พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กวัย 1-3 ปี

พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กวัย 1-3 ปี

เด็กในวัยนี้ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ หลากหลาย เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ การค้นหา รวมทั้งมีศักยภาพทางพัฒนาการในทุกด้านที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ขึ้น กล่าวคือ ทักษะด้านการเคลื่อนไหว เด็กสามารถเดินได้คล่อง เดินขึ้น-ลงบันไดได้เอง กระโดด ปีนป่ายได้ ทักษะการใช้นิ้วมือ ความคล่องตัว และแม่นยำในการทำงานมากขึ้น ทักษะทางด้านภาษา สามารถโต้ตอบด้วยคำพูดเป็นประโยคสั้น ๆ บอกความต้องการของตัวเอง ตลอดทั้งปฏิบัติตามคำสั่งต่าง ๆ ได้ดี รวมทั้งช่วยเหลือตัวเองในการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ ถอด-ใส่เสื้อผ้า ควบคุมการขับถ่ายได้

ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรตระหนักคือ เรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์การเล่น และกิจกรรมการเล่น ไม่ว่าเด็กจะเล่นคนเดียวหรือเล่นกับผู้อื่นก็ตาม เนื่องจากเด็กวัยนี้ไม่เข้าใจถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น มีความคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างตนเองสามารถทำได้หมด และสามารถควบคุมจัดการในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

อุปกรณ์ของเล่นและเกมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัย 1-3 ปี

อุปกรณ์ / เกม

บล็อกขนาดต่าง ๆ ประมาณ 5-6 ชิ้น อาจทำด้วยไม้ พลาสติก หรือ กระดาษแข็ง หรือเครื่องเล่น Lego หรืออาจใช้กล่องสบู่ กล่องนมแทน ซึ่งสามารถวางต่อกันหรือวางซ้อนกัน

ประโยชน์

เพื่อฝึกทักษะการจับวาง การวางซ้อน การวางเรียง ฝึกทักษะการใช้มือและตาประสานกัน ฝึกการระระยะ ฝึกการสังเกต ฝึกความคิดเปรียบเทียบขนาดต่าง ๆ ของวัตถุ

อุปกรณ์ / เกม

กระดาน ค้อนตอก อาจทำด้วยไม้ หรือพลาสติก

ประโยชน์

เพื่อฝึกทักษะการใช้มือ ข้อมือ และท่อนแขน ตลอดทั้งการทำงานประสานงานกันระหว่างมือกับตา ฝึกการกะระยะ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการใช้อุปกรณ์ของเล่นในการตอก

อุปกรณ์ / เกม

ของเล่นเป็นชิ้นที่มีขนาดต่าง ๆ กัน ใหญ่บ้างเล็กบ้าง หรือยาวบ้างสั้นบ้าง อาจทำด้วยไม้หรือพลาสติก

ประโยชน์

เพื่อฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อ มือ สังเกตรูปร่างและขนาด และรู้จักการเรียงขนาดเป็นระบบ เช่น เรียงตามลำดับจากเล็กไปใหญ่ หรือจากสั้นไปยาวโดยเด็กสามารถเรียนรู้การจัดวางรูป ขนาดเป็นชั้นต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

อุปกรณ์ / เกม

ของเล่นที่ทำให้เกิดเสียง เช่น กล่อง ดนตรี ของเล่นที่จับเขย่า เคาะมีเสียง หรือเครื่องดนตรีประเภท keyboard กรับพวง ฯลฯ

ประโยชน์

เพื่อฝึกความสนใจฟังเสียงต่าง ๆ จากเครื่องดนตรีและสนุกสนาน ฝึกสมาธิและความสนใจ ตลอดทั้งฝึกการใช้มือ นิ้วมือ ในการกด เคาะ หรือตี

อุปกรณ์ / เกม

เกมจ้ำจี้มะเขือเปาะ

ประโยชน์

เพื่อฝึกการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ โดยผู้ใหญ่หรือเด็กจะเป็นผู้นำเกม ใช้นิ้วจิ้มลงบนนิ้วมือของผู้เล่นทีละนิ้ว พร้อมกับร้องเพลง ?จ้ำจี้มะเขือเปาะ? เป็นการฝึกการฟัง สร้างความสนใจ และการมีสมาธิในการเล่นกิจกรรม ตลอดทั้งได้รับการเสริมทักษะพัฒนาการด้านภาษา และรู้จักกติกาอย่างง่ายในการเล่น

ข้อแนะนำในการเล่นของเด็กวัย 1-3 ปี

การเล่นของเด็กในวัยนี้ควรอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอดเวลา แต่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำและเรียนรู้จากการกระทำด้วยตนเอง ให้โอกาสเด็กได้ฝึกความสามารถในการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้แนะหรือให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง (self-esteem) รู้ว่าตนเองมีคุณค่าซึ่งจะสามารถพัฒนาให้เกิดความมั่นใจ และมีบุคลิกภาพที่ดีต่อไปในอนาคต นอกจากนี้เด็กยังมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบลองผิดลองถูก และต้องการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่แปลกใหม่ด้วยตัวเอง ตลอดทั้งยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Ego centric) ไม่ชอบให้ใครมาสั่งหรือบังคับ จึงอาจแสดงออกโดยการต่อต้าน เช่น ขัดใจลงไปนอนดิ้น ร้องกวนอาละวาด หากพ่อแม่รู้จักหลอกล่อหรือเบี่ยงเบนความสนใจ ก็จะลดพฤติกรรมเหล่านั้นได้การเลือกของเล่นให้เหมาะกับความสามารถของเด็กในแต่ละวัย มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กเป็นอย่างมาก พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกสรรของเล่นและจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อเด็กให้เกิดศักยภาพในการรู้ โดยคำนึง

  • ความปลอดภัย
  • ความเหมาะสมกับอายุและพัฒนาการของเด็ก
  • ความสนใจของเด็ก
  • ความสะอาด
  • ความเหมาะสมของราคา
  • วิธีการเล่น

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares