ปลากดเหลือง

ปลากดเหลือง

ชื่อสามัญ ปลากดเหลือง Yellow mystus

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากดเหลือง Hemibagrus nemurus (Valenciennes, 1840)

ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง ตลาดมีความต้องการมาก และราคาดี เนื่องจากมีรสชาติดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในรูปปลาสด และการแปรรูปเป็นปลารมควัน หรือปลาแห้ง ราคาซื้อปลาสด กิโลกรัมละ 30-40 บาท ส่วนปลารมควัน กิโลกรัมละ 80-100 บาท ปลากดเหลืองพบอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศในแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับประเทศไทยพบในแม่น้ำเจ้าพระยา การจับปลากดเหลืองได้โดยการใช้ ข่าย อวนล้อม แห หรือเบ็ดราว พื้นที่จับคือบริเวณใต้เขื่อนเจ้าพระยาที่พื้นท้องน้ำที่เป็นแก่งหินหรือเป็นพื้นแข็ง ซึ่งปริมาณปลากดเหลืองที่จับได้ในแต่ละปีมีจำนวนน้อยลง สถานีประมงน้ำจืดชัยนาทจึงพัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ เพื่อประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และเป็นการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลากดเหลืองให้แพร่ขยายออกไปสู่เกษตรกรต่อไป

ลักษณะทั่วไปของปลากดเหลือง

ปลากดเหลืองเป็นปลาไม่มีเกล็ด มีรูปร่างเรียวยาวแบบอีลองเกท (elongate) หัวค่อนข้างแบน กระดูกท้ายทอยยาวถึงโคนครีบหลัง ตาไม่มีหนังปกคลุม ปากกว้าง ตำแหน่งของปากตั้งอยู่ต่ำเล็กน้อย (subterminal) ขากรรไกรแข็งแรง มีฟันเป็นแบบคาร์ดิฟอร์ม (cardiform) คือเป็นฟันซี่เล็ก ๆ สั้น ปลายแหลม ซี่กรองสั้นเล็กปลายแหลม จำนวน 15 ซี่ มีหนวด 4 คู่ ความยาวตลอดทั้งตัว (total length) เป็นสามเท่าครึ่งของความยาวส่วนหัว ความยาวมาตรฐานลำตัว (standard length) เป็นสามเท่าครึ่งของความกว้างลำตัว ครีบหลังไม่สูงเป็นครีบเดียวอยู่กลางหลัง มีก้านครีบหลังแข็ง 1 ก้าน และก้านครีบอ่อน 7 ก้าน โดยก้านครีบแข็งมีลักษณะเป็นฟันเลื่อยอยู่ทางด้านหลัง ครีบไขมันเจริญดีอยู่บนด้านหลังของส่วนท้ายของลำตัวตรงข้ามกับครีบก้น ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน 10-11 ก้าน ครีบหูมีเงี่ยงแหลมคม 1 คู่ มีก้านครีบอ่อนข้างละ 9 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบอ่อน 6-7 ก้าน ครีบหางเว้าลึก แฉกบนยาวกว่าแฉกล่าง ลักษณะกระเพาะลมมีตอนเดียว ลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ตอนหน้าป้าน และค่อย ๆ เรียวไปทางตอนท้ายซึ่งค่อนข้างแหลม ส่วนกว้างเท่ากับส่วนยาว ตอนหน้าติดอยู่กับทรานเวิร์สโพรเซสของกระดูกสันหลังข้อต้น ๆ ซึ่งสามารถขยายใหญ่เป็นแผ่นกระดูกอ่อนบาง ๆ ใส ตอนหน้าของกระเพาะลมแตะอยู่กับกระดูกก้านครีบคู่หู ส่วนบนติดกับกระดูกสันหลัง กระเพาะลมของปลาชนิดนี้ไม่มีกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดเสียง ผนังกระเพาะลมค่อนข้างแข็งแรง กรอบโปร่งใสเห็นผนังกั้นที่อยู่ภายในได้ชัดเจนมีท่อนูเมติกเชื่อมระหว่างกระเพาะลมกับกระเพาะอาหาร กระเพาะลมมีหน้าที่ช่วยให้สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำระดับต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ

รายงานการศึกษากระเพาะอาหารของปลากดเหลืองจำนวน 114 ตัว ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดยาว 18.4 - 45.0 เซนติเมตร พบว่า กระเพาะอาหารมีลักษณะเป็นถุงตรงยาว ผนังหนามีสีขุ่น เป็นปลาที่มีนิสัยชอบกินเนื้อเป็นอาหาร คือในกระเพาะจะมีปลาอยู่ 66.77% กุ้งน้ำจืด 2.70% เศษพันธุ์ไม้น้ำ 0.36% และก้อนกรวดดินโคลน 10.05% อาหารจำพวกเนื้อปลาที่พบในกระเพาะอาหารส่วนใหญ่จะเป็นลูกปลาขนาดเล็กได้แก่ ปลาซิวและปลาข้าวเม่า

การแพร่กระจาย

ปลากดเหลืองพบได้ในประเทศแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย สำหรับประเทศไทย ปลากดเหลืองมีแหล่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำกก แม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำมูล แม่น้ำแม่กลอง และสาขาแม่น้ำบางประกง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำจันทบุรี ตลอดจนถึงบริเวณน้ำกร่อย ปากแม่น้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ ชื่อของปลาชนิดนี้เรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น ปลากด เหลือง ปลากดนา ปลากดขาว ปลากลาง ปลากดฉลอง

การเพาะพันธุ์ปลากดเหลือง

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ปลากดเหลืองมีฤดูผสมพันธุ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ปลาที่ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ควรมีขนาด 200 กรัมขึ้นไป โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้ ปลาเพศเมีย ส่วนท้องขยายใหญ่ ช่องเพศกลมรี สีแดง ปลาเพศผู้ ส่วนตัวยาวเรียว มีติ่งยื่นออกมาเป็นอวัยวะเพศ ลักษณะยาวแหลม

การเพาะพันธุ์ เมื่อคัดพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว นำมาขังแยกเพศผู้และเพศเมียไว้ในกระชัง ฉีดฮอร์โมนโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ busereline acetate ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone ในอัตราดังนี้

เพศเมีย (ฉีด 2 ครั้ง) 5 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม และ 20 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม

เพศผู้ (ฉีด 1 ครั้ง) 10 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม

หลังจากฉีดฮอร์โมนทั้งเพศผู้ และเพศเมีย แล้วนำมาปล่อยรวมกันในบ่อผสมพันธุ์โดยใช้บ่อซีเมนต์ขนาด 3 x 2 ตารางเมตร ระดับน้ำ 50 เซนติเมตร ที่พื้นบ่อปูด้วยตาข่ายถี่ (100 ช่องต่อ 1 ตารางเซนติเมตร) เพื่อให้ไข่ติดตาข่าย

หลังจากฉีดฮอร์โมนเข็มที่ 2 ประมาณ 4 ชั่วโมง ปลาเพศผู้รัดตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ แม่ปลา 1 ตัว ปล่อยไข่ออกมา 3-4 ครั้ง ใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที เมื่อปลาวางไข่หมดแล้ว นำตาข่ายปูพื้นที่มีไข่ติดอยู่ไปพักในกระชังไข่อีกครั้งหนึ่ง

การฟักไข่ นำไข่ที่ติดตาข่ายไปฟักในกระขังฟักไข่ ขนาด 3 x 2 ตารางเมตร ลึก 60 เซนติเมตร อุณหภูมิน้ำ 27-28 องศาเซลเซียส ไข่ฟักเป็นตัวในเวลา 22 ชั่วโมง เมื่อไข่ฟักหมดแล้ว รวบรวมลูกปลาวัยอ่อนนำไปอนุบาลต่อไป

การอนุบาลลูกปลา นำลูกปลาวัยอ่อนอนุบาลในบ่ออนุบาล ซึ่งส่วนมากใช้บ่อคอนกรีต ขนาดตามความต้องการของผลผลิต ในอัตราการปล่อย 20,000-30,000 ตัวต่อตารางเมตร ในระยะแรกยังไม่ต้องให้อาหาร เมื่อลูกปลาใช้ถุงอาหารสำรองหมดจึงเริ่มให้อาหาร ซึ่งอายุประมาณ 2 วัน อาหารในระยะนี้สามารถให้ไรแดงกินเป็นอาหาร ประมาณวันละ 100-200 กรัมต่อวันต่อลูกปลา 20,000 ตัว โดยแบ่งให้ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า และเย็น เปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 70% วันละครั้ง อนุบาลลูกปลาอายุครบ 7 วัน ลูกปลามีความยาวประมาณ 0.7-0.8 เซนติเมตร

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares