ประวัติจังหวัด ตรัง

ตราประจำจังหวัดตรัง

ภาพกระโจมไฟและภาพลูกคลื่น ภาพกระโจมไฟหมายถึง จังหวัดตรังเคยเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ ภาพลูกคลื่นหมายถึง ลักษณะพื้นที่ของจังหวัดตรัง เป็นเนินเล็ก ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ คล้ายลูกคลื่น

Trang

คำขวัญประจำจังหวัดตรัง

เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา

ประวัติจังหวัด จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่มีประวัติในสมัยโบราณก่อนหน้านั้น และเข้าใจว่าในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถครั้นกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองตรังยังไม่มี เพราะพระธรรมนูญกล่าวถึงหัวเมืองฝ่ายใต้มีเพียง นครศรีธรรมราช พัทลุง ไชยา เพชรบุรี กุย ปราณ ครองวาฬ บางสะพาน ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ตะนาวศี ทะวาย มะริด และสามโคก ดังนั้นเมืองตรังแต่เดิมมา น่าจะเป็นเพียงทางผ่านไปยังเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุงเท่านั้น ต่อมาเมื่อผู้คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมากขึ้นจึงเกิดเมืองในตอนหลัง

เท่าที่พบหลักฐานความเป็นมาของจังหวัดตรัง เริ่มแรกได้จากศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้จารึกโดยพระเจ้าจันทรภาณุ หรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๑๗๗๓ ซึ่งเป็นสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองมาก ได้จารึกว่าอาณาจักรนครศรีธรรมราชมีหัวเมืองรายล้อมอยู่ถึง ๑๒ หัวเมือง ได้กำหนดใช้รูปสัตว์ตามปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง เรียกว่าการปกครองแบบ ๑๒ นักษัตร โดยเมืองตรังใช้ตราม้า (ปีมะเมีย) เป็นตราประจำเมืองแสดงว่าในปี พ.ศ.๑๗๗๓ มีเมืองตรังแล้วแต่ไม่ทราบว่าตั้งเมืองอยู่ที่ใด ในพงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าว ว่าเมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๓ พระยากุมารกับนางเลือดขาวไปลังกา ทั้งขาไปและขามาได้แวะที่เมืองตรัง เพราะเป็น เมืองท่า นางเลือดขาวยังได้สร้างพระพุทธรูปและวัดพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่เมืองตรัง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองตรังมีชื่อเป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ครั้น ถึงปี พ.ศ.๒๓๔๗ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดฯ ให้ยกเมืองตรังขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ ชั่วคราว เนื่องจากผู้รักษาเมืองตรังเป็นอริกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นให้ไปขึ้นกับเมืองสงขลาระยะ หนึ่ง จนถึง พ.ศ.๒๓๕๔ จึงกลับไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม และได้มีการตั้งเมืองตรังขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย ทรงแต่งตั้งพระอุไภยธานีเป็นเจ้าเมืองตรังคนแรก และได้มีการสร้างหลักเมืองตรังไว้ที่ ควนธานี

พ.ศ.๒๓๘๑ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น ทางเมืองตรังและหัวเมืองปักษ์ใต้หลายเมือง ต่อมาจึงได้โอนเมืองตรังมาขึ้นต่อกรุงเทพฯ อยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองตรังจนถึง พ.ศ.๒๔๒๘ เมืองตรังจึงได้กลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ซึ่งตั้งกองบัญชาการ อยู่ที่ภูเก็ต และเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลเมืองตรังจึงถูกรวม เข้าเป็นหัวเมืองหนึ่งของมณฑลภูเก็ต

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสหัว เมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงเห็นเมืองตรังมีสภาพทรุดโทรม จึงทรงโปรดฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง และสร้างความเจริญให้แก่ตรังอย่างมากมาย โดยย้ายเมืองตรังมาตั้งที่ อำเภอกันตัง ปากแม่น้ำตรัง โดยรวมเอาเมืองตรังและปะเหลียนเข้าด้วยกัน และพัฒนาเป็นเมืองท่าการค้าและยังได้ส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราที่จังหวัด ตรังเป็นแห่งแรก

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าที่ตั้งตัวเมืองตรังเดิม คือ เมืองกันตังไม่ปลอดภัยจากศัตรู ไม่เป็นศูนย์กลางของจังหวัด ทั้งยังเป็นที่ลุ่มมาก น้ำทะเลท่วมถึง จะขยายตัวเมืองได้ยาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังมาจนทุกวันนี้ และเมื่อมีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๖ เมืองตรังจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

airban-300x250
0
Shares