สมุนไพร เปล้าใหญ่

สมุนไพร เปล้าใหญ่

สมุนไพร เปล้าใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton oblongifolius Roxb. และบางข้อมูลระบุว่า Croton roxburghii N.P.Balakr.) จัดอยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE เช่นเดียวกับเปล้าน้อย เจตพังคี พังคี โคคลาน ไคร้น้ำ น้ำนมราชสีห์ น้ำนมราชสีห์เล็ก ละหุ่ง ลูกใต้ใบ ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ โลดทะนงแดง สบู่ดำ และสบู่แดง

สมุนไพร เปล้าใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า เปาะ (กำแพงเพชร), ควะวู (กาญจนบุรี), เปล้าหลวง (ภาคเหนือ), ‎เซ่งเค่คัง สะกาวา สกาวา ส่ากูวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ห้าเยิ่ง (ชาน-แม่ฮ่องสอน), คัวะวู, เป‎วะ เป็นต้น โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฎาน บังคลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน พม่า และในประเทศไทย โดยสามารถพบได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ มักขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง

ลักษณะของเปล้าใหญ่

ต้นเปล้าใหญ่ หรือ ต้นเปล้าหลวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 8 เมตร เปลือกของลำต้นเรียบ เป็นสีน้ำตาล มีรอยแตกบ้างเล็กน้อย ที่กิ่งก้านค่อนข้างใหญ่ ตามใบอ่อน ยอดอ่อน และช่อดอก จะมีเกล็ดสีเทาเป็นแผ่นเล็กๆ ปกคลุมอยู่ทั่วไป โดยมักพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ที่มีความสูงไม่เกิน 950 เมตร

ใบเปล้าใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือเป็นรูปใบหอก ใบรียาว มีความกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-30 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ลักษณะของใบจะลู่ลง ใบอ่อนจะเป็นสีน้ำตาล ส่วนใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง หลังใบเรียบมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนไม่มาก ใบเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มก่อนร่วงหล่นลงมา ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.3-6 เซนติเมตร และฐานใบมีต่อม 2 ต่อม

ดอกเปล้าใหญ่ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีหลายช่อ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 12-22 เซนติเมตร ลักษณะตั้งตรง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันหรือแยกต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกมีสีเหลืองแกมสีเขียว ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ โดยดอกตัวผู้เป็นสีขาวใส มีกลีบดอกสั้นจำนวน 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกจะติดกัน มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปขอบขนานกว้างๆ 5 กลีบ หลังกลีบเลี้ยงมีเกล็ดสีน้ำตาล โดยกลีบดอกยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง มีขนอยู่หนาแน่น ที่ฐานดอกมีต่อมลักษณะกลมๆ 5 ต่อม มีเกสรตัวผู้ 12 อัน เกลี้ยง ส่วนดอกตัวเมียเป็นสีเหลืองแกมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบเล็ก ลักษณะเป็นรูปยาวแคบ ขอบกลีบจะมีขน ที่โคนกลีบดอกจะติดกัน ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน และรังไข่เป็นรูปขอบขนาน มีเกล็ด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ผลเปล้าใหญ่ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่ผลจะแห้งแตก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแบน มีพู 3 พู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านบนแบน มีเกล็ดเล็กห่างกัน ในผลมีเมล็ดลักษณะแบนรี ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

สรรพคุณของเปล้าใหญ่

  1. เปล้าใหญ่ สรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต
  2. ใบใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
  3. ใบมีรสร้อน เมาเอียน ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ
  4. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  5. ช่วยแก้อาการวิงเวียน ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ด้วยการใช้ใบเปล้าใหญ่ เข้ายากับใบหนาด ตะไคร้หอม และเครือส้มลม ใช้ต้มกับน้ำดื่มและอาบ
  6. ช่วยแก้เลือดร้อน
  7. น้ำต้มเปลือกต้นใช้กินเป็นยาแก้ไข้
  8. ช่วยแก้กระหาย
  9. ช่วยแก้อาการร้อนใน
  10. ช่วยแก้เสมหะ
  11. ช่วยแก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย
  12. ช่วยขับลม กระจายลม
  13. ใบใช้เข้าเครื่องยาแก้อาการปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยแก้ลมจุกเสียด

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

airban-300x250
0
Shares