ประวัติจังหวัด สมุทรสงคราม

ตราประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

รูปกลองลอยน้ำ สองฟากฝั่งเป็นต้นมะพร้าว อันเป็นสัญลักษณ์อาชีพหลักของจังหวัด

Samut Songkhram

คำขวัญประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร. 2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม

ประวัติจังหวัด สมุทรสงคราม เนื่อง จากพื้นที่เมืองสมุทรสงครามส่วนใหญ่อยู่ 2 ฟากแม่น้ำแม่กลองอันอุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชนานาชนิด ประกอบกับชาวเมือง มีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ เมืองสมุทรสงครามจึงกลายเป็นแหล่งผลิตพืชผลการเกษตรขนาดใหญ่ ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น ข้าว น้ำตาล ผัก ปลา มาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในขณะที่ผู้คนในกรุงเทพฯ มีจำนวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สมุทรสงครามจึงต้องทำหน้าที่เป็น "คลังเสบียง" ของคนกรุงเทพฯ มากขึ้น อดีตพระมหากษัตริย์ไทยจึงโปรดให้มีการขุดคลองแม่กลอง คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก คลองมหาชัย และคลองมหาสวัสดิ์ขึ้น เพื่อให้เรือบรรทุกพืชผลผ่านเข้ามากรุงเทพฯ ได้สะดวกและรวดเร็วกว่าแต่ก่อน

ใน บริเวณพื้นที่ของสมุทรสงคราม ตำบลอัมพวาดูจะมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ผู้คนมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยอยู่เป็นจำนวนมาก และยังเป็นถิ่นที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นบริเวณพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้เป็นทั้งนักปกครอง นักปราชญ์ นักรบ และราชศิลปินของไทย ดังประวัติศาสตร์โดยย่อดังนี้

เมื่อ พ.ศ. 2303 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นายทองด้วงเป็นหลวงยกกกระบัตรเมืองราชบุรี และเมืองสมุทรสงคราม เป็นเมืองจัตวา อยู่ในพื้นที่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อมารับราชการอยู่เมืองราชบุรีไม่นาน หลวงยกกระบัตรก็ได้พบกับคุณนาค บุตรีเศรษฐีใหญ่เขตบางช้างเมืองสมุทรสงคราม พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเล่าไว้ในสามกรุงว่า "ทรงได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่า ครั้นนั้นมีข้าหลวงจากในกรุงออกมาสืบหาบุตรสาวของผู้ดีมีตระกูล และมีลักษณะสวยงาม เพื่อจะนำไปเป็นพระสนมของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ คุณนาคนี้ มีคุณสมบัติจึงถูกจดชื่อไว้ด้วยคนหนึ่ง ท่านทอง ท่านสั้น บิดามารดาของคุณนาควิตกมาก เพราะไม่ต้องการให้บุตรสาวไปเป็นพระสนม จึงชวนพระสมุทรสงคราม เจ้าเมืองสมุทรสงครามลูกผู้พี่ของท่านสั้น เข้าไปปรึกษาหลวงพินิจอักษร ชื่อเดิมว่าทองดี รับราชการเป็นเสมียนตรากรมมหาดไทยสมัยนั้น หลวงพินิจอักษรเห็นว่า มีทางแก้ไขประการเดียว คือ รีบแต่งานกับหลวงยกกกระบัตรเมืองราชบุรี บุตรชายของตน ท่านทองกับท่านสั้นก็เห็นด้วย จึงรีบจัดพิธีแต่งงานและปลูกบ้านใหม่บริเวณวัดอัมพวันเจติยารามปัจจุบัน"

ใน ปี พ.ศ. 2308 พม่าได้ยกทัพมารบกับกรุงศรีอยุธยาอีก คราวนี้เข้าตั้งทัพที่ราชบุรี ในกรุงส่งทหารมาขับไล่แต่ถูกพม่าตีกลับ หลวงยกกระบัตรต้องรีบเกณฑ์คนส่งไปเป็นทหารในกรุง แล้วส่งเสบียงแก่กองทัพบก ทัพเรือตลอดเวลา พม่าตั้งทัพออยู่นาน 6 เดือน สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวเมืองสมุทรสงครามมาก พม่าล้อมกรุงไม่นานก็ยกทัพกลับไป ก่อนกลับได้ตั้งกองกำลังไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้นกรุงศรีออยุธยา และที่ธนบุรี ต่อมาอีก 7 เดือน กองทัพพม่าถูกสมเด็จพระเจ้าตากสินตีแตก ในเวลาอันรวดเร็ว และได้รวบรวมผู้คนไว้เป็นปีกแผ่น ประกาศให้ชาวเมืองทราบถึงสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ รีบกลับบ้านเรือนลงมือประกอบอาชีพโดยด่วน หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ได้ย้ายครอบครัวของตนและผู้มาพึ่งพาอาศัยทั้งหมด กลับมาอยู่ที่บ้านเดิมอัมพวา ขณะนั้นคุณนาคครรภ์แก่มากแล้ว วันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2310 คุณนาคคลอดบุตรเป็นชายได้รับการตั้งชื่อว่า "ฉิม" ซึ่งบุคคลผู้นี้ต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพรุพทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ที่มีความเฉลียวฉลาดเก่งกาจหลายด้าน และในปีเดียวกันนี้เอง แรม 12 ค่ำ เดือน 10 ท่านแก้ว พี่สาวหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และเจ้าสัวผู้เป็นสามีได้อพยพเข้ามาอยู่ด้วยได้คลอดบุตร คนที่ 4 เป็นหญิง ตั้งชื่อว่า "บุญรอด" ต่อมามีบุญบารมีได้เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 และมีพระราชโอรสได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์อีกด้วย

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงสถาปนาเมืองธนบรีขึ้นเป็นราชธานี และเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี 2311 แล้วได้โปรดเกล้าฯ ปูนบำเหน็จแม่ทัพนายกอง ครั้งนั้นหลวงยกกระบัตรฯ ได้เข้ามาถวายตัวรับราชการด้วย จึงอพยพครอบครัวพร้อมคุณนวลน้องสาวคุณนาค ครอบครัวท่านแก้วเดินทางเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานที่ข้างวัดระฆัง (อู่ทหารเรือขณะนั้น) ให้ปลูกบ้านใกล้พระราชวังและได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนหลวงยกกระบัตร เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมตำรวจนอกขวา แล้วได้เลื่อนขึ้นไปสูงเรื่อย ๆ จนได้เป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และได้ปราบดาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนาสมเด็จพระยาสุรสีห์ เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

เหล่านี้เป็นเกียรติประวัติที่ชาวสมุทรสงครามไม่เคยลืม และโดยเฉพาะชาวอัมพวารู้สึกภูมิใจมากเป็นพิเศษ เพราะตำบลอัมพวาเป็นถิ่นกำเนิดบุคคลที่เป็นยอดคนของเมืองไทยถึงสามท่านด้วย กัน ทำให้ญาติของท่านในภายหลังได้รับพระราชทานนามสกุล ที่ทำให้รำลึกถึงภูมิกำเนิดดังเดิมอยู่เสมอว่า "ณ บางช้าง" เพราะตำบลอัมพวาในปัจจุบันก็คือ แขวงบางช้างเดิมนั่นเอง

คำว่าสวนนอกนี้ นายเทพ สุนทรสารทูล ผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสมุทรสงครามไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง การเสด็จประพาสเมืองสมุทรสงคราม ได้กล่าวถึงสวนนอกเอาไว้ว่า เพราะเหตุที่ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) มเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านเป็นชาวบางช้าง มีพระประยูรญาติและเรือกสวนออยู่ในเขตบางช้างมาก จึงมีคำพูดหนึ่งว่า "บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน" หมายความว่า เรือกสวนทางบางช้างนั้น เป็นสวนอยู่บ้านนอก และบางกอกนั้นเป็นสวนใน คือ ใกล้บ้านใกล้วังของนายวงศ์นี่นั่นเอง"

พลโท ดำเนิร เลขะกุล ผู้เขียนเรื่อง อัมพวามาตุภูมิราชศิลปิน ได้พบข้อความสนับสนุนประกาศในรัชกาลที่ 4 เรื่อง เลิกภาษีมะพร้าว ซึ่งประกาศเมื่อแรม 12 ค่ำ เดือน 9 ปีชวด (พ.ศ.2407) ตอนท้ายได้กล่าวว่า "การประกาศนี้ให้พระแก้วคฤหรัตนบดี จ้ากรมขุนพิพัฒนากร ปลัดซ้าย ขุนวิสุทธากร ปลัดขวาพระคลังสวนใน หลวงแก้วเจ้ากรมขุนสมบัติ ปลัดกรมสวนนอก ขุนหมื่นนายระวาง บอกประกาศแก่ราษฏรเจ้าของสวนให้จงรู้ทั่วกัน" เป็นอันว่าสวนนอกสวนใน ล้วนเป็นสวนมะพร้าวขนาดใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ขณะนี้เหลือแต่สวนนอกที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น ที่ยังมีต้นมะพร้าวแน่นทึบเป็นป่าอยู่สองข้างฝั่งแม่น้ำแม่กลอง แต่สวนใน (กรุงเทพฯ) นั้นได้กลายเป็นโรงเรือนที่อยู่ และที่ค้าขายทำกินไปสิ้นแล้ว

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

airban-300x250
0
Shares