ปลาเทวดา

ปลาเทวดา

ชื่อสามัญ ปลาเทวดา Anglefish

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาเทวดา Pterophyllum scalare (Schultze, 1823)

ลักษณะทั่วไปของปลาเทวดา

ปลาเทวดามีถิ่นกำเนิดในบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ และประเทศไทยได้นำเข้ามาเพาะขยายพันธุ์ได้เป็นเวลานานแล้ว ปลาเทวดานั้นมีอยู่ 2 ชนิด (species) ชนิดที่นำมาเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ได้แก่ Pterophyllum scalare และ P. eimekei (Common anglefish) ซึ่งปัจจุบันได้มีการ

คัดพันธุ์ จนกระทั่งมีหลายสายพันธุ์ (variety) เช่น

  • ปลาเทวดาเงิน (Silver anglefish)
  • ปลาเทวดาดำ (Black anglefish)
  • ปลาเทวดาลายม้าลาย (Zebra anglefish)
  • ปลาเทวดาลายหินอ่อน (Marble anglefish)
  • ปลาเทวดาสีเทา (Gray anglefish)
  • ปลาเทวดาลายดำครึ่งตัว (Half black anglefish)
  • ปลาเทวดาขาว (White or ghost anglefish)
  • ปลาเทวดาทอง (Gold anglefish)
  • ปลาเทวดาลายจุด (Spotted anglefish)

ปลาเทวดาเป็นปลาที่อยู่ในกลุ่ม Cichlids เช่นเดียวกันกับ ปลาปอมปาดัวร์ และปลาหมอสี ปลาในกลุ่มนี้มีนิสัยค่อนข้างก้าวร้าว และหวงถิ่นอาศัย เมื่อถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์มีการจับคู่กันเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ และแยกตัวออกมาต่างหาก สร้างอาณาเขตของคู่ตน

การเพาะพันธุ์ปลาเทวดา

การคัดพ่อแม่พันธุ์ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาเทวดานั้น ต้องให้มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ มีความสมบูรณ์แข็งแรง การแยกเพศของปลาเทวดา สามารถสังเกตได้ง่ายจากลักษณะภายนอก คือ ปลาเพศผู้มีส่วนหัวโหนกนูนกว่าเพศเมีย และมีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย ถ้าสังเกตลักษณะของติ่งเพศผู้มีลักษณะเรียวแหลมยื่นออกมา ส่วนเพศเมียใหญ่ ป้าน ทู่ ยื่นออกมา ปลาเทวดาเจริญเติบโตพร้อมที่ผสมพันธุ์วางไข่ได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ปลาชนิดนี้มีพฤติกรรมในการเลือกคู่ผสมพันธุ์เอง การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ที่ยังไม่ได้จับคู่กันนั้น ควรเลี้ยงรวมกันในตู้กระจกขนาดใหญ่ ปูพื้นด้วยกรวดขนาดเล็ก และปลูกพรรณไม้น้ำลงไปด้วย เพื่อสร้างความร่มรื่น และเป็นธรรมชาติ น้ำที่ใช้เลี้ยงอาจเป็นน้ำคลอง แม่น้ำ หรือน้ำบาดาลที่ผ่านการกรอง หรืออาจใช้น้ำประปาก็ได้ แต่ต้องพักไว้ให้คลอรีนระเหยออกหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ใช้แอร์ปั๊มเพิ่มพัดลมในตู้ตลอดเวลา ให้อาหารวันละ 1-2 ครั้ง โดยใช้อาหารมีชีวิต ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง หรืออาหารเม็ดขนาดเล็ก และคอยสังเกตพฤติกรรมการเลือกจับคู่กันเอง การจับคู่เพื่อผสมพันธุ์นั้นสังเกตได้จากปลาตัวผู้ว่ายเคียงข้างตัวเมีย และพยายามกันปลาตัวอื่น สร้างอาณาเขตของตัวเองไม่ให้ตัวอื่นเข้าใกล้ แสดงให้รู้ว่าปลาจับคู่พร้อมที่ผสมพันธุ์วางไข่แล้ว จึงทำการแยกพ่อแม่ปลาคู่นั้นออกมาเพื่อเพาะพันธุ์ต่อไป

การผสมพันธุ์ ตู้กระจกสำหรับเพาะพันธุ์ปลาเทวดา ควรเป็นตู้ขนาดใหญ่ เช่น ใช้ตู้ขนาด 36 นิ้ว ปูพื้นด้วยกรวดขนาดเล็ก และปลูกพรรณไม้น้ำลงไป ชนิดพรรณไม้น้ำที่แนะนำ คือ อะเมซอน เนื่องจากมีใบกว้างหนา แข็งแรง เหมาะสำหรับเป็นที่วางไข่ ปลาเทวดาเป็นปลาที่ไข่ติดกับวัสดุหากไม่ใส่พรรณไม้น้ำลงไปในตู้ต้องใส่วัสดุสำหรับให้ไข่เกาะติดลงไป เช่น ใส่แผ่นกระจก ท่อPVC หรือแผ่นพลาสติกวางเอียงกับพื้นตู้ ประมาณ 30-60 องศา โดยขนาดของวัสดุที่ใส่ลงไปควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว จึงเหมาะสมสำหรับเป็นที่วางไข่ของปลาเทวดา ในตู้เพาะพันธุ์มีการใช้แเอร์ปั๊มเพิ่มออกซิเจนในน้ำตลอดเวลา ก่อนการผสมพันธุ์วางไข่ พ่อแม่ปลาทำความสะอาดบริเวณที่วางไข่ โดยการอมน้ำแล้วพ่นบริเวณนั้น และเก็บสิ่งสกปรกต่าง ๆ เช่น ตะกอนออกจากบริเวณนั้น จากนั้นแม่ปลาวางไข่ติดกับพรรณไม้น้ำหรือแผ่นวัสดุที่วางไว้และตัวผู้ว่ายเข้าไปปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ทันที การผสมพันธุ์วางไข่ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง และใช้ครีบอกพัดโบกน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับไข่ หรือหากถูกรบกวนมาก ๆ อาจกินไข่ไปเลย ดังนั้นหากใช้วิธีแยกไข่มาฟักควรทำในช่วงนี้ หรือหากให้พ่อแม่ปลาดูแลต่อไป ควรป้องกันไม่ให้ปลาตื่นตกใจหรือมีสิ่งรบกวน

การฟักไข่ การฟักไข่ปลาเทวดาทำได้ 2 วิธี คือการให้พ่อแม่ดูแลไข่ และการแยกไข่มาฟัก

1 การให้พ่อแม่ดูแลไข่ ได้แก่ การปล่อยให้พ่อแม่ดูแลไข่เอง พ่อแม่ปลาคอยโบกพัดน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับไข่ และเคลื่อนย้ายไข่ไปอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมหากเกิดการเน่าเสียของน้ำในบริเวณนั้น ไข่ฟักออกมาเป็นตัวภายใน 36 ชั่วโมง ลูกปลาเมื่อแรกฟักมีตัวใสคล้ายเส้นด้ายเคลื่อนไหวไปมาเกาะติดกันเป็นกลุ่มวัสดุ วิธีนี้มีข้อดีคือ ลูกปลาที่ได้แข็งแรง สะอาดเพราะมีพ่อแม่ปลาคอยช่วยทำให้ฟื้นตัวช้า การวางไข่ครั้งต่อไปช้าตามไปด้วย

2 การแยกไข่มาฟัก ได้แก่ การนำวัสดุที่มีไข่ติดอยู่มาในในตู้ฟักไข่ที่เตรียมไว้ ซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ไข่ฟักเป็นตัวภายใน 36 ชั่วโมง วิธีนี้มีข้อดี คือ สามารถป้องกันพ่อแม่ปลาบางตัวที่มีพฤติกรรมชอบกินไข่ได้ และพ่อแม่ปลาฟื้นตัวเร็วเพราะไม่ต้องดูแลไข่

การอนุบาลลูกปลา

นำลูกปลาไปอนุบาลในตู้กระจกที่เตรียมไว้ ใส่น้ำลึกประมาณ 10 เซนติเมตร เพิ่มออกซิเจนโดยใช้ปั๊มลมเบา ๆ ตลอดเวลา ในระยะแรกลูกปลามีถุงไข่สีแดงติดอยู่ที่ท้อง ยังไม่ต้องกินอาหารถุงไข่แดงยุบภายใน 2-3 วัน และลูกปลาเริ่มเคลื่อนที่ โดยลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ และรวมกันเป็นกลุ่ม เริ่มให้อาหารเมื่อลูกปลาอายุ 4-5 วัน โดยให้ไข่แดงต้ม สุกบดละเอียดผสมกับน้ำ หยดลงไปบริเวณกลุ่มของลูกปลา ให้อาหารครั้งละน้อย ๆ แต่ให้บ่อย ๆ วันละ 4-5 ครั้ง หลังจากนั้น 2 วัน เปลี่ยนให้กินโรติเฟอร์หรืออาร์ทีเมียที่เพิ่งฟักตัวออกมา ในช่วงนี้หากไม่มีโรติเฟอร์หรืออาร์ทีเมีย สามารถให้กินไข่แดงต้มสุกบดละเอียดต่อไปได้ แต่ลูกปลาจะแข็งแรงน้อยกว่าการให้กินอาหารมีชีวิต จากนั้น 3 วัน จึงให้กินไรแดง ลูกปลาเจริญเติบโตเหมือนพ่อแม่เมื่ออายุได้ประมาณ 45 วัน

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares