พฤติกรรมแบบไหนทำร้ายลูก

พฤติกรรมแบบไหนทำร้ายลูก

คุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเองนั้น เคยสังเกตไหมค่ะว่าพฤติกรรมบางอย่างที่คุณทำกับลูกนั้นบางอย่างอาจทำร้ายลูกๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวได้ วันนี้เราเลยมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ ก่อนที่พฤติกรรมเหล่านั้นจะทำร้ายลูกมากไปกว่าเดิม

1. ไม่ให้ทำ พูดง่าย ๆ ก็คือ คุณคือผู้จัดการบริหารทุกสิ่งอย่าง (แม่ทำเอง) โดยที่ลูกไม่ได้มีส่วนร่วมหรือได้ลงมือทำอะไรเลย ซึ่งการทำแบบนี้เท่ากับเป็นการตัดวงจรการเรียนรู้ของเด็กในมิติต่าง ๆ ทำให้ทักษะในการช่วยเหลือตัวเองลดลง ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง เป็นต้น

2. ไม่มีขอบเขต ก็คือตามใจลูกทุกอย่าง โดยลืมสิ่งผิดสิ่งถูก อะไรควรไม่ควร ด้วยความคิดที่ว่าลูกยังเด็กผลกระทบคือ เมื่อลูกออกสู่สังคมอยู่ร่วมกับผู้อื่นก็กลายเป็นเด็กปรับตัวยาก เอาแต่ใจตัวเอง ขาดความอดทน มีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นไม่ราบรื่น และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย

3. ไม่ยืดหยุ่น เพราะคุณต้องการให้ทุกอย่างดี ถูก (เป๊ะเว่อร์) ตลอด ยิ่งลูกทำไม่ได้ดังใจ ก็โกรธก็ตำหนิ เพียงเรื่องเล็ก ๆ ก็แปลงสารเป็นเรื่องใหญ่ การทำแบบนี้จะทำให้พัฒนาการที่ควรเป็นไปของลูกแย่ลง เพราะด้วยความรู้สึกผิดหวัง รู้สึกว่า ตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีอะไรดี ไม่มีความสามารถ ทำอะไรก็ไม่เคยถูกใจพ่อแม่

4. ไม่ยอมรับความจริง การที่คุณมักวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ ตีตนไปก่อนไข้ ย้ำถามย้ำปฏิบัติกับลูก เช่น ไม่ให้ลูกไปไหนมาไหนกับเพื่อน เพราะกลัวลูกจะได้รับอุบัติเหตุ กลัวลูกจะถูกหลอก ไม่ให้ออกนอกบ้าน กลัวลูกจะไม่สบาย นี่แหละคือปัญหาในอนาคตที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กวิตกกังวลได้ง่าย หวาดกลัวจนไม่มีความสุขและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง

5. ไม่ปกป้อง เรื่องความปลอดภัยนั่นเองค่ะ เพราะหลาย ๆ ครั้ง มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น มีสถิติตัวเลขอุบัติเหตุสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการไม่ทันระมัดระวัง เช่น ลืมปิดประตูบ้าน คุยโทรศัพท์จนเพลิน หรือการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กของพ่อแม่เอง อย่าลืมว่า สิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่เป็นรองใคร

6. ไม่ชื่นชม มีแต่คำตำหนิติเตียน คำปรามาสต่าง ๆ เพราะไม่เชื่อว่าลูกจะมีความสามารถทำได้ ไม่เชื่อว่าลูกจะทำสำเร็จ พฤติกรรมที่เอ่ยมา เป็นเหมือนอาวุธที่ทำร้ายจิตใจทำลายความคิดดี ๆ ของลูก ทำให้ลูกของคุณขาดความมั่นใจ ความภูมิใจ บอกเลยว่าแค่คิดก็ผิดแล้วค่ะ

7. ไม่เข้าใจลูก เพราะคุณคิดว่า ทำไมลูกทำได้ไม่เก่งเหมือนเด็กคนอื่น ที่จริงแล้วเด็กทุกคนมีตัวตนของตัวเอง มีอุปนิสัย ความสามารถแตกต่างกัน คุณจึงไม่ควรเปรียบเทียบลูก เพราะเป็นการสร้างความรู้สึกต่ำต้อย ด้อยค่าให้เกิดขึ้นกับลูก ผลร้ายที่หนักกว่าคือ อาจทำให้เด็กรู้สึกเจ็บปวด ยอมแพ้ ละความพยายามหรือเกิดความคิดสวนทาง กลั่นแกล้งคู่แข่งของตัวเอง คุณควรชื่นชมในสิ่งที่ลูกเป็น สนับสนุนในสิ่งที่ลูกสนใจหรือชื่นชอบดีกว่าค่ะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร Mother & Care Vol.11 No.127 กรกฎาคม 2558 ภาพประกอบ healthfood.muslimthaipost.com

airban-300x250
0
Shares