Written by on

ตราประจำจังหวัดกระบี่ Krabi

รูปกระบี่ไขว้ เบื้องหลังเป็นรูปภูเขาและทะเล

คำขวัญประจำจังหวัดกระบี่ Krabi

ถิ่นหอยเก่า เขาตระหง่าน ธารสวย รวยเกาะ เพาะปลูกปาล์ม งามหาดทราย ใต้ทะเลสวยสด มรกตอันดามัน

ประวัติจังหวัด กระบี่ Krabi เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่า บริเวณเมืองกระบี่เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์และต่อเนื่องมาจน ถึงสมัยประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าดินแดนนี้แต่เดิมคือ เมืองบันไทยสมอ 1 ใน 12 เมืองนักษัตร ที่ใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมืองขึ้น กับอาณาจักรนครศรีธรรมราช กระบี่เคยเป็นชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ มีผู้ค้นพบเครื่องมือยุคหินเป็นจำนวนมาก กระจัดกระจายทั่วไป และยังพบภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำหลายแห่งในเขตจังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะบริเวณ อำเภอคลองท่อม และในประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช ( อาณาจักรตามพรลิงค์ )

กระบี่เป็นเมืองหนึ่งใน 12 นักษัตร มีตราประจำเมืองเป็นรูปลิง ( ปีวอก )จังหวัดกระบี่ ตั้งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในอดีตเป็นเพียงแขวงหนึ่งอยู่ในอำนาจปกครองและบังคับบัญชาของเมืองนครศรี ธรรมราช เรียกว่า "แขวงเมืองปกาสัย" พระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้ปลัดเมืองฯ มาตั้งค่ายทำเพนียดจับช้างในท้องถิ่นที่ตำบลปกาสัยและได้มีราษฎรจากเมือง นครศรีธรรมราช อพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้น

พระปลัดเมืองฯ ได้ยกตำบลปกาสัยขั้นเป็น "แขวงเมืองปกาสัย" ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ปี พ.ศ. 2415พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาสัยและพระราชทานนามว่า "เมืองกระบี่" เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองกระบี่ปัจจุบัน มีหลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมืองกระบี่คนแรก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองกระบี่ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และในปี พ.ศ. 2443 สมัยพระยารัษฏานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่า ศาลากลางจังหวัดที่บ้านตลาดเก่านั้น ไม่สะดวกต่อการคมนาคม เพราะสมัยนั้นต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ จึงย้ายมาที่ตั้งเมืองไปอยู่ตำบลปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวเป็นร่องน้ำลึก เรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้สะดวกทำให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจนถึง ปัจจุบันนี้

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดชุมพร

รูปเทวสตรียืนประทานพรหน้าค่าย มีต้นมะเดื่อขนาบอยู่ 2 ข้าง

คำขวัญประจำจังหวัดชุมพร

ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก

ประวัติจังหวัด ชุมพร มีชื่อปรากฏมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1098 โดยมีฐานะเป็นเมืองสิบสองนักษัตร ของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง และเป็นเมืองหน้าด้านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ตอนบนของภาคใต้ ในพุทธศักราช 1997 รัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงว่า เมืองชุมพร เป็นเมืองตรี อาณาจักรฝ้ายใต้ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมณฑลชุมพรต่อมามีการยุบการปกครองระบอบมณฑลเป็นจังหวัดชุมพร จึงมีฐานะเป็นจังหวัด คําว่า "ชุมพร" มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคําว่า "ชุมนุมพล" เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่าน การเดินทัพไม่ว่าจะมาจากฝ่ายเหนือหรือว่าฝ่ายใต้ ล้วนเข้ามาตั้งค่ายชุมนุมพลกันที่นี่ จึงเรียกจุดนี้ว่า "ชุมนุมพล" ต่อมาเพี้ยนเป็น ชุมพร อีกประการหนึ่งในการเดินทางไปทําศึกสงครามของแม่ทัพนายกองตั้งแต่สมัยโบราณ มา เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทําพิธีส่งทัพโดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ได้รับชัยชนะในการสู้รบเป็นการบํารุงขวัญทหาร ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้ ตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร ซึ่งทั้งสองคํานี้อาจเป็นต้นเหตุของคําว่า "ชุมนุมพร"เช่นเดียวกัน แต่อีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้มาจากชื่อพันธุ์ไม้ธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ต้นมะเดื่อชุมพร เพราะที่ตั้งของเมืองชุมพรนั้นอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าตะเภา มีต้นมะเดื่อชุมพรขึ้นอยู่มากมาย ต้นมะเดื่อชุมพรจึงเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของตราประจําจังหวัดชุมพร

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดนราธิวาส

รูปเรือกอและกางใบแล่นรับลมเต็มที่ ภายในใบเรือเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องคชาภรณ์

คำขวัญประจำจังหวัดนราธิวาส

ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน

 

ประวัติจังหวัด จังหวัด นราธิวาส เดิมมีฐานะเป็นเพียงอำเภอหนึ่ง เรียกว่า อำเภอบางนรา ขึ้นกับเมืองสายบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมือง ภาคใต้ ต่อมาได้โอนไปขึ้นกับเมืองระแงะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองเช่นกัน โดยประวัติความเป็นมาของนราธิวาสนั้น มีความ ชื่อมโยงกับเรื่องราวของเมืองปัตตานี เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ยกทัพหลวงลงมาปักษ์ใต้เพื่อปราบปรามข้าศึกที่เข้ามาทางปักษ์ใต้ เมื่อข้าศึกแตกพ่ายหนีไปหมดแล้ว จึงเสด็จประทับ ณ เมืองสงขลา และได้มีรับสั่งออกไปถึงหัวเมืองมลายูทั้งหลาย ที่เคยขึ้นกับอยุธยามาก่อน ให้มาอ่อนน้อมดังเดิม โดยพระยาไทรบุรี และพระยาตรังกานูยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แต่พระยาปัตตานีแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อม จึงรับสั่งให้ยกทัพไปเมืองปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2332 เมื่อได้เมืองปัตตานีแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานตราตั้งให้แก่พระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นพระยาปัตตานี และให้อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลาต่อไป และตั้งในเป็นเมืองมนตรีขึ้นอยู่กับกรุงรัตนโกสินทร์โดยตรง ในระหว่างที่พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ว่าราชการเมืองปัตตานีอยู่นั้น บ้านเมืองสงบเรียบร้อยปกติสุขตลอดมา ครั้นเมื่อพระยาปัตตานีถึงแก่กรรม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายพ่าย น้องชายพระยาหลวงสวัสดิภักดีผู้ช่วราชการเมืองปัตตานี และได้ย้ายที่ว่าการเมืองปัตตานีจากบ้านมะนา (อ่าวนาเกลือ) ไปตั้งอยู่ที่บ้านยามู

ในระหว่างนั้นพวกของซาเห็ดรัตนวงศ์ฯ และพวกโมเซฟได้เริ่มก่อกวนความสงบสุขของบ้านเมือง โดยคบคิดกับปล้นบ้านพระยาปัตตานี และบ้านหลวงสวัสดิภักดี แต่ก็ได้ถูกตีถอยหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านกะลาพอ แขวงเมืองสายบุรี นอกจากนั้นเมืองปัตตานีซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง และมีโจรผู้ร้ายชุกชุม เที่ยวปล้นบ้านเรือนราษฎรจนเหลือกำลังที่พระยาปัตตานีจะปราบให้ราบคาบได้ จึงแจ้งราชการไปยังเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถียนจ๋อง) ออกมาปราบปราม และจัดนโยบายแบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 เมือง ได้แก่ เมืองปัตตานี, เมืองหนองจิก, เมืองยะลา, เมืองรามันห์, เมืองระแงะ, เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้มีพระยาปัตตานี (ต่วนสุหลง), พระยาหนองจิก (ต่วนกะจิ), พระยายะลา (ต่วนบางกอก) และพระยาระแงะ (หนิเดะ) โดยเจ้าเมืองทั้ง 4 ได้สมคบคิดกันเป็นกบฏขึ้น จึงโปรดเกล้าให้พระยาเพชรบุรี และพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ลงมาปราบ และพิจารณาเห็นว่า หนิบอสูชาวบ้านบางปูซึ่งพระยายะหริ่แต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองยะหริ่งได้ เป็นกำลังสำคัญ และได้ทำการต่อสู้ด้วยความกล้าหาญยิ่ง ด้วยคุณงามความดีนี้จึงได้แต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการเมืองระแงะ สืบต่อจากพระยาระแงะ (หนิเดะ) ที่หนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการจากบ้านระแงะมาตั้งใหม่ที่ตำบลตันหยงมัส

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้ยกเลิกการปกครองแบบเก่า เพราะการแบ่งเขตแขวงการปกครอง และตำแหน่งหน้าที่ราชการในหัวเมืองทั้ง 7 ที่ยังทับซ้อนกันอยู่หลายแห่ง จึงได้วางระเบียบแผนการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เป็นระเบียบตาม สมควรแก่กาลสมัย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2444

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2449 มีประกาศพระบรมราชโองการให้แยกบริเวณ 7 หัวเมืองออกมาจากมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลปัตตานี เพื่อสะดวกแก่ราชการ และทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน ในปี พ.ศ. 2458 ได้ย้ายที่ว่าราชการจากเมืองระแงะ ตำบลตันหยงมัส มาตั้งที่บ้านมะนาลอ (บางมะนาวในปัจจุบัน) อำเภอบางนรา ส่วนท้องที่เมืองระแงะ และได้ยกฐานะอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา มีอำเภอในการปกครองได้แก่ อำเภอบางนรา, อำเภอตันหยงมัส, กิ่งอำเภอยะบะ, อำเภอสุไหงปาดี และกิ่งอำเภอโต๊ะโมะ

ครั้นต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองบางนรา ทรงพระราชทานพระแสงศาสตราแก่เมืองบางนรา และทรงดำริว่าบางนรานั้นเป็นชื่อตำบลบ้าน และควรที่จะมีชื่อเมืองไว้เป็นหลักฐานสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "เมืองนราธิวาส" ซึ่งหมายถึงที่อยู่ของคนดี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2458

ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งยิ่งใหญ่ และให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด เมืองนราธิวาสจึงเป็นเปลี่ยนเป็น "จังหวัดนราธิวาส" จากนั้นเป็นต้นมา

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดตรัง

ภาพกระโจมไฟและภาพลูกคลื่น ภาพกระโจมไฟหมายถึง จังหวัดตรังเคยเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ ภาพลูกคลื่นหมายถึง ลักษณะพื้นที่ของจังหวัดตรัง เป็นเนินเล็ก ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ คล้ายลูกคลื่น

คำขวัญประจำจังหวัดตรัง

เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา

ประวัติจังหวัด จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่มีประวัติในสมัยโบราณก่อนหน้านั้น และเข้าใจว่าในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถครั้นกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองตรังยังไม่มี เพราะพระธรรมนูญกล่าวถึงหัวเมืองฝ่ายใต้มีเพียง นครศรีธรรมราช พัทลุง ไชยา เพชรบุรี กุย ปราณ ครองวาฬ บางสะพาน ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ตะนาวศี ทะวาย มะริด และสามโคก ดังนั้นเมืองตรังแต่เดิมมา น่าจะเป็นเพียงทางผ่านไปยังเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุงเท่านั้น ต่อมาเมื่อผู้คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมากขึ้นจึงเกิดเมืองในตอนหลัง

เท่าที่พบหลักฐานความเป็นมาของจังหวัดตรัง เริ่มแรกได้จากศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้จารึกโดยพระเจ้าจันทรภาณุ หรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๑๗๗๓ ซึ่งเป็นสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองมาก ได้จารึกว่าอาณาจักรนครศรีธรรมราชมีหัวเมืองรายล้อมอยู่ถึง ๑๒ หัวเมือง ได้กำหนดใช้รูปสัตว์ตามปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง เรียกว่าการปกครองแบบ ๑๒ นักษัตร โดยเมืองตรังใช้ตราม้า (ปีมะเมีย) เป็นตราประจำเมืองแสดงว่าในปี พ.ศ.๑๗๗๓ มีเมืองตรังแล้วแต่ไม่ทราบว่าตั้งเมืองอยู่ที่ใด ในพงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าว ว่าเมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๓ พระยากุมารกับนางเลือดขาวไปลังกา ทั้งขาไปและขามาได้แวะที่เมืองตรัง เพราะเป็น เมืองท่า นางเลือดขาวยังได้สร้างพระพุทธรูปและวัดพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่เมืองตรัง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองตรังมีชื่อเป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ครั้น ถึงปี พ.ศ.๒๓๔๗ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดฯ ให้ยกเมืองตรังขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ ชั่วคราว เนื่องจากผู้รักษาเมืองตรังเป็นอริกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นให้ไปขึ้นกับเมืองสงขลาระยะ หนึ่ง จนถึง พ.ศ.๒๓๕๔ จึงกลับไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม และได้มีการตั้งเมืองตรังขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย ทรงแต่งตั้งพระอุไภยธานีเป็นเจ้าเมืองตรังคนแรก และได้มีการสร้างหลักเมืองตรังไว้ที่ ควนธานี

พ.ศ.๒๓๘๑ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น ทางเมืองตรังและหัวเมืองปักษ์ใต้หลายเมือง ต่อมาจึงได้โอนเมืองตรังมาขึ้นต่อกรุงเทพฯ อยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองตรังจนถึง พ.ศ.๒๔๒๘ เมืองตรังจึงได้กลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ซึ่งตั้งกองบัญชาการ อยู่ที่ภูเก็ต และเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลเมืองตรังจึงถูกรวม เข้าเป็นหัวเมืองหนึ่งของมณฑลภูเก็ต

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสหัว เมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงเห็นเมืองตรังมีสภาพทรุดโทรม จึงทรงโปรดฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง และสร้างความเจริญให้แก่ตรังอย่างมากมาย โดยย้ายเมืองตรังมาตั้งที่ อำเภอกันตัง ปากแม่น้ำตรัง โดยรวมเอาเมืองตรังและปะเหลียนเข้าด้วยกัน และพัฒนาเป็นเมืองท่าการค้าและยังได้ส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราที่จังหวัด ตรังเป็นแห่งแรก

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าที่ตั้งตัวเมืองตรังเดิม คือ เมืองกันตังไม่ปลอดภัยจากศัตรู ไม่เป็นศูนย์กลางของจังหวัด ทั้งยังเป็นที่ลุ่มมาก น้ำทะเลท่วมถึง จะขยายตัวเมืองได้ยาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังมาจนทุกวันนี้ และเมื่อมีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๖ เมืองตรังจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดปัตตานี

รูปปืนใหญ่ศรีปัตตานี หรือ นางพญาตานี

คำขวัญประจำจังหวัดปัตตานี

เมืองงามสามวัฒนธรรม ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ ชนน้อมนำศรัทธา ถิ่นธรรมชาติงามตา ปัตตานีสันติสุขแดนใต้

ประวัติจังหวัด เมืองปัตตานี เดิมมี ชื่อเรียก ว่า โกตามหลิฆัย คำ โกตา หมายถึง ป้อม กำแพง และเมือง คำ มหลิฆัย นั้น ให้ความหมาย ไว้สองนัย คือหมายถึง ปราสาท ราชมนเทียร อันเป็นที่ ประทับ ของราชวงศ์ ฝ่ายใน ที่เป็นสตรี และอีกนัยหนึ่ง หมายถึง รูปแบบ พระสถูป เจดีย์ ที่เรียกกัน ในเชิงช่าง ศิลปกรรม ว่า "สถูป ทรงฉัตรวาลี" เป็นสถูป แบบหนึ่ง ในศิลปะ สถาปัตยกรรม ทางพุทธ ศาสนา สมัย ศรีวิชัย

เมืองโกตามหลิฆัยนี้ ถูกทอดทิ้ง ให้ร้างไป ในสมัย ของพญาอินทิรา เนื่องจาก แม่น้ำ ลำคลอง หลายสาย ที่เคยใช้ เป็นเส้นทาง คมนาคม ระหว่าง เมืองโกตามหลิฆัย กับทะเล ได้ตื้นเขิน ทำให้ ไม่สะดวก ในการ ลำเลียง สินค้า เข้าออก ติดต่อ ค้าขาย กับพ่อค้า ต่างประเทศ ปี พ.ศ.๒๐๑๒ ถึง พ.ศ.๒๐๕๗พญาอินทิรา จึงย้ายเมือง โกตามหลิฆัย ไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ บนบริเวณ สันทรายปากอ่าว เมืองปัตตานี อยู่บริเวณ หมู่บ้านบานา อำเภอเมือง ปัตตานี ในปัจจุบัน ประจวบกับ พญาอินทิรา ได้เปลี่ยน ศาสนา จากการ นับถือ ศาสนาพุทธ มารับ ศาสนา อิสลาม จึงให้นามเมือง ที่สร้างใหม่ เป็นภาษาอาหรับว่า "ฟาฎอนีย์ ดารุซซาลาม"หรือ "ปัตตานี ดารัสสลาม" แปลว่า "ปัตตานี นครแห่งสันติ" คล้ายคลึงกับชื่อประเทศ "บรูไน ดารุสสลาม" ซึ่งแปลว่า "บรูไน นครแห่งสันติ"

คำ "ปัตตานี" นี้ อาจจะมาจากคำ "ปฺตตน" ในภาษา สันสกฤต แปลว่า เมือง นคร กรุง ธานี ดังจะเห็น ได้จาก ชื่อเมืองหนึ่ง ของ อินเดียใต้ สมัย โบราณ คือเมือง "นาคปตฺตน" เมืองภัทรปตฺตน ในศิลา จารึก สดอกก๊อกธม ของเขมร และ ชื่อของผู้ว่าราชการ เมืองปัตตานี สมัยหนึ่ง ก็มีนามว่า "อำมาตย์ศรีพระปัตตนบุรี ศรีสมุทรเขต (เป๋า สุมนดิษฐ) อีกทั้ง ชื่อของ โรงเรียน สตรี ประจำ จังหวัด ปัตตานี ที่ตั้งขึ้น ในสมัยนั้น ก็ได้รับ การขนาน นามว่า "โรงเรียน สตรี เดชะ ปัตตนยานุกูล"

คำว่า "ปะฏานี"ในภาษาอาหรับ แปลว่า นักปราชญ์ ในภาษาบาลี สันสกฤต "ปตานี" แปลว่าหญิงที่เป็นใหญ่ ส่วนในภาษามลายูนั้น "ปะตานี"หมายถึงชาวนา ราชวงศ์ศรีวังษา

ด้านเมืองปัตตานี ภายหลังจากพญาอินทิรา (INDIRA)ได้ขึ้นครองเมืองในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๔๓ - ๒๐๗๓ และได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจากพญาอินทิรา เป็น สุลต่าน อิสมาแอลชาห์ ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์ศรีวังษา ผู้นำองค์สุดท้ายของราชวงศ์ศรีวังษาที่ปกครองปัตตานี คือ รายากูนิง (RAJA KUNING) ที่ปกครองปัตตานีในระหว่างปี พ.ศ.2178 ? 2194สุลต่านปัตตานีมากรุงศรีอยุธยา

ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๓-๒๑๐๗ สุลต่าน มุฏ็อฟฟัรชาห์ (ศรีสุลต่าน) ครองเมืองปัตตานี พระองค์ได้เสด็จมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อเปิดสัมพันธภาพกับประเทศไทย พงศาวดารปัตตานี ระบุว่า สุลต่านได้ถาม สมุหนายกของพระองค์ว่า "ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างถ้าเราจะไปอยุธยา เพราะพระเจ้ากรุงสยามนั้นมิใช่อื่นจากเรา อีกอย่างหนึ่งการที่สองประเทศ อยู่ด้วยกัน ดีกว่าเราอยู่อย่างโดดเดี่ยว" บรรดามนตรีก็เห็นดีด้วยเพราะจะทำให้ ฐานของพระองค์ สูงยิ่งขึ้นในสายตาของเมืองอื่นๆ

พงศาวดารไทยเขียนไว้ว่า ใน พ.ศ. ๒๑๐๖ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองขอ งพม่า ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระยาตานีศรีสุลต่าน หรือ สุลต่าน มุชาฟาร์ชาห์ (Sultan MuzafarSyah) ยกทัพเรือหย่าหยับ ๒๐๐ ลำจากปัตตานี มาช่วยกรุงศรีอยุธยารบกับพม่า พระยาตานีศรีสุลต่านเห็นทหารอยุธยาไม่เข้มแข็ง จึงเป็นกบฏยกกำลังเข้าไปยึดพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องทรงลงเรือศรีสักหลาดหนีไปเกาะมหาพราหมณ์ แต่พวกทหารอยุธยารวมกำลังกันไล่พวกพระยาตานีลงเรือหนีกลับไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงเสด็จกลับวังได้ สุลต่านมุชาฟาร์ สิ้นพระชนม์ ขณะเดินทางกลับ สุลต่านองค์นี้คือผู้ที่สร้างมัสยิดกรือแซะที่ปัตตานี

สุลต่านที่มีชื่อเสียงของปัตตานี องค์หนึ่งคือ มันศูรฺชาห์ หรือ มันโซร์ชาห์ (Sultan Mansur Syah) โอรสองค์ที่สาม ของสุลต่าน อิสมาเอลชาห์ ครองเมืองปัตตานี อยู่ แปดปีระหว่าง พ.ศ. 2107-2115 ( ค.ศ. 1564-1572) พระองค์มีโอรสและธิดารวมทั้งสิ้น 6 องค์ คือ เจ้าหญิงฮิเยา,เจ้าหญิงบีรู,เจ้าหญิงอูงู,เจ้าหญิงอามัส กรันจัง,เจ้าชายบะฮฺดูร และเจ้าชายบีมา (โอรสจากมเหสีคนที่ 2 ) เจ้าหญิงอูงู อภิเษก กับสุลต่านเมืองปะหัง ส่วนอามัส กรันจัง สิ้นชีวิตขณะที่ยังเล็ก ก่อนที่สุลต่านมันศูรชาห์ จะสิ้นชีวิต พระองค์ได้ทรงสั่งเสียว่าขอให้ แต่งตั้งเจ้าชาย ปาติกสยาม โอรสของมุฏ็อฟฟัรฺชาห์ พระชนม์ ๕ พรรษา ขึ้นครองราชย์ต่อ 

การนองเลือดในวังปัตตานี ระหว่าง พ.ศ. 2115-2127 (ค.ศ.1572-1584)

การที่สุลต่านมันศูรฺชาห์ ยกราชสมบัติให้ปาติกสยาม (Patik Siam)ขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๑๕-๒๑๑๖ นั้น ทำให้ราชาบัมบัง (Raja Bambang)โอรสของมุฏ็อฟฟัรฺชาห์ ที่ประสูติจากมเหสีองค์ที่ 2 ไม่พอใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนั้น ปาติกสยามยังทรงพระเยาว์อยู่อยู่ ส่วนราชาบัมบังนั้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว ในขณะที่สุลต่านมันศูรฺชาห์ยังมีชีวิตอยู่นั้น เจ้าเมืองสายพี่เขยของ พระองค์ที่มีนามว่า ราชาญะลาลได้สิ้นชีวิตลง พระองค์จึงแต่งตั้งให้ขุนนางคนหนึ่งไปเป็นเจ้าเมืองแทน และเชิญให้พระนางอาอิชะฮฺพี่สาวของพระองค์เสด็จกลับไปอยู่เมืองปัตตานี เมื่อปาติกสยามขึ้นครองราชย์ พระนางอาอิชะฮฺจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สุลต่านปาติกสยาม ครองราชย์ไม่ถึงหนึ่งปี เหตุการณ์นองเลือดครั้งแรกในราชวังปัตตานีก็เกิดขึ้น คือวันหนึ่งราชาบัมบัง พี่ชายต่างมารดา ของพระองค์เข้าไปในราชวัง เมื่อพระนางอาอิชะฮฺเห็นท่าทางของราชาบัมบังไม่ค่อย น่าไว้ใจ จึงเข้าไปป้องกันสุลต่านปาติกสยาม ราชาบัมบังจึงแทงทั้งพระนางและองค์สุลต่าน ปาติกสยาม ทั้งสองพระองค์พร้อมกัน เมื่อข่าวการสิ้นพระชนม์ แพร่ในวังแล้ว จึงมีการจับตัวราชาบัมบังมาประหารชีวิต เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1573 โอรสของสุลต่าน มันโชร์ชาห์ ชื่อ บาฮาดูร์ชาห์ ขึ้นครองเมืองแทน

ต่อมาในปี ค.ศ. 1584 ประวัติศาสตร์ปัตตานีซ้ำรอยอีก กล่าวคือ วันหนึ่งตอนเช้ามืดขณะที่ องค์สุลต่าน บาฮาดูร์ชาห์ ตื่นจากบรรทมและออกไปที่ประตูพระราชวัง เจ้าชายบีมา พี่ชายต่างมารดาของพระองค์ ก็เข้าไปแทงพระองค์ทันที ทำให้องค์สุลต่านสิ้นชีวิต แล้วเจ้าชายบีมาก็ถูกปลงพระชนม์ ในขณะที่ขี่ช้างหนีออกจากพระราชวัง

สมัยรานีหญิงสมเด็จ พระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรง ราชา นุภาพ ทรงทำคำ อธิบาย เรื่องเมือง ปัตตานี ไว้ตอนหนึ่ง ความว่า "จดหมายเหตุ เก่าหลายเรื่องที่พวกพ่อค้าฝรั่ง ซึ่งไปมา ค้าขาย ครั้งแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตลอดจน แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้จดไว้ กล่าวต้องกันว่าประเพณี การปกครอง เมืองปัตตานี มีการเลือก ผู้หญิง ในวงศ์ตระกูล เจ้าเมือง ซึ่งมี อายุมาก จนพ้นเขต ที่จะ มีบุตร ได้ เป็นนางพระยา ว่าราชการเมือง สืบๆ กันมา ประเพณี อย่างนี้ ใช้ใน บางเมือง ในเกาะ สุมาตราก่อน แล้วพวกเมือง ปัตตานี จึงเอาอย่าง มาใช้ เพิ่งเลิก ประเพณีนี้ ในชั้น กรุงศรี อยุธยา เป็นราชธานี ในตอนหลัง"

ประวัติเมือง ปัตตานี ฉบับอักษรยาวี ของนายหะยีหวันอาซัน บันทึกว่า เมืองปัตตานี ปกครอง โดยเจ้าหญิง เป็นครั้งแรก ในสมัย อยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๒๗ จนกระทั่ง ถึงปี พ.ศ.๒๒๒๗ ติดต่อ กัน ๔ องค์ด้วยกัน เจ้าหญิง องค์แรก ไก้แก่ เจ้าหญิง ฮียา (เจ้าหญิงเขียว) องค์ที่ ๒ ชื่อเจ้าหญิงบีรู (เจ้าหญิงน้ำเงิน) องค์ที่ ๓ เจ้าหญิงอูงู (เจ้าหญิงม่วง) องค์ที่ ๔ เจ้าหญิงกูนิง (เจ้าหญิงเหลือง) ซึ่งเป็น เจ้าหญิง องค์สุดท้าย แห่งวงศ์ โกตามหลิฆัย

หลังจากสุลต่านบะฮฺดูรสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่มีรัชทายาทที่เป็นชายองค์ใดที่จะขึ้นครองเมืองต่อ ด้วยเหตุนี้เมืองปัตตานีจึงมีรานีครองเมืองหลายสมัย องค์แรกคือรานีฮิเยาขึ้นครองเมืองใน ค.ศ.1584 สมัยราชินีองค์นี้ มีการขุดคลองชลประทานหลายสาย กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง ชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวโปรตุเกสและฮอลันดา ชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Mandel Sloheไปถึงปัตตานีสมัยนั้น ได้บันทึกว่า "เมือง ปัตตานีเป็นเมืองที่บริบูรณ์ ชาวปัตตานีสามารถรับประทานผลไม้หลายชนิดในทุกๆ เดือน ไก่ที่นี่ ออกไข่วันละ2ครั้ง มีข้าวมากมีเนื้อหลายชนิดเช่น เนื้อวัว แพะ ห่าน เป็ด ไก่ ไก่ตอน นกยูง เนื้อกวางแห้ง กระจง และนกต่างๆ และผลไม้เป็นร้อยๆ ชนิด" ซึ่งแสดง ถึงปัตตานีในสมัยนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมาก

รานีฮิเยา ครองเมือง ถึงปี ค.ศ.1616 ก็สิ้นพระชนม์ ชาวปัตตานีรุ่นหลังๆขนานนามพระนางว่า"มัรหูมตัมบังงัน"เนื่องจากพระนางเป็น ผู้ให้ขุดคลอง จากบ้านกรีเซะไปยังท่าเรือตัมบังงัน เมื่อรานีฮิเยาสิ้นพระชนม์แล้ว รานีบิรูขึ้นครองเมืองต่อ ในสมัยนี้เอง องค์สุลต่านอับดุลเฆาะฟูรฺแห่งปะหังได้สิ้นพระชนม์ลง รานีบีรูจึงส่งคนไปรับเจ้าหญิงอูงูที่เป็นชายาของสุลต่าน

ปะหังกลับมาอยู่ที่ปัตตานีพร้อมกับบุตรีที่ได้กับสุลต่านปะหัง รานีบีรูได้สั่งให้หล่อปืนหลายกระบอกเพื่อต้านศัตรู ปืนที่ใหญ่ที่สุดมี 3 กระบอก โดยมีชาวจีนฮกเกี้ยน แซ่ หลิม (หลิมโต๊ะเคี่ยม)พี่ชาย ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นนายช่างหล่อ ปืนใหญ่สองกระบอกแรกชื่อ "ศรีนาฆารา"(ศรีนคร) และ (ศรีปัตตานี) ยาว 3 วา 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว กระบอกที่สามเล็กสุดชื่อ"มหาลาลอ" หรือ "มหาเลลา" ยาว 5 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว ต่อมาในปี 1624 รานีบีรูสิ้นพระชนม์ รายาอูงูขึ้นครองราชย์ต่อ

ชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) มาเยือนปัตตานีสมัยนั้น ได้เขียนว่า"เมืองปัตตานีมี 43 แคว้น รวมถึงตรังกานูและกลันตัน แต่เมื่อโอรสของสุลต่านยะโฮร์ได้อภิเษกกับราชธิดา ของรายาปัตตานี เมือง ตรังกานูก็เข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองของยะโฮร์ สุลต่านยะโฮร์ได้ส่งขุนนางคนหนึ่งไปครองที่นั่น ปัตตานี จึงเหลือเพียง 42 แคว้น....ปัตตานีมีเมืองท่าสองแห่งคือ กวาลาปัตตานี(เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเรียกว่ากวาลารา หรือกวาลาโต๊ะอาโก๊ะ) และกวาลาบึเกาะฮฺ(ปากน้ำปัตตานีปัจจุบัน...)...พลเมืองปัตตานีในขณะนั้น มีชาย ผู้มีอายุเกิน 16 ปี รวมทั้งสิ้น 150,000 คน เมืองปัตตานีมีผู้คนหนาแน่น เต็มไปด้วยบ้านเรือน นับเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่ง จากประตูราชวังจนถึงหมู่บ้านบานา(บันดัร)มีบ้านเรือน ไม่ขาดไม่สาย ถ้าหากแมวตัวหนึ่งเดินบนหลังคาบ้านเหล่านั้น จากราชวังจนถึงปลายสุด มันจะเดิน ได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องเดินบนพื้นดินเลย..." ในปี ค.ศ. 1635 รานีอูงูสิ้นพระชนม์ และรานีกูนิงขึ้นครองเมืองปัตตานีต่อ

สมัยเลือกสุลต่านรานีกูนิงสิ้นพระชนม์ในราวปี ค.ศ. 1688 หลังจากนั้นไม่มีทายาทองค์ใดในราชวงศ์ศรีวังษาที่จะเป็นสุลต่านหรือรายาได้ อีก ฝ่าย ขุนนางจึงตั้ง บาการ์(บากัล) ซึ่งเป็นเชื้อสายสุลต่านกลันตัน และเป็นขุนนางคนหนึ่งของปัตตานี อยู่ที่หมู่บ้าน"ตะโละ" ให้เป็นสุลต่าน แต่สุลต่านองค์นี้ครองปัตตานีได้เพียง 2 ปีก็สิ้นพระชนม์(ค.ศ. 1690) ชนรุ่นหลังขนานนามสุลต่านองค์นี้ว่า "มัรฮูม ตะโละ"ต่อมา บรรดาขุนนางได้เชิญโอรสของสุลต่านกลันตันมาเป็นสุลต่าน มีนามว่า อามัสกลันตัน ครองราชย์เป็นเวลา 17 ปี (1690-1707) ก็สิ้นพระชนม์ คนรุ่นหลังขนานนามว่า "มัรฮูมกลันตัน" โอรสของพระองค์ที่มีนามว่า อามัสจายัม ขึ้นครองเมืองต่อ แต่ครองอยู่เพียงสามปี(1707-1710)ก็ถูกขับจากตำแหน่งและแต่งตั้ง รานีเดวีขึ้นครองเมืองอยู่ 9 ปี(1710-1719) ก็อำลาจากบัลลังก์ บรรดา ขุนนางจึงแต่งตั้ง สุลต่านแห่งบึนดัง บาดัน ขึ้นครองเมือง อยู่ 4 ปี(1719- 1723) ถูกขุนนางคนหนึ่งชื่อ ลักษมะนาแห่งดายัง ขับจากตำแหน่ง และตั้งตัวเองเป็นสุลต่าน ปัตตานี แต่สุลต่านลักษณมะนาครองเมืองอยู่เพียง 11 เดือน ก็ถูกขุนนางอื่นๆ ขับ อีกและอัญเชิญสุลต่าน อามัสจายัม จากกลันตันซึ่งเคยครองเมืองมาแล้วในระหว่างปี ค.ศ. 1707-1710 ขึ้นครองเมืองปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง สุลต่าน อามัสจายัม ครองเมืองอยู่ 2 ปี (1724-1726) ก็สิ้นพระชนม์ สุลต่าน อาลุง ยูนุส ขึ้นครองเมืองปัตตานี แทน มัสยิดกรือเซะ ซึ่งขณะนี้ยังสร้างไม่เสร็จก็เป็นมัสยิดที่สร้างในสมัย สุลต่าน อาลุง ยูนุสนี้เอง

สุลต่าน อาลุง ยูนุส ครองเมืองอยู่ 11 เดือนก็เกิดสงครามกลางเมือง ก็สิ้นพระชนม์ ใน ค.ศ. 1729 หลังจากนั้นบรรดาขุนนางต่างๆก็ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร เมืองปัตตานีจึงไร้สุลต่านผู้ครองเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงต่อมา ขุนนางคนหนึ่งอยู่ที่บ้านดาวัย(เดี๋ยวนี้อยู่ในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี) มีอิทธิพลขึ้นมา และตั้งตนเป็นผู้นำ ขนานนามว่า สุลต่านมุฮำหมัด เมืองปัตตานีนับแต่สมัยสุลต่านบาการ์เป็นต้นมาไม่มีศัตรูจากต่างประเทศมารบก วน เพราะสมัยนั้นประเทศใกล้เคียงกำลังปั่นป่วน มีการขบถและแย่งอำนาจ และเกิดสง ครามกลางเมืองขึ้นอีกด้วย

เมื่อปัตตานีอยู่ในราชอาณาจักรไทย

ปัตตานี เป็นส่วนหนึ่ง ของราชอาณาจักรสยาม มาตั้งแต่ กรุงสุโขทัย ในรูปของประเทศราช โดยทาง ราชธานี มอบ หมาย ให้เจ้าเมือง นครศรี ธรรมราช คอยควบคุม ดูแล นโยบาย การเมือง อยู่อย่างหลวมๆ เพื่อมิให้ เจ้าผู้ครองนคร เอาใจ ออกห่าง เอนเอียง ไปข้าง ประเทศอื่นที่จะนำภัย มาสู่ ความมั่นคง ของ ราชอาณาจักร ดังจะ เห็น ได้จาก คำกล่าว ของ โทเมปีเรส์ ชาวโปรตุเกส ว่า "ผู้เป็นใหญ่ (ในการ บังคับ บัญชา ราชอาณาจักร) รองลง มา (จาก พระเจ้า แผ่นดิน) คืออุปราช แห่งเมืองนคร เรียกกัน ว่า "พ่ออยู่หัว" (Poyobya) เขาเป็น ผู้ว่าราชการ จาก ปาหัง ด้วย " หน้าที่ ของประเทศราช ที่มีต่อ ราชธานี ก็คือ การช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ในการ ทำสงคราม กับ อริราช ศัตรู ที่ มา รุกราน และ ส่ง เครื่องราช บรรณาการ ดอกไม้ ทองเงิน ถวาย แก่ พระมหากษัตริย์ เป็นการ ถวาย ความจงรักภักดี ๓ ปีต่อครั้ง ส่วน อำนาจ การปกครอง ภายในเมือง นั้นๆ เจ้าผู้ครอง นคร มีอิสระ ที่จะ ดำเนินการ ใดๆ ได้ ภาย ใต้ ตัวบท กฎหมาย และ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ของแต่ละ ท้องถิ่น แต่ ไม่มีสิทธิ อำนาจ ในการ ทำ สนธิ สัญญา ใดๆ กับต่างประเทศ ก่อนจะได้รับ ความเห็นชอบ จากราชธานี

เมืองปัตตานีได้รวมเข้าเป็นหนึ่งในอาณาจักรอยุธยา เพราะอาณาจักร์ตามพรลิงค์ได้เข้ารวมกับอาณาจักรอยุธยา มีการส่งบุหงามาศหรือดอกไม้เงินดอกไม้ทองเข้ามาเป็นเครื่องบรรณาการ ๓ ปีต่อครั้ง แต่เมื่อ่ใดที่กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอ ก็มักจะเกิดการแข็งเมืองอยู่เป็นประจำ มีการก่อกบฏขึ้นในพ.ศ. ๒๑๐๖ สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๑๗ สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราช พงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา ทุกฉบับ เรียกเมือง ปัตตานี ว่า เมืองตานี เรียกเจ้า ผู้ครอง นครปัตตานีว่า "พระยา ตานี ศรีสุลต่าน" บ้าง "นางพระยา ตานี" บ้าง

พ.ศ. ๒๑๔๔ (ค.ศ. ๑๖๐๑) ชาวฮอลันดา เริ่มเดินทางมาทางแหลมมลายูและปัตตานี มีการเขียนรายงานของฮอลันดาไว้ว่า ได้พบเรือสยามที่ไปค้าที่ปัตตานี พ.ศ. ๒๑๔๙ (ค.ศ. ๑๖๐๖) พ่อค้าชาวฮอลันดาเข้ามาติดต่อค้าขายในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ โดยสร้างคลังสินค้าขึ้นที่ปัตตานีและอยุธยา

พ.ศ. ๒๑๗๙ (ค.ศ. ๑๖๓๖) บริษัทการค้าฮอลันดาส่งเรือรบ ๖ ลำ มาช่วยสยามโจมตีปัตตานี ที่แข็งเมือง โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ ต้องให้ฮอลันดาผูกขาดซื้อหนังกวางและไม้ฝางเพื่อส่งไปขายต่างประเทศแต่ผู้ เดียว เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๙๔ วันวลิต หรือ ฟานฟลีต พ่อค้าชาวฮอลันดา ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พร้อมกับ นายฟอน ซัม และนายมูรไดต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงโปรดกระจกเงาบานใหญ่ที่วันวลิตนำไปถวายมาก พระราชทานช้างมีชีวิตให้ ๒ เชือกเพื่อส่งลงเรือไปปัตตาเวีย ต่อมาวันวลิตได้เดินทางไปปัตตานีและเข้าเฝ้านางพญาปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๑๙๕

ปัตตานีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เมื่อตอนที่กรุงศรีอยุธยาแตกนั้น ปัตตานีได้ตั้งตัวเป็นอิสระเช่นเดียวกับชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท พระยากลาโหมราชเสนา และพระยาราชบังสัน ได้ยกทัพสยาม ราว ๒๐,๐๐๐ คนทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งใช้เรือใบสำเภามีพลแจว รุกเข้าไปยังเมืองตานี กลันตัน ตรังกานูเคดาห์(เกอดะห์หรือไทรบุรี) และปีนัง (เกาะหมาก) ทำให้ปัตตานีเข้าอยู่ในอาณาจักรสยามอีกครั้ง สุลต่านมะหะหมัดหนีไปเมืองรามัณห์และสิ้นพระชนม์ในสนามรบ วังเจ้าเมืองและ มัสยิดกรือแซะอันศักดิ์สิทธิ์ถูกเพลิงไหม้ ต่อจากนั้นกองทัพสยามได้นำชาวปัตตานี และชาวมลายูทางใต้จำนวนนับแสนคนมาอยู่รอบกรุงเทพ คนมลายูพวกนี้ได้เป็นกำลังสำคัญในการขุดคลองแสนแสบเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียง ทหารไปยังกัมพูชา เมื่อขุดคลองเสร็จก็ตั้งบ้านเรือนทำนาเลี้ยงแพะวัวควาย และขายข้าวหมกไก่ โรตี มะตะบะ อยู่ในบริเวณสองฟากคลองแถบหนองจอก มีนบุรี และ แปดริ้ว จนถึงปัจจุบัน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงตั้ง ตนกู ลับมิเด็น (ตนกูละมีดีน หรือ ตนกู เกาะมะรุดดีน)ซึ่งเป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองปัตตานีเก่า เป็นรายาหรือเจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ แต่ให้อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าเมืองสงขลา ส่วนพระยาไทร พระยากลันตัน และ พระยาตรังกานู นั้นขอร่วมเป็นขัณฑสีมาต่อกรุงเทพฯ โดยดี

ปืนใหญ่ที่กองทัพไทยนำลงเรือสำเภามาจากปัตตานีในสมัยนั้น มีสองกระบอกด้วยกันคือกระบอกที่มีชื่อว่า "ศรีปัตตานี" กับ "กับศรีนาฆารา" ปืนใหญ่ที่ ชื่อ"ศรีนาฆารา ได้ตกลงไปในน้ำทะเลที่ท่าเรือหน้าเมืองปัตตานีระหว่างการขนส่งขึ้นเรือ ส่วนปืนใหญ่ "ศรีปัตตานี"ยาว ๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้วกึ่ง กระสุน ๑๑ นิ้ว หล่อด้วยสำริดนั้น ได้จารึกนามลงไว้ที่กระบอกปืนว่า "พระยาตานี" โดยตกแต่ง ลวดลายท้ายสังข์ขัดสีใหม่ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพ

พ.ศ. ๒๓๒๙ สมัยรัชกาลที่ ๑ สยามเสียเกาะหมาก(ปีนัง) ให้อังกฤษ เพราะสุลต่านไทรบุรียกเมืองให้อังกฤษเพื่อให้พ้นจากการปกครองของสยาม

พ.ศ. ๒๓๓๒ ปีระกา พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่า องเชียงสือ กษัตริย์ญวน ส่งหนังสือมากราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ว่า รายาเมืองตานี ให้นักกุดาสุงถือหนังสือชักชวนให้ยกทัพมาตีกรุงเทพฯ เพราะมีความพยาบาทอยู่กับกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา แต่องเชียงสือมีความจงรักภักดีระลึกพระคุณเมื่อครั้งหนีพวกไกเซินมาอยู่ กรุงเทพฯ ดังนั้นจึงทรงให้พระยากลาโหมราชเสนาเป็นแม่ทัพเรือยกไปตีเมืองตานี รายาเมืองตานีสู้มิได้ลงเรือหนีไป แต่ถูกจับได้ในกุฎีพระสงฆ์ในวัดแห่งหนึ่ง แล้วถูกนำตัวไปจำคุกไว้

พ.ศ. ๒๓๓๔ พวกเซี๊ยะ ซึ่งอยู่นอกพระราชอาณาเขต ได้ยกกำลังไปโจมตีเมืองสงขลา กรมการเมืองสู้ไม่ได้หนีไปอยู่เมืองพัทลุง พระยาศรีไกรลาศเจ้าเมืองพัทลุงหนีเข้าป่าไม่คิดต่อสู้ ทางกรุงเทพ ได้ส่งกำลังจากนครศรีธรรมราชไปช่วยสงขลา โจมตีพวกเซี๊ยะแตกพ่ายไป ส่วนพระยาพัทลุงถูกปลดและจำคุก

พ.ศ. ๒๓๕๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกฯ ทรงมอบให้เจ้าเมือง สงขลา เป็นผู้ ควบคุม ดูแล เมืองปัตตานี แทนเจ้าเมือง นครศรี ธรรมราช พ.ศ. ๒๓๕๒ ไทรบุรีส่งทหารไปช่วยสยามรบกับพม่าที่เมืองถลาง

แบ่งปัตตานีเป็น๗หัวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๒

ในพ.ศ. ๒๓๕๑ สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่พระยายะหริ่ง (นายพ่าย) เป็นเจ้าเมือง ปัตตานี นั้น ได้แบ่งปัตตานีออกเป็นเมืองเล็กๆ เมือง เรียกว่า "บริเวณ 7 หัวเมือง" คือเมืองปัตตานี,หนองจิก,ยะหริ่ง,สายบุรี,ยะลา,รามัน และ ระแงะ โดยให้คนมลายูพื้นเมืองเป็นเจ้าเมือง ๖ เมือง คงมีคนไทยพุทธปกครองเพียงเมืองเดียว ดังนี้

1. ปัตตานี แต่งตั้งตวนสุหลง (ตูวันซูลง) เชื้อสายของดาตูปังกาลัน เป็นเจ้าเมือง

2. หนองจิก แต่งตั้งตวนนิ (ตูวันนิก) เป็นเจ้าเมือง

3. ยะหริ่ง แต่งตั้งนายพ่าย ซึ่งเป็นคนไทยพุทธ เป็นเจ้าเมือง

4. สายบุรี แต่งตั้งนิดะห์ (ขุนปลัดกรมการ) บ้านอยู่ที่ยี่งอเป็นเจ้าเมือง

5. ยะลา แต่งตั้งตวนยลอ (ตูวันยลอร์) เป็นเจ้าเมือง

6. รามัณห์ แต่งตั้งตูวันมันศูรฺ (ตวนหม่าโรฺส) ญาติของตวนยลอ บ้านอยู่ที่ โกตาบารู เป็นเจ้าเมือง

7. ระแงะ แต่งตั้งนิเด๊ะ น้องนิดะห์ (เจ้าเมืองสายบุรี) เป็นเจ้าเมือง

พระยายะหริ่ง (นายพ่าย) มีอำนาจควบคุมเมืองอื่นๆ อีกหกเมือง และขึ้นต่อเมืองสงขลา ต่อมาสมัยที่ต่วนสุหลงเป็นเจ้าเมืองปัตตานี ได้สร้างมัสยิดกรือเซะต่อจากที่ได้สร้างไว้แล้ว แต่ก็ยังสร้างไม่เสร็จจนถึงทุกวันนี้ พ.ศ.๒๓๕๖ สมัย ร.๒ พระยา กลันตัน ทะเลาะ กับพระยา ตรังกานู แล้วพระยา กลันตัน ขอไป ขึ้นกับ เจ้าเมือง นครศรี ธรรมราช พ.ศ. ๒๓๖๐ (ค.ศ.๑๗๑๗) ตวนยลอเมืองยะลาสิ้นชีวิต ตวนบางกอก ผู้เป็นบุตรขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน

สงครามสมัยรัชกาลที่ ๓

ในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ (ค.ศ.๑๘๓๒ ) สมัยรัชกาลที่ ๓ สยามได้ยกทัพไปตีปัตตานีอีกครั้งหลังจากเกิดความวุ่นวาย โดยนำ เชลยศึกไม่น้อยกว่า 4,000 คน มาอยู่ที่สนามควาย (ถนนหลานหลวง)ในกรุงเทพฯ ดังนั้นบริเวณดังกล่าวจึงเป็นแหล่งละครชาตรี และหนังตะลุงจากปักษ์ใต้ จากนั้นไม่กี่ปี นายพ่ายเจ้าเมืองยะหริ่งสิ้นชีวิต ทางสงขลาจึงโยกย้ายเจ้าเมืองยะลา(คนต่อมา) คือนายยิ้มซ้าย ให้ดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองยะหริ่งแทนนายพ่าย และแต่งตั้งนายเมืองบุตรนายพ่าย เป็นเจ้าเมืองยะลา

ปี พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ. ๑๘๔๒ ) เกิดสงครามกลางเมืองที่กลันตันระหว่างทายาทเจ้าของเมืองด้วยกัน ไทยได้ส่งพระยาเสน่หามนตรี กับ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญส่ง) ไปไกล่เกลี่ย ในระหว่างนั้นนายยิ้มซ้ายเจ้าเมืองยะหริ่งสิ้นชีวิต จึงย้ายนิยูซุฟ(เจ้าเมืองปัตตานีขณะนั้น) ไปเป็นเจ้าเมืองยะหริ่ง และเชิญตนกู มุฮำหมัด (ตนกู บึซาร์ หรือ ตนกูประสา) ซึ่งเกิด ขัดแย้งกับเจ้าเมืองกลันตัน จนเกิดสงครามกลางเมืองดังกล่าแล้ว มาเป็นเจ้าเมืองปัตตานีขนามนามว่า สุลต่าน มุฮำหมัด ตอนแรก สุลต่านมุฮำหมัดไปสร้างวังที่แหลมตันหยง ต่อมาสร้างวังไหม่ที่จะบังติกอ(วังที่มีอยู่เดี๋ยวนี้) นับตั้งแต่นั้นเมืองปัตตานีจึงมีสุลต่านเชื้อกลันตันปกครองเมืองอีกครั้ง หนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ (ค.ศ. ๑๘๕๖) สุลต่านมุฮำหมัดสิ้นชีวิต ศพของพระองค์ถูกฝังที่สุสานตันหยงดาโต๊ะ ชาวปัตตานีรุ่นหลังจึงขนานนาม พระองค์ว่า "มัรหูม ตันหยง" และมีผู้ได้แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองต่อๆมาหลายรุ่น

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ สมัยรัชกาลที่ ๓ ศูนย์กลางการปกครองของเมืองปัตตานี ได้ย้ายมาอยู่ที่จะบังติกอ สถานที่สำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ วังจะบังติกอ มัสยิดรายา สุสานโต๊ะอาเยาะ ย่านถนนหน้าวัง แหล่งผลิตเครื่องทองเหลือง ฯลฯ

ตลาดการค้าของเมืองปัตตานี เก่า อยู่ที่หัวตลาดบริเวณอาเนาะรู (ต้นกล้าสน) และถนนปัตตานีภิรมย์ เป็นย่านชาวจีนหรือไชน่าทาวน์ในสมัยนั้น สถานที่ที่สำคัญของชาวจีน คือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง บ้านทรงจีนของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง บ้านพระจีนคณานุรักษ์ และบ้านหลวงสุนทรสิทธิโลหะ ฯลฯ

ตั้งพระยาไทรบุรี สมัยรัชกาลที่ ๔

มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๘ พระยาไทรบุรี ตวนกู แดอี รายาแห่งเคดะห์ ซึ่งเป็นโอรสของ รายามะระฮุ่ม อดีตรายาแห่งเคดะห์ ได้ทำหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ท่านได้ล้มเจ็บด้วยโรคเรื้อรัง จึงขอให้บุตรชายคนโต คือ ตวนกู อาห์มัด เป็นรายาแห่งเคดะห์ แทน ซึ่งได้ทรงอนุญาตตามคำขอ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้ตวนกู อาห์มัด เป็นพระยา ฤทธิสงครามภักดี ศรีสุรธรรมมหาราชา มุนินวรวงศา พระยาไทรบุรี และทรงตั้งน้องชาย ตวนกูดิว เป็น พระเคได สวรินทร์ รองผู้ว่าการรัฐเคดะห์

ชายแดนใต้ สมัยรัชกาลที่ ๕

ด้วยลักษณะ รูปแบบ การปกครอง ที่หละหลวม และ การ คมนาคม ที่ห่างไกล จากศูนย์กลางการปกครอง บริเวณชายแดนภาคใต้จึงยากแก่การ ควบคุมจากเมืองหลวง อีกทั้ง ผู้คน ก็มีความ แตกต่างกัน ในทาง วัฒนธรรม ด้านภาษา ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ดังนั้นเมื่อใดที่ สถานการณ์ เปิดโอกาส บรรดา ดินแดนเหล่านี้ ก็จะหาทางแยกตัวออกเป็น อิสระหรือไม่ ก็หันเห ไปอยู่ ในความปกครองของผู้ที่ เข้มแข็งกว่า เช่น ขณะที่พระเจ้า ปราสาททองทรงขึ้นครองราชย์นั้น เมืองนครศรี ธรรมราช สงขลา และ ปัตตานี ก็พากัน แข็งเมือง ดังนั้น พระบาท สมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ จึง ทรงเล็งเห็น ว่า หากปล่อย ให้มี การปกครอง (แบบกินเมือง) โดยเจ้าเมือง มี อิสระ อย่างเดิม จะเป็นเหตุ ให้พวกอังกฤษ หยิบฉวย โอกาส นำไป เป็นข้ออ้าง ถึงความ ไร้สมรรถภาพ ทางด้าน การปกครอง ของไทย แล้วนำดินแดนไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทั้งนี้ เพราะมี ชาวเมือง รามันห์ เมืองยะหริ่ง เมืองระแงะ ได้ร้องเรียน กล่าวโทษ เจ้าเมืองว่า ใช้อำนาจ โดยไม่ชอบธรรม กดขี่ ข่มเหง ราษฎร อยู่เสมอ

จึงทรงคิด แผนปฏิรูป การปกครอง นำมาใช้ ปกครอง บริเวณ ๗ หัวเมือง ขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลดี ยิ่งขึ้น

พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งให้ พระณรงค์วังษา เป็นเจ้าเมืองรามันห์ ซึ่งมีเรื่องวุ่นวายหนักกว่าเมืองอื่น และเป็นเมืองต่อแขวงที่อาจเกิดความได้เป็นนิตย์

และทรงยกเงินค่าหางข้าวน้ำมันดินให้สำหรับทำบ้าน ทรงตั้งขุนรองมนตรีเป็นขุนราชมนตรี หะยีมะดงเป็นหมื่นศรีปะกุดา มีการจัดตั้งอำเภอแม่หวาดในเมืองรามันห์ขึ้นใหม่

ต่อมาเจ้าเมืองต่างๆทั้ง๗ หัวเมือง ไม่พอใจการปกครองของกรุงเทพฯ เจ้าเมือง ปัตตานี คือตนกูอับดุลกาเดร์ หรือพระยาวิชิตภักดี ได้ขัดขืนพระบรมราชโองการ ไม่ยอมให้เจ้าพนักงานของรัฐบาลสยามมาปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบการปกครองแผน ใหม่ พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปลดตนกูอับดุลกาเดร์ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานี และนำตัวไปกักกันบริเวณไว้ที่จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นเวลา ๒ ปี ครั้นถึงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๔๗ ตนกูอับดุลกาเดร์ ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ กลับมาอยู่เมืองปัตตานีได้ หลังจากนั้น ตนกูอับดุลกาเดร์ ก็อพยพไปอยู่ในรัฐกลันตัน เพราะเป็นญาติกับสุลต่านแห่งรัฐกลันตัน จนกระทั่งถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ส่วนเจ้าเมืองระแงะ ถูกเนรเทศไปสงขลา

ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีเหตุไม่สงบเกิดขึ้นในท้องที่ต่างๆในภาคใต้ โดยมักจะมีผู้กล่าว พาดพิงไปว่า เบื้องหลังของเหตุการณ์ เนื่องมาจากการสนับสนุนของบรรดาเจ้าเมืองเก่าที่เสียผลประโยชน์ แต่อาจจะเป็นผลมาจากความบกพร่องของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องที่อยู่บ้างไม่ มากก็น้อย ดังที่สมเด็จพระ พุทธเจ้าหลวงทรงบันทึกไว้ว่า "เราไม่สันทัดทางพูดและทำ ในการที่จะปกครองชาติอื่น มันจะตกไปในที่ กลัวไม่ควร กลัว กล้าไม่ควรกล้า ทำในทางที่ไม่ควรจะทำ ใจดีในที่ไม่ควรจะใจดี ถ้าจะใจร้ายขึ้นมาก็ใช้ถ้อยคำไม่พอที่จะ เกลื่อนใจร้ายให้ปรากฏว่า เพราะจะรักษาความสุขและประโยชน์ของคนทั้งปวง ไม่รู้จักใช้อำนาจในที่ควรจะใช้ การ ที่จะทำได้โดยตรงๆ ก็เกรงอกเกรงใจอะไรไปต่างๆ โดยไม่รู้จักที่จะพูดและหมิ่นอำนาจตัวเอง เมื่อได้เห็นการเป็น เช่นนี้นึกวิตกด้วยการที่จะปกครองเมืองมลายูเป็นอันมาก ขอให้เธอกรมดำรงตริตรองดูให้จงดี" (ม.๓/๔๙ พระราชหัตถเลขาของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ๖๐/๒๗๗ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๔๗)

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ อาณาจักรสยามได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑล โดย บริเวณ ๗ หัวเมืองของปัตตานีได้เป็นมณฑลหนึ่งของประเทศสยาม แยกออกจากมณฑลนครศรีธรรมราช โดยใช้ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล มีพระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค)เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก พ.ศ.๒๔๕๑ สมัยรัชกาลที่ ๕ สยาม ยกรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส ให้แก่ อังกฤษ

๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เกิดความวุ่นวายต่อต้านรัฐบาลที่ปัตตานี เจ้าหน้าที่รัฐบาลจับกุม หะยีบุละ หัวหน้าผู้ก่อการได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องบาดเจ็บหลายคนจากการปะทะกันอย่างรุนแรง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้มีการยุบเลิกมณฑลปัตตานีแล้วรวมเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราชดังเดิม มีการเปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น"จังหวัด" ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ วัน๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ยกเลิกมณฑลปัตตานี และยุบจังหวัดสายบุรีลงเป็นอำเภอขึ้นต่อจังหวัดปัตตานี

ตั้งจังหวัดนราธิวาส ที่บ้านบางนรา สมัยรัชกาลที่ ๖

แต่เดิม บ้านบางนรา หรือ มะนาลอ เป็นเพียงหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางนราใกล้กับทะเล ในสมัยรัชกาลที่ ๑ บ้านบางนราถูกจัดอยู่ในเขตปกครองของเมืองสายบุรี ครั้นต่อมาเมื่อปัตตานีได้รับการยกฐานะเป็นมณฑล บ้านบางนราจึงย้ายมาสังกัดเมืองระแงะที่อยู่ในมณฑลปัตตานี กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๙ สมัยรัชกาลที่ ๕ บ้านบางนราได้เจริญเป็นชุมชน ใหญ่ มีการค้าทั้งทางบกและทะเลคึกคัก

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช

รูปพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช มีตรา 12 นักษัตรล้อมรอบ

คำขวัญประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช

เราชาวนคร อยู่เมืองพระมั่นอยู่ในสัจจะศีลธรรม กอรปกรรมดี มีมานะพากเพียร ไม่เบียดเบียนทำอันตรายผู้ใด

ประวัติจังหวัด นครศรีธรรมราช เมื่อเสีย กรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ตำแหน่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่างอยู่ หลวงสิทธนายเวรมหาดเล็ก(หนู) ซึ่งออกไปรับราชการตำแหน่งปลัดเมืองเป็นผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นทราบว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ไม่มีเจ้านายปกครองประเทศ หลวงสิทธิจึงตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอิสระอยู่ก๊ก หนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2312 พระเจ้ากรุงธนบุรียาตรากองทัพไปปราบจับตัวเจ้านคร(หนู)ได้ และมีพระราชดำริว่าเจ้านครมิได้มีใจกบฏคิดร้ายต่อประเทศ แต่ตั้งตัวขึ้นเนื่องจากบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงโปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และให้เจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช

ต่อมาเจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริว่า เจ้านคร(หนู)ได้เข้ามารับราชการมีความจงรักภักดี และได้ถวายธิดาทำราชการมีราชบุตร(คือพระพงษ์นรินทรและพระอินทร์อภัย) เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขันธสีมา(หนู) เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ จุลศักราช 1138(พ.ศ. 2319) ปีวอกอัฐศก

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มีพระราชดำริว่า พระเจ้านครศรีธรรมราชมีความชราทุพพลภาพ ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ จึงโปรดให้ออกจากตำแหน่ง กลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และโปรดให้เจ้าอุปราช (พัฒน์)บุตรเขยเจ้านคร ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน 8 แรม 11 ค่ำ จุลศักราช 1146 (พ.ศ. 2327) ปีมะโรงศก แต่โปรดให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีแต่เดิมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็น ราชธานี เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นเมืองที่เคยมีกษัตริย์ปกครอง และมีฐานะเป็นประเทศราช 8 ปี

มีเกร็ดย่อยคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) มีความชราภาพ จึงทรงยกขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และทรงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์(น้อย) บุตรเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช(น้อย)คนใหม่

แต่มีเรื่องปรากฏหลักฐานในสมัยนั้นว่า เจ้าพระยานคร (น้อย) นี้ที่จริงเป็นราชบุตรลับของพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากเมื่อครั้งเจ้านคร(หนู)ทำราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และถวายธิดาทำราชการฝ่ายในแก่พระเจ้ากรุงธนบุรี และมีน้องสาว(ปราง)มาอยู่ด้วยในวังคนหนึ่ง ความปรากฏตามพงศาวดารว่า เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลกให้ไปขอ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ ว่าเจ้าพระยาพิชัยราชาบังอาจจะเป็นคู่เขยของพระองค์ ให้เอาไปประหารเสีย ต่อมาวงศ์ญาติเจ้านครจึงนำธิดา(ปราง)คนนี้ถวายพระเจ้ากรุงธนบุรีเสีย ต่อมาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เมื่อครั้งยังเป็นอุปราชเมืองนครอยู่ ภริยาซึ่งเป็นบุตรเจ้านคร(หนู)เสียชีวิต เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ทำความชอบได้เข้าเฝ้าครั้งหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าภริยาเสียชีวิตก็สงสารจึงจะพระราชทานธิดาเจ้า นคร(หนู)ให้ใหม่ และให้นำตัวธิดาคนเล็กเจ้านคร(หนู)ไปพระราชทาน แต่นางในกระซิบว่า ดูเหมือนว่านางจะขาดระดูอยู่ แต่พระเจ้ากรุงธนตรัสว่า "ได้ออกปากให้เขาแล้ว ก็พาไปเถอะ" เมื่อท้าวนางพาธิดาเจ้านครไปส่งนั้น เจ้าอุปราช (พัฒน์) ก็ทราบความลับนั้น มีความยำเกรงพระบารมีก็ต้องรับไว้เป็นท่านผู้หญิงกิตติมศักดิ์อยู่ตลอดอายุ และนางนั้นก็มีบุตรกับเจ้าพระยานคร(พัฒน์) เพียงคนเดียว คือ เจ้าพระยานคร (ปริก)

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on

Written by on

ตราประจำจังหวัดพังงา

รูปเรือขุดเหมือง เขารูปช้าง และเกาะตะปู

คำขวัญประจำจังหวัดพังงา

แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ทรัพยากร

ประวัติจังหวัด พังงา จากพงศาวดาร ปรากฏว่า ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเมืองพังงาเป็นเมืองแขวงขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และโอนเมืองจากฝ่ายกรมท่ามาขึ้นเป็น ฝ่ายกลาโหมตั้งแต่นั้นมา โดยจาก ประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ และสืบค้นได้แน่ชัด ปรากฎว่าเมืองพังงาได้รับการจัดตั้งเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2352 ซึ่งในปีนั้นเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่าได้มอบหมายให้ อะเติงหวุ่น เป็นแม่ทัพ นำกองทัพเรือของพม่าได้เข้าตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง และได้กวาดต้อนผู้คนไปรวมไว้ที่ค่าย ของตน และเผาเมืองถลางเสีย ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์กรมพระราชวังบวร ยกทัพหลวงจากกรุงเทพฯ มาช่วย และได้มาทันขับไล่ทหารพม่าหลบหนี

ระหว่างศึกได้มีราษฎรบางส่วนอพยพไปหลบภัยอยู่ที่ "กราภูงา" (ภาษามลายู แปลว่า ป่าน้ำภูงา) ที่มีภูเขาล้อมรอบ ครั้งเสร็จศึกแล้วกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงพระราชดำริว่า พม่าได้เผาเมืองถลาง ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงยากที่จะสร้างขึ้นใหม่ จึงโปรดให้รวบรวมพลเมืองจากถลางข้ามฝากมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ "กราภูงา" และจัดการปกครองเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏว่ามีหมู่บ้านชื่อ "ถลาง" ซึ่งเป็นผู้คนที่อพยพจากอำเภอถลาง มาอยู่ในเขตท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่งในปัจจุบัน

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริที่จะปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตีให้เข้ม แข็ง จึงได้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นเจ้าเมืองดังกล่าว โดยให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร(แสง ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรกในปี พ.ศ.2383 รวมทั้งได้ยุบเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ประชุมเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตจึงมีมติให้ยุบเมืองตะกั่วป่าให้ขึ้นกับ จังหวัดพังงา ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 เป็นต้นมา แรกเริ่มที่ตั้งเป็นเมืองนั้นที่ทำการของรัฐบาล อยู่ที่บ้านชายค่าย ต่อมา พ.ศ. 2473 จึงได้มาสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่บ้านท้ายช้าง ครั้น พ.ศ.2515 จึงได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณถ้ำพุงช้างจนถึง ปัจจุบัน

ขอบคุณที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : wikipedia

Written by on