เรื่องของสีตามประเพณีไทย

เรื่องของสีตามประเพณีไทย

คนไทยเรานิยมตั้งชื่อสีโดยเปรียบเทียบกับธรรมชาติ เช่น สีเขียวอมเหลืองก็เรียกว่าสีตองอ่อน เพราะเอาไปเปรียบเทียบกับใบตองที่ยังไม่แก่จัด เรียกสีแดงอมชมพูว่าสีทับทิม ก็เพราะเอาไปเปรียบกับเมล็ดของผลทับทิม ที่ไมถึงกับแดงเสียทีเดียว แต่ก็ไม่เชิงเป็นสีชมพู นี่ล่ะความช่างสังเกตของคนไทย

และก็เพราะชอบเปรียบเปรยตามธรรมชาตินี่เอง สีที่คนไทยโบราณเรียกกันบางสี เด็กๆรุ่นใหม่เลยไม่เข้าใจว่าควรจะหน้าตาเป็นอย่างไร อย่างเช่น สีจำปาอ่อน จำปาแก่ สองสีนี้ไม่ได้มาจากดอกจำปา แต่มาจากการเอาหัวขมิ้นและดอกคำมาตำรวมกันจนได้ออกมาเป็นสีสำหรับย้อมผ้า ส่วนสีหมากสุกก็มาจากวิธีเดียวกันแต่ผสมด่างและน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อยได้ออกมาเป็นสีเหลืองค่อนไปทางน้ำตาล คล้ายๆผลหมากเวลาสุกเต็มที่

ถึงแม้ว่าคนไทยเราจะฉลาดย้อมสีผ้าได้ทุกสีแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ใส่ทุกสีไปด้วย เพราะบางสีถูกสงวนไว้ให้คนชั้นสูงใส่เท่านั้น อย่างเช่น สีแดงถือว่าเป็นสีสำหรับเจ้านายประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์นุ่งห่มด้วยสีนี้ ใครทำเบาะๆ ก็ถูกคนอื่นค่อนว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเห็นเข้าก็จะมีโทษ ยิ่งถ้าใส่เข้าไปในวังยิ่งไม่ได้เป็นอันขาด กฎหมายบทหนึ่งระบุว่า "อนึ่ง ผู้ใดทัดดอกไม้และนุ่งผ้าแดง ผ้าชมพูไพระกำ...แลเข้าไปในสนวนประตู ทับเรือก็ดี ฝ่ายผ้าเสื้อไซ้ให้ฉีกทิ้งเสีย" แปลว่าในวังนั้นเขาห้ามมคนที่ไม่ใช่เจ้านายนุ่งผ้าแดง ผ้าสีชมพู หรือผ้าที่สีออกไปทางแดง ไม่อย่างนั้นจะถูกจับฉีกเสื้อผ้ากันตรงนั้นเลย

สีประจำวันตามความเชื่อแบบไทย
คนไทยเราตั้งชื่อสีตามสีจากธรรมชาติก็จริง แต่สำหรับสีประจำวันของแต่ละวันนั้น เราเอามาจากสีกายของเทวดาตามที่เขียนไว้ในตำนาน

วันอาทิตย์สีแดง ตำนานเล่าว่าครั้งนั้นพระอิศวรเอาราชสีห์ 6 ตัวมาป่น แล้วห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต บังเกิดเป็นพระอาทิตย์ มีกายแดงฉาน สีแดงเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งและแรงปรารถนา ในด้านสุขภาพ สีแดงยังช่วยในการไหลเวียนโลหิต ทำให้สุขภาพแข็งแรง

วันจันทร์สีเหลือง ตำนานว่าพระอิศวรร่ายพระเวทให้นางฟ้า 15 นาง กลายเป็นผงละเอียด แล้วห่อด้วยผ้าสีเหลืองอ่อน ประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นพระจันทร์ มีกายสีเหลืองนวล สีเหลืองมีความหมายถึงความเจิดจ้า สว่างไสว และความเชื่อใจ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่และชีวิตที่ดีขึ้น

วันอังคารสีชมพู ตำนานเล่าว่า พระอิศวรร่ายพระเวทให้กระบือ 8 ตัวกลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีแดงหลัว ของในห่อผ้านั้นก็บังเกิดเป็นพระอังคาร มีสีกายเป็นสีแก้วเพทายหรือสีชมพู อานุภาพของสีชมพูจะทำให้แรงปรารถนาของสีแดงอ่อนโยนลง กลายเป็นสีอันอ่อนละมุน สีชมพูช่วยในการตัดสินใจได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรัก เพราะสีชมพูหมายถึงความรักที่คงทนและไร้เงื่อนไข ในเรื่องสุขภาพสีชมพูสร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพกายและใจ

วันพุธสีเขียว ตามตำนานบอกว่าพระอิศวรร่ายพระเวทให้พญาคชสาร 17 ตัว กลายเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีเขียวใบไม้ ประพรมด้วยน้ำอมฤตจนบังเกิดเป็นพระพุธ มีสีกายเป็นสีแก้วมรกต สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองและความมีชีวิตชีวา ทำให้สิ่งมีชีวิตเจริญเติบโต เชื่อกันว่าสีเขียวมีคุณลักษณะอันเป็นประโยชน์หลายประการ เช่น ช่วยให้ตาผ่อนคลาย เพิ่มพูนความฉลาดและกล้าหาญ ช่วยป้องกันโรคร้าย สีเขียวจะมีพลังสูงสุดเมื่ออยู่คู่กับคนที่เกิดวันพุธ

วันพฤหัสบดีสีส้ม ตามตำนานบอกว่าพระอิศวรร่ายพระเวทให้พระฤาษี 19ตน กลายเป็นผง แล้วเอาผ้าสีแสดห่อผงนั้น ประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นพระพฤหัสบดี มีสีกายเหมือนสีผ้าที่ห่อ สีส้มเป็นสีที่แสดงถึงความหวัง ช่วยให้คนที่นุ่งห่มด้วยสีนี้กล้าเผยความรู้สึกที่เก็บกดเอาไว้ออกมา

วันศุกร์สีฟ้าหรือสีคราม ตำนานเล่าว่าพระอิศวรร่ายพระเวทให้โค 21 ตัวกลายเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีฟ้า ประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นพระศุกร์มีกายสีฟ้า สีฟ้าแสดงถึงสันติภาพ ความสงบและความฝัน สำหรับคนที่ทำธุรกิจ สีฟ้าช่วยยุติการทะเลาะเบาะแว้ง และช่วยให้มีความกล้าในการตัดสินใจทำสิ่งที่ยากลำบาก

วันเสาร์สีม่วง ตำนานกล่าวว่า พระอิศวรร่ายพระเวทให้เสือ 10 ตัวกลายเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าสีม่วงประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นพระเสาร์ สีม่วงเป็นสีแห่งความลึกลับ ความรุ่งโรจน์ เป็นประโยชน์สำหรับคนที่เคร่งเครียดและบ้างานเพราะจะช่วยให้คนที่สวมใส่ควบคุมอารมณ์ได้ดีมีจิตใจผ่อนคลายขึ้น

ขอขอบคุณ ที่มา : spicy ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares