ปลาพาราไดซ์

ปลาพาราไดซ์

ชื่อสามัญ ปลาพาราไดซ์ Paradise fish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาพาราไดซ์ Macropodus opercularis (Linnaeus, 1758)

ลักษณะทั่วไปของปลาพาราไดร์

ปลาพาราไดซ์เป็นปลาตู้ชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างสวยงาม คล้ายกับปลากระดี่ พื้นเพมาจากทวีปเอเชียตะวันออกเช่น ประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี และเวียดนาม ปลาชนิดนี้มีคุณสมบัติเลี้ยงง่าย อดทน เหมาะสำหรับนักเพาะพันธุ์สมัครเล่น ปลาพาราไดซ์มีขนาดลำตัวค่อนข้างแบน ครีบทุกครีบยาวแหลมเด่นเป็นพิเศษ ส่วนปลายครีบหางเว้าชี้แหลมยื่นยาวออกไปทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ลำตัวสีน้ำตาลอมแดงสลับด้วยสีเงินยวง ตรงบริเวณเหงือกมีสีส้มแดงแต้มด้วยสีดำเป็นจุดเห็นชัดเจนข้างละหนึ่งจุด ปลาบางตัวมีครีบหางสีแดง และยังมีจุดเล็ก ๆ สีดำกระจายไปทั่ว ครีบหลัง และครีบก้น สีดำอมน้ำเงินยวง แต่ตัวผู้ส่วนนี้มีสีแดง ก้านครีบแข็ง และคม ตามธรรมชาติปลาพาราไดซ์มักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ ในแหล่งน้ำที่มีพื้นดินเป็นโคลนเลนระดับน้ำตื้นๆในสภาพที่เป็นกลาง และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในบ่อกลางแจ้ง แต่ปลาชนิดนี้มีนิสัยดุร้าย เกเร ดังนั้นผู้เพาะพันธุ์จึงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า

การเพาะพันธุ์ปลาพาราไดซ์

การคัดพ่อแม่พันธุ์ ก่อนการเพาะพันธุ์ผู้เลี้ยงจะต้องจำแนกเพศปลา เห็นได้ว่าปลาพาราไดซ์ตัวผู้มีรูปร่างใหญ่กว่าปลาตัวเมีย และเครื่องทรงจำพวกครีบหาง ครีบก้นตลอดจนครีบอก ยื่นยาวออกมามากกว่าปลาตัวเมีย และมีสีสันสดใสกว่าปลาตัวเมีย

การเพาะพันธุ์ คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ตามที่ต้องการแล้ว ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในบ่อหรือตู้เพาะพันธุ์ ควรใช้ในอัตราแม่พันธุ์ประมาณ 5-8 ตัว ต่อ พ่อพันธุ์ 1 ตัว ทั้งนี้เพื่อป้องกันพ่อพันธุ์ไล่กัดแม่พันธุ์ บ่อเพาะควรมีเนื้อที่กว้างพอที่แม่พันธุ์ใช้หลบหนีภัยจากพ่อพันธุ์ได้สะดวก ปลาประเภทนี้การผสมพันธุ์ และการสร้างรังไข่คล้ายกับปลากัด เมื่อแม่พันธุ์พร้อมวางไข่ พ่อพันธุ์เริ่มสร้างรังโดยการก่อหวอดขึ้นตามผิวน้ำใกล้กับขอบบ่อเพาะหรือพุ่มไม้น้ำ เมื่อแม่พันธุ์เริ่มออกไข่ พ่อพันธุ์ทำหน้าที่อมไข่มาพ่นติดกับหวอดจนไข่หมด หลังจากนั้นพ่อพันธุ์ไม่ยอมให้แม่พันธุ์เข้าไปใกล้บริเวณรังไข่เป็นอันขาด เนื่องจากนิสัยแม่พันธุ์ส่วนมากเมื่อวางไข่แล้ว แม่พันธุ์ชอบกินไข่ของมันเอง สำหรับพ่อพันธุ์จะเป็นยามเฝ้าดูแลไข่จนฟักออกเป็นตัว

การอนุบาลลูกปลา

ไข่ใช้เวลาในการฟักเป็นตัวอ่อนประมาณ 30-50 ชั่วโมง หลังจากไข่เริ่มทยอยฟักออกเป็นตัว ลูกปลาได้รับอาหารจากไข่แดงที่ติดตัวมาใน 3 วันแรก อาหารที่ผู้เพาะพันธุ์ให้ลูกปลามื้อแรกควรเป็นอาหารจำพวกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ไรแดง และเมื่อลูกปลามีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นกว่าเดิม ผู้เพาะพันธุ์ควรหันมาให้อาหารสำเร็จรูป อาหารสด เช่น ไรแดง ลูกน้ำ อาร์ทีเมีย เนื่องจากอาหารชนิดนี้มีโปรตีนสูง

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares