รวบรวมเรื่องราว บทความเกี่ยวกับวันสำคัญของไทยตลอดทั้งปีว่ามีวันอะไรบ้าง ตรงกับวันไหน ความสำคัญและจะได้ทราบว่าวันสำคัญเหล่านั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ริเริ่มหรือระบุให้วันนั้นๆ เป็นวันสำคัญอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งที่เราชาวไทยสมควรที่จะทำหรือปฏิบัติในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งบทความที่เรานำมาเสนอนี้เหมาะสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจหาความรู้เพิ่มเติม หรือจะนำไปใช้ในบทเรียนก็ได้

Written by on

วันหยุดเขื่อนโลก(14 มีนาคม)

วันหยุดเขื่อนโลก(International Day of Action against Dams) ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี กำเนิดวันหยุดเขื่อนโลกนั้นเริ่มขึ้นด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของภาคพลเมืองที่จะต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับโลก ในการต่อต้านหายนะจากเขื่อน

ในเดือนกันยายนปี พ.ศ.2538 การประชุมประจำปีของ ขบวนการคัดค้านเขื่อนแห่งบราซิล(MAB) จึงได้มีการเสนอให้มีการประชุมนานาชาติของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนขึ้น หลังจากนั้นในแต่ละภูมิภาคก็ได้ประชุมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนจากแต่ละประเทศในภูมิภาคขึ้น สำหรับในเอเซียการประชุมได้จัดขึ้นที่เขื่อนนาร์มาดา ประเทศอินเดีย เมื่อ ปี พ.ศ.2539 โดยมีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมด้วย

ในที่สุดในระหว่างวันที่ 11-14 มีนาคม พ.ศ.2540 องค์กรเครือข่ายขนาดใหญ่ในแต่ละภูมิภาค ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการประชุมนานาชาติของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนครั้งที่ 1 ขึ้น ณ เมืองคิวริทิบา ประเทศบราซิล

โดยมีผู้แทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและนักสิ่งแวดล้อมจาก 20 ประเทศ รวมทั้งตัวแทนองค์กรสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย ขณะที่ผู้แทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและนักสิ่งแวดล้อมอีกหลายประเทศเช่น จีน และมาเลเซีย เป็นต้น ไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ได้ เนื่องจากเกิดปัญหาความขัดแย้งในการสร้างเขื่อนระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

การประชุมที่เกิดขึ้นทั้ง 4 วัน นอกจากได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้เรื่องเขื่อนกันแล้ว ที่ประชุมยังได้ตกลงให้มีคำประกาศคิวริทิบาเพื่อ"ยืนหยัดการมีสิทธิความเป็นมนุษย์และวิถีชีวิตของ ประชาชนผู้ได้รับ ผลกระทบจากเขื่อน"และกำหนดให้วันที่ 14 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันหยุดเขื่อนโลก โดยมีคำขวัญที่จะใช้ร่วมกันว่า "น้ำเพื่อชีวิตไม่ใช่เพื่อความตาย"

การต่อต้านเขื่อนของพลเมืองไทย สำหรับประเทศไทย การต่อต้านเขื่อนได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างเขื่อนภูมิพล เขื่อนขนาดใหญ่แห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2504 ชาวบ้านที่ถูกบังคับให้อพยพได้ต่อสู้อย่างเงียบ ๆ ด้วยการสร้างพระร่วงองค์ที่สองขึ้นมา

ในยุคเผด็จการชาวบ้าน ห้วยหลวง และมาบประชันได้ต่อสู้คัดค้านเขื่อนอย่างเข้มแข็ง แม้ว่าชาวบ้านต้องถูกสังหาร ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบประชาชนและนักสิ่งแวดล้อมก็สามารถหยุดเขื่อนน้ำโจนได้สำเร็จ หลังจากต่อสู้มานานกว่า 10 ปี และเมื่อถึงยุคประชาธิปไตย ประชาชนก็สามารถหยุดเขื่อนแก่งกรุงและเขื่อนเหวนรกได้ ขณะที่อีกหลายเขื่อนเช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนคลองนางน้อย เขื่อนบาโหย เขื่อนรับร่อ เขื่อนแม่ละเมา เขื่อนน้ำปาย 1-3 เขื่อนแม่ลามาหลวง ฯลฯ ทางการไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ที่ต่อต้านเขื่อนอย่างเข้มแข็ง

ในปี พ.ศ.2537 ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนได้เริ่มสร้างเครือข่ายของประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบจากเขื่อนทั้งที่สร้างไปแล้ว และที่ยังไม่ได้สร้าง และได้พัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาคนจนในปัจจุบัน

ผลของการเกิดสมัชชาคนจนได้ทำให้การต่อสู้ของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนมีพลังมากขึ้น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและทุกข์ทรมานมาเกือบ 20 ปี อย่างเขื่อนสิรินธร ได้มีโอกาสเรียกร้องค่าชดเชยที่ทางการไม่ยอมจ่าย เมื่อตอนสร้างเขื่อน เขื่อนอีกหลายแห่งได้รับค่าชดเชย เขื่อนสายบุรีได้ถูกยกเลิกตามข้อเรียกร้อง และได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนที่ยังไม่ได้สร้าง ซึ่งกว่าจะบรรลุข้อตกลงนี้ ชาวบ้านต้องชุมนุมหน้าทำเนียบเป็นเวลานานถึง 3 เดือน

ขอขอบคุณ ที่มา : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

วันสตรีสากล (8 มีนาคม)

เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานหญิงที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบและการถูกเลือกปฏิบัติที่มีต่อชนชั้นแรงงาน จึงเป็นกำเนิดของวันสตรีสากล ดังนั้น ในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิงหลายประเทศทั่วโลกได้มีการจัดงานวันสตรีสากลขึ้น เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิง และเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล รวมทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ

ความเป็นมาวันสตรีสากล ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ความเป็นอยู่ของแรงงานสตรีในเมืองชิคาโก ว่ากันว่าไม่ต่างอะไรจากทาสนิโกรในเงื้อมมือคนผิวขาว เพราะต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงานเพียงน้อยนิดส่วนสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก

ในที่สุดภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าชาวเยอรมันลุกฮือขึ้นสู้ด้วยการเดินขบวนนัดหยุด งานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภาย ในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน

แต่อย่างไรก็ตามอีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

นอกจากนั้นในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล

วันสตรีสากลในประเทศไทย สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2532 ได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ดังนั้นวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล และระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา

และจัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันมหามงคล 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระองค์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อให้คนไทยได้มีอาชีพ และได้พระราชทานให้วันที่ 1 สิงหาคมเป็น "วันสตรีไทย" ของทุกปี เพื่อให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสแสดงถึงความรู้ ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันสังคม และให้สามารถเทียบเท่าสตรีสากลของหลายประเทศที่เจริญแล้ว

ซึ่งทุกวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี จะมีการประกาศถึงเกียรติประวัติของสตรีชั้นแนวหน้าของโลกทั้งที่มีชีวิต และที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่น เจ้าหญิงไดอาน่า แห่งอังกฤษ, แม่ชีเทเรซา แห่งประเทศอินเดีย, ประธานาธิบดี เมกาวลี แห่งอินโดนีเซีย และนางอองซานซูจี ของพม่าที่เรียกร้องประชาธิปไตยกับประเทศ ส่วนในประเทศไทยมีอยู่หลายท่าน เช่น คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนาสุนันท์, คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และคุณปวีณา หงสกุล ฯลฯ

วันสตรีไทยถือ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เพราะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสตรีมีบทบาทมากขึ้น มีความสามารถทัดเทียมผู้ชาย เป็นที่ยอมรับจากสังคม จะเห็นได้จากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเริ่มมีสตรีเข้าไปเป็นหัวหน้างานมาก ขึ้น รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารประเทศชาติ สตรีไทยในยุคปัจจุบัน จึงต้องเป็นสตรีที่มีความรู้ความสามารถครบถ้วนทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการบริหาร การจัดการ การเป็นแม่ที่ดีของลูก เป็นภรรยาที่ดีของสามี และเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี พร้อมทั้งต้องก้าวทันกับยุคสมัย เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

ขอขอบคุณ ที่มา : tlcthai.com ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

วันสหกรณ์แห่งชาติ (26 กุมภาพันธ์)

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ" เหตุเพราะเป็นวันที่สหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทย คือสหกรณ์ "วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้" ที่อำเภอเมือง จังหวัด พิษณุโลกได้รับการจดทะเบียนจากกรมหมื่นพิทยาลงกรณ (นายทะเบียนสหกรณ์ในขณะ นั้น) เป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรกของไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลสหกรณ์แห่งแรกในสยามประเทศ

ความเป็นมาวันสหกรณ์แห่งชาติ สหกรณ์ถือกำเนิดมาจากปัญหาในปลายสมัยรัฐกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นอาชีพหลักของประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย คือการทำนา เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น นับเนื่องตังแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ทำให้ระบบ "เพื่อเลี้ยงตัวเองในชนบท" มาสู่ระบบเศรษฐกิจ "เพื่อการค้า" ความต้องการเงินทุนเพื่อขยายการผลิตและการครองชีพเพิ่มมากขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ 85 เปอร์เซ็นต์เป็นเกษตรกรอยู่ในฐานะยากจน ขาดแคลนเงินทุนต้องกู้หนี้ยืมสินจากพ่อค้านายทุน "คหบดี" ซึ่งมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืมเหล่านี้ทุกวิถีทาง เช่น การกำหนดดอกเบี้ยในอัตราสูง การทำสัญญาส่งใช้เป็นข้าวเมื่อเก็บเกี่ยงแล้ว ในเรื่องช่างตวงวัดก็กำหนดเอาตามพอใจ ทำให้ชาวไร่ชาวนาเสียเปรียบเป็นอย่างมาก

ระยะแรก การสหกรณ์ในประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ประเภทหาทุนขึ้นใน ปีพ.ศ.2459 การจัดตั้งสหกรณ์ในระยะแรกจึงดำเนินไปอย่างช้าๆ จนถึงสิ้น ปีพ.ศ.2470 ซึ่งเป็นเวลา 12 ปี นับตั้งแต่เริ่มนำสหกรณ์เข้ามาในประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทนี้ขึ้นมาเพียง 81 สมาคมเท่านั้น ซึ่งจัดตั้งอยู่ใน 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก ลพบุรีและอยุธยา โดยมีเงินทุนให้กู้ยืมเพียง 300,000 บาทเศษ เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าสหกรณ์เป็นสิ่งที่สามารถจัดทำได้สำเร็จ จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2471 ขึ้น และจัดหาทุนมาให้กู้ยืมมากขึ้น หลังจากนั้น 5 ปี ได้มีการขยายสาขาออกไปได้อีก 7 จังหวัด เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การสหกรณ์จึงได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสหกรณ์ มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทอื่นๆ ขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ที่ดิน ร้านสหกรณ์ ต่อมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขยายงานสหกรณ์จากระดับกรมขึ้นมาเป็นระดับกระทรวง เมื่อปี พ.ศ.2495 ระยะอยู่ตัว หลังจากปี พ.ศ.2497 อัตราการขยายตัวของสหกรณ์ลดลงเนื่องจาก เป็นระยะที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสหกรณ์มาก่อน จนไม่สามารถจะดูแลให้ทั่วถึง ในขณะเดียวกันกระทรวงสหกรณ์ถูกยุบไปรวมกับกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ ขาดกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนแปลงของสหกรณ์คือมีการยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2515 ซึ่งมีผลทำให้กรมสหกรณ์ทีดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ และสำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเดิม ถูกยุบมารวมเป็น "กรมส่งเสริมสหกรณ์" เพียงกรมเดียว ส่วนกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ยังคงอยู่ในฐานะเดิมเพราะงานตรวจสอบบัญชีเป็นงาน อิสระ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ขึ้นกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2515

ผลการดำเนินงานทางสหกรณ์ในธุรกิจต่างๆ ได้รับความเชื่อถือเป็นที่ไว้วางใจของสมาชิกจนทำให้จำนวนสหกรณ์ จำนวนสมาชิก ปริมานเงินทุน และผลกำไรของสหกรณ์เพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันสหกรณ์ ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 มกราคม 2542 ประมาณ 5,549 สหกรณ์ และสมาชิก 7,835,811 ครอบครัวของสหกรณ์ในประเทศไทยจึงมี ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ของประเทศโดยเฉพาะต่อประชาชนที่ยากจน สหกรณ์จะเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมที่ช่วยแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชานให้ดีขึ้น

รัฐและขบวนการสหกรณ์ไทยได้ร่วมจิตใจจัดงาน "วันสหกรณ์แห่งชาติ" ขึ้นเป็นประจำทุกปีไม่ว่าจะศก.ปีใด จัดขึ้นเพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณขององค์ผู้ให้กำเนิด"สหกรณ์" พระองค์ท่านไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับจดทะเบียนเท่านั้น แต่เป็น "พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย" ยังเป็นผู้ปูพื้นฐานและทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่และจัดตั้งขยายกิจการ การสร้างความผาสุกแก่ประชาชนเพื่อการกินดีอยู่ดี เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือ วันสำคัญของไทย ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

วันนักข่าว วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ(5 มีนาคม)

วันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ในประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน)

ความสำคัญของนักข่าว

ปัจจุบันข่าวสารข้อมูลกำลังกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่ความจำเป็นดังกล่าวไม่ใช่เพียงเนื้อหาของข่าวแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวก็มีความสำคัญ ในฐานะคนกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนไปยังผู้ อ่านด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากจะเปรียบเทียบคนทำข่าวเฉกเช่นกระจกสะท้อนสังคมก็คงไม่ผิดอะไรนัก เพียงแต่ควรจะสะท้อนทุกด้านอย่าสะท้อนเพียงด้านเดียวเท่านั้น

ในแวดวงหนังสือพิมพ์มีผู้เรียกนักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวว่า ฐานันดร 4 ความหมายโดยนัยคือ ผู้มีสถานะแตกต่างจากบุคคลอื่นตามธรรมดาทั่วไป หรือแปลความหมายในลักษณะผู้มีอภิสิทธิ์ในการขีด เขียน เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านทางสื่อมวลชน

กำเนิดวันนักข่าว
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่น บุกเบิก จำนวน 15 ท่าน คือ

  • นายโชติ มณีน้อย
  • นายเท่ห์ จงคดีกิจ
  • นายประจวบ อัมพะเสวต
  • นายวิเชียร โรจนวงศานนท์
  • นายถาวร มุ่งการดี
  • นายสนิท เอกชัย
  • นายเชาว์ รูปเทวินทร์
  • นายจรัญ โยบรรยงค์
  • นายกุศล ประสาร
  • นายชลอ อาภาสัตย์
  • นายอนงค์ เมษประสาท
  • นายวิสัย สุวรรณผาติ
  • นายนพพร ตุงคะรักษ์
  • นางวิภา สุขกิจ
  • นายเลิศ อัศเวศน์

นัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมี นายชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม โดยหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นประเพณีที่ ทราบกัน ระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่าน ว่า วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดากระจอกข่าวทั้งหลายนั่นเอง แต่แล้วหนังสือพิมพ์ก็แอบออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนผู้อ่านตื่นตัว และต้องการรับข่าวสารมากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมมา งานทั้งสองจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมฯ อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน ซึ่งบริเวณริมฟุตบาทใกล้เคียง ก็เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาเหยี่ยวข่าว นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลัง จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลัก มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ยังคับแคบ ส่งผลให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา จึงได้ย้ายสถานที่จัดการประชุมไปยังโรงแรมต่างๆ ตามความเหมาะสม

ต่อมา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้ารวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และวันนักข่าว จนถึงปัจจุบัน

ขอขอบคุณ ที่มา : tlcthai.com ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

วันศิลปินแห่งชาติ (24 กุมภาพันธ์)

ความสำคัญ วันศิลปินแห่งชาติ เพื่อระลึกถึงวันคล้ายพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ 2310 เอกอัครศิลปินที่ยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลายสาขา ทั้งทางด้านประติมากรรม ได้ทรงร่วมกับช่างประติมากรรมฝีมือเยี่ยมในสมัยนั้นแกะสลักบานประตูไม้พระ วิหาร วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์นับเป็นงานฝีมือชั้น เยี่ยม

ด้านวรรณกรรม ถือว่าทรงเป็นกวีเอกแห่งแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในด้านวรรณกรรม ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม และเพื่อเป็นการยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ทางสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้มอบรางวัลให้แก่ ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติศิลปิน

วันศิลปินแห่งชาติ ในส่วนของวันศิลปินแห่งชาติ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2527 ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์ในขณะนั้นว่า ต้องยกย่อง เชิดชู สนับสนุน ส่งเสริม รวมถึงช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันทรงคุณค่า โดยได้กำหนดรางวัลรวมถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของศิลปินแห่งชาติไว้ดังนี้ ศิลปินแห่งชาติได้กำหนดไว้ 3 สาขา ได้แก่

1.สาขาทัศนศิลป์ (Visual Art) หมายถึง ศิลปะที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ไม่ว่าจะเป็นแบบสองมิติ หรือสามมิติก็ได้ โดยสามารถแบ่ง ได้เป็น 8 สาขา ได้แก่

- จิตรกรรม

- ประติมากรรม

- ภาพพิมพ์

- ภาพวาด

- ภาพถ่าย

- สื่อประสม

- สถาปัตยกรรม

- การออกแบบ

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือ วันสำคัญของไทย ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

วันช้างไทย (13 มีนาคม)

เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันช้างไทย เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และการดำรงอยู่ของช้างไทย
ที่มาของวันช้างไทย

วันช้างไทยเกิดจากการริเริ่มของคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น ก็จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม เป็นวันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541

ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

ความสำคัญของช้างไทย

  • ช้างเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย
  • ช้างเป็นสัตว์ที่ดำรงอยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยามประเทศเคยใช้ธงชาติเป็น รูปช้างเผือก ชาวไทยเชื่อกันว่าช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ช้างเผือกจึงได้รับการยกย่องเสมือนเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า
  • ช้างเป็นผู้ปกป้องเอกราชแห่งชาติไทย

ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ จารึกไว้ว่าช้างได้เข้ามามีส่วนในการปกป้องเอกราชและความเป็นชาติให้แก่ชาว ไทยหลายยุคหลายสมัย ในสมัยกรุงธนบุรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงรวบรวมชายไทยให้เป็น ปึกแผ่นและมั่นคงบนหลังช้างทรงพระที่นั่ง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ได้ทรงประกาศเอกราชและความเป็นชาติ ของคนไทยบนหลังช้างทรงพระที่นั่งด้วยเช่นกัน ซึ่งช้างทรงในสมเด็จพระนเรศวรนับว่าเป็นช้างไทยที่ได้รับเกียรติอันสูงสุด โดยจากความกล้าหาญในสมรภูมิรบ ทำให้ช้างไทยเชือกนี้ได้รับพระราชทานยศให้เป็นถึง "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี"

  • ช้างใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ
  • ช้างสร้างความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ และเบตาเวีย (จาการ์ตา) ประเทศอินโดนีเซีย ได้พระราชทานช้างสำริดให้แก่ทั้ง 2 ประเทศนี้

  • ช้างใช้เป็นพาหนะในการคมนาคม

ในยุคสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญเทียบเท่ากับในปัจจุบัน มนุษย์ยังไม่ได้มีการพัฒนาเครื่องจักรต่างๆ สำหรับนำมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเพื่อการขนส่งของ ช้างคือพาหนะที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับมนุษย์ เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่มีความเฉลียวฉลาดและมีพละกำลังมหาศาล ช้างจึงสามารถขนส่งสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในปริมาณมากได้อย่างอดทน

  • • ช้างใช้ในการอุตสาหกรรมทำไม้

การใช้ช้างทำไม้ในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่การล้มไม้ การทอนไม้ซุง การขนส่งไม้จนถึงโรงงานหรือตลาดการค้า ในแง่ของการอนุรักษ์ป่าไม้ และระบบการจัดการป่าไม้ในประเทศไทย การใช้ช้างชักลากไม้ นับว่าเหมาะสมมาก เพราะช้างสามารถเดินไปได้โดยไม่ทำลายกล้าไม้ต้นเล็กๆ ไม่ทำให้ดินแน่น ไม่ต้องตัดถนนหนทางให้มากเส้น นอกจากนี้ช้างยังขึ้นเขาได้ดี และมีอายุการใช้งานนานถึง 50 ปี

ในปัจจุบันเมื่อมนุษย์ได้มีการพัฒนาเครื่องจักรและ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ความนิยมในการใช้แรงงานจากช้างจึงค่อยๆ ลดลง แต่ช้างก็ยังคงเป็นสัตว์ที่คนไทยทั้งชาติให้ความสำคัญเสมอดังนั้นรัฐบาลไทย จึงได้กำหนดให้ช้างเผือกเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย

ความสำคัญของช้างต่อประวัติศาสตร์ ชาติไทย

ข้อความที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก สุโขทัยหลักที่หนึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น "ช้าง" คือขุนพลที่ร่วมรบอยู่ในสมรภูมิจนมีชัยชนะ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงประทับช้างนำ ราษฎรไปบำเพ็ญกุศลตามพระอารามในอรัญญิก จะเห็นได้ว่าทั้งในยามศึกและยามสงบช้างอยู่คู่แผ่นดินสุโขทัยเรื่อยมา ช้างมีความสำคัญมากถึงเพียงนี้ จึงมีการสอนวิชาขับขี่ช้างซึ่งเป็นวิชาสำคัญสำหรับเจ้านายและลูกผู้ดีเพื่อ ยังประโยชน์ในการใช้ช้างเป็นพาหนะและเตรียมการเพื่อศึกสงคราม

ช้างใช้ในการศึกสงครามในอดีต ในสมัยโบราณ ช้างเป็นยุทธปัจจัยสำคัญของกองทัพเปรียบได้กับรถถังประจัญบานของนักรบใน ปัจจุบัน ทว่าชัยชนะทีง่างามกว่าหลายเท่า เพราะมนุษย์ที่นั่งอยู่บนคอช้างต้องเชี่ยวชาญอาวุธของ้าว ใช้ความกล้าหาญไสช้างแต่ละเชือกพุ่งตรงเข้ารบปะทะกันตัวต่อตัว ช้างต่อช้างเข้าชนกันนั้น หากช้างของผู้ใดมีความสามารถมากกว่าก็จะงัดช้างศัตรูขึ้นด้วยงาจนแหงนหงาย หรือเบนบ่ายจนได้ที เพื่อให้แม่ทัพบนคอช้างส่งอาวุธเข้าจ้วงฟันคู่ต่อสู้ ช้างกับนักรบบนคอช้างจึงต้องมีกำลังแข็งแรงฝีมือเข้มแข็ง ทั้งคู่จึงจะได้ชัยชนะมาประดับเป็นเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน

การรบบนช้างหรือที่เรียกว่า ยุทธหัตถี นั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์ไทย แต่ครั้งสำคัญที่สุด ซึ่งคนไทยยังกล่าวขวัญจดจำไม่รู้ลืม คือ การยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาและพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ที่ตำบลหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อปีพุทธศักราช 2135 หรือกว่า 400 ปีล่วงมาแล้ว

กิจกรรมวันช้างไทย

กิจกรรมวันช้างไทยทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนได้มีการจัดกิจกรรมพิเศษมากมาย อาทิเช่น การจัดสะโตกช้าง หรือขันโตกช้าง โดยช้างจะรับประทานอาหารของช้างที่ทางปางช้างได้จัดหาไว้ให้เป็นอย่างดี ในวันนี้เด็กนักเรียนจะสามารถข้าชมได้ฟรีเพื่อเป็นการส่งเสริม ให้เด็ก เห็นคุณค่าของช้างไทยและความสำคัญของวันช้างไทย

ขอขอบคุณ ที่มา : - สมาคมช้างไทย - บ้านฝันดอทคอม - รวมข่าวประชาสัมพันธ์ภาษาไทย - ฟ้าล้านนาเน็ต ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ (25 กุมภาพันธ์)

กิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 ด้วยพระดำริของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และโทรคมนาคม พระองค์ทรงดำริตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น เมื่อพ.ศ.2471 โดยสั่งเครื่องส่งกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง และให้อยู่ในความควบคุมของช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งสถานีที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อสถานีว่า "4 พีเจ" ต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ ขึ้น ทำการทดลองที่ตำบลศาลาแดงใช้ชื่อสถานีว่า "11 พีเจ" ซึ่งการใช้ชื่อสถานีว่า "พีเจ" ในยุคนั้น ย่อมาจากคำว่า "บุรฉัตรไชยากร" อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์ท่านนั่นเอง

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" ตั้ง อยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ พิธีเปิดสถานีกระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าไมโครโฟนถ่ายทอดไปตามสาย เข้าเครื่องส่งแล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกร นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย

วิทยุกระจายเสียงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญใน กระบวนการสื่อสาร และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสาร วิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคุลมได้กว้างไกลและทั่วทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนมาโดยตลอดตราบจนปัจจุบัน

จากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 จนถึงปัจจุบัน วิทยุกระจายเสียงมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงมาตามลำดับ ดังนั้นหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญแล้ว กิจการวิทยุกระจายเสียงจะเจริญก้าวหน้า เพิ่มพูนคุณประโยชน์และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้สังคมไทยได้ตลอดไป

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือ วันสำคัญของไทย ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on