อะโรวาน่า (อะโรวาน่า)

อะโรวาน่า (อะโรวาน่า)

ชื่อสามัญ อะโรวาน่า (อะโรวาน่า) Arowana

ชื่อวิทยาศาสตร์ อะโรวาน่า (อะโรวาน่า) Scleropages formosus

ลักษณะทั่วไปของปลาอะโรวาน่า

อะโรวาน่าเป็นปลามหัศจรรย์ที่สุดในบรรดาปลาสวยงามเพราะเป็นปลาโบราณที่ยังคงเหลืออยู่จากยุคหินให้นักเพาะเลี้ยงปลาทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่นได้ชื่นชมอยู่ตลอดเวลา จากหลักฐานการค้นพบปลาชนิดนี้ที่ฝังตัวอยู่ใต้พื้นดิน นักวิทยาศาสตร์บางท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอายุของปลาชนิดนี้ว่าปลาอะโรวาน่ามีมากว่า 60 ล้านปี ต่อมาเมื่อสภาวะธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงจึงทำให้ปลาชนิดนี้มีการโยกย้ายที่อยู่อาศัย และมีการกระจายอย่างกว้างขวาง เช่น ลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ ลุ่มแม่น้ำไนล์ ทวีปแอฟริกา ประเทศออสเตรเลีย นิวกินี หรือแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ปลาอะโรวาน่ามีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างเรียบง่าย ทนต่อสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติก็จริง แต่ระบบการเพาะพันธุ์ค่อนข้างซับซ้อน ถึงมีบางประเทศทำการเพาะพันธุ์ได้แต่ก็มีปริมาณที่น้อยมาก จนทำให้ประเทศที่ถือกำเนิดปลาชนิดนี้ต้องออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า และปลาอะโรวาน่าอย่างเด็ดขาด จึงทำให้ปลานี้มีราคาแพง ตัวหนึ่งราคาประมาณ 1,000 - 10,000 บาท

จากการศึกษาปลาอะโรวาน่าดำ แถบลุ่มแม่น้ำอเมซอน ในปี ค.ศ. 1829 พบว่า ปลาอะโรวาน่าเลิน มีการขยายพันธุ์มากกว่าปลาอะโรวาน่าชนิดอื่น สมัยนั้นชาวพื้นเมืองนิยมใช้เป็นอาหาร จากนั้นมาได้มีผู้เชี่ยวชาญชื่อ Dr. Vandell ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แก่ปลาชนิดนี้ว่า Osteoglossum biairrohosum และมีปลาอีกชนิดที่มีรูปร่างคล้ายกับปลาอะโรวาน่านั่นคือ อะราไพม่า ในแหล่งน้ำเดียวกัน และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แก่ปลาชนิดนี้ว่า Arapaima gigos ภายหลังได้ค้นพบปลาตระกูลนี้ทางตอนบนของลุ่มแม่น้ำไนล์ทวีปแอฟริกาจึงเรียกชื่อว่า อะโรวาน่าแอฟริกา ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heterotic nilotious

ประเทศฝรั่งเศสได้มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปลาน้ำจืดได้ค้นพบปลาอะโรวาน่าเวียดนามใน ค.ศ. 1933 บริเวณลำธารกลางหุบเขาของ กรุงไซ่ง่อน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 150 กม. ครั้นถึง ค.ศ. 1966 ได้ค้นพบปลาประเภทนี้อีกที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย

ประเทศไทยได้ค้นพบปลาอะโรวาน่า ตะพัด หรือมังกร แถบจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราดในอำเภอเขาสมิง ตามแหล่งน้ำบริเวณเขาบรรทัด และแม่น้ำทางใต้ที่ติดกับแนวชายแดนประเทศมาเลเซีย ปลาอะโรวาน่าที่เอ่ยมานั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่เหมือนกัน Sclercopages formosus ปัจจุบันนี้ปลาประเภทนี้นิยมเลี้ยงกันมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะค่อนข้างดีเนื่องจากราคาสูงกว่าปลาสวยงามประเภทอื่น ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นสำหรับต่างประเทศในทวีปเอเซียก็นิยมเลี้ยงกันมาก เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย

ปลาอะโรวาน่าวัยอ่อน ตามแนวสันหลังเริ่มจากขอบปากตลอดจนถึงครีบหาง มีลักษณะเป็นเส้นตรง แต่เมื่อปลาโตเต็มที่ตามแนวสันหลังโค้งงอเล็กน้อย บนพื้นลำตัวมีแผ่นเกล็ดที่ค่อนข้างหนา และใหญ่เรียงเป็นแถวอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของลำตัว ซึ่งยาวถึงโคนครีบท้อง ปลาอะโรวาน่าจัดเป็นปลาหางกลม ปากกว้างใหญ่มีฟันแหลมคมอยู่บริเวณขากรรไกรล่าง และบน รวมถึงเพดานปาก มีหนวด 1 คู่ อยู่ที่ขากรรไกรล่าง ดวงตากว้างโต แววตาแจ่มใส ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.5 - 4.8 เท่าของความกว้าง เฉลี่ยแล้วเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 1 เมตร น้ำหนัก 7 กิโลกรัม ปลาที่อยู่ในตระกูลนี้มีโครงสร้าง และหลอดอาหารที่กว้างใหญ่ ลิ้นมีกระดูก

ปลาอะโรวาน่าชอบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ บริเวณธารน้ำไหลนิ่งหรือบริเวณน้ำตื้น ๆ ตามร่มเงาของต้นไม้ที่ขึ้นตามริมขอบแม่น้ำ ใต้พื้นน้ำเป็นกรวดทราย สภาพของน้ำควรมีความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 66.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงระหว่าง 77 องศาฟาเรนไฮด์ เมื่อถึงฤดูวางไข่ปลาตัวผู้ และตัวเมียชอบอมไข่ไว้ภายในช่องปาก อาหารโปรด คือ สัตว์น้ำขนาดเล็ก และเนื้อสัตว์ที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอเหมาะกับปาก นิสัยเชื่องช้า รักสงบ สันโดษ ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม

ลักษณะพันธุ์ปลาอะโรวาน่า

พันธุ์ปลาอะโรวาน่าที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นปลาที่กำเนิดในทวีปเอเซียทั้งสิ้น แต่บางครั้งพบว่ามีผู้เลี้ยงปลาอะโรวาน่าสั่งซื้อปลาชนิดนี้ข้ามทวีปมาเลี้ยง แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก ปลาอะโรวาน่า ทวีปเอเซียที่เลี้ยงกันมากมี 3 สายพันธุ์ แต่ละพันธุ์มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากแตกต่างกันตรงที่สีสัน และครีบของลำตัวเป็นหลัก ดังนี้

  1. อะโรวาน่าแดง (Red arowana) เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงกว่าพันธุ์อื่น ราคาสูงมาก ลักษณะของปลาพันธุ์นี้สังเกตได้ที่แนวสันหลังมีสีน้ำตาลอมแดง แผ่นเกล็ดค่อนไปทางด้านหลังเล็กน้อยมีสีเขียวอมน้ำตาล ส่วนแผ่นเกล็ดบนพื้นลำตัวสีออกเขียวปนแดง หรือเขียวส้ม ส่วนท้อง และกระดูกเหงือกมีสีแดงอมส้ม และบริเวณโคนครีบทุกครีบมีสีเขียวอ่อน ส่วนปลายครีบมีสีแดงเลือดหมูหรือแดงอมส้ม ขอบปากสีแดงส้ม ถือกำเนิดในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น
  2. อะโรวาน่าทอง (Golden arowana) ลักษณะส่วนประกอบต่าง ๆ เหมือนกับอะโรวาน่าแดง ต่างกันตรงที่สีสันอะโรวาน่าทองมีสีเหลืองทอง และมีราคาถูกกว่าอะโรวาน่าแดง จึงได้รับความนิยมน้อยกว่า อะโรวาน่าแดง ปลาชนิดนี้ถือกำเนิดในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
  3. อะโรวาน่าน้ำเงินหรือ อะโรวาน่าเขียว (Silver หรือ Green arowana) ลักษณะตามแนวสันหลังของอะโรวาน่าสีน้ำเงินหรือมีสีเขียวปนน้ำเงิน ตามแผ่นเกล็ดบนลำตัวสีเงินยวง ครีบทุกครีบมีสีเขียวอมน้ำตาล ปลาชนิดนี้ราคาต่ำกว่าอะโรวาน่าแดง และอะโรวาน่าทอง พบตามแหล่งน้ำในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทย

เทคนิคและวิธีการดูความแตกต่างระหว่างอะโรวาน่า ปลาอะโรวาน่าแต่ละชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ยากต่อการสังเกตฉะนั้นการเลี้ยงปลาชนิดนี้ต้องอาศัยความชำนาญจากประสบการณ์ หรืออาจใช้วิธีการซักถาม จากร้านขายพันธุ์ปลา ดังเห็นได้ว่าพันธุ์อะโรวาน่ามีหลายสายพันธุ์ เช่น อะโรวาน่าทองอินโด อะโรวาน่าทองมาเลเซีย อะโรวาน่าทอง ดำ เงิน และปลาตะพัดดังกล่าวไว้แล้ว

ปลาอะโรวาน่าทองอินโดนีเซีย

  1. เกล็ดมีขนาดเล็กบอบบาง สีเหลืองอ่อน ไม่แวววาว ขึ้นไม่เต็มแนวสันหลัง จึงทำให้มองเห็นเป็นสีเขียวอมดำ
  2. เมื่อปลามีขนาด 4 - 5 นิ้วขึ้นไป ครีบกระโดง และครีบหางปรากฏมีสีแดง และสีดำอย่างละครึ่งของครีบหาง ครีบก้นมีสีแดงตลอดทั้งครีบ ครีบหางมีขนาดเล็กกว่าปลาอะโรวาน่ามาเลเซียแต่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่สีต่าง ๆ เหล่านี้ ค่อย ๆ จางหายไป
  3. ขนาดลำตัวของปลาอะโรวาน่าอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยาวกว่าปลาอะโรวาน่ามาเลเซีย แต่ลำตัวค่อนข้างแคบ บริเวณหัวทู่แหลม

ปลาอะโรวาน่ามาเลเซีย

  1. เกล็ด มีสีสันแวววาวโดยเฉพาะบริเวณปลายเกล็ด ขอบเกร็ดแผ่กว้างใหญ่และหนา การขึ้นของเกร็ดขึ้นตามแนวสันหลัง มีสีทองตลอดทั้งตัว
  2. สัดส่วนของครีบอก ครีบกระโดง ครีบก้นมีขนาดความยาวกว่าปลาอะโรวาน่าอินโดนีเซีย และมีสีทองอ่อนตลอดทั้งครีบ
  3. ขนาดลำตัวสั้น หนาและกว้างกว่าปลาอะโรวาน่าอินโดนีเซีย ปลาอะโรวาน่ามาเลเซียส่วนหัวทู่ไม่แหลมเหมือนปลาอะโรวาน่าอินโดนีเซีย

เทคนิคการซื้อปลาอะโรวาน่า

ในการที่ผู้เลี้ยงซื้อปลาชนิดนี้มาเลี้ยงต้องมีเทคนิคหรือหลักการที่พิจารณาในการเลือกซื้อดังนี้

  1. ส่วนประกอบต่างๆ ควรสมบูรณ์ โดยเฉพาะครีบหลัง
  2. ครีบกระโดง ครีบก้น และครีบหางต้องแผ่กว้าง ไม่มีรอยตำหนิใด ๆ เลย
  3. ลักษณะของการว่ายสง่างามทุกส่วน ครีบกระโดง ครีบหลัง ครีบทวารไม่ลู่หรือหุบขณะว่าย
  4. ลำตัวควรมีสีเข้ม ริมขอบล่าง และบนของลำตัวต้องขนานกันไปเป็นเส้นตรง
  5. รูปทรงของหนวดทั้งคู่ ควรมีลักษณะกลม และพุ่งตรงออกไปข้างหน้าไม่คดหรืองอ
  6. ดวงตา ควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม คือ ไม่คว่ำหรือตก มิใช่ดวงตาข้างหนึ่งมองกระจกอีกข้างหนึ่งมองพื้นตู้ และควรเลือกดวงตาที่แจ่มใสไม่มัวหมอง

การเลี้ยงปลาอะโรวาน่า

การเลี้ยงปลาอะโรวาน่าผู้เลี้ยงควรเอาใจใส่ทุกเรื่องเป็นพิเศษเนื่องจากปลาชนิดนี้มีนิสัยชอบกัดกันเอง โดยมากผู้เลี้ยงมักเลี้ยงเพียงตัวเดียวในตู้กระจกขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่ตัวปลา และไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น ฉะนั้นการเลี้ยงควรปฏิบัติดังนี้

  1. การเตรียมตู้ปลา ตามธรรมชาติปลาอะโรวาน่าขยายด้านความยาวเพียง 24 นิ้ว ฉะนั้นผู้เลี้ยงต้องเลือกใช้ตู้ที่มีความกว้างยาวพอกับความเคลื่อนไหวไปมา และกลับตัวของปลาได้สะดวกไม่ก่อความอึดอัดให้แก่ตัวปลา ถ้าให้ดีควรเลือกตู้ปลาที่มีขนาดตั้งแต่ขนาด 48 x 20 x 20 ลูกบาศก์นิ้ว หรือ 60 x 24 x 24 ลูกบาศก์นิ้ว ขึ้นไป จึงเหมาะสม
  2. สถานที่ตั้งตู้ปลา จุดสำคัญในการตั้งตู้ปลาอยู่ที่ฐานรองรับนั่นเอง คือขาตู้ควรมีความแข็งแรงทานน้ำหนักปริมาณน้ำในตู้ และตัวปลา โดยเฉพาะตู้ปลาที่เลี้ยงปลาอะโรวาน่าบรรจุน้ำตั้งแต่ 320 - 570 ลิตร เพราะฉะนั้นสถานที่ตั้งตู้ปลาควรอยู่ในที่สงบไม่มีคนรบกวน ให้โดนแสงอ่อน ๆ บ้าง เพื่อให้ปลามีความแข็งแรง และมีสีสันสวยงามขึ้นกว่าเดิมแต่ก็ไม่ควรให้โดนแสงแดดมากเกินไป เพราะทำให้ตู้ปลามีตะไคร่น้ำเกิดขึ้นรวดเร็ว ผู้เลี้ยงจึงนิยมตั้งตู้ปลาบริเวณช่องลม เพื่อให้รับแสงแดดยามเช้า บางครั้งถ้าจำเป็นก็ควรให้แสงสว่างจากหลอดไฟเข้าช่วย
  3. กรวด ทราย หิน ที่ใช้ประดับตู้ปลา การใช้กรวด หิน ทราย ลงไปภายในตู้ปลาไม่ใช่ช่วยให้บรรยากาศในตู้เหมือนธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถเก็บกักสิ่งสกปรก และช่วยกรองน้ำให้ใสสะอาดอีกด้วย ในการนำกรวด หิน ทราย ควรเลือกชนิดที่ขาวสะอาดไม่มีมุมแหลมคม ถ้าเป็นกรวด หิน ทราย ที่ได้มาจากชายทะเลก่อนที่ผู้เลี้ยงนำใส่ตู้ปลาต้องแช่ปล่อยทิ้งไว้ 3-4 วัน จึงนำมาประดับตู้ได้ ก่อนใส่ กรวด หิน ทราย ชั้นแรกควรวางแผ่นกรองบนตู้เสียก่อนแล้วจึงค่อย ๆ ใส่กรวด หิน ทราย ลงไปคลุมด้วยความหนา 1-2 นิ้ว ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับขนาดของตู้ปลาด้วย การใส่หินเพื่อประดับตู้ปลาควรให้ปลามีพื้นที่ว่ายน้ำได้สะดวกไม่จำกัดพื้นที่ เพราะอาจทำให้ปลาได้รับบาดแผลเมื่อปลาได้รับความตื่นตกใจ กรวด ทราย หินที่ใช้ประดับตู้ปลาเป็นเวลานานมากสีค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีคล้ำควรนำออกมาล้างกำจัดสิ่งสกปรกเสีย ปกติการล้างตู้ปลาทำประมาณ 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนปลา และเศษอาหารที่ปลากินเหลือ
  4. ระดับอุณหภูมิ สำหรับประเทศไทยไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจากระดับอุณหภูมิเหมาะสำหรับเลี้ยงปลาอะโรวาน่าอยู่แล้ว เช่น อะโรวาน่าแดง และอะโรวาน่าทอง ชอบอุณหภูมิระหว่าง 24-26 องศาเซลเซียส ส่วนปลาอะโรวาน่าสีน้ำเงิน และอะโรวาน่าดำ ควรปรับอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 27-28 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นฤดูฝน และฤดูหนาวตอนกลางคืน ระดับอุณหภูมิแตกต่างจากกลางวันมาก ดังนั้นควรเปิดไฟทิ้งไว้หรือใช้ฮีทเตอร์ช่วยปรับระดับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับปกติ
  5. สภาพน้ำที่ใช้เลี้ยง สภาพน้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลี้ยงปลาอะโรวาน่า ฉะนั้นผู้เลี้ยงควรรักษาระดับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำให้อยู่ระหว่าง 6.4-6.8 จึงเหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาอะโรวาน่า น้ำที่ใช้เลี้ยงมากที่สุดคือ น้ำประปา เพราะเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค แต่ก่อนนำน้ำประปามาใช้เลี้ยงควรกักน้ำให้เพียงพอ แล้วตั้งทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหย และช่วยรักษาความเป็นกรดด่างให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ปัญหาของน้ำอยู่ตรงที่ว่าเมื่อใช้เลี้ยงไปนานวันเข้าระดับน้ำลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้ปลาเกิดโรคได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงควรถ่ายน้ำเมื่อเห็นว่าสภาพของน้ำสกปรก
  6. การปล่อยปลา จากการเตรียมอุปกรณ์เสร็จแล้ว ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเติมน้ำยาปฎิชีวนะลงไปในตู้ปลา เพื่อช่วยรักษาความบอบช้ำต่าง ๆ ของปลา ยาปฏิชีวนะที่นิยมใส่ก่อนปล่อยปลาได้แก่ คลอแรมเฟนิคอล แอมพิซิลิน เตตร้าซัยคลิน อัตราส่วนในการผสมตัวยา 1 แคปซูลต่อน้ำ 20 ลิตร การซื้อปลาจากแหล่งขายปลา ผู้ขายส่วนใหญ่มักใช้ถุงพลาสติกบรรจุ ผู้เลี้ยงควรนำถุงพลาสติกนั้นไปแช่ลงในตู้ไว้ 15-20 นาที เพื่อให้ปลาสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมของน้ำที่ใช้เลี้ยงได้ดีขึ้น
  7. การให้อาหาร ปลาไม่ยอมกินอาหารเนื่องจากไม่คุ้นเคยกับสภาพน้ำ หลังจากนี้ประมาณ 2-3 วัน ปลาค่อย ๆเริ่มกินอาหาร ถ้าปลาอะโรวาน่าขนาดต่ำกว่า 4-5 นิ้ว อาหารที่ให้ควรเป็นหนอนแดง ลูกน้ำ ลูกปลา ฯลฯ เมื่อโตขึ้นมาหน่อยพอที่กินอาหารสดหรือแมลงตัวเล็ก ๆ เช่น กุ้งฝอย จิ้งจก แมลงสาบ ตะขาบ เนื้อกุ้งทะเล หมึก เนื้อหมู เนื้อไก่ ก็ควรให้กิน เพราะว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเพิ่มสีให้เข้มขึ้น แต่อาหารประเภทเครื่องในไม่จำเป็นก็ไม่ควรให้โดยเฉพาะตับเพราะเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจทำให้ปลาท้องอืดได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงควรเลือกอาหารให้เหมาะสมตามชนิดของปลา การให้ต้องเป็นเวลา เฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อวัน
  8. การเปลี่ยนน้ำ จากลักษณะนิสัยการกินอาหารของปลาอะโรวาน่าที่ชอบกินอาหารสด จึงทำให้สภาพของน้ำภายในตู้เกิดการเน่าเสียได้ง่าย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคต่าง ๆ รวมไปถึงการเกิดก๊าซไนเตรท ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อปลาได้ เช่น ถ้าปลามีแววตาขุ่นมัว ครีบทุกครีบมีสีไม่สดใสขาดความงามไป ผู้เลี้ยงควรทำการถ่ายน้ำทุก ๆ สัปดาห์ ในการถ่ายน้ำทุกครั้งประมาณ 1/4 ของปริมาณน้ำภายในตู้ทั้งหมด แล้วใส่น้ำใหม่ไปแทนที่ในระดับน้ำเก่า การถ่ายน้ำปลาอะโรวาน่าในช่วงแรกหากไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุสุดวิสัยไม่ควรถ่ายน้ำเพราะอาจทำให้ปลาเครียด และตื่นตกใจพุ่งชนกระจกตู้ปลาถึงแก่ความตายได้ ฉะนั้นผู้เลี้ยงควรปล่อยให้ปลามีความคุ้นเคยกับสถานที่เสียก่อนประมาณ 7 วัน จึงเริ่มถ่ายน้ำ และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ ผู้เลี้ยงควรปิดฝาตู้ปลาให้สนิทเพื่อป้องกันปลากระโดด

การแพร่ขยายพันธุ์ปลาอะโรวาน่า

เดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2509 ณ ลองเจบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเพาะพันธุ์ปลาอะโรวาน่าสีน้ำเงินประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยการนำพ่อแม่พันธุ์ปลาอะโรวาน่าที่มีลักษณะสมบูรณ์มาขุน และปรับสภาพความเป็นอยู่ให้พร้อม เพื่อการผสมพันธุ์ในตู้ปลาที่มีความจุน้ำ 360 แกลลอน ขุนด้วยการให้กินลูกปลาขนาดเล็ก เช่น ลูกปลาทอง ลูกกุ้ง วันละ 100 ตัว เรื่อย ๆ ไปจนถึงกำหนด 14 วัน การขุนครั้งนี้สังเกตได้ว่าพ่อปลาเท่านั้นที่กินอาหาร ส่วนแม่ปลาไม่ยอมแตะต้องอาหารแม้แต่มื้อเดียว เมื่อสภาพร่างกายสมบูรณ์เต็มที่ แม่ปลาวางไข่ชุดแรกประมาณ 12 ฟอง เป็นไข่ประเภทจมน้ำเกาะติดพื้นตู้ ต่อจากนั้นพ่อปลาฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมคลุกเคล้ากับไข่จนทั่วถึง พ่อแม่ปลาทั้งสองต่างดูดอมไข่ไว้ในช่องปาก ซึ่งช่องปากมีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็กสามารถขยายได้เพื่อเก็บ และฟักไข่จำนวนมาก พ่อแม่ปลาดูดไข่ไว้ปริมาณเท่า ๆ กัน จนเข้าวันที่ 3 แม่ปลาเริ่มทยอยปล่อยไข่ที่อมออกมา และมีพฤติกรรมเกเรต่อพ่อปลา ผู้เลี้ยงจึงควรแยกแม่ปลาออกจากตู้เพาะเลี้ยง พอเช้าวันที่ 7 พ่อปลาเริ่มคายเปลือกไข่ที่อมไว้ออกมาก็แสดงว่าไข่ถูกฟักออกเป็นตัวอ่อน ช่วงนี้ตัวอ่อนถูกพ่อปลาอมไว้ในปากเป็นระยะเวลา 45 วัน ซึ่งช่วงนี้พ่อปลาไม่ยอมกินอาหารจนกว่าลูกปลาเริ่มเคลื่อนไหว และว่ายออกมาจากปากรวมทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 66 วัน ลูกปลาที่เกิดใหม่ควรให้อาหารจำพวกอาร์ทีเมีย และแยกออกไปเลี้ยงในตู้เพาะตามลำพังเพียงตัวเดียว เนื่องจากลูกปลาเมื่อเติบโตมีนิสัยดุร้ายกัดกันเอง สำหรับพ่อปลาค่อย ๆ เริ่มกินอาหารจำพวกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กต่อไป

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares