การโยนช่อดอกไม้ในพิธีแต่งงาน

การโยนช่อดอกไม้ในพิธีแต่งงาน

การแต่งงานคือความฝันอันสูงสุดของหญิงสาวหลายๆ คน อาจเป็นเพราะชุดเจ้าสาวที่ดูสวยหรูราวกับเจ้าหญิง และพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้ภายในงานอบอวลไปด้วยความรัก และภายในงานเจ๊มั่นใจว่าต้องมีสาวโสดหลายคนที่เข้าไปร่วมงานเป็นสักขีพยานรัก และตั้งตารอธรรมเนียมการโยนช่อดอกไม้หลังพิธีกรรมเสร็จสิ้นกันอย่างแน่นอน

ตามธรรมเนียมพิธีแต่งงานของชาวตะวันตก หลังจากเสร็จพิธีเจ้าสาวจะโยนช่อดอกไม้ เพื่อให้แขกที่เป็นสาวโสดแย่งกันรับ หากสาวคนใดเก็บได้จะถือว่าเป็นผู้โชคดีที่จะมีข่าวดีได้แต่งงานในเร็ววัน แต่ในปัจจุบันเจ้าสาวชาวตะวันตกไม่ค่อยนิยมโยนช่อดอกไม้แล้วด้วยเหตุผลที่หลากหลายเช่น อยากเก็บไว้เอง เพราะเป็นความทรงจำที่น่าประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิต เจ้าสาวบางคนจะมอบให้กับแม่เก็บรักษาไว้ หรือนำไปวางที่หน้าหลุมศพของคุณย่าหรือคุณยายที่ล่วงลับ

ประวัติความเป็นมาของการโยนช่อดอกไม้

การโยนช่อดอกไม้ของเจ้าสาวเป็นประเพณีทั่วทั้งทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือมีที่มาตั้งแต่สมัยยุโรปยุคกลาง (ค.ศ.400-476 ถึง ค.ศ.1453-1517 หรือประมาณ 1,600-500 ปีที่แล้ว) ช่วงแรกเจ้าสาวไม่ได้คิดว่าจะต้องใส่ชุดแต่งงานอีก และชุดแต่งงานก็ถือเป็นเครื่องรางนำโชคสำหรับหญิงคนอื่นเพื่อสร้างความเจริญเติบโตของครอบครัว เมื่อจบพิธีแต่งงานจะยกชุดให้คนอื่น และสาวโสดทั้งหลายต่างก็อยากได้ชุดแต่งงานมาครอบครอง จึงไล่จับเจ้าสาวและฉีกชุดเป็นชิ้นๆ จนรุ่งริ่ง เมื่อเวลาผ่านไปชุดแต่งงานมีราคาสูงขึ้นและเริ่มมีประเพณีที่จะเก็บชุดแต่งงานไว้เพื่อเป็นของที่ระลึก หรือเพื่อให้ลูกสาวได้ใช้ในวันแต่งงานข้างหน้าเพื่อเป็นการป้องกันแขกเหรื่อฉีกชุดแต่งงาน เจ้าสาวทั้งหลายจึงเริ่มที่จะโยนสิ่งอื่นๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หนึ่งในนั้นก็คือยางรัดถุงน่อง ต่อมาช่อดอกไม้เป็นสิ่งที่นิยมจนเป็นประเพณีมากที่สุด ซึ่งช่อดอกไม้เหมาะสมมากเพราะดอกไม้ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการเจริญเติบโต และดอกไม้ก็ต้องเหี่ยวเป็นธรรมดา เจ้าสาวจึงไม่คิดที่จะเก็บไว้

นอกจากนี้การโยนช่อดอกไม้ยังปลอดภัยกว่าการโยนยางรัดถุงน่องอีกด้วย เพราะแขกเหรื่อที่ดื้อด้านและไม่มีความอดทนบางคน ถึงกับพยายามที่จะเอายางรัดถุงน่องจากเจ้าสาวในขณะที่เจ้าสาวยังใส่อยู่เลย คู่บ่าวสาวสมัยใหม่บางคู่ไม่ชอบประเพณีการโยนช่อดอกไม้และหากไม่ดัดแปลงบ้างก็จะงดไปเลย

การโยนช่อดอกไม้สามารถสร้างความอึดอัดใจให้กับแขกผู้หญิงที่ประสงค์จะไม่แต่งงานอยู่แล้ว หรือแขกที่ไม่ชอบเป็นจุดเด่นด้วยธรรมเนียมเช่นนี้ อีกทั้งการแย่งกันรับก็สร้างความวุ่นวายและความโกลาหลได้ด้วย เจ้าสาวบางคนเตรียมการเอาไว้ก่อน โดยบอกให้เพื่อนเจ้าสาวหรือเพื่อนที่หมั้นแล้วมารับช่อดอกไม้ นอกจากนี้บางคนเลือกที่จะมอบช่อดอกไม้เล็กๆ ให้กับเพื่อนเจ้าสาวแต่ละคน หรือมอบดอกไม้จากช่อดอกไม้ใหญ่ให้กับแขกที่เป็นผู้หญิงทุกคนคนละดอก

ความหมายของช่อดอกไม้เจ้าสาว

นอกจากชุดเจ้าสาวที่มีความสำคัญมากๆ สำหรับเจ้าสาวแล้ว ช่อดอกไม้ก็เป็นอะไรที่สำคัญไม่แพ้กัน สาวๆ รู้กันบ้างมั้ยคะว่าช่อดอกไม้ที่ใช้ดอกไม้แต่ละชนิดก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ใครชื่นชอบดอกไม้แบบไหนและชอบความหมายที่ดีๆ ของดอกอะไร ก็เลือกดูได้เลยค่ะ

  • ช่อดอกกุหลาบ หมายถึง ความรักอันโรแมนติก ความสวยงาม เสน่ห์ดึงดูดและรักแท้
  • ช่อดอกลิลลี่ ออฟ เดอะ วาลเล่ย์ หมายถึง ความสุขของเจ้าสาวและเส้นทางที่จะนำไปพบความสุข เหมือนอยู่บนสรวงสวรรค์
  • ช่อดอกคาลล่าลิลลี่ หมายถึง ความหรูหราสง่างามของเจ้าสาว ซึ่งจะโดดเด่นตราตรึงอยู่ในใจของเจ้าบ่าวตลอดไป
  • ช่อดอกทิวลิป หมายถึง ตัวแทนของความรักที่เต็มเปี่ยมระหว่างคู่สมรส และแทนความสุขสดใหม่ของความรักตลอดไป
  • ช่อดอกเรนันคูลัส หมาย การตกหลุมรักกันอย่างลึกซึ้งของคู่บ่าวสาว

แหม!! ก็ช่อดอกไม้ในพิธีแต่งงานมันเป็นอะไรที่โรแมนติ๊ก..โรแมนติก จะมีสาวคนไหนล่ะค่ะที่จะไม่ปรี่เข้าไปรับช่อดอกไม้ของเจ้าสาวถึงบางคนจะยังไม่มีคู่ชู้ชื่นอยู่ข้างกาย แต่ได้ช่อดอกไม้เอาไว้ให้อุ่นใจว่าเราอาจจะได้แต่งงานเป็นรายต่อไปก็สบายใจดีเนอะ อิอิ

ขอขอบคุณ ที่มา : Spicy ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

 

airban-300x250
0
Shares