พัฒนาการ ของทารกอายุ 6-9 เดือน

น้ำหนัก ส่วนสูงและพัฒนาการ ของทารกอายุ 6-9 เดือน

การทรงตัวและเคลื่อนไหว เด็กอายุ 6 เดือน คว่ำและหงายได้เอง ถ้าวางในท่าคว่ำใช้ข้อมือยันตัวขึ้นได้ นั่งเองได้ชั่วครู่ ตอนแรกอาจต้องเอามือพยุงตัวไว้ ต่อมาราวอายุ 8 เดือนจะนั่งเองได้มั่นคง เมื่อจับให้อยู่ท่าจับยืนเริ่มลงน้ำหนักที่เท้าได้ ต่อมาจะซอยเท้า

น้ำหนักและความยาวโดยประมาณ
  • อายุ 6 เดือน น้ำหนัก 7 กิโลกรัม ความยาว 66 เซนติเมตร
  • อายุ 7 เดือน น้ำหนัก 7.5 กิโลกรัม ความยาว 68 เซนติเมตร
  • อายุ 8 เดือน น้ำหนัก 7.8 กิโลกรัม ความยาว 70 เซนติเมตร

การเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการของเด็กแต่ละคนอาจเร็ว ช้า แตกต่างกันได้บ้าง หากสงสัยควรถามแพทย์หรือพยาบาล

การใช้ตาและมือ เด็กสามารถคว้าของด้วยฝ่ามือ เอื้อมหยิบของด้วยมือข้างเดียว และเปลี่ยนมือถือของได้ อายุ 8-9 เดือน เริ่มใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้หยิบส่งของ มองเห็นทั้งไกล และใกล้ใช้สองตาประสานกันได้ดี

การสื่อความหมายและภาษา เด็กจะหันหาเสียงเรียกชื่อ พ่นเล่นน้ำลายได้ ส่งเสียงหลายพยางค์ซ้ำ ๆ เล่น หม่ำ ๆ

อารมณ์และสังคม รู้จักแปลกหน้า เด็กสามารถกินอาหารที่ป้อนด้วยช้อนเล็ก จะร้องเมื่อถูกขัดใจ และรู้จักแสดงท่าทางดีใจด้วยการ หัวเราะหรือตบมือ

พ่อแม่ควรเอาใจใส่ให้อาหารกาย และใจแก่ลูกอย่างต่อเนื่อง และปฎิบัติตามเสนอ แนะต่อไปนี้

  • ล้างมือเด็กให้สะอาด ใส่อาหารชิ้นเล็กในจาน หัดลูกให้หยิบอาหารด้วยมือ หัดถือช้อน ถึงแม้เด็กจะทิ้งบ้างกินบ้างก็ควรฝึกหัด
  • หาของเล่นที่ปลอดภัยให้ลูกหยิบจับ และเคาะเขย่าเล่น
  • ระวังเรื่องความสะอาดและของชิ้นเล็กที่อาจหลุดติดคอได้
  • ควรอุ้มให้น้อยลง เพื่อให้เด็กคืบคลาน นั่งด้วยตัวเองและหัดเกาะยืน แต่พ่อแม่ต้องดูแลโดยใกล้ชิด
  • ระวังอุบัติเหตุจากการโหนตัวยืน เหนี่ยวของ ปลั๊กไฟ การสำลักเมล็ดผลไม้ ถั่วและเม็ดยา พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูหมั่นพูดคุยกับเด็ก ชี้ชวนให้สนใจสิ่งแวดล้อม ร้องเพลง พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับเด็ก เช่น อาบน้ำ กินข้าว แต่งตัว
  • ควรเว้นช่วงการมีลูกคนต่อไปประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้แม่มีสุขภาพดี และลูกแต่ละคนได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มที่
  • บันทึกน้ำหนัก ความยาวและพัฒนาการของเด็กลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไปเมื่อพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพทุกครั้ง

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares