ปลากระดี่มุก

ปลากระดี่มุก

ชื่อสามัญ ปลากระดี่มุก Pearl gourami

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากระดี่มุก Trichogaster leerii (Bleeker, 1852)

ลักษณะทั่วไปของปลากระดี่มุก

ปลาในชนิดนี้มีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ เรียกว่า labyrinth organ เหมือนกับในปลากัด ทำให้สามารถขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำได้โดยตรง และสามารถอยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำได้ มีขนาดลำตัวเล็ก คือ ประมาณ 12.5 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างกว้าง แบนข้าง หัวเล็ก นัยน์ตาโต ปากอยู่หน้าสุด ริมฝีปากยืดหดได้ มีฟันบนกระดูกเพดานปาก เส้นข้างตัวไม่สมบูรณ์ ครีบหลังมีก้านครีบแขนงไม่เกิน 10 ก้าน ครีบหลัง และครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบอกบางใส ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว อันแรกยื่นออกมาเป็นเส้นยาว ครีบหางมีปลายครีบตัดตรง บนลำตัวมีแถบน้ำเงินอ่อนหรือแถบเขียวสลับแดงอมน้ำตาล แถบสีเหล่านี้กระจายไปตามครีบต่าง ๆ ในปลาเพศผู้มีสีสันสดสวยกว่าตัวเมีย เกล็ดบริเวณลำตัวมันวาว สวยงาม กินอาหารประเภทตัวอ่อนแมลง และอาหารมีชีวิตขนาดเล็ก

การแพร่กระจาย

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย และมีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำ หนองบึง ลำห้วย ซึ่งมีพืชพันธุ์ไม้น้ำหนาแน่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุก

การเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุก โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ domperidone ฉีดปลาเพศเมีย ครั้งที่ 1 ในอัตราความเข้มข้น 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง จึงฉีดครั้งที่ 2 ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ 15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปลาเพศผู้ฉีดครั้งเดียวพร้อมเพศเมียครั้งที่ 2 ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ 15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แม่ปลาสามารถวางไข่ภายในระยะเวลาประมาณ 45-48 ชั่วโมง หลังฉีดครั้งที่ 2 ครั้ง ลักษณะไข่ปลาเป็นแบบไข่ลอย เม็ดกลมสีเหลืองทอง ไข่ฟักเป็นตัวอยู่ในระหว่าง 15-16 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 26-27 องศาเซลเซียส มีอัตราการฟักเท่ากับ 40-50 เปอร์เซ็นต์ อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนด้วยโรติเฟอร์และไข่แดงบดละเอียด

การเพาะแบบวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำปลากระดี่มุกเพศผู้ และเพศเมียที่มีท้องใหญ่ใส่อ่างเพาะพันธุ์ ใส่ผักบุ้งเพื่อให้หวอดเกาะ และเด็ดใบผักบุ้งเพื่อให้เน่าสลาย ช่วยในการกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่ได้เร็วยิ่งขึ้น เมื่อแม่ปลาวางไข่แล้วสังเกตว่าแม่ปลาท้องแฟบลงให้นำแม่ปลาออกจากอ่างเพาะ เพื่อป้องกันแม่ปลากินไข่ปลา และปล่อยพ่อปลาดูแลโดยพ่นไข่ติดกับหวอดคล้าย ๆ กับหวอดปลากัดนั่นเองพอลูกปลากระดี่มุกที่เกิดใหม่ในระยะ 2 วัน ยังไม่ต้องให้อาหาร หลังจากนั้นควรให้อาหารมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น โรติเฟอร์ และลูกไรแดงกินเป็นอาหาร ถ้าไม่มีสามารถใช้ไข่แดงต้มสุกบด หลังจากให้ไข่แดงบดละเอียดไปแล้ว 3-4 วัน จึงเปลี่ยนไปให้อาร์ทีเมียประมาณ 1 สัปดาห์ สังเกตเห็นได้ว่าลูกปลามีการเจริญเติบโตได้เร็วกว่าในช่วงแรก การเปลี่ยนถ่ายน้ำสามารถเปลี่ยนถ่ยน้ำได้เมื่อลูกปลามีอายุ 12 วัน จึงเปลี่ยนให้ไรแดงที่มีชีวิต การหมักน้ำแก่ซึ่งช่วยให้ปลากระดี่มุกมีความสวยงามเพิ่มขึ้นทำได้ไม่ยุ่งยาก โดยน้ำที่ใส่อ่างเลี้ยงปลาต้องปิดคลุมไว้ไม่ให้รับแสงแดดโดยตรง สำหรับระยะปิดคลุมประมาณ 2 สัปดาห์ หรือ 15 วัน ซึ่งปิดพื้นที่ด้านบนอ่างประมาณครึ่งอ่าง เพียงไม่กี่วันก็พบว่ามีน้ำแก่เกิดขึ้น

ปัญหาที่พบจากการเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุกไม่ประสบผลสำเร็จ

การให้อาหารลูกปลาในช่วงเกิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะอาหารสมทบ เช่น ไข่แดงต้มบดละลายน้ำ ต้องระมัดระวังอย่าให้ปริมาณมาก เพราะทำให้น้ำเน่าเสียได้

โรคจุดขาว เกิดจากเชื้อรา และ โรคเกล็ดพอง ทำให้ตัวปลาผิดปกติ ปลาที่เป็นโรคดังกล่าวนั้น รักษาโดยการใช้ด่างทับทิมใส่น้ำพอออกสีม่วงอ่อนๆ ในภาชนะแล้วนำปลาลงไปแช่ค้างคืนหากไม่หายทำซ้ำอีกครั้ง เมื่อปลาหายป่วยแล้ว นำกลับมาลงตู้ใส่เกลือลงตู้เลี้ยงปลาให้มีรสกร่อย ๆ

ระมัดระวังอย่างให้ลูกปลาถูกน้ำฝน เพราะคุณสมบัติของน้ำเป็นกรด ทำให้ลูกปลาตาย

เทคนิคการทำให้ปลามีสีสวย

ในกรณีที่เลี้ยงให้ปลามีคุณภาพ เพื่อส่งเข้าประกวดต้องเลี้ยงในน้ำแก่ก่อนประกวด 1 เดือน นอกจากหมักน้ำให้แก่แล้ว ต้องหาวัสดุคลุมบังให้ถูกแสงเพียงครึ่งหนึ่ง โดยให้ปลาอยู่ในที่มืด ๆ ไม่ต้องถ่ายน้ำบ่อย ๆ จะทำให้ปลามีสีสัน และมุกเข้มขึ้น เมื่อใกล้วันประกวดให้ใส่ตัวเมียลงไป เมื่อปลาตัวเมียไล่ตัวผู้เกิดการขับสีผิวให้เข้มขึ้น พฤติกรรมนี้คล้ายคลึงกับปลากัด

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares