นำเสนอสาระน่ารู้ บทความดีๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของลูกน้อยในวัยเตาะแตะ ลูกน้อยในวัย 2-3 ปี เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างชาญฉลาด และมีสติ พร้อมที่จะแก้ไขและส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีสมวัย และสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ร่าเริงสดใส ทาง Pstip หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสาระความรู้ต่างๆ ในหมวดนี้จะสามารถเป็นแนวทางที่ดี สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนใหม่นำไปปฏิบัติเพื่อลูกน้อยที่คุณรักได้อีกทางหนึ่งค่ะ

Written by on

นู๋น้อยวัย 1-3 ปี เป็นตัวของตัวเอง หรือขาดความมั่นใจ

ลูกน้อยในช่วงวัย 1-3 ปี เป็นวัยที่ชอบสำรวจ จะสังเกตการกระทำของคนรอบข้าง และพยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เห็นพ่อ แม่ทำอะไรก็อยากทำเองบ้าง เมื่อทำได้ก็จะชอบที่จะได้รับคำชมและกำลังใจ จะต่อต้านเมื่อถูกบังคับหรือขัดใจ เด็กวัยนี้จะช่วยเหลือตัวเองได้หลายอย่าง ขี้สงสัย และช่างซักช่างถามซึ่งหากได้รับการสนับสนุนและกระตุ้นให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองตามสมควรแล้ว ลูกจะมีพัฒนาการไปสู่ความเชื่อมั่น มั่นใจ และศรัทธาในตนเอง

พัฒนา ด้านบวก เป็นตัวของตัวเอง ในวัยนี้เด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเอง อยากรู้อยากเห็น ชอบค้นหา พยายามทำอะไรๆ เอง ไม่ว่าจะเป็นการตักอาหารใส่ปาก แปรงฟัน หรือใส่เสื้อผ้าเอง หากเราลองปล่อยให้ลูกได้ทำด้วยตัวเองเมื่อทำสำเร็จลูกจะภาคภูมิใจ แล้วพัฒนาเป็นความรู้สึกมั่นใจในความสามารถของตนเอง ในอนาคตก็จะเป็นคนกล้าคิดกล้าแสดงออก เพราะไม่ถูกจำกัดกรอบตั้งแต่เด็ก ทั้งยังมีความเชื่อมั่นว่าตนจะทำได้ด้วยค่ะ

พัฒนาทางลบ ขาดความมั่นใจ ในทางกลับกัน หากลูกน้อยไม่ได้ลองทำในสิ่งที่อยากทำ หรือที่สามารถทำได้โดยมีคุณพ่อคุณแม่ที่เคร่งครัด เจ้าระเบียบ ปกป้องลูกมากไปคอยพูดห้ามลูก เช่น “อย่าลูก อย่า ไม่เอาลูก” หรืออาจให้ทำในสิ่งที่ลูกยังไม่พร้อม ก็จะทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่มีความสามารถ ทำอะไรไม่สำเร็จ หากโดนดุหรือลงโทษในสิ่งที่ลูกทำพลาด แทนการชมเชยต่อสิ่งที่ลูกทำได้ ก็จะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกละอายใจ ไม่แน่ใจในความสามารถของตนเองและไม่กล้าที่จะเริ่มทำอะไรด้วยตนเอง

เกิดเป็นหญิง แท้จริงแสนลำบาก ยิ่งเป็นคุณแม่ยุคใหม่อย่างเราด้วยแล้ว ต้องทำงานนอกบ้าน หรือทำงานมากมาย แต่อย่างไรเสียก็อย่าลืมดูแลดวงใจน้อยๆ ของลูกรักด้วยนะคะ แม้จะทำงานมาเหนื่อยหนักแค่ไหน กลับถึงบ้านก็ให้กอดลูกแน่นๆ สักหนึ่งทีก่อนทำอย่างอื่น เพราะความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ จะช่วยให้ลูกปรับตัวและอยู่รอดในยุคแห่งความเป็นเมืองได้อย่างมีความสุข โดยเริ่มจากพ่อแม่ได้ดีที่สุดค่ะ

ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom ภาพจาก : momypedia

Written by on

Written by on

จัดการกับลูกน้อย...ไฮเปอร์ยังไงดี

เด็กซน...คือเด็กฉลาด เพราะการที่เด็กไม่อยู่นิ่ง สนใจโน่นนี่นั่น แสดงถึงพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย สมองของลูกสั่งการได้ดี ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เป็นที่ดีใจของพ่อแม่ ที่เห็นลูกเริงร่า ซุกซนน่ารัก ไม่อ่อนแอป่วยไข้ง่าย แต่พ่อแม่บางคนอาจจะสังเกตเห็นว่าลูกของเราซนจนผิดปกติไปหรือเปล่า ลูกจะเป็นเด็กไฮเปอร์หรือเปล่า ลองมาดูอาการที่เข้าข่ายเป็นเด็กไฮเปอร์กันก่อนนะคะ

เด็กซนผิดปกติ เป็นไฮเปอร์แอกทีฟ คือเด็กที่มีลักษณะซุกซนมากผิดปกติ และไม่สามารถอยู่เป็นที่ได้ เด็กจะต้องเคลื่อนไหว อยู่ไม่สุข ยุกยิกตลอดเวลา แต่บางสถานการณ์เด็กอาจอยู่เฉยได้ เช่น ตอนเล่นเกมหรือดูโทรทัศน์รายการที่สนใจมาก ๆ การอยู่ไม่สุขของเด็กจะมีความแตกต่างกันระหว่างเด็กปกติที่มีความว่องไว กระตือรือร้น อยากหยิบจับทั่วไปหมด อยู่เฉยไม่เป็นกับเด็กที่เป็นโรคไฮเปอร์แอกทีฟ ซึ่งจะมีอาการสำคัญอื่นๆร่วมด้วยคือ

  • มีความสนใจช่วงสั้น ๆ วอกแวกถูกกระตุ้นง่าย
  • มีสมาธิในการเรียน การทำงานน้อย ทำงานไม่เสร็จบ่อย ๆ
  • ลืมง่าย เปลี่ยนความสนใจง่าย

เมื่อลูกมีพลังเหลือล้น เล่นสนุกวุ่นวายเหมือนจับปูใส่กระด้ง อาจทำให้คุณแม่ปวดเศียรเวียนเกล้า คุณแม่จึงต้องหาวิธีการจัดการที่ถูกต้องให้กับลูกน้อยที่รักแล้วล่ะค่ะ

1.จัดกิจกรรมให้เล่นเป็นเวลา ควรจัดกิจกรรมให้ทำตลอดทั้งวัน เช่นระบายสี ประกอบเลกโก้ฝึกเล่นดนตรี อ่านนิทาน ไม่ควรปล่อยให้ลูกน้อยอยู่นิ่งนานเกินไป (ยกเว้นเวลานอน) เพราะจะทำให้ลูกวิ่งวุ่นทั้งวัน

2.พัฒนาสมองด้วยของเล่น ลองหาของเล่นประเภท ตัวต่อไม้ หรือกรรไกรสำหรับเด็ก การเล่นของเล่นที่เบากว่า เงียบกว่า เหล่านี้ก็จะช่วยเสริมพัฒนาการให้ลูกเพลิดเพลินกับการเล่นคนเดียวได้

3.กำหนดเวลานอน จัดระเบียบการนอนให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ เด็กส่วนใหญ่จะตื่นมาพร้อมพลังงานเต็มเปี่ยม แล้วใช้หมดก่อนจะรู้ตัวว่าง่วง เวลานอนที่ดี คือไม่ควรเกินสามทุ่ม โดยมีเวลาสามสิบนาทีก่อนหน้าไว้ผ่อนคลายก่อนนอน เช่นการฟังนิทาน

ถึงแม้จะเห็นว่าลูกเราซุกซนมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าลูกเป็นเด็กไฮเปอร์แอกทีฟเสมอไปนะคะ แต่คุณแม่เองก็ต้องสังเกตลูกน้อยอยู่เสมอๆ เพื่อจะได้หาวิธีการจัดการแก้ไขกันนะคะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิModernMom Vol.18 No.210 April 2013 ภาพประกอบจาก oknation.net

Written by on

Written by on

ลูกสมองดีด้วยกิจกรรมแสนสนุก

คุณพ่อคุณแม่คงจะทราบกันดีอยู่แล้วนะคะว่าสมองของลูกน้อยนั้นยิ่งใช้งานมากเท่าไร ลูกก็ยิ่งฉลาดขึ้นเท่านั้น และยิ่งถ้าลูกได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ก็ยิ่งช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ช่วยฝึกสมาธิและยังช่วยลับสมองให้เฉียบคมมากขึ้นด้วยค่ะ เพราะลูกน้อยในวัยนี้มักจะชอบเล่นและสำรวจสิ่งรอบๆ ตัวอยู่แล้วค่ะ มาดูกันซิว่ากิจกรรมไหนบ้างที่ช่วยพัฒนาสมองเจ้าตัวน้อย

  1. นักปีนป่าย ชวนลูกฝึกกล้ามเนื้อต่าง ๆ เช่น ปีนป่ายเครื่องเล่นต่าง ๆ ในสนามเด็กเล่น หรือชวนลูกวิ่งเล่นไล่จับกลางแจ้ง เพื่อพัฒนาสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อใหญ่ การทรงตัว วิ่ง กระโดด เดินสลับเท้าปีนป่าย
  2. นิ้วมหัศจรรย์ ชวนลูกปั้นดินน้ำมัน ระบายสี ในกรอบ ร้อยลูกปัด เล่นหุ่นมือหุ่นนิ้วร่วมกัน เพื่อพัฒนาสมอง ส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กให้แข็งแรง และทำงานร่วมกันได้ดี ทำให้ใช้มือได้คล่องมากขึ้น
  3. กระต่ายขาเดียว ชวนลูกวิ่งไล่จับขาเดียว เพื่อพัฒนาสมอง ส่วนควบคุมกล้ามเนื้อเล็ก กล้ามเนื้อใหญ่ ที่เคลื่อนไหวร่วมกันทั้งใช้มือไล่จับและขากระโดด โดยใช้วิธีเป่ายิ้งฉุบ ให้คนแพ้เป็นกระต่ายไล่จับแล้วผลัดกันเป็น
  4. จ้อกกิ้ง ชวนลูกวิ่งออกกำลังกายไปรอบ ๆ สวนสาธารณะ หรือไปยังที่ที่มีธรรมชาติสวยงาม เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ พร้อมกับการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่สามารถชี้ชวนให้ดู แนะนำบอกชื่อให้ลูกรู้จักไปในขณะวิ่ง
  5. นักระบำ ชวนลูกเต้นรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยให้ลูกคิดท่าทางขึ้นเอง แล้วพ่อแม่เต้นตาม หรือพ่อแม่คิดท่าให้ลูกเต้นตาม เพื่อพัฒนาส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อเล็กใหญ่ให้ลูกรู้จักทรงตัว เลียนแบบ คิดสร้างสรรค์ท่าใหม่ ๆ
  6. เก้าอี้ดนตรี ชวนลูกและเพื่อน ๆ หรือพ่อแม่เล่นร่วมกัน โดยแย่งกันนั่งเก้าอี้ให้ได้เมื่อเพลงหยุด แล้วนำเก้าอี้ออกไปทีละตัวจนเหลือผู้ชนะ เพื่อช่วยพัฒนากล้ามเนื้อเล็กใหญ่เคลื่อนไหว การทรงตัว ฝึกสมาธิ การฟังเสียง
  7. เคาะสนุก หาของในครัวที่ไม่ใช้ที่ทำให้เกิดเสียง เช่น กะละมัง ชาม ช้อน ตะเกียบ มาเคาะเป็นจังหวะ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ฝึกให้ลูกรู้จักจังหวะ การฟังเสียง สร้างเสียง หรือประสานกันระหว่างมือและสายตา
  8. ต่อเพลง ชวนลูกผลัดกันร้องเพลงที่ขึ้นต้นด้วยคำที่กำหนด เช่น "ช้าง" เป็น "ช้าง ๆ ๆ น้องเคย..." หรือ ขึ้นตัวอักษรอื่น ๆ เพื่อฝึกสมองด้านภาษา การค้นหาคำพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การรู้จังหวะ การเลียนแบบเสียง
  9. เล่นสมมติ ให้ลูกเล่นสมมติเป็นครู พ่อแม่เล่นเป็นลูกศิษย์เป็นแม่ค้าขายของ เป็นตำรวจจับผู้ร้าย หรืออื่น ๆ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการการใช้ทักษะภาษา และการเรียนรู้โลกรอบตัวของลูก
  10. เล่านิทาน ชวนลูกผลัดกันเล่านิทานที่แต่งขึ้นเอง ให้ลูกคิด และเล่าให้พ่อแม่ฟัง หรือเล่านิทาน แล้วพ่อแม่ค้างไว้ แล้วให้ลูกแต่งต่อให้จบเพื่อพัฒนาจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ แต่งเรื่อง ฝึกใช้ภาษา การฟัง การพูด
  11. ทายปัญหา หาเกมทายอะไรเอ่ย มาทายกับลูก เช่น อะไรเอ่ยสี่เท้าเดินมาหลังคามุงกระเบื้อง โดยอาจหาหนังสือทายปัญหามาเล่นกับลูก เพื่อฝึกสมองคิดค้นหาคำตอบ ทำให้เกิดการตั้งคำถามให้สมองเรียนรู้เพิ่มขึ้น
  12. นับสนุก ชวนลูกเล่นเกมคำนวณสิ่งของที่มองเห็น เช่น บ้านเรามีบันไดกี่ขั้น มีแก้วในตู้กี่ใบ หรือถนนนี้มีบ้านทาสีฟ้ากี่หลัง เพื่อช่วยฝึกสมองคิด คำนวณ นับตัวเลขสิ่งต่าง ๆ ฝึกการเรียนรู้ และการเปรียบเทียบ
  13. อะไรจ๊ะ ชวนลูกตั้งคำถามว่า "อะไร" ให้มากที่สุด เช่น ดอกไม้อะไรสีแดง ตัวอะไรไม่มีขน เพื่อใช้ความคิดตอบอย่างมีเหตุมีผล ฝึกการใช้ทักษะภาษา ช่วยให้สมองลูกเกิดการเรียนรู้โลกกว้างได้ดี
  14. ทำไมจ๊ะ ชวนลูกตั้งคำถามว่าทำไมให้มากที่สุด เช่น ทำไมโลกนี้เป็นสีฟ้า ทำไมฝนตก ทำไมปลาอยู่ในน้ำ เพื่อช่วยเปิดโลกเรียนรู้ พัฒนาความคิดจินตนาการให้กว้างไกล ฝึกใช้ภาษา การกล้าแสดงความคิดเห็น
  15. เสียงอะไร ชวนลูกออกนอกบ้าน แล้วให้หลับตาฟังเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงรถวิ่ง นกร้อง ลมพัด ใบไม้ไหว แล้วให้ลูกทายว่าเป็นเสียงอะไรเพื่อฝึกฟังเสียง ความอดทนตั้งใจ ฝึกสมาธิจดจ่อกับสิ่งหนึ่งให้สมองเรียนรู้
  16. เล่นกับเงา ชวนลูกเล่นเงา โดยปิดไฟในบ้าน แล้วส่องไฟฉายไปยังมือที่ทำเป็นเงารูปต่าง ๆ เช่น สุนัข ผีเสื้อ ให้ลูกพากย์เสียงเล่าเรื่องฝึกจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ภาษา ฝึกเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ

ขอขอบคุณ ที่มา : Mother&Care ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

เทคนิคฝึกลูกน้อยควบคุมตนเอง

สมัยเราเด็กๆ จำได้ว่า จะทำอะไรแต่ละอย่าง เราจะรู้สึกเกรงใจพ่อแม่ กลัวพ่อว่าแม่ดุ ไม่ค่อยกล้าทำอะไร เลยกลายเป็นคนไม่กล้าแสดงออก สมัยนี้มีการสนับสนุนให้เด็กกล้าแสดงออกมีอิสระ ซึ่งปล่อยให้อิสระกันมากจนกลายเป็นหย่อนยานจนไม่สามารถบังคับตัวเองได้ เกิดเป็นปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง การเลี้ยงเด็ก เหมือนลูกตุ้มแกว่งไปด้านหนึ่งแล้วก็กลับมาอีกด้านหนึ่ง การปล่อยให้เป็นอิสระก็ดี แต่ควรอยู่ในความพอดี ต้องให้เด็กรู้จักการควบคุมตนเอง อย่าทำอะไรให้เกินขอบเขตที่เหมาะสม

การควบคุมตนเองตั้งแต่ 1 ขวบครึ่ง เริ่มตั้งแต่การควบคุมการขับถ่ายได้ คือการควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ ฝึกให้ลูกเข้าห้องน้ำ ไม่ควรใช้วิธีบังคับลูกด้วยสายตาหรือน้ำเสียง เพราะลูกจะกลัว กลายเป็นความทรงจำที่ไม่ดี การสอนการฝึกต้องให้กำลังใจกับลูกน้อย การควบคุมตนเองในเรื่องต่างๆ ต้องอาศัยกำลังจากภายนอก และเป็นอย่างนี้หลายปี โดยเปลี่ยนเรื่องไปเรื่อยๆ เรื่องไหนเก่าแล้วก็จะคุมตัวเองได้ เรื่องไหนเป็นความสนใจใหม่ๆ หรือไม่สนใจใหม่ๆ พ่อแม่ก็จะต้องเข้าคุมอีกทีหนึ่ง

เรื่องสนใจใหม่ๆ เช่น เกม ของเล่น ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ต้องคุมตัวเองให้ทำน้อยลง เรื่องไม่สนใจใหม่ๆ เช่นการทำการบ้าน หรือท่องหนังสือ เรื่องเหล่านี้ต้องควบคุมตนเองให้ทำมากขึ้น

พอเริ่มคุมลูกได้ด้วยกำลังภายนอกแล้ว ลองลดการควบคุมลง แล้วสังเกตว่าเด็กคุมตนเองได้หรือยัง หรือเวลาที่เห็นของที่เราเคยห้ามเล่น ยังเข้าไปเล่นหรือเปล่า ถ้าคุมตัวเองได้ เรื่องนี้ก็เข้าช่วงที่สอง คือ คุมตนเองได้แล้ว ซึ่งตอนนี้จะยังคุมตนเองได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นเรื่องธรรมดา จนช่วงสุดท้ายจะคุมตัวเองได้สมบูรณ์

3T :- Teach , Train , Test

แต่ละเรื่อง แต่ละวัย จะมีแบบฝึกหัดทำนองนี้ให้ทำตลอดเวลา อดทนทำไปเรื่อยๆ ใช้สูตร..

  • Teach คือ สอน ก็คือพูดแนะนำ
  • Train คือ ฝึก หรือกำกับ
  • Test คือ ลองไม่กำกับ ดูว่าทำเองได้หรือยัง ถ้าทำได้ ก็ปล่อยให้ทำไป ถ้ายังไม่ได้ก็กลับไปคุมใหม่

ทำไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย ก็จะได้ลูก ที่ “รู้อยู่” คือ รู้ว่าอยู่อย่างไร ทำอะไรได้แค่ไหน ควบคุมตนเองให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเลิกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนความพอดี จะดีที่สุด อย่าให้อิสระมากเกินจนกลายเป็นปล่อยปละละเลย อย่าควบคุมเกินไปจนลูกคิดว่าตัวเองเป็นนักโทษ ไม่กล้าแสดงออกใดใด จนลูกกลายเป็นเด็กเก็บกดนะคะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร ModernMom Vol.18 ภาพประกอบจาก maerakluke.com

Written by on

Written by on

5 เคล็ดลับส่งเสริม สุขภาพเด็ก รุ่นใหม่

เด็กไทยในยุคสังคมดิจิตอลอย่างในสมัยนี้จะมีภาวะการเจริญเติบโตที่ไม่สมวัย อีกทั้งมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และยังมีค่าเฉลี่ยไอคิวตำกว่าระดับสากลอีกด้วย คุณแม่หลายๆ ท่านฟังแล้วก็ทำให้เกิดความกังวลไม่น้อยเลยใช่มั้ยค่ะ แต่อย่าเพิ่งตกอกตกใจกัน เพราะเรามีคำแนะนำมาฝากกันค่ะ รองศาสตราจารย์ ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า การรับประทานอาหารเช้าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการเกิดปัญหาด้านพัฒนาการ และการเจริญเติบโต ไม่สมวัย พร้อมเผยเคล็ดลับ 5 แนวทางส่งเสริมสุขภาพ สำหรับเด็กในยุคปัจจุบันที่คุณแม่ควรรู้

1. อาหารเช้าที่มีประโยชน์ แสนอร่อย มื้อเช้ากับเมนูที่มีประโยชน์ ได้สารอาหารครบ 5 ชนิด โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และ แร่ธาตุ ให้เด็กอิ่มอร่อยด้วยเมนูง่ายๆ และสะดวกอย่างเช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก เพิ่มคุณค่าด้วยการเติมเนื้อสัตว์และผัก สามารถเสริมความสนุกในการรับประทานอาหารเช้า ด้วยการตกแต่งสีสันที่สดใสของซีเรียลหรือผักที่ทำเป็นตัวการ์ตูนหรือสัตว์น่ารักๆ เพื่อจูงใจเด็กๆ ให้กระตือรือร้น เรียนรู้ และมีความอยากรับประทานอาหารเช้ามากขึ้น

2. สร้างต้นแบบในการรับประทานอาหารเช้า 'ครอบครัว' คือต้นแบบที่ดีที่สุด ในการปลูกฝังนิสัยและสร้างแบบแผนการรับประทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์ ครบถ้วนด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ถ้าอยากให้ลูกรักมีสุขภาพดี เติบโตสมวัย ต้องเริ่มจากพ่อแม่ที่สร้างลักษณะนิสัยการ รับประทานมื้อเช้าเป็นประจำก่อน เพื่อให้ลูกๆ ได้ปฏิบัติตาม

3. หยุดสั่ง! แนะนำลูกรักให้ถูกวิธี พ่อแม่ควรแนะนำและส่งเสริมการรับประทานอาหารเช้าด้วยการสอนหรือใช้เทคนิคจูงใจ เช่น นำฮีโร่ในดวงใจของเด็กๆ หรือดาราเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกัน เพื่อเป็นเพื่อนต้นแบบให้กับเด็กๆ มาชักชวนให้ลูกรักอยากรับประทานอาหารเช้า โดยอาจเสริมเรื่องความเก่ง ความแข็งแรงของร่างกาย เป็นคำพูดกระตุ้นไปพร้อมๆ กัน เมื่อเด็กรับประทานอาหารได้ดี ก็แสดงความชื่นชมโดยการชมให้คนรอบข้างช่วยสนับสนุน

4. สื่อโภชนาการอิเล็กทรอนิกส์ ไลฟ์สไตล์ของเด็กยุคมิลเลนเนียมจะผูกติดกับโลกออนไลน์เป็นพิเศษ ผู้ปกครองสามารถเพิ่มความรู้ให้เด็กๆ ได้จากการสรรหาเว็บไซต์ เกม หรือคอมมูนิตี้ที่ให้สาระ เกร็ดความรู้ในรูปแบบสนุกสนานหรือเป็นการ์ตูนที่เด็กๆ ชอบ เช่น การ์ตูนภาษาอังกฤษ เรื่อง Dukie Duke เกี่ยวกับประโยชน์ของผัก เพื่อปลูกฝังนิสัยการรับประทานมื้อเช้า และอาหารที่มีประโยชน์ โดยที่พ่อแม่ต้องให้ เวลากับลูกในการแนะนำและตอบคำถามอย่างสร้างสรรค์ อย่าปล่อยให้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาพรากเวลาที่สำคัญนี้ รวมถึงหาเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกัน

5. โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนคือบ้านหลังที่สองของเด็ก จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการ ส่งเสริมการรับประทานอาหารเช้า โดยอาจทำเป็นโครงการโรงเรียนอาหารเช้าแสนอิ่มไว้คอยบริการ หรืออาจควบคุม ร้านค้าในโรงเรียนให้จำหน่ายแต่อาหารเช้าที่มีประโยชน์ อร่อย ครบถ้วนด้วยคุณค่าโภชนาการ ที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เด็กจะได้รับประทานมื้อเช้า ที่มีประโยชน์ทุกวัน เรียกว่าเป็น 5 เคล็ดลับส่งเสริมสุขภาพง่ายๆ เริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารเช้า ควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านร่างกายและสติปัญญา สามารถช่วยให้เด็กไทยรุ่นใหม่เติบโตสมวัยและมีการเรียนรู้เร็วได้ไม่ยากเลย

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารเปรียว ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on

Written by on

พฤติกรรมแบบไหนทำร้ายลูก

คุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเองนั้น เคยสังเกตไหมค่ะว่าพฤติกรรมบางอย่างที่คุณทำกับลูกนั้นบางอย่างอาจทำร้ายลูกๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวได้ วันนี้เราเลยมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ ก่อนที่พฤติกรรมเหล่านั้นจะทำร้ายลูกมากไปกว่าเดิม

1. ไม่ให้ทำ พูดง่าย ๆ ก็คือ คุณคือผู้จัดการบริหารทุกสิ่งอย่าง (แม่ทำเอง) โดยที่ลูกไม่ได้มีส่วนร่วมหรือได้ลงมือทำอะไรเลย ซึ่งการทำแบบนี้เท่ากับเป็นการตัดวงจรการเรียนรู้ของเด็กในมิติต่าง ๆ ทำให้ทักษะในการช่วยเหลือตัวเองลดลง ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง เป็นต้น

2. ไม่มีขอบเขต ก็คือตามใจลูกทุกอย่าง โดยลืมสิ่งผิดสิ่งถูก อะไรควรไม่ควร ด้วยความคิดที่ว่าลูกยังเด็กผลกระทบคือ เมื่อลูกออกสู่สังคมอยู่ร่วมกับผู้อื่นก็กลายเป็นเด็กปรับตัวยาก เอาแต่ใจตัวเอง ขาดความอดทน มีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นไม่ราบรื่น และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย

3. ไม่ยืดหยุ่น เพราะคุณต้องการให้ทุกอย่างดี ถูก (เป๊ะเว่อร์) ตลอด ยิ่งลูกทำไม่ได้ดังใจ ก็โกรธก็ตำหนิ เพียงเรื่องเล็ก ๆ ก็แปลงสารเป็นเรื่องใหญ่ การทำแบบนี้จะทำให้พัฒนาการที่ควรเป็นไปของลูกแย่ลง เพราะด้วยความรู้สึกผิดหวัง รู้สึกว่า ตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีอะไรดี ไม่มีความสามารถ ทำอะไรก็ไม่เคยถูกใจพ่อแม่

4. ไม่ยอมรับความจริง การที่คุณมักวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ ตีตนไปก่อนไข้ ย้ำถามย้ำปฏิบัติกับลูก เช่น ไม่ให้ลูกไปไหนมาไหนกับเพื่อน เพราะกลัวลูกจะได้รับอุบัติเหตุ กลัวลูกจะถูกหลอก ไม่ให้ออกนอกบ้าน กลัวลูกจะไม่สบาย นี่แหละคือปัญหาในอนาคตที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กวิตกกังวลได้ง่าย หวาดกลัวจนไม่มีความสุขและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง

5. ไม่ปกป้อง เรื่องความปลอดภัยนั่นเองค่ะ เพราะหลาย ๆ ครั้ง มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น มีสถิติตัวเลขอุบัติเหตุสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการไม่ทันระมัดระวัง เช่น ลืมปิดประตูบ้าน คุยโทรศัพท์จนเพลิน หรือการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กของพ่อแม่เอง อย่าลืมว่า สิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่เป็นรองใคร

6. ไม่ชื่นชม มีแต่คำตำหนิติเตียน คำปรามาสต่าง ๆ เพราะไม่เชื่อว่าลูกจะมีความสามารถทำได้ ไม่เชื่อว่าลูกจะทำสำเร็จ พฤติกรรมที่เอ่ยมา เป็นเหมือนอาวุธที่ทำร้ายจิตใจทำลายความคิดดี ๆ ของลูก ทำให้ลูกของคุณขาดความมั่นใจ ความภูมิใจ บอกเลยว่าแค่คิดก็ผิดแล้วค่ะ

7. ไม่เข้าใจลูก เพราะคุณคิดว่า ทำไมลูกทำได้ไม่เก่งเหมือนเด็กคนอื่น ที่จริงแล้วเด็กทุกคนมีตัวตนของตัวเอง มีอุปนิสัย ความสามารถแตกต่างกัน คุณจึงไม่ควรเปรียบเทียบลูก เพราะเป็นการสร้างความรู้สึกต่ำต้อย ด้อยค่าให้เกิดขึ้นกับลูก ผลร้ายที่หนักกว่าคือ อาจทำให้เด็กรู้สึกเจ็บปวด ยอมแพ้ ละความพยายามหรือเกิดความคิดสวนทาง กลั่นแกล้งคู่แข่งของตัวเอง คุณควรชื่นชมในสิ่งที่ลูกเป็น สนับสนุนในสิ่งที่ลูกสนใจหรือชื่นชอบดีกว่าค่ะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร Mother & Care Vol.11 No.127 กรกฎาคม 2558 ภาพประกอบ healthfood.muslimthaipost.com

Written by on

Written by on

เทคนิคง่ายๆ เพิ่มพลังสมองให้ลูกน้อย

คุณแม่คนไหนที่กำลังมองหาเทคนิคหรือเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ลูกน้อยได้มีพัฒนาการการเติบโตที่ดี ต้องอ่านข้อมูลนี้ค่ะ เพราะเทคนิคง่ายๆ เพียง 3 ข้อเท่านั้นที่จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณเติบโตมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

  •  สมาธิ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกสนใจอะไรเป็นพิเศษแล้วปล่อยให้ลูกได้คลุกคลีกับสิ่งนั้นๆ เช่น ลูกชอบวาดรูประบายสี คุณพ่อคุณแม่อาจจัดหาดินสอสีและวาดให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วปล่อยให้ลูกวาดเลียนแบบตาม ลูกจะเกิดสมาธิจดจ่ออยู่กับการควบคุมกล้ามเนื้อมือให้ขีดเป็นเส้น หรือมุ่งมั่นอยู่กับการระบายสีเพื่อไม่ให้เกินขอบ

  •  ความจำ คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง เช่น คุณพ่อคุณแม่คว่ำถ้วยสีทึบจำนวน 3 ใบแล้วครอบของเล่นให้ลูกเห็น จากนั้นค่อยๆ เลื่อนถ้วยทั้ง 3 สลับที่กันช้าๆ และให้ลูกบอกว่าของเล่นอยู่ใต้ถ้วยไหน วิธีนี้ลูกจะได้เรียนรู้ทักษะการสังเกต จดจำ และการคิดจนสามารถรู้ว่าของเล่นอยู่ที่ไหน

  •  การคิดวิเคราะห์ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้โดยส่งเสริมให้ลูกเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคตั้งแต่ ยังเด็กด้วยวิธีการง่ายๆ โดยคุณพ่อคุณแม่ใช้ของเล่นหลอกล่อให้ลูกเข้ามาหยิบ แล้วเมื่อลูกจะเอื้อมถึงจึงขยับของเล่นให้ไกลขึ้น หรือใช้แขนกั้นของเล่นไว้เพื่อให้ลูกไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกเรียนรู้ถึงวิธีแก้ปัญหาและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกิจวัตรประจำวันได้เช่น การผูกเชือกรองเท้า การแต่งตัวเอง การแปรงฟันเอง เป็นต้น

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารเรื่องผู้หญิง ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Written by on