พัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย

พัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย

ช่วงอายุ 1-6 เดือน พัฒนาการด้านภาษาของเด็กในระยะ 6 เดือนแรกของชีวิตยังมีลักษณะเป็นสากล กล่าวคือเด็กทั่วโลกมักจะมีขึ้นตอนการเปลี่ยนแปลงคล้ายคลึงกัน โดยเริ่มจากการทำเสียงในลำคอคล้ายเสียงสระ เช่น อู อา ในช่วงเดือนแรก เมื่ออายุประมาณ 2-3 เดือน เด็กจะเริ่มมีเสียงสระอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น และเข้าใจจังหวะของการผลัดกันพูดคุยกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู บางครั้งเด็กอาจเริ่มส่งเสียงร้องที่บ่งบอกถึงความต้องการที่แตกต่างกันได้ เช่น การร้องซึ่งหมายถึงหิว ร้องเมื่อต้องการให้มีผู้อื่นมาสนใจหรือเล่นด้วย เป็นต้น การส่งเสียงร้องที่แตกต่างกันเหล่านี้เป็นขั้นตอนแรกที่ผู้เลี้ยงดูสามารถ สังเกตและตอบสนองหรือสื่อสารกลับ เพื่อเป็นการเริ่มต้นการสอนวิธีสื่อสารระหว่างบุคคลให้แก่เด็ก นอกจากการทำเสียงคล้ายพูดคุยโต้ตอบกับเด็ก ผู้เลี้ยงดูควรมีปฏิสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมไปด้วย ได้แก่ การสัมผัส มองหน้าสบตา สังเกตลักษณะหรือสีหน้าท่าทางของเด็ก เพราะจะช่วยให้การตอบสนองการสื่อสารเป็นไปอย่างเหมาะสมและรอบด้านในช่วงอายุ ประมาณ 4 เดือน เด็กจะเริ่มทำเสียงที่ใช้ริมฝีปาก (babbling) การทำเสียงริมฝีปากจะทำให้เด็กออกเสียงเป็นพยัญชนะอื่นๆ ได้เพิ่มมากกว่าเสียง อ.อ่าง เสียงสากลทั่วไปมักเป็นเสียงพยัญชนะ พ บ ป ม ในระยะแรกที่เด็กทำเสียงจากริมฝีปากเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นทีละเสียงและฟังไม่ชัดเจน แต่จะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และเป็นเสียงซ้ำๆ เช่น ปาปา มามา เป็นต้น พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูในสังคมต่างๆ จะตอบสอนงต่อเสียงเหล่านี้ ไปตามความเข้าใจของวัฒนธรรมหรือภาษาของตน โดยเข้าใจว่าเด็กออกเสียงฟังดูคล้ายๆBaby-n6 เรียกพ่อหรือแม่ จึงค่อยๆ มีการสอนให้เด็กพูดเรียกพ่อหรือแม่จนกระทั่งเด็กพูดได้เมื่อใกล้อายุ 1 ปี

แม้พัฒนาการทางภาษาโดยเฉพาะภาษาพูดในช่วงวัยนี้ จะมีความเป็นสากล คือ ไม่แตกต่างกันมากนักในทุกสังคมทั่วโลก และเด็กยังพูดสื่อสารไม่ได้ การเลี้ยงดูดอย่างใกล้ชิดและมีการพูดคุยส่งเสริมให้มีพัฒนาการทางภาษาอย่าง เหมาะสมตั้งแต่แรกหลังเกิด ยังคงมีความสำคัญต่อการรับรู้และค่อยๆ เกิดความเข้าใจในภาษาที่ตนได้ยินเป็นประจำ รวมทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้ขึ้นตอนการสื่อสารโต้ตอบ ทั้งในด้านภาษาท่าทางและภาษาพูด การเรียนรู้เหล่านี้มีความสำคัญเนื่องจากพัฒนาการทางภาษาในแต่ละสังคมหรือ วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เด็กต้องค่อยๆ เรียนรู้เสียงและการสื่อสารที่เป็นลักษณะเฉพาะทางสังคมนั้นๆ นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเด็กสามารถได้ยิน ฟังและทำความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้มาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มพูดที่มีความหมายคำแรก

พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรพูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะขณะที่ให้การดูแลเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เด็กทารกมักมีความสนใจเสียงที่ค่อนข้างแหลม ซึ่งใกล้เคียงกับเสียงผู้หญิงหรือผู้ที่เป็นแม่มากกว่าเสียงทุ้ม ดังจะสังเกตได้ว่า คนโดยทั่วไปมักคุยกับเด็กทารกด้วยโทนเสียงที่ค่อนข้างแหลม และพูดคุยในลักษณะภาษาเหมือนเด็กใช้เพื่อดึงความสนใจจากเด็ก นอกจากคำพูดที่เป็นเสียงสูงมากกว่าปกติแล้วการทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ ตลอดจนมีน้ำเสียงที่มีลักษณะแตกต่างกันไปบ้างตามสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ความหมายของการสื่อสารที่บอกถึงอารมณ์ความรู้สึกแตก ต่างกันไปของผู้พูด มีคำแนะนำว่าการใช้ภาษาเด็กพูดคุยกับเด็กควรจะค่อยๆ ลดลงภายหลังช่วงอายุ 6 เดือน การสื่อสารด้วยคำพูดอย่างชนิดที่ใช้กับเด็กโตหรือผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นจะ ค่อยๆ ช่วยให้เด็กเรียนรู้ภาษาในระยะต่อไปได้อย่างดี


โดย นิชรา เรืองดารกานนท์

 

airban-300x250
0
Shares