Red-tail

ปลาหางไหม้ (ฉลามหางไหม้)

ชื่อสามัญ  ปลาหางไหม้ (ฉลามหางไหม้) Silver shark

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาหางไหม้ Balantiocheilos melanopterus (Bleeker, 1851)

ลักษณะทั่วไปของปลาหางไหม้

ปลาหางไหม้เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างเรียวแบนด้านข้าง ขนาดที่พบในประเทศไทยประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ในเกาะบอร์เนียวพบขนาดยาวถึง 35 เซนติเมตร ส่วนปากอยู่ด้านใต้ของส่วนหัว ริมฝีปากบนหนาเป็นปุ่ม และริมฝีปากล่างมีร่องซึ่งมีลักษณะคล้ายถุงเปิดออกทางด้านหลัง ขอบด้านหลังของครีบหลังและครีบก้นเว้าเห็นได้ชัด ก้านครีบก้านสุดท้ายของครีบหลัง หนา แข็ง และมีหยักซี่เล็ก ๆ ครีบหางมีลักษณะเป็นหางสามเหลี่ยมเว้าลึก ไม่พบว่ามีหนวดเลย ลำตัวทางด้านหลังสีเทาอมฟ้า ข้างลำตัวสีเงินวาว ครีบทุกครีบสีเหลืองขลิบดำทางด้านหลังยกเว้นครีบหู ปลาชนิดนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ในแม่น้ำ และลำธารทั่วไป มีนิสัยชอบกินทั้งพืช และสัตว์ เช่น กุ้งขนาดเล็ก แมลงน้ำ และสัตว์ขนาดเล็ก ฯลฯ ปลาชนิดนี้มีความสามารถในการกระโดดลอยสูงจากผิวน้ำได้สูงถึง 2 เมตร ปลาตัวเมียค่อนข้างก้าวร้าวกว่าปลาตัวผู้ ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม

การแพร่กระจาย ปลาหางไหม้

ปลาหางไหม้ในประเทศไทย พบอาศัยอยู่ในแม่น้ำ และลำธารทั่วไป ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังพบแพร่กระจายอยู่ลาว กัมพูชา มลายู สุมาตราและบอร์เนียว

สถานภาพ ปลาหางไหม้

ในอดีตเคยมีปลาหางไหม้ชุกชุมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง มีชุกชุมเป็นพิเศษในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์ เกิดจากการจับปลาหางไหม้เป็นจำนวนมากจากแหล่งน้ำธรรมชาติในระยะ 20 ปีที่แล้ว และการเน่าเสียของแหล่งอาศัยได้ทำให้ปลาชนิดนี้หมดไปจากแหล่งน้ำในหลายบริเวณ อย่างน้อยที่สุดก็หมดไปจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ปัจจุบันยังพอพบได้จากแหล่งน้ำอื่น ๆ ปีละ 5-10 ตัวเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares