ตาเสือ สรรพคุณ-ประโยชน์ 11 อย่าง

สมุนไพร ตาเสือ

สมุนไพรตาเสือ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า เลาหาง (เชียงใหม่), ขมิ้นดง (ลำปาง), เซ่ (แม่ฮ่องสอน), เย็นดง (กำแพงเพชร), ตาปู่ (ปราจีนบุรี), มะยมหางก่าน (บุรีรัมย์), ตุ้มดง (กระบี่), มะหังก่าน มะฮังก่าน มะอ้า (ภาคเหนือ), โกล ตาเสือ (ภาคกลาง), แดงน้ำ (ภาคใต้), เชือย โทกาส้า พุแกทิ้ เส่ทู่เก๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน), ยมหังก่าน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น

สมุนไพร ตาเสือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Aphanamixis polystachya (Wall.) R.Parker จัดอยู่ในวงศ์ MELIACEAE

ลักษณะของตาเสือ

ต้นตาเสือ จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นหนาแตกเป็นสะเก็ดหลุดล่อนออก ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีเหลือง

ใบตาเสือ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 3-7 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบกลมเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-18 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม

ดอกตาเสือ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงยาว โดยจะตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีทั้งช่อดอกเพศผู้ ช่อดอกเพศเมีย และช่อดอกที่มีทั้งสองเพศ ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นรูปทรงกลม กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันปลายแยกออกเป็น 3 แฉก สีเขียวและมีขน ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ สีเหลือง เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ

ผลตาเสือ ผลมีลักษณะกลม ขนาดประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2-3 ซีก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลดำและมีเยื้อหุ้มเมล็ดสีแดง

สรรพคุณของตาเสือ

  1. เนื้อไม้มีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เนื้อไม้)
  2. เปลือกต้นมีรสฝาดเมา มีสรรพคุณเป็นยาปิดธาตุ กล่อมเสมหะ แก้เสมหะ (เปลือกต้น)
  3. แก่นใช้ทำเป็นยาสมานท้องไส้ได้ดี (แก่น)
  4. เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (เนื้อไม้)
  5. ใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)
  6. เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาขับโลหิต ขับระดู รัดมดลูก (เปลือกต้น)
  7. เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)
  8. ใบมีรสฝาดเมา ใช้เป็นยาแก้บวม (ใบ)
  9. ผลมีรสฝาดเมา ใช้เป็นยาแก้บวมตามข้อต่างๆ ในร่างกาย หรือใช้เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดตามข้อ (เปลือกต้น,ผล)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares