง ซึ่งเป็นลำห้วยน้ำใสไหลเย็น กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงบัญชาให้ตั้งศูนย์มณฑลลาวพวน และตั้งกองทหารขึ้น ณ หมู่บ้านเดื่อหมากแข้ง จึงพอเห็นได้ว่าเมืองอุดรธานีได้อุบัติขึ้นโดยบังเอิญ เพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ยิ่งกว่าเหตุผลทางการค้า การคมนาคมหรือเหตุผลอื่น ดังเช่นหัวเมืองสำคัญต่างๆ ในอดีต อย่างไรก็ตามคำว่า "อุดร" มาปรากฏชื่อเมือง พ.ศ 2450 (พิธีตั้งเมืองอุดรธานี 1 เมษายน ร.ศ. 127 พ.ศ. 2450 โดยพระยาศรีสุริยราช วรานุวัตร "โพธิ์ เนติโพธิ์") พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีขึ้น ที่บ้านหมากแข้งอยู่ในการปกครองของมณฑลอุดร

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบ ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกการปกครองในระบบมณฑลในส่วนภูมิภาคยังคงเหลือเฉพาะจังหวัดและอำเภอเท่า นั้น มณฑลอุดรจึงถูกยุบเลิกไปเหลือเพียงจังหวัด "อุดรธานี"เท่านั้น

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on