ประวัติจังหวัด สมุทรปราการ

ตราประจำจังหวัดสมุทรปราการ

รูปพระสมุทรเจดีย์ พระสมุทรเจดีย์ เป็นปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนาของชาวเมืองนี้ ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระไตรปิฎกเพื่อให้ชนรุ่น หลังกราบไหว้

Samut Prakan

คำขวัญประจำจังหวัดสมุทรปราการ

ป้อมยุทธนาวี พระเจดีย์กลางน้ำ ฟาร์มจระเข้ใหญ่ งามวิไล เมืองโบราณ สงกรานต์พระประแดง ปลาสลิดแห้งรสดี ประเพณีรับบัว ครบถ้วนทั่วอุตสาหกรรม

ประวัติจังหวัด จังหวัดสมุทรปราการ หรือที่เรียกกันว่าเมืองปากน้ำ ซึ่งเคยเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลที่สำคัญในอดีต จังหวัดสมุทรปราการตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยสองฟากฝั่งตอนปลายสุดของ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากอ่าวไทย ระหว่างเส้นละติจูดที่ 13-14 องศาเหนือ และเส้นลองจิจูดที่ 100-101 องศาตะวันออก ห่างจากใจกลางกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 29 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 1,004 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 627,557 ไร่

เมืองพระประแดงเป็นเมืองเก่ามีอายุเกือบพันปี ไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มสร้างในสมัยกษัตริย์ขอมองค์ใด ที่ตั้งอำเภอพระประแดงปัจจุบัน ไม่ใช่เมืองพระประแดงเดิม แต่เป็นเมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งเริ่มสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเสร็จเรียบร้อยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพระประแดง หรือจังหวัดพระประแดง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

สันนิษฐานว่า เมืองสมุทรปราการ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2136 - 2171) ในบริเวณใต้คลองบางปลากด ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะสมัยนั้นบริเวณคลองปลากดได้มีชาวฮอลันดา ซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ และได้รับพระราชทานที่ดินบริเวณเหนือคลองปลากด เป็นที่ตั้งคลังสินค้า เป็นสถานีการค้าที่มั่นคงใหญ่โต จึงถูกยกย่องกันในหมู่ชาวฮอลันดาว่า นิวอัมสเตอร์ดัม

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไทยมีเรื่องพิพาทกับฮอลันดา ฮอลันดาจึงทอดทิ้งคลังสินค้าดังกล่าวไป ฮอลลันดาเคยนำเรือรบสองลำ มาปิดอ่าวไทยที่นิวอัมสเตอร์ดัม เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2207 เป็นเวลาสามเดือน เพื่อให้มีผลด้านการแข่งขันทางการค้า

เมืองสมุทรปราการที่สร้างขึ้นนี้เข้าใจว่าจะกลายเป็นเมืองร้างในสมัยเสีย กรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2310 และคงถูกพม่าทำลายย่อยยับ ขณะนี้ยังหาซากเมืองไม่พบ

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

airban-300x250
0
Shares