ปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่ว

ปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่ว

ชื่อสามัญ ปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่ว Rosy barb

ชื่อวิทยาศาสตร์ ปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่ว Puntius conchonius (Hamilton, 1822)

ลักษณะทั่วไปของปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่ว

ปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่วเป็นปลาสวยงามขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมมาช้านาน มีถิ่นกำเนิดในแคว้นเบนกัลและอัสสัม ประเทศอินเดีย แต่สำหรับในประเทศไทยเป็นปลาที่เพิ่งเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมาเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากเพิ่งมีการสั่งเข้ามาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปลาชนิดนี้เป็นปลาคนละชนิดกับปลาโรซี่บาร์บธรรมดา ซึ่งมีลำตัวสีเงินอมแดงหรือส้ม ปลาทั้ง 2 ชนิดนี้มีรูปร่างเหมือน ๆ กัน แต่ต่างกันตรงสีสันซึ่งปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่วมีสีสันสะดุดตามากกว่า และก็มีราคาแพงกว่าด้วย ปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่วมีลักษณะรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนในบ้านเรา แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวออกสีเขียวมะกอกเป็นมันแวววาวบริเวณแผ่นหลังออกสีเขียวเข้มสดใสสะท้อนแสง ในปลาเพศผู้ลำตัวมีสีแดงออกสีบานเย็นสดกว่าเพศเมีย ครีบทุกครีบมีสีดำขึ้นแซมแลเห็นได้ชัด ปกติลำตัวของปลาเพศผู้เพรียวกว่าปลาเพศเมีย ที่บริเวณโคนหางมีจุดสีดำขึ้นอยู่ข้างละจุด ลักษณะเพศของปลาปรากฏให้เห็นเด่นชัดเมื่อปลามีขนาด 3-4 เซนติเมตร ขึ้นไป เมื่อโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในตู้อะแควเรี่ยมมักมีขนาดโตไม่มากนัก

ปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่วจัดว่าเป็นปลาค่อนข้างเลี้ยงง่ายและอดทน เทคนิคในการเลี้ยงก็ไม่ยุ่งยากวิธีการเลี้ยงๆ เหมือนปลาตะเพียนทองหรือปลากระแห จัดว่าเป็นปลาที่มีความว่องไวและปราดเปรียว ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงแต่ไม่ค่อยอยู่นิ่ง กินอาหารได้แทบทุกชนิดทั้งอาหารสด และอาหารเม็ดสำเร็จรูป เป็นปลาที่กินเก่ง และโตไว เมื่ออยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่เวลาแหวกว่ายแลดูสวยงามมาก เพราะปลาชนิดนี้มีสีสันแวววาวระยิบระยับจับตามากทีเดียว เป็นปลาที่มีนิสัยรักสงบดังนั้นจึงสามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นที่มีขนาดไล่เลี่ยกันหรือมีขนาดเล็กกว่า แต่ไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นที่มีนิสัยดุร้ายเพราะอาจถูกปลาอื่นทำร้ายเอาได้ ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ไม่ทำลายไม้น้ำ ดังนั้นภายในตู้เลี้ยงจึงสามารถปลูกพันธุ์ไม้น้ำหรือตกแต่งได้ การเลี้ยงปลาชนิดนี้ควรเลี้ยงในตู้ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร เพราะปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่วเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้รวดเร็ว การเลือกใช้ตู้ปลาขนาดใหญ่นอกจากเป็นการช่วยให้ปลามีเนื้อที่ในการว่ายน้ำแล้ว ยังช่วยเพิ่มบรรยากาศในการชมปลาได้ดีอีกด้วย

การเพาะพันธุ์ปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่ว

ปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่วชนิดนี้เป็นปลาที่เพาะพันธุ์ได้ไม่ยาก ขนาดของตู้ที่เหมาะสมที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ควรเป็นตู้ที่มีความจุของน้ำราว 100 ลิตรขึ้นไป ภายในตู้ควรปลูกพันธุ์ไม้น้ำ และพื้นตู้ควรปูด้วยหินกรวดเพื่อให้ไข่ปลารอดพ้นจากกการถูกพ่อแม่ปลากิน การผสมพันธุ์ควรใช้ปลาตัวผู้ 2 ตัวต่อปลาตัวเมีย 1 ตัว เหตุผลเพื่อให้น้ำเชื้อของปลาเพศผู้ผสมกับไข่ปลาได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น เพราะปลาชนิดนี้วางไข่กระจัดกระจายไปทั่วตู้ ภายหลังจากที่ปลาวางไข่เป็นที่เรียบร้อยแล้วให้แยกพ่อแม่ปลาออกจากตู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลากินไข่ของตนเอง ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่วางไข่ครั้งละมากๆ ไข่ฟักเป็นตัวภายในเวลา 24 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียส ภายหลังจากที่ปลาผสมพันธุ์วางไข่ และแยกพ่อแม่ปลาออกแล้ว ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำภายในตู้ออกราว 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำภายในตู้ แต่น้ำที่เติมเข้าไปใหม่ควรควบคุมให้มีสภาพ และอุณหภูมิใกล้เคียงกับน้ำภายในตู้เพาะพันธุ์ให้มากที่สุด ปกติปลาวางไข่ในยามใกล้รุ่ง ภายหลังที่ไข่ฟักจนเป็นตัวแล้วภายใน 3 วัน ลูกปลาสามารถว่ายน้ำได้อย่างเป็นอิสระ ช่วงนี้ควรให้ไรแดงเป็นอาหารโดยแบ่งให้วันละหลาย ๆ มื้อ แต่ให้น้อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปลาเป็นโรคท้องอืดเนื่องจากกินอาหารมากจนเกินไป และยังช่วยให้ลูกปลามีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็วขึ้นอีกด้วย

โดยปกติปลาโรซี่บาร์บหัวตะกั่วมักชอบอาศัยอยู่ในน้ำที่มีความกระด้างเล็กน้อย แต่เมื่อเวลาใกล้ผสมพันธุ์กลับชอบอยู่ในน้ำอ่อน ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่กินไข่ และลูกของตัวเอง ดังนั้นผู้เพาะเลี้ยงควรหมั่นเฝ้าดู เมื่อปลาวางไข่แล้วได้แยกพ่อแม่ปลาได้ทันก่อนที่พ่อแม่ปลากินไข่ของตนหมดเสียก่อน

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares