ปลาหมูขาว

ปลาหมูขาว

ชื่อสามัญ ปลาหมูขาว Sun loach

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาหมูขาว Yasuhikotakia eos (Taki, 1972)

ลักษณะทั่วไปปลาหมูขาว

ปลาหมูขาวพบได้ในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำใน ภาคกลาง ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีลำตัวแบนข้างเล็กน้อย และค่อนข้างป้อมกว่าปลาหมูชนิดอื่น ๆ ความยาวลำตัวจากปลายจนถึงครีบโคนหางเป็น 2.5-2.9 เท่าของความกว้างลำตัว ลำตัวเป็นสีเทา หรือเทาอมเขียวบริเวณด้านหลังสีเข้มกว่าด้านข้างลำตัว ท้องสีเหลืองอ่อนหรือขาว บริเวณโคนหางมีจุดสีดำ สำหรับปลาวัยอ่อนที่ยังโตไม่เต็มที่มีแถบสีดำเล็ก ๆ จะงอยปากค่อนข้างยาว ปลายจะงอยปากมีหนวด 2 คู่ และมุมปากมีหนวดอีก 1 คู่ ปากอยู่ปลายสุด และอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหัวมีหนามแหลมปลายแยกเป็น 2 แฉก ขนาดใหญ่ และแข็งแรง ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีสีเหลืองจนถึงสีเหลืองจาง ๆ ครีบหลังมีจำนวนก้านครีบ 9 อัน ครีบก้นมีก้านครีบ 8 อัน ครีบอกมีก้านครีบ 7-9 อัน ปลาหมูขาวเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลปลาหมูที่พบในประเทศไทย ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือขนาด 23.5 เซนติเมตร แต่ที่พบทั่วไปมีขนาดเฉลี่ย 10-25 เซนติเมตร ในธรรมชาติอาหารของปลาหมูขาว ได้แก่ ตัวอ่อนแมลงน้ำ หนอนและซากสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่นๆ

การเก็บรวมรวบพันธุ์ปลาธรรมชาติ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพิจิตรเก็บรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาหมูขาวจากชาวประมงในแม่น้ำน่านบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร แล้วนำมาแยกเลี้ยง 2 วิธี คือ

  1. ในบ่อซีเมนต์ ขนาด 50 ตารางเมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์จำนวน 100 ตัว
  2. ในกระชังเนื้ออวนช่องตา 1 เซนติเมตร ขนาด 2 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์จำนวน 100 ตัว ให้ปลาสับเป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง ตอนบ่าย เลี้ยงไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อใช้ในการผสมเทียม

การเพาะพันธุ์ปลาหมูขาว ฤดูการผสมพันธุ์ของปลาหมูขาวตามธรรมชาติอยู่ช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนประมาณเดือนมีนาคม - กันยายน คัดเลือกแม่พันธุ์ปลาหมูขาวที่สมบูรณ์ที่สุดโดยสังเกตลักษณะของท้องอูมเป่ง และช่องเพศเกิดสีชมพูเรื่อ ๆ ส่วนปลาตัวผู้มีขนาดเล็กกว่า และลำตัวเพรียวกว่า บีบที่ช่องเปิดเบา ๆ มีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา การทดลองผสมเทียมได้ทดลอง 3 ครั้ง โดยใช้แม่ปลาจำนวน 4 ตัว ใช้ต่อมใต้สมองปลาไนฉีดครั้งเดียวในจำนวน 1.5 เท่า ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพศเมีย ทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง นำปลามารีดไข่ผสมน้ำเชื้อ ไข่มีลักษณะกลมสีเทาอมเขียวใกล้เคียงลักษณะไข่ปลาตะเพียน ไข่เป็นประเภทครึ่งลอยครึ่งจม ความดกของไข่จากการผ่าแม่ปลาหมูขาว ขนาด 130 กรัม ยาว 19.5 เซนติเมตร รังไข่หนัก 15 กรัม มีไข่อยู่ประมาณ 60,000 - 80,000 ฟอง ไข่ปลาหมูขาวใช้เวลาฟัก 12 ถึง 18 ชั่วโมง ในตู้กระจกที่อุณหภูมิของน้ำประมาณ 27 องศาเซลเซียส ความเป็นกรดเป็นด่าง 8.6 ( น้ำบาดาล )

การอนุบาลลูกปลา นำลูกปลาหมูขาวที่ฟักออกเป็นตัวแล้ว มาอนุบาลต่อในมุ้งโอล่อน ขนาด 1 x 1 ตารางเมตร ซึ่งแขวนไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาด 2 x 5 ตารางเมตร ในโรงเพาะฟักเมื่อลูกปลาอายุ 3 วัน ถุงอาหารยุบจึงเริ่มให้ไข่ต้มสุกบดละเอียดละลายน้ำสาดให้กินวันละ 5 ครั้ง ถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ของบ่อทุกวัน ตอนเช้าของวันที่ 7 จึงเริ่มให้ไรแดงมีชีวิตเป็นอาหารวันละ 3 ครั้ง โดยใช้แก้วใสตักน้ำในมุ้งอนุบาลตรวจความหนาแน่นของไรแดงอยู่เสมอ เพื่อให้พอเพียงกับความต้องการของลูกปลา ลักษณะของลูกปลาหมูขาวขนาดเล็กแตกต่างกับปลาชนิดอื่น คือ ด้านหลังโค้งลาด เช่นพ่อแม่พันธุ์ และบริเวณลำตัวมีสีดำทอดไปตามความยาวของตัวปลา เมื่ออายุได้ 20 วัน พบแถบสีดำพาดขวางลำตัวประมาณ 7-8 แถบ และสีลำตัวออกสีเหลืองอ่อน ๆ ลูกปลามีลักษณะเหมือนพ่อแม่พันธุ์ เมื่ออายุได้ประมาณ 45-60 วัน และสีดำที่พาดขวางลำตัวหายไปเมื่อลูกปลาโตขึ้น หรืออายุได้ประมาณ 5 เดือน

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares