ที่มาของสำนวนเปรี้ยวๆ ที่คุณยังไม่รู้

ที่มาของสำนวนเปรี้ยวๆ ที่คุณยังไม่รู้

สำนวนที่เราพูดกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้โผล่มาจากกระบอกไม้ไผ่ทุกสำนวนมีต้นกำเนิดที่น่าสนใจ และบางที่มาอาจถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์บทหนึ่งเลยทีเดียว

ปั้นน้ำเป็นตัว เป็นสำนวนไทย หมายถึงการพูดที่ไม่จริง เสกสรรปั้นเรื่องที่ไม่มีมูลให้เป็นเรื่องขึ้นมา สำนวนนี้มีที่มาจากนิทานเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่เดินทางไปค้าขายยังต่างเมือง เขาตระเวนไปถึงเมืองๆ หนึ่งซึ่งมีก้อนน้ำแข็งวางขายอยู่ หนุ่มคนนี้ไม่เคยเห็นน้ำแข็งมาก่อนเลยเพราะที่หมู่บ้านของตัวเองไม่มี พอมาเจอเข้าเลยตื่นเต้นมากรีบเก็บน้ำแข็งใส่ห่อผ้า ตั้งใจจะเอากลับไปให้เพื่อนๆ ที่หมู่บ้านช่วยกระดี๊กระด๊าด้วยพอไปถึงเขาก็เรียกคนทั้งหมู่บ้านมารวมตัวกันแล้วคุยโม้ถึงสิ่งที่ไปเจอมา จากนั้นก็เปิดห่อผ้าหมายจะงัดน้ำแข็งขึ้นมาอวด แต่อนิจจา! น้ำแข็งทั้งหมดละลายไปแล้ว คนในหมู่บ้านนั้นเลยประณามเจ้าหนุ่มว่าคิดจะปั้นน้ำเป็นตัวมาหลอกคนอื่น หรือหมายถึงพยายามปั้นเรื่องที่ไม่เป็นจริงขึ้นมานั่นเอง

ข้ามแม่น้ำได้แล้วก็รื้อสะพาน ประโยคนี้เป็นสำนวนจีน หมายถึงใช้ประโยชน์จากคนอื่นจนสำเร็จแล้วก็ถีบหัวส่ง ตรงกับสำนวนไทยว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" ต้นตอเริ่มมาจากการสอบคัดเลือกบัญฑิตเข้ารับราชการของจีน ซึ่งทำกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย จนกระทั่งเข้าสู่ราชวงศ์หยวน ระบบสอบคัดเลือกก็เริ่มเสื่อมโทรมลง มีการทุจริตกินสินบนใช้เส้นสายกันมากขึ้น จนจักรพรรดิหยวนซุ่นตี้ทรงดำริจะยกเลิกระบบนี้ทิ้งไป แต่สวี่โหย่วเหรินขุนนางที่ปรึกษาคนหนึ่งไม่เห็นด้วย จักรพรรดิหยวนซุ่นตี้จึงเรียกขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นและบู๊มานั่งฟังคำตัดสินพร้อมๆ กันโดยให้สวี่โหย่วเหรินนั่งอยู่แถวหน้าสุด จากนั้นทรงประกาศยกเลิกระบบนี้ ขุนนางคนหนึ่งที่ไม่รู้เบื้องหน้าเบื้อหลังเห็นสวี่โหย่วเหรินนั่งอยู่แถวหน้าก็เข้าไปกระแนะกระแหนว่า "ท่านเข้ารับราชการได้เพราะระบบสอบบัญฑิต แต่ท่านกลับนั่งฟังการประกาศยกเลิกเป็นคนแรก ช่างเป็นคนที่ข้ามแม่น้ำได้แล้วรื้อสะพานทิ้งเสียจริงๆ" สวี่โหย่วเหรินได้ฟังก็อับอายมาก นับจากวันนั้นเลยพานไม่ยอมเข้าประชุมอีกเลยตลอดชีวิต จากนั้นสำนวนนี้ก็แพร่หลายไปทั่วแผ่นดินจีน และข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงเมืองไทยเราด้วย

มาก่อนไก่ หรือเอาไก่ผูกก้นมา หมายถึงมาสายผิดเวลามากๆ สำนวนนี้ได้มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่องศรีธนญไชย วันหนึ่งศรีธนญไชยตื่นสายมาเข้าประชุมตอนเช้าไม่ทัน แต่ราชสำนักสยามมีระเบียบว่าขุนนางที่มาประชุมสายจะต้องถูกลงอาญา ศรีธนญไชยเลยออกอุบายเอาไก่ผูกไว้ที่ก้นของตัวเองแล้วเดินยิ้มหน้าตาเฉยเข้าไปในวัง พอถูกถามว่าทำไมถึงมาสาย เจ้าตัวก็ดีตอบว่าตัวเองมาเช้าแล้วเพราะมาก่อนไก่โห่ ความฉลาดช่างพลิกแพลงทำให้สรีธนญไชยเอาตัวรอดไปได้ และสำนวนมาก่อนไก่ก็กลายเป็นสำนวนประชดประชันนับจากนั้นมา เวลาใครมาสายมากๆ คนที่มารอก็จะประชดว่า "เอาไก่ผูกก้นมาด้วยหรือเปล่า" หรือ "มาก่อนไก่เลยนะ"

ตัดหางปล่อยวัด หมายถึงการตัดขาด ไม่เกี่ยวข้องกันอีกต่อไป มีที่มาจากพิธีสะเดาะเคราะห์ในสมัยโบราณของไทยเราที่มักจะใช้ไก่เป็นสัตว์สังเวย โดยพราหมณ์จะทำการขับไล่เคราะห์ร้ายจากคนที่จะสะเดาะเคราะห์เข้าไปในตัวไก่ จากนั้นก็จะเด็ดหรือตัดขนหางของไก่ตัวนั้นจนกุดแล้วเอาไปปล่อยในวัด เท่ากับปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทิ้งไป ในกฎมณเฑียรบาลระบุไว้ว่า "อนึ่งวิวาทตบตีฟันแทงกันให้โลหิตตกในพระราชวังก็ดี และหญิงสาวใช้ทาสไทยผู้ใดคลอดแท้งลูกในพระราชวังก็ดี ท่านให้มันพลีวัง ท่านให้ตั้งโรงพิธีสี่ประตู มีไก่ประตูละคู่ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์สามวัน ให้หาชีพ่อพราหมณ์ซึ่งพลีกรรมมากระทำบวงสรวงตามธรรมเนียม ครั้นเสร็จการพิธีแล้วจึงให้เอาไก่นั้นไปปล่อยเสียนอกเมือง ให้พาเสนียดจัญไร ไภยอุปัทว์ไปให้พ้นพระนครท่าน" พิธีนี้คนไทยเราทำกันเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เริ่มจะซาลง เหลือแต่สำนวนตัดหางปล่อยวัดที่อยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้

ขอขอบคุณ ที่มา : Spicy ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

 

airban-300x250
0
Shares