ปลาแฟนซีคาร์พ

ปลาแฟนซีคาร์พ

ลักษณะทั่วไปของปลาแฟนซีคาร์พ

ปลาแฟนซีคาร์พ (Fancy carp) หรือที่เรียกกันว่า ปลาไนแฟนซี ปลาไนสี หรือปลาไนทรงเครื่อง เป็นปลาน้ำจืดในกลุ่มปลาตะเพียน (carp) ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า โคย (Koi) หรือ นิชิกิกอย (Nishikigoi) เดิมทีเป็นปลาไนชนิดธรรมดา ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่พบอยู่ทุกหนทุกแห่งในโลก บริเวณที่ถือว่าเป็นแหล่งดั้งเดิมจริง ๆ ของปลาไน คือ ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ชาวจีนเป็นชนกลุ่มแรกที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปลาไนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว สำหรับประเทศญี่ปุ่น ตามหลักฐานตามประวัติศาสตร์ชิ้นแรกที่มีอยู่เกี่ยวกับ Koi นั้นได้เขียนขึ้นเมื่อประมาณสองร้อยปีหลังคริสต์ศตวรรษ หลักฐานดังกล่าวได้เล่าถึงปลาชนิดนี้ว่า มีสีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ปลาเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงไว้สำหรับดูเล่น สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มมีการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พ ซึ่งนำมาจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2493 จากนั้นก็มีผู้สั่งปลาเข้ามาเลี้ยงกันมากมายในราคาที่ค่อนข้างสูง ได้มีการศึกษาและทดลองเพาะพันธุ์จนประสบความสำเร็จ ยังผลให้การสั่งเข้าปลาแฟนซีคาร์พ ลดลง และปลาในประเทศที่มีคุณภาพดีได้รับความนิยมมากขึ้นจนแพร่หลายดังเช่นปัจจุบันปลาแฟนซีคาร์พ ผสมพันธุ์ และวางไข่ในฤดูกาลที่แตกต่างกันแล้วแต่สถานที่ที่ปลาอาศัยอยู่ ฤดูวางไข่ของปลาเหล่านี้ในประเทศญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงอากาศอบอุ่น ส่วนในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธุ์ เป็นช่วงฤดูหนาว ปลาไม่เจริญเติบโต และไม่สืบพันธุ์ สำหรับประเทศไทยปลาแฟนซีคาร์พ สามารถวางไข่ได้ ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งพ่อแม่ปลามีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่

การเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พ

ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ (18-22 องศาเซลเซียส) จำเป็นต้องมีการเพิ่มอุณหภูมิ เพื่อกระตุ้นให้ปลามีการผสมพันธุ์ และวางไข่ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 25-32 องศาเซลเซียส จึงไม่มีความจำเป็นต้องปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นบ่อผสมพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พ ควรเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 4 ตารางเมตร มีการทำความสะอาด กำจัดศัตรู และโรคอย่างดี น้ำที่ใช้เพาะพันธุ์ควรเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติดี ไม่มีสารพิษหรือเคมีใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวปลา และไข่ปลา โดยปกติระดับน้ำในบ่อเพาะควรมีความลึกประมาณ 50-70 เซนติเมตร ใช้เชือกฟางพลาสติก สาหร่าย หรือรากของพันธุ์ไม้น้ำมาผูกติดกันเป็นแพลอยอยู่ในบ่อเพื่อให้ไข่ติด อัตราส่วนของพ่อแม่พันธุ์ที่นิยมในการเพาะใช้แม่ปลา 1 ตัว ต่อพ่อปลา 2-3 ตัว การปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงในบ่อเพาะควรกระทำในเวลาเย็นเพื่อปลาจะผสมพันธุ์ใน ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น แม่ปลาความยาว 40 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม จะมีไข่ประมาณ 7-8 หมื่นฟอง พฤติกรรมในการผสมพันธุ์วางไข่ มีลักษณะเช่นเดียวกันกับปลาในตระกูลคาร์พ ชนิดอื่น ๆ คือ

ปลาตัวผู้ใช้ส่วนหัวดุนที่ส่วนท้องของตัวเมียของตัวเมีย เพื่อกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่ แม่ปลาว่ายไปใกล้ผิวน้ำแล้วกลับตัวเพื่อปล่อยไข่ ขณะเดียวกันปลาตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสม ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วติดกับวัสดุที่เตรียมไว้ หลังจากปลาวางไข่แล้วต้องย้ายพ่อแม่ปลาออกจากบ่อเพาะ ส่วนไข่ที่ติดอยู่กับวัสดุย้ายไปฟักในบ่ออื่น หรือฟักในบ่อเดิมก็ได้

การฟักไข่และอนุบาลลูกปลา

ไข่ปลาแฟนซีคาร์พเป็นไข่ที่ติดกับวัสดุ มีสีเหลืองอ่อนเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.7 มิลลิเมตรไข่ที่ผสมแล้วลักษณะโปร่งใส ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 45 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 28-29 องศาเซลเซียส เมื่อลูกปลาฟักเป็นตัวใหม่ ๆ ตัวอ่อนเกาะติดกับวัสดุใต้น้ำ ลูกปลาวัยอ่อนกินอาหารจากถุงไข่แดง (yolk sac) ที่ติดอยู่กับตัวปลา ถุงไข่แดงยุบประมาณ 2-3 วัน ปลาเริ่มว่ายน้ำ และหาอาหารธรรมชาติ อาหารในช่วงแรกนี้ควรใช้นมผง หรือไข่แดงต้มสุกบดละเอียดละลายน้ำให้กินวันละ 4-6 ครั้ง จากนั้นจึงให้ไรแดง เป็นอาหาร ลูกปลาเริ่มเกิดครีบหาง และครีบหู เมื่ออายุได้ 6 วัน เริ่มมีเกล็ด เมื่ออายุ 12 วัน และเจริญเติบโตจนมีรูปร่าง และอวัยวะต่าง ๆ ครบเหมือนปลาทั่วไปเมื่ออายุได้ 15 วัน ซึ่งในระยะนี้ลูกปลามีความยาวเฉลี่ย 1.7 ซม.

การคัดเลือกลูกปลา

โดยทั่วไปแล้วหลังจากที่ลูกปลามีอายุประมาณ 60 วัน จึงเริ่มมีการคัดลูกปลา โดยคัดแยกปลาที่มีลักษณะดี สีสวยงาม ไม่พิการไปเลี้ยง ส่วนปลาที่ไม่ต้องการควรแยกออก เพื่อมิให้ปะปนกับปลาที่มีลักษณะดี ในการเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พในแต่ละครั้ง อาจได้ลูกปลาที่สีสวยงามดี ในการเพาะแต่ละครั้งประมาณ 5-10% แต่ปลาที่สามารถคัดได้มีคุณภาพดีเยี่ยมอาจไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ หรือไม่ได้เลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของพ่อแม่ วิธีการอนุบาล ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ของผู้เพาะพันธุ์

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares