ประวัติจังหวัด พะเยา

ตราประจำจังหวัดพะเยา

ตราประจำจังหวัด พะเยา

รูปพระเจ้าตนหลวงวัดศรีโคมคำ ประทับเหนือกว๊านพะเยา มีช่อรวงข้าวประดับอยู่สองข้าง เบื้องบนมีลายกนกเปลว 7 ลายลอยอยู่

คำขวัญประจำจังหวัดพะเยา

กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต ศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง บวงสรวงพ่อขุนงำเมือง งามลือเลื่องดอยบุษราคัม

ประวัติจังหวัด พะเยา ใน วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. ๒๕๒๐ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๐ จังหวัดพะเยาตั้งขึ้นในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๒๐ ประกอบด้วยอำเภอ ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นอีก ๒ อำเภอ คือ อำเภอภูซาง อำเภอภูกามยาว รวมเป็น ๙ อำเภอ พะเยาเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ เดิมชื่อว่า เมืองภูกามยาว หรือ พยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

เมืองพยาวหรือพะเยาในขณะนั้นตั้งอยู่เชิงเขาชมภูหรือดอยด้วน และมีแม่น้ำสายตา (แม่น้ำอิง) ไหลผ่าน เป็นบริเวณที่เรียกว่า ที่ราบลุ่มกว๊านพะเยา ในตำนานประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยาระบุว่า บรรพบุรุษของเมืองพะเยาคือ ปู่เจ้าลาวจก หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ลวจักราช เคยอาศัยอยู่บนดอยตุง เชียงราย แล้วย้ายลงมาสร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง คือเมืองเชียงแสน ในสมัยพระเจ้าลาวเงิน ซึ่งเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของลวจักราช พระองค์โปรดให้ขุนจอมธรรม โอรสองค์เล็กมาปกครองเมืองพะเยา ขุนจอมธรรมจัดการปกครองเมืองพะเยาออกเป็น ๓๖ พันนา ผู้ปกครองแต่ละพันนามียศเป็นหมื่น มีการก่อสร้างประตูเมืองถึง ๘ แห่ง ได้แก่ ประตูชัย ประตูหอกลอง ประตูเหล็ก ประตูท่านาง ประตูท่าเหล้า ประตูปราสาท ประตูท่าแป้น และประตูออมปอม ๓๖ พันนา นาละ ๕๐๐ คน มีเขตแคว้นในครั้งกระโน้นดังนี้

ทิศบูรพา จรดขุนผากาดจำบอน ตาดม้าน บางสีถ้ำ ไทรสามต้น สบห้วยปู น้ำพุง สบปั๋ง ห้วยบ่อทอง ตาดซาววา กิ่วแก้ว กิ่วสามช่อง มีหลักหินสามก้อนฝังไว้กิ่วฤาษี แม่น้ำสายตา กิ่วช้าง กิ่วง้ม กิ่วเปี้ย ดอยปางแม่นาค

ทิศตะวันตก โป่งปูดห้วยแก้วดอยปุย แม่คาว ไปทางทิศใต้กิ่วรุหลาว ดอกจิกจ้อง ขุนถ้ำ ดอยตั่ง ดอยหนอก ผาดอกวัว แซ่ม่าน ไปจรดเอาดอยผาหลักไก่ทางทิศหรดีมีเมืองในอำนาจปกครอง คือ เมืองงาว เมืองกาว สะเอียบ เชียงม่วน เมืองเทิง เมืองสระ เมืองออย สะสาว เมืองดอบ เชียงคำ เมืองลอ เมืองเชียงแลง เมืองหงาว แซ่เหียง แซ่ลุล ปากบ่อง เมืองป่าเป้า เมืองวัง แซ่ซ้อง เมืองปราบ แซ่ห่ม

ทิศใต้ สุดจรดนครเขลางค์และนครหริภุญชัย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่อแดนขรนคร (เชียงของ)ขุนจอมธรรมครองราชได้ ๒๑ ปี ก็สิ้นพระชนม์ ขุนเจืองซึ่งเป็นพระโอรสได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน ขุนเจืองเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถในการต่อสู้และการใช้อาวุธต่างๆได้เป็น อย่างดี เมื่อพระองค์ครองเมืองพะเยาได้เพียง ๖ ปี ก็สามารถยกทัพไปช่วยปราบแกว (ญวน) ที่ยกมาประชิดเมืองหิรัญนครเงินยางจนสำเร็จ ขุนชินซึ่งครองเมืองหิรัญนครเงินยางในขณะนั้น ทราบเรื่องก็พอพระทัย เลื่อมใสในความสามารถของขุนเจืองเป็นอย่างมาก ทรงยกธิดาชื่อพระนางอั๊วคำคอนให้เป็นพระชายา และสละราชสมบัติเมืองหิรัญนครเงินยางให้ขุนเจืองครองแทน เมื่อขุนเจืองได้ครองราชแล้วทรงพระนามว่า พระยาเจืองธรรมมิกราช ส่วนเมืองพะเยานั้นขุนเจืองโปรดให้โอรสชื่อ ลาวเงินเรือง ครองเมืองพะเยาแทนสืบต่อมา

ต่อมามีกษัตริย์สืบราชวงศ์อีกหลายพระองค์และมีความสัมพันธ์กับเมืองหิรัญนคร เงินยางเป็นอย่างดี เมืองพะเยามีอำนาจมากและเป็นช่วงที่เจริญถึงขีดสุดในสมัยพ่อขุนงำเมือง พระองค์เป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองพะเยา ที่ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ของทางเหนือ เป็นเครื่องยืนยันว่ามีตัวตนจริง พ่อขุนงำเมืองครองเมืองพะเยาในช่วงปี พ.ศ. ๑๘๐๑ มีชายาชื่อ นางอั้ว เชียงแสน ธิดาของเจ้าเมืองเชียงแสน พ่อขุนงำเมืองประสูติเมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๑ เป็นราชบุตรของพ่อขุนมิ่งเมือง สืบเชื้อสายมาจากท้าวจอมผาเรือง เมื่อพระชนมายุ ๑๔ ปี พระราชบิดาได้ส่งไปศึกษาในสำนักเทพอิสิตน อยู่บนดอยด้วน ๒ ปี จากนั้นพระราชบิดาส่งไปศึกษาต่อในสำนักสุกันตฤาษี ณ กรุงละโว้ ลพบุรี จึงรู้จักคุ้นเคยกับพระร่วง เจ้าแห่งกรุงสุโขทัย สนิทสนมกันอย่างแน่นแฟ้น ศึกษาศิลปะร่วมครูอาจารย์เดียวกัน เมื่อพ่อขุนงำเมืองขึ้นครองราช ขุนเม็งรายเคยยกทัพเข้าบดขยี้เมืองพะเยา พ่อขุนงำเมืองไม่ชอบสงครามจึงสั่งให้อำมาตย์ออกต้อนรับโดยดี เลี้ยงกองทัพให้อิ่ม ขุนเม็งรายจึงเลิกทำสงครามต่อกัน ตั้งแต่นั้นมาพ่อขุนงำเมืองจึงยกเมืองปลายแดน ซึ่งมีเมืองพาน เมืองเชี่ยงเคี่ยน เมืองเทิง และเมืองเชียงของ ให้แก่พระเจ้าเม็งรายและทำสัญญาปฎิญาณกันจะเป็นมิตรกันตลอดไป พระยาร่วงซึ่งเป็นสหายคนสนิทได้ถือโอกาสเยี่ยมพ่อขุนงำเมืองปีละหนึ่งครั้ง ส่วนใหญ่เสด็จในฤดูกาลเทศกาลสงกรานต์ ได้มีโอกาสรู้จักกับขุนเม็งราย ทั้งสามองค์ได้ชอบพอกัน เป็นสหายกัน เคยหันหลังพิงกัน กระทำสัจจะปฏิญานแก่กัน ณ ริมฝั่งน้ำขุนภู ว่าไม่ผูกเวรแก่กัน จะเป็นมิตรสหายกัน กรีดโลหิตออกรวมกันผสมน้ำทรงดื่มพร้อมกัน ภายหลังแม่น้ำนี้มีชื่อว่า แม่น้ำอิง

หลังจากพ่อขุนงำเมืองสิ้นพระชนม์ลง เมืองพะเยากลับมามีบทบาทในประวัติศาสตร์อีกครั้ง ในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา พ.ศ. ๑๙๘๔ ถึง ๒๐๓๐ พระองค์ทรงใช้เมืองพะเยาเป็นฐานกำลัง เพื่อขยายอำนาจเข้าครองเมืองแพร่และเมืองน่าน ทั้งยังเข้ายึดเมืองสุโขทัย จากอยุธยาจนสำเร็จและให้พระยายุทธิษฐิระบุตรของพระยาราม เชื้อสายราชวงศ์พระร่วงแห่งสุโขทัยซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกราช เป็นผู้ปกครองเมือง หลังจากนั้นพระยายุทธิษฐิระก็ไปครองเมืองภูคาและเมืองพะเยาด้วย โดยมีเมืองแพร่และเมืองน่านอยู่ในปกครอง นับเป็นยุครุ่งเรืองของเมืองพะเยาอีกยุคหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ บุเรงนองแห่งพม่าเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ ทำให้พะเยาต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานถึงกว่า ๒๐๐ ปี ล่วงถึงสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดินแดนล้านนาก็ยังระส่ำระสายเนื่องจากกองทัพพม่าและกองทัพสยาม ที่ต่างช่วงชิงเพื่อจะได้ยึดครองล้านนา ในระหว่างนั้นชาวเมืองพะเยาส่วนหนึ่งได้อพยพไปอยู่ที่เมืองลำปาง (บริเวณบ้านปงสนุกในปัจจุบัน)

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองพะเยาขึ้นกับเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคนในตระกูลมาปกครองโดยต่อเนื่อง จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยาจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นมีการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากผู้ปกครองเดิมและคนในท้องถิ่น ที่รู้จักกันในชื่อ "ขบถ ร.ศ. ๑๒๑" นอกจากนี้ยังมีขบถเงี้ยวในเมืองพะเยา รวมไปถึงเมืองแพร่และลำปางด้วย

เมื่อทางส่วนกลางจัดการเหตุการณ์ต่างๆจนสงบแล้ว เมืองพะเยาก็ถูกยกฐานะให้เป็นจังหวัด เรียกว่าจังหวัดบริเวณพะเยา ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ถูกลดฐานะเป็นเพียง อ.เมืองพะเยา ให้เจ้าอุปราชมหาชัยศีติสาร รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา จาก พ.ศ. ๒๔๕๗ ถึง ๒๕๒๐ รวมเวลา ๖๓ ปี ได้มีนายอำเภอดำรงตำแหน่งถึง ๒๕ นาย จนถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๒๐ พะเยาได้รับการยกฐานะจากอำเภอขึ้นเป็นจ.พะเยา นับเป็นจังหวัดที่ ๗๒ ของประเทศไทยในขณะนั้น และเป็นจังหวัดตราบเท่าทุกวันนี้

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

airban-300x250
0
Shares