ปลากัด

ปลากัด

ชื่อสามัญ ปลากัด Siamese fighting fish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลากัด Betta splendens Regan, 1910

ลักษณะทั่วไปของปลากัด

ปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่ได้รับความนิยมเพาะเลี้ยงมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่นและเพื่อเกมส์กีฬากัดปลา ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันแพร่หลาย ซึ่งเป็นปลาที่เลี้ยง และเพาะขยายพันธุ์ได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มหัดเลี้ยงปลา เนื่องจากไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนัก และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ เพราะปลากัดเป็นปลามีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษเรียกว่า "labyrinth" ทำให้สามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้ ปลากัดมีอายุเฉลี่ย 2 ปี หรือน้อยกว่า

ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว มีลายตามตัว ครีบ และหางสั้น ปลาเพศผู้มีครีบ และหางยาวกว่าปลาเพศเมียเล็กน้อย จากการเพาะ และการคัดเลือกพันธุ์ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ทำให้ได้ปลากัดมีสีสวยงามหลากหลาย อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าพันธุ์ดั้งเดิมมาก จากสาเหตุนี้ทำให้มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้อีกหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดทุ่ง ปลากัดจีน ปลากัดเขมร เป็นต้น

ในการเลี้ยงปลากัดเพื่อการต่อสู้ มีการคัดเลือกพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถใช้ในการต่อสู้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งเรียกกันว่า "กัดป่าหรือกัดทุ่ง" โดยมีลำตัวค่อนข้างเล็ก บอบบาง สีน้ำตาลขุ่นหรือเทาเขียว มีการนำมาเพาะเลี้ยง และคัดพันธุ์หลายชั่วอายุ จนได้ปลาที่มีรูปร่างแข็งแรงลำตัวหนา และใหญ่ขึ้น เพื่อใช้ในการกีฬากัดปลาซึ่งนิยมเรียกปลากัดชนิดนี้ว่า "กัดเก่ง" นอกจากนั้นปลากัดไทยนี้ยังได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้มีสีสันสวยสด มีผู้เลี้ยงปลากัดหลายรายได้มีการพัฒนาปลากัดที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์ และผสมข้ามพันธุ์ปลากัด โดยเน้นความสวยงามเพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่น โดยคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีครีบยาว สีสวย นิยมเรียกปลากัดลักษณะเช่นนี้ว่า ปลากัดจีนหรือเป็นปลากัดเขมร ซึ่งต่างประเทศรู้จักปลากัดในนาม "Siamese fighting fish"

ในปัจจุบันการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดกำลังเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงาม แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ปัจจุบันนี้ ปลากัดไทยมีสีสรรสวยงามมากตั้งแต่ สีเหลืองทั้งลำตัว สีฟ้า half moon มีเรื่องอ้างอิงกันการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัด โดยใช้สภาพสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเหนี่ยวนำ โดยมีความเชื่อว่า ปลาที่มีสีสันสวยงามต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายทอดความรู้สึกของเพศเมียไปยังลูกปลา ได้มีการนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในบรรดานักเพาะปลาทั้งหลายโดยการวาดรูปปลากัดที่มีสีสันตามที่ต้องการ เช่น สีเหลืองทั้งตัว ตั้งวางโดยรอบปลาตัวเมียในระหว่างการทำการเทียบคู่นั้นวิธีการนี้เรียกว่า "pseudo breeding technique" ถึงแม้ว่าไม่มีการพิสูจน์ออกมาทางวิชาการแต่ก็ได้รับการยืนยันจากนักเพาะเลี้ยงทั้งหลายว่า ในคอกหนึ่งๆ ที่ได้ลูกปลาออกมานั้นมีประมาณ 1 - 2 ตัว ที่มีลักษณะเหมือนกับภาพ

สีสันของปลากัดสามารถจำแนกเพื่อที่จะใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์ ได้ดังนี้

  1. สีเดียว (solid colored betta) เป็นสีเดียวทั้งครีบและตัว
  2. สีผสม (bi-colored betta) ส่วนใหญ่จะมี 2 สีผสมกัน
  3. สีผสมเขมร (cambodia colored betta)
  4. ลายผีเสื้อ (butterfly colored betta)
  5. ลายผีเสื้อเขมร (cambodian butterfly colored betta)
  6. ลายหินอ่อน (marble colored betta)

รูปแบบของปลากัดไทยมีการแบ่งออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. รูปทรงปลาช่อน มีลำตัวยาวและหัวเหมือนปลาช่อน หัวใหญ่กว่าเมื่อมองจากด้านบน รูปร่างเพรียว
  2. รูปแบบปลาหมอ ลำตัวสั้นและค่อนข้างอ้วน รูปทรงค่อนข้างกว้าง
  3. รูปแบบปลากราย หน้าเชิด ลำตัวตรง รูปทรงค่อนข้างเป็นรูปสีเหลี่ยม เมื่อมองด้านบนเห็นลักษณะรูปทรงผอมบาง มีครีบอกและครีบหางยาว
  4. รูปแบบปลาตะเพียน เป็นลูกผสมลำตัวป้อม ครีบยาวสวยงาม

การแพร่กระจาย

การแพร่กระจายของปลากัดพบทั่วไปในน้ำนิ่ง หรือน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ อาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำคลอง นอกจากนั้นพบในนาข้าว โดยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด

เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าวชอบต่อสู้เมื่อมีอายุได้ประมาณ 1-2 เดือน การเลี้ยงปลากัดจึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัว ก่อนที่มีพฤติกรรมต่อสู้กัน ภาชนะที่นิยมนำมาใช้เลี้ยงปลากัด ได้แก่ ขวด (สุรา) ชนิดแบบบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ การแยกเพศ สังเกตได้ว่าปลาเพศผู้มีลำตัวสีเข้ม และครีบยาว ลายบนลำตัวมองเห็นชัดเจน และขนาดมักโตกว่าเพศเมีย ส่วนปลาเพศเมียมีสีซีดจาง มีลายพาดตามยาวลำตัว 2-3 แถบ และมักมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศผู้

น้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 6.5-7.5 ความกระด้าง 75-100 มิลลิกรัมต่อลิตร และความเป็นด่าง 150-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ควรใส่น้ำปริมาณ 3ใน4 ของปริมาตรขวด เพื่อเว้นช่องว่างให้อากาศได้สัมผัสผิวน้ำ นอกจากนั้นสถานที่ใช้เลี้ยงปลากัดไม่ควรเป็นที่โดนแสงแดดโดยตรง เพราะทำให้ปลากัดตายได้ในกรณีที่โดนความร้อนมาก อุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 25-28 องศาเซลเซียส

อาหารที่ใช้เลี้ยง ปลากัดเป็นปลาที่ชอบกินอาหารมีชีวิต เช่น ลูกน้ำ หนอนแดง ไรสีน้ำตาล (artemia) อาหารที่มีชีวิตที่ใช้เลี้ยงควรล้างด้วยน้ำสะอาด ฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารในด่างทับทิมระดับความเข้มข้น 500-1,000 ส่วนในล้านส่วน ( 0.5-1.0 กรัม/ลิตร) เป็นเวลา 10-20 วินาที หลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง

อาหารของปลากัดนอกจากใช้อาหารมีชีวิตแล้ว ยังสามารถฝึกหัดให้ปลากัดกินอาหารสำเร็จรูปได้อีกด้วย โดยค่อย ๆ ฝึกเปลี่ยนนิสัยในการกินอาหาร การให้อาหารควรให้วันละ 1-2 ครั้ง ให้ปริมาณที่พอดี การให้อาหารที่มากเกินไป อาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องน้ำให้มาก ข้อสังเกตการกินอาหาร โดยปกติปลากัดกินอาหารประมาณ 5 นาที ในกรณีที่แยกขวดเลี้ยงปลากัดขวดละตัว การให้อาหารนิยมใช้ลูกยางสีแดงที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปดูดอาหาร และใส่ที่ละขวด ซึ่งทำให้สะดวกยิ่งขึ้น การถ่ายเทน้ำควรทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

การเพาะพันธุ์ปลากัด

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์ปลากัดอยู่ระหว่างเดือน พฤษภาคม - กันยายน แต่ในปัจจุบันสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 26-28 ๐C ปลาที่นำมาทำการเพาะพันธุ์ ควรมีอายุตั้งแต่ 5-6 เดือนขึ้นไป ปลาเพศผู้ที่มีอายุ 5-6 เดือน ในขณะที่ปลาเพศเมียเป็นปลาที่มีอายุ 4 เดือน ปลากัดเพศเมียสามารถวางไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ สังเกตเห็นความสมบูรณ์ของพ่อแม่ปลาได้ชัดเจน การคัดเลือกปลาเพื่อผสมพันธุ์ ควรมีหลักปฏิบัติดังนี้

ปลาเพศผู้ ควรคัดเลือกปลาที่แข็งแรง ว่ายน้ำปราดเปรียว ลักษณะสีสดสวยตามที่ต้องการ ชอบสร้างรังซึ่งเรียกว่า "หวอด" โดยการพ่นฟองอากาศที่มีน้ำเมือกจากปาก และลำคอผสมด้วย ซึ่งแสดงถึงว่า ปลาเพศผู้มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่พร้อมที่ผสมพันธุ์

ปลาเพศเมีย โดยทั่วไปมีขนาดเล็ก มีสีเทา และมีลายตามแนวราบ มีครีบสั้น ควรคัดเลือกแม่ปลาที่แข็งแรง สังเกตบริเวณท้องมีลักษณะอูมเป่ง และบริเวณใต้ท้องมีสีขาวใกล้กับรูก้นเห็นได้ชัดเจนแสดงว่าพร้อมที่ผสมพันธุ์ได้แล้ว ซึ่งตุ่มสีขาวนั้นเรียกกันว่า
"ไข่นำ"

การผสมพันธุ์ การผสมพันธ์ปลากัดทำโดยการนำขวดปลาเพศผู้และเพศเมียมาวางติดกัน ซึ่งเรียกว่า "เทียบคู่" บริเวณที่มีการเทียบคู่ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้แม่ปลาตกใจ การเทียบคู่ใช้เวลาประมาณ 3-10 วัน สังเกตปลาตัวเมียมีลักษณะท้องโต และมีจุดขาวที่ท่อนำไข่ชัดเจน ลำตัวมีสีลายอ่อน สลับเข้ม เรียกว่าลายชะโด ซึ่งแสดงว่าปลากัดตัวเมียพร้อมที่ผสมพันธุ์แล้วขณะเดียวกันตัวผู้สร้างหวอดขึ้นบริเวณเหนือน้ำ จากนั้นนำปลาเพศผู้ และเพศเมีย ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ขันพลาสติก โหลแก้ว จนถึงอ่างดิน ใส่น้ำให้มีระดับ 5-10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ปลาเพศผู้เหนื่อยมากเกินไปในขณะที่ลำเลียงไข่ของตัวเมียไปไว้ที่รัง ควรใส่พรรณไม้น้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิม เพื่เป็นการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไข่ พรรณไม้ที่นิยมใช้ได้แก่ สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก จอก ใบผักตบชะวา เป็นต้น เมื่อปลาเพศผู้และเพศเมียสามารถปรับตัวให้เคยชินกับสภาพแวดล้อมในภาชนะประมาณ 1-2 วัน ปลาเพศผู้จึงเริ่มก่อหวอดติดกับพรรณไม้น้ำ หลังจากสร้างหวอดเสร็จ ปลาเพศผู้พองตัวกางครีบและไล่ต้อนตัวเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด ขณะที่ตัวเมียลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ ปลาตัวผู้ทำการรัดตัวเมียตรงบริเวณช่องอวัยวะเพศ จากนั้นไข่ก็หลุดออกมา พร้อมกับเพศผู้ฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม และปลาเพศผู้ตามลงไปใช้ปากดูดอมไข่ไว้ แล้วว่ายน้ำขึ้นไปพ่นไข่เข้าไปไว้ในฟองอากาศจนกว่าไข่หมด เมื่อสิ้นสุดการวางไข่ปลาเพศผู้ทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง และไล่ต้อนปลาเพศเมียไปอยู่ที่มุมภาชนะ หลังจากนั้นรีบนำปลาเพศเมียออก เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเพศเมียกินไข่ ปล่อยให้ปลาเพศผู้ดูแลไข่ 2 วัน จึงแยกเพศผู้ออก ขั้นตอนนี้ต้องระวังการกระแทกเพราะทำให้รังไข่ได้รับความเสียหาย

การอนุบาลลูกปลา

ไข่ปลากัดฟักเป็นตัวหลังจากได้รับการผสมน้ำเชื้อประมาณ 36 ชั่วโมง โดยในช่วงแรกมีถุงอาหาร (yolk sac) ติดตัวมาด้วย ดังนั้นช่วง 3-4 วันแรก จึงยังไม่ต้องให้อาหาร หลังจากถุงอาหารยุบหมด ควรให้ไข่แดงต้มสุกกรองผ่านกระชอนตาถี่เป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนของไรแดง (moina) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นไรแดงตัวเต็มวัย เลี้ยงต่อไปจนกระทั่งปลาสามารถกินลูกน้ำได้ ประมาณ 5 สัปดาห์ ลูกปลาบางตัวเห็นสี ช่วงนี้อาจเร่งการเจริญเติบโตโดยการเพิ่มอาหารทีละน้อยโดยให้ 3-4 ครั้งต่อวัน ช่วงนี้ลูกปลากินอาหารได้หลายชนิด เช่น หนอนแดง อาหารแผ่นบาง เคยบด ตับไก่สดแช่แข็งหั่นเป็นชิ้นเสียบไม้ใส่ไว้ในบ่อ ปลามาตอดกินได้อีกทั้งยังเป็นการช่วยเร่งสีเนื่องจากมีธาตุเหล็กให้แก่ปลาอีกด้วย และผู้เลี้ยงสามารถแยกเพศปลากัดได้ เมื่อปลามีอายุประมาณ 1.5 เดือนขึ้นไป

เนื่องจากการเลี้ยงปลากัดเป็นการเลี้ยงที่นิยมกันมานานมาก การดูแลรักษาปลา จึงเป็นแบบพื้นบ้านส่วนใหญ่ มีการหมักปลาโดยใช้ใบหูกวางแห้ง ใบมะพร้าวแห้ง หรือใบตองแห้ง เพื่อใช้ในการรักษาเมื่อเห็นว่าปลาเริ่มแสดงอาการผิด มีเกษตรกรบางรายไม่เคยประสบปัญหาโรคเลย ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง เพราะใส่ใบไม้เหล่านี้ที่พื้นดินก้นบ่อด้วย ในบางครั้งพบว่าตัวมีจุดสีขาวที่รู้จักกันว่าเป็นโรคจุดขาวหรืออิ๊ค ก็ใส่ข่าหมักลงไปในขวดปลานั้น โรคดังกล่าวก็หายไป

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares