ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น

ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น

ชื่อสามัญ ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น Chinese lion head

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้น Carassius auratus (Linn.)

ลักษณะทั่วไปของปลาทองสิงห์จีน

ปลาทองสิงห์จีนหัววุ้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ จัดอยู่ในจำพวกปลาสวยงามชนิดหนึ่ง เป็นปลาทองชนิดที่คนนิยมเลี้ยงกันมาก เพราะคนชอบที่วุ้น วุ้นขึ้นหนามากบริเวณส่วนหัวทั้งหมด บางตัววุ้นขึ้นจนปิดตาสนิท ทำให้มองไม่เห็นตาปลา แต่ปลาก็สามารถกินอาหารได้โดยสัณชาตญาณ บางคนไม่เข้าใจเห็นวุ้นปิดตาสนิทหาว่าเป็นปลาตาบอด คนขายต้องอธิบายให้ฟังคนซื้อถึงเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นปลาตาบอดที่วุ้นขึ้นปิดตาสนิทนั้นเป็นลักษณะเด่นของปลา แต่คนที่เข้าใจปลาทองชนิดนี้ เขาชอบกันมากถ้าตัวไหนวุ้นขึ้นปิดตาสนิท ปลาสิงห์จีนหัววุ้นกับสิงห์ชนิดอื่นมองเห็นความแตกต่างกันง่าย คือ ปลาสิงห์จีนหัววุ้นมีวุ้นขึ้นมากกว่าสิงห์ประเภทอื่น บางตัวมีวุ้นขึ้นมากจนว่ายน้ำไม่ไหวหัวทิ่มเพราะหนักวุ้น ลักษณะของสิงห์จีน คือลำตัวสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บริเวณหัวมีวุ้นสีส้มบ้าง แดงบ้าง และบางตัวก็ออกสีขาวแดงมี 2 สี อยู่ในตัวเดียวกัน ลักษณะเด่นก็เหมือนๆ สิงห์ทั่วไป แต่มีข้อแตกต่าง คือ เรื่องวุ้นซึ่งมีมากกว่าสิงห์ชนิดอื่นๆ ลักษณะการดูปลาประเภทสิงห์นั้นสวยหรือไม่สวยส่วนมากแล้ว เขายึดหลักตามลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้

  1. หลังโค้งหางบานออกพอประมาณต้องได้ฉาก
  2. สีส้มสด
  3. วุ้นหนา วุ้นยิ่งหนายิ่งสวย
  4. ลำตัวได้สัดส่วน

ส่วนในเรื่องลำตัวนั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่บ่อย ๆ ในหมู่นักเลี้ยงปลาด้วยกันว่า ลำตัวสั้นสวยกว่าลำตัวยาว หรือลำตัวยาวสวยกว่าลำตัวสั้น แต่สิ่งที่ถูกต้องแน่นอนที่สุด คือ ลำตัวสั้นหรือลำตัวยาวก็ได้ แต่ต้องได้สัดส่วน ทำให้สวยได้ไม่แพ้กัน ถ้าเป็นปลาลำตัวยาวปลานั้นต้องอ้วนใหญ่ แกนสันหลัง หาง ครีบทวาร ครีบหน้า และบริเวณหัวต้องใหญ่ได้สัดส่วนด้วย ถ้าเป็นปลาลำตัวสั้น ส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าบริเวณสันหลัง ครีบต่าง ๆ และลำตัวสั้นได้สัดส่วน จึงสรุปได้ว่าทั้งลำตัวสั้น และลำตัวยาวสวยเท่า ๆ กัน แต่สวยไปคนละแบบแล้วแต่คนนิยม สาเหตุที่คนส่วนมากชอบปลาลำตัวสั้นมากกว่าปลาลำตัวยาวนั้น เพราะปลาลำตัวยาวส่วนมากแล้วบริเวณช่วงหลังไม่ค่อยโค้ง เพราะช่วงยาวจากโคนหัวจรดปลายหางอาจเว้ามากหรือนูนจนเกินไป แต่ถ้าหากเขาพบปลาที่หลังโค้งจากโคนหัวจรดปลายหาง และได้สัดส่วนแล้วเขารู้ว่าปลาทั้งสองอย่างนั้นสวยไม่แพ้กันเลย สิงห์จีนที่นำออกขายตามร้านนั้นหาสวยครบทุกส่วนนั้นยากมาก บางตัวมีวุ้นสวยแต่หางใช้ไม่ได้ หรือบางตัวหางใช้ได้ วุ้นใช้ได้แต่หลังใช้ไม่ได้ เพราะปลาผสมพันธุ์ออกมาหนึ่งคอกนั้นหาสวยหมดทุกตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ หนึ่งคอกนั้นอย่างมากติดตัวสวย ๆ ครบทุกส่วนได้ไม่ถึง 20 % นอกจากนั้นแล้วเป็นปลาพอใช้ได้ และใช้ไม่ได้เลย คือ ประเภทปลาหางเสีย เพราะฉะนั้นประเภทสิงห์จึงมีราคาแพงกว่าปลาทองชนิดอื่น ปลายิ่งมีราคาแพงมากเท่าไรคนซื้อจะมองหา ผู้ที่เลี้ยงปลาประเภทนี้ได้ดีนั้น ต้องขยันผสมพันธุ์ปลาบ่อย ๆ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ปลาออกมาหนึ่งคอกมีปลาที่จัดว่าใช้ได้ไม่กี่ตัว ถ้าเราผสมบ่อยครั้งก็สามารถเก็บปลาที่ดีที่สุดไว้ ส่วนปลาที่ไม่สวยนั้น เราเก็บไว้เลี้ยงโต และนำออกขายก่อน เพราะปลาที่ไม่สวยนั้นยิ่งโตเท่าไหร่ ราคามีแต่คงที่หรือไม่ก็แพงขึ้นกว่าเก่าเล็กน้อย จึงทำให้เราเสียเวลาเลี้ยง และสิ้นเปลืองอาหารโดยเปล่าประโยชน์ เราควรประหยัดเวลาโดยการผสมพันธุ์ใหม่ขึ้นมา และเก็บลักษณะสวย ๆไว้เลี้ยงจนโต ทำให้เรามีปลาสวยอยู่ตลอดเวลา

การเพาะพันธุ์ปลาสิงห์จีนหัววุ้น

  1. เลือกเพศเมียที่จัดว่าสวยที่สุด จำนวนหนึ่งตัว และเพศผู้จำนวนหนึ่งตัว ลักษณะแข็งแรง
  2. นำปลาทั้งสองเพศใส่ลงไปในภาชนะที่เตรียมสำหรับผสมพันธุ์ และเวลาผสมพันธุ์ปลานั้นควรทำในเวลากลางคืน
  3. ปลาทั้งสองเพศก่อนนำลงผสมพันธุ์ควรแยกไว้คนละที่ก่อนประมาณ 3 วัน เมื่อใส่ปลาลงในอ่างเดียวกันแล้วทำให้ปลามีปฏิกิริยาในการผสมพันธุ์ได้ไวขึ้น
  4. นำสาหร่ายเทียม (เชือกฟางพลาสติก) ฉีกออกเป็นฝอย ๆ แล้วนำก้อนหินถ่วงให้จม เพื่อที่ไข่จะได้ติดตามสาหร่ายเทียม การใช้สาหร่ายเทียมในการเพาะพันธุ์เป็นการป้องกันไข่ปลาเสียได้ดีมาก เพราะสาหร่ายเทียมป้องกันไม่ให้น้ำเน่าเสีย
  5. ปลาผสมพันธุ์กันในเวลาใกล้สว่าง และเมื่อปลาไข่เสร็จแล้วต้องรีบนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออก ถ้าไม่รีบนำออกแล้วปลาจะกินไข่ตัวเอง
  6. เมื่อปลาไข่เสร็จแล้วควรใส่ยาลงไปในภาชนะไข่ปลา 1 เม็ด เพื่อป้องกันเชื้อรา
  7. ภาชนะที่มีไข่ปลาควรได้รับแสงแดดพอเหมาะและใช้เวลา 3 วัน ในการฟักออกเป็นตัว

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares