ปลาหมูอารีย์

ปลาหมูอารีย์

ชื่อสามัญ ปลาหมูอารีย์ Dwarf botia

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาหมูอารีย์ Yasuhikotakia sidthimunki (Klausewitz, 1959)

ลักษณะทั่วไปของปลาหมูอารีย์

รูปร่างลักษณะแบบปลาหมู แต่ลำตัวเรียวยาวกว่าเล็กน้อย มีลักษณะของสีสันที่เด่นชัด คือ พื้นเป็นสีเหลืองสด มีแถบดำพาดกลางหลัง กลางลำตัว และบั้งสีดำพาดลงมาจากสันหลังถึงด้านท้อง ครีบมีสีดำบนพื้นสีจาง ขนาดลำตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบ คือ 10 เซนติเมตร ครีบหลังประกอบด้วยก้านครีบไม่แตกแขนง 2 ก้าน และก้านครีบแตกแขนง 7-9 ก้าน ครีบก้นประกอบด้วยก้านครีบไม่แตกแขนง 2 ก้าน และก้านครีบแตกแขนง 5-7 ก้าน ครีบหูประกอบด้วยก้านครีบไม่แตกแขนง 1 ก้าน และก้านครีบแตกแขนง 8 ก้าน ครีบหางประกอบด้วยก้านครีบไม่แตกแขนง 4 ก้าน และก้านครีบแตกแขนง 19 ก้าน ไม่มีก้านครีบแข็ง จะงอยปากค่อนข้างเรียว มีหนวด 3 คู่ อยู่ที่มุมปาก ในธรรมชาติอาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องนา หาดน้ำตื้น ซึ่งมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว จัดเป็นปลาประเภทปลากินเนื้อ

การแพร่กระจาย

ปลาหมูอารีย์เคยพบชุกชุมในแม่น้ำแม่กลอง แควน้อย ตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีลงมาถึงราชบุรี บึงบ่อระเพ็ด จ. นครสวรรค์ และลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง ณ เมืองปากเซ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว และลำธารในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำว้า อำเภทเวียงสา จังหวัดน่าน และที่อำเภอ แม่จริม จังหวัดน่าน เคยพบในแม่น้ำพอง จังหวัดข่อนแก่นเพียงครั้งเดียว

การเพาะพันธุ์ปลาหมูอารีย์

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ปลาหมูอารีย์ ที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ควรมีอายุไม่น้อยกว่า 2 ปี เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ขนาด 10 ตารางเมตร ระดับน้ำ 50 เซนติเมตร ในอัตรา 100 ตัวต่อตารางเมตร โดยใช้ระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด ให้น้ำไหลผ่านในอัตรา 10 % ของปริมาตรน้ำในบ่อต่อวัน ให้อาหารผงสำเร็จรูปชนิดผงโปรตีนไม่ต่ำกว่า 40% เสริมด้วยอาหารมีชีวิต เช่น ปลวก ไรแดง และหนอนแดง ให้รวมกันในอัตรา 10% ของน้ำหนักตัวต่อวัน

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์จากการสังเกตลักษณะภายนอก พบว่าในปลาเพศผู้มีลักษณะลำตัวเรียวยาวได้สัดส่วนกว่าตัวเมียเมื่อรีดบริเวณช่วงท้องมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา ในปลาเพศเมียในช่วงที่มีความสมบูรณ์เพศพบว่าส่วนท้องอูมเป่ง นิ่ม ผนังท้องบาง และช่องเพศขยายมีสีแดงเรื่อ ๆ

การเพาะพันธุ์ปลาหมูอารีย์โดยการใช้ฮอร์โมน

การเพาะพันธุ์ปลาหมูอารีย์โดยการฉีดกระตุ้นให้แม่ปลาว่างไข่ ฮอร์โมนที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ Buserelin acetate ในปลาเพศเมียใช้ในอัตราความเข้มข้น 10-30 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 5-10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อฐานครีบหลัง โดยการฉีดเพียงครั้งเดียว และในเพศผู้ใช้ในอัตราความเข้มข้น10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 5-10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปล่อยให้ผสมพันธุ์วางไข่กันเองในบ่อเพาะ โดยใช้สัดส่วนเพศผู้ต่อเพศเมีย 1 ต่อ 1 หลังจากการฉีดฮอร์โมน 14-15 ชั่วโมง แม่ปลามีการผสมพันธุ์วางไข่ ไข่ปลาหมูอารีย์เป็นไข่แบบครึ่งลอยครึ่งจม เมื่อพบว่าพ่อแม่ปลาผสมพันธุ์ว่างไข่เสร็จสิ้น จึงรวบรวมไข่ไปฟักในบ่อเพาะฟัก ไข่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.37-0.46 มิลลิเมตร ไข่ฟักออกเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 12-13 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิน้ำ 26-28 องศาเซลเซียส

การอนุบาล เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวแล้ว มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ควรอนุบาลลูกปลาด้วยโรติเฟอร์ และเสริมด้วยลูกไรแดงขนาดเล็ก อายุ 7 วัน สามารถฝึกให้ลูกปลากินอาหารผงสำเร็จรูป โดยในระยะแรกควรให้ร่วมกับลูกไรแดง ในช่วงนี้ พบว่าลูกปลามีความยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร การให้อาหารให้วันละ 3-4 ครั้ง อัตราการปล่อยอนุบาลอยู่ประมาณ 500-1,000 ตัวต่อตารางเมตร การเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ของบ่อทุกวัน เมื่ออนุบาลจนลูกปลามีอายุ 50 วัน พบว่าลูกปลามีความยาวประมาณ 1.8 เซนติเมตร อัตราการรอดตายประมาณ 90% ในบ่ออนุบาลลูกปลาควรใส่ที่หลบซ่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปลาตื่นตกใจ

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares