ปลาตองลาย

ปลาตองลาย

ชื่อสามัญ ปลาตองลาย Indochina featherback

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ปลาตองลาย Chitala blanci (d'Aubenton, 1965)

ลักษณะทั่วไปของปลาตองลาย

ปลาตองลายเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ อยู่ในตระกูลเดียวกันกับปลากราย ปลาสลาด ดังนั้นรูปร่างภายนอกโดย ทั่วไปจึงเหมือนกันมาก ลำตัวมีลักษณะเรียวยาวด้านข้างแบนมาก พื้นลำตัวสีขาวเงิน ส่วนหลังมีสีน้ำตาลเข้มอมดำ หรือสีเทาอมเขียว บริเวณส่วนหน้าของลำตัวมีจุดสีดำประปรายอยู่ข้างลำตัว ส่วนท้ายมีขีดสีดำเล็ก ๆ พาดเฉียงจากส่วนบนของลำตัวไปถึงครีบก้น และครีบหาง ส่วนของปากแหลมออก มุมปากเว้าลึกเลยตา เกล็ดมีขนาดเล็กสีขาวเงิน เกล็ดเป็นแบบ cyloid ส่วนหลังของปลาถึงบริเวณหัว มีความลาดชันมาก ครีบหลัง (dorsal fin) ที่มีขนาดเล็กจำนวน 1 ครีบ มีก้านครีบ 10-11 ก้าน ครีบอก 1 คู่ ครีบก้นมีก้านครีบ 119-122 ก้าน และครีบหางติดต่อกันเป็นครีบเดียวกัน ส่วนครีบท้อง 1 คู่ มีขนาดเล็กมากจน แทบมองไม่เห็น ปลาตองลายมีขนาดความยาวสูงสุดประมาณ 1 เมตร เป็นปลาที่ชอบอยู่กันเป็นกลุ่มตามตอไม้กองหิน หรือตามบริเวณโคนเสา มักขึ้นมาฮุบน้ำ เป็นระยะ ๆ เสมอ เป็นปลาที่ไม่ชอบแสงสว่างมากนัก มักออกหากินไล่ล่าปลาเล็กในเวลา กลางคืน หรือในช่วงที่มีแสงสว่างไม่มากนัก อาหารที่ปลาตองลายชอบเป็นพิเศษคือ ลูกปลาเป็น ๆ ขนาดเล็ก และกุ้งฝอย การให้ปลาเป็น ๆ ควรปล่อยไว้ในจำนวนที่มากพอควร เพื่อให้ปลาได้ไล่จับกินเองเวลาหิว แต่ถ้าให้ เนื้อกุ้ง หรือกุ้งฝอยเป็นอาหาร ควรให้ครั้งละไม่มากเกินไป ควรให้เท่าที่ปลาสามารถกินหมดได้ในทันที ปลาที่เลี้ยงจนปรับตัวได้ดีแล้วสามารถฝึกให้กินเนื้อสัตว์ หรืออาหารอื่น ได้อีกหลายชนิด ปลาตองลายเป็นปลาที่เติบโตในที่จำกัดได้ชนิดหนึ่ง

การแพร่กระจาย

ถิ่นอาศัยพบในแม่น้ำโขงช่วงระหว่าง ไทย ลาว และเขมร ปลาตองลายชนิดนี้เพิ่งค้นพบในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2510 ที่บริเวณแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย จัดเป็นปลาที่มีอยู่เฉพาะถิ่นในแม่น้ำโขงแม่น้ำมูล แม่น้ำตาปี และแม่น้ำสาขา

การเพาะพันธุ์ปลาตองลาย

ปลาตองลายสามารถแยกเพศโดยดูจากลักษณะภายนอก โดยเพศผู้มีอวัยวะรูปร่างคล้ายตะขอบริเวณช่องทางออกของน้ำเชื้อ ปลาตองลายมีการวางไข่ และสืบพันธุ์เช่นเดียวกับปลากราย โดยเพาะในบ่อดิน หรือในที่กักขังก็ได้ เช่น ตู้กระจก การเพาะในตู้กระจก ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในอัตรา 1 คู่ต่อตู้ พ่อแม่พันธุ์ควรมีอายุตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป น้ำที่ใช้ควรผ่านระบบกรอง ใส่น้ำ 800 ลิตร เปลี่ยนถ่ายน้ำ 60 เปอร์เซ็นต์ทุก ๆ 15 วัน และให้ลูกปลาตะเพียนขาว ที่มีชีวิตกินเป็นอาหาร รังไข่ของปลากราย และปลาตองลาย มีหลายระยะ และมีการพิสูจน์แล้วว่า มีรังไข่เดียวที่มีการวิวัฒนาการในฤดูเดียว และสลับกันซ้ายขวาในแต่ละฤดู ในตัวอย่างที่พบรังไข่สุกด้านซ้าย ส่วนระบบการย่อยอาหารอยู่ด้านขวา เมื่อพบพ่อแม่ปลาจับคู่วางไข่ พบว่าพ่อแม่ปลา 1 คู่ มีการวางไข่ผสมพันธุ์ถึง 5 ครั้ง มีจำนวนไข่ที่วางครั้งละ 180-430 ฟอง ไข่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร และเป็นประเภทไข่จมแบบติดวัตถุเหมือนกับปลากรายระยะเวลาที่ฟักออกเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน

การอนุบาลลูกปลาตองลาย พบว่าลูกปลามีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเร็วมาก โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการอนุบาลลูกปลาอยู่ระหว่าง 29-31 องศาเซลเซียส อาหารที่ใช้ในการอนุบาลใช้ ไรแดงในระยะแรก และอนุบาลต่อด้วยหนอนแดง ในช่วงอนุบาลด้วยหนอนแดงควรฝึกให้ลูกปลากินอาหารสมทบด้วย เช่น กุ้งฝอยบด ปลาบด และอาหารเม็ดสำเร็จรูป อนุบาลประมาณ 2 เดือน ความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares