ชุดประจำชาติเกาหลีและญี่ปุ่น

ชุดประจำชาติเกาหลีและญี่ปุ่น

ทุกวันนี้ละครเกาหลีกับญี่ปุ่นเข้ามาแจ้งเกิดเบิกบานในบ้านเราอย่างออกหน้าออกตา ทำให้คนดูอย่างเราพลอยได้ศึกษาวัฒนธรรมของ 2 ชาตินี้ไปด้วย และบ่อยครั้งที่เราจะเห็นตัวละครแต่งชุดประจำชาติน่ารักๆ ในชีวิตประจำวัน จนอดทึ่งไม่ได้ที่เขาพยายามรักษาวัฒนธรรมดีๆ ของชาติตัวเองเอาไว้
ชุดประจำชาติเกาหลี พูดถึงชุดประจำชาติเกาหลีแล้วอดนึกถึงแม่นางแดจังกึมกับสาวๆ ชาววังไม่ได้ ชุดแบบนี้เรียกรวมๆ ทั้งของผู้หญิงและผู้ชายว่า "ชุดฮันบก" สำหรับชุดของผู้หญิงจะตัดเย็บให้หลวมเข้าไว้ เพื่อปกปิดความโค้งเว้าของรูปร่าง แบ่งเป็น 2 ชิ้น ท่อนบนเป็นเสื้อที่เรียกว่า "ชอกอรี" กับกระโปรงสุ่มบานๆ เรียกว่า "ชีมา" ส่วนชุดผู้ชายจะใส่เสื้อที่เรียกว่า "ชอกอรี" เหมือนกัน แต่ท่อนล่างจะเป็นกางเกงขายาว เรียกว่า "พาจิ"ชุดฮันบกนี้ถือได้ว่าเป็นชุดที่รวมเอกลักษณ์ความเป็นเกาหลีเอาไว้ คือสื่อถึงความเรียบร้อยและความอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน แหม! คอนเซ็ปต์เดียวกับชุดไทยเราเป๊ะเลย

ถึงชาวเกาหลีจะใส่ฮันบกทุกวัน แต่เนื้อผ้าที่เอามาตัดเย็บจะเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ เวลาหน้าร้อน ก็จะใส่ชุดผ้าป่านลงแป้งแข็งซึ่งระบายลมได้ดี พอถึงหน้าหนาวซึ่งที่นี่หนาวสยองมากๆ ก็ต้องเปลี่ยนมาใส่ชุดที่ทำจากผ้าฝ้ายและใส่กางเกงขายาวไว้ข้างในอีกตัวเพื่อเก็บรักษาไออุ่นของร่างกายเอาไว้ ไม่งั้นมีสิทธิ์แข็งตายเอาง่ายๆ
ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าสีของชุดฮันบกต้องเป็นสีอะไร แต่ส่วนใหญ่ชาวเกาหลีจะใส่ชุดฮันบกสีขาวในวันธรรมดา แต่ถ้าจะไปงานก็จะใส่ชุดที่เป็นผ้าสีเพื่อให้ดูหรู สีที่เลือกใช้กันมักจะเป็นสีแดง เหลือง น้ำเงินและสีดำ

ชาวเกาหลีใส่ชุดฮันบกกันมาเป็นพันปี จนเพิ่งมาเปลี่ยนเป็นชุดแบบตะวันตกเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อนนี่เอง ในช่วงที่ถูกวัฒนธรรมตะวันตกแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก ทุกวันนี้ชาวเกาหลีจะใส่ฮันบกในวันสำคัญๆ อย่างวันหมั้น วันแต่งงาน วันซอลลัล (วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ) หรือวันชูซก (วันขอบคุณพระเจ้า) เท่านั้น

ชุดประจำชาติญี่ปุ่น พูดถึงเกาหลีแล้ว จะข้ามชาติคู่รักคู่แค้นอย่างญี่ปุ่นไปได้ยังไง แต่เดิมในสมัยนารา (ค.ศ. 710-794) ชาวญี่ปุ่นนิยมแต่งชุดท่อนบนกับท่อนล่างเหมือนกัน หรือไม่ก็เป็นผ้าชิ้นเดียวกันไปเลย จนมาถึงสมัยเอฮัน (ค.ศ. 794-1192) จึงได้เริ่มมีชุดประจำชาติที่เรียกว่า "กิโมโน" ในระยะแรกกิโมโนเป็นเพียงชุดที่ตัดตรงๆ ผ่าหน้า เพื่อให้สวมใส่ง่าย เวลาจะใส่ก็แค่หยิบมาคลุม และใส่ได้ในทุกโอกาส เพียงเปลี่ยนเนื้อผ้าไปตามความร้อนหรือหนาวของอากาศเท่านั้น เมื่อกิโมโนเป็นที่นิยมแล้วกูรูแฟชั่นญี่ปุ่นในยุคนั้นก็พยายามออกแบบให้กิโมโนมีสีสันสวยน่าใส่และให้เหมาะกับชนชั้นทางสังคมด้วย ถือได้ว่ายุคนี้เป็นสมัยที่กิโมโนมีการพัฒนาในเรื่องสีมากที่สุด มาถึงยุคต่อมา ในยุคคามาคุระ (ค.ศ. 1338-1573) ชาวญี่ปุ่นทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะนิยมใส่ชุดกิโมโนที่สีสันจัดจ้าน ยิ่งเป็นนักรบจะต้องยิ่งใส่ชุดที่สีฉูดฉาดมากๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้นำ จนบางครั้งพวกแม่ทัพถึงขนาดแข่งกันว่าชุดใครจะสีสันแสบทรวงกว่ากันก็มี มิน่า! สงสัยอยู่แล้วเชียวว่า ทำไมหนุ่มๆ ชาตินี้ถึงได้ช่างแต่งตัวกันเหลือเกิน ที่แท้ก็รักสวยรักงามกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์นี่เอง

ต่อมาในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1600-1868) เป็นสมัยที่โชกุนโตกูกาวาปกครองญี่ปุ่นโดยวิธีซีอีโอ คือ กระจายอำนาจให้ขุนนางไปปกครองตามแคว้นต่างๆ กันเอาเอง ในช่วงนี้นักรบซามูไรแต่ละสำนักจะแบ่งแยกกันชัดเจนด้วยเครื่องแบบประจำสำนัก สมัยนั้นถือว่ากิโมโนของซามูไรเป็นหน้าเป็นตาของสำนักมากๆ เสื้อผ้าในยุคนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ กิโมโน กับคามิชิโม หรือชุดที่ตัดด้วยผ้าลินินเอาไว้ใส่คลุมชุดกิโมโน และกางเกงขายาวที่ดูเหมือนกระโปรงแยก ศิลปะการตัดเย็บกิโมโนพัฒนาถึงขีดสุดจนกลายมาเป็นศิลปะของชาติในยุคนี้เอง กิโมโนอยู่คู่กับชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นมาจนถึงสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) ช่วงนั้นญี่ปุ่นได้รับการแทรกแซงทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรงจากตะวันตก ชุดกิโมโนจึงเริ่มหายไปจากท้องถนน ปัจจุบันนี้ชาวญี่ปุ่นก็เหมือนกับชาวเกาหลีและคนไทยเรา คือจะใส่กิโมโนเฉพาะในวันสำคัญๆ เท่านั้น

ขอขอบคุณ ที่มา : spicy ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

 

airban-300x250
0
Shares